จับชีพจรเศรษฐกิจไทย

14 ตุลาคม 2566

สัปดาห์ที่ผ่านมาผู้เขียนได้มีโอกาสฟังผู้ว่าแบงก์ชาติ ประเมินสุขภาพของเศรษฐกิจไทย โดยท่านเปรียบการประเมินเศรษฐกิจในภาพรวมกับการที่เราไปหาหมอเพื่อตรวจเช็คสุขภาพ วัดค่าต่างๆ ของร่างกาย เช่นเดียวกับการประเมินสุขภาพเศรษฐกิจก็ต้องดูจากตัวชี้วัดต่าง ๆ ว่าสะท้อนอะไร สูงหรือต่ำไปเมื่อเทียบกับเกณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นการเทียบกับในอดีต เทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือเทียบกับเกณฑ์สากล รวมถึงต้องดูปัจจัยเสี่ยงที่อาจกระทบต่อสุขภาพเศรษฐกิจในระยะต่อไปด้วย บางขุนพรหมชวนคิดในวันนี้จึงขอสรุปประเด็นที่น่าสนใจให้กับท่านผู้อ่านค่ะ

Thai regions

สุขภาพเศรษฐกิจไทยตอนนี้เป็นอย่างไร? ด้านแรกด้านการฟื้นตัว การบริโภคภาคเอกชนและภาคท่องเที่ยวเติบโตดี การบริโภคโตสูงสุดในรอบ 20 ปี โดยได้แรงสนับสนุนจากตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวทั้งรายได้และการจ้างงาน ส่วนภาคท่องเที่ยว แม้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะยังกลับมาไม่เท่าช่วงก่อนโควิด แต่ดีกว่าหลายประเทศในภูมิภาค เช่น ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลีใต้ ทั้งนี้ ต้องติดตามผลกระทบว่าจะมีมากน้อยเพียงใดหลังเกิดเหตุกราดยิงที่มีนักท่องเที่ยวเสียชีวิต ด้านการผลิตและส่งออกสินค้าไม่ถึงกับดีมากจากเศรษฐกิจโลกและวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ยังไม่ฟื้นตัวมากนัก ส่วนการลงทุนเอกชนถือว่าไม่ดี โตต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตและต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น โดยการลงทุนเอกชนของไทยทีสัดส่วนต่อจีดีพีไม่ถึง 1 ใน 4 น้อยกว่าเวียดนามและอินโดนีเซีย

 

ถัดมา ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจในภาพรวมถือว่าโอเค ทั้งด้านราคาที่เงินเฟ้อไทยอยู่ต่ำสุดในอาเซียน ด้านสถาบันการเงินที่ตัวเลขชี้วัดด้านทุน สภาพคล่องอยู่ในเกณฑ์ดี ด้านต่างประเทศที่ไทยมีทุนสำรองสูง หนี้ต่างประเทศต่ำ แม้ค่าเงินบาทจะผันผวนค่อนข้างมาก และด้านการคลังที่หนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ขอบบนของเกณฑ์ปกติ  แต่ไม่ถึงขั้นวิกฤต เพราะโครงสร้างการกู้ยืมมาจากในประเทศเป็นหลัก และอายุหนี้ค่อนข้างยาว ไม่ใช่กู้สั้นๆ ถ้าจะมีจุดที่น่ากังวลคือ หนี้ครัวเรือนที่สูงกว่า 90% ของ จีดีพี ทำให้แบงก์ชาติต้องออกมาตรการมาแก้ปัญหานี้ รวมถึงดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำมากเป็นเวลานาน ทำให้เห็นพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทน (search for yield) ซึ่งเมื่อดอกเบี้ยปรับสูงขึ้นอาจก่อให้เกิดปัญหา ดังสุภาษิตที่ว่า “น้ำลดตอผุด” ได้

 

ด้านศักยภาพเศรษฐกิจไทย เป็นจุดที่อ่อนแอและน่าห่วงในหลายมิติ มิติแรงงาน คนไทยแก่ก่อนรวย โดยประเทศอื่นที่มีรายได้ใกล้เคียงกับเรามีสัดส่วนผู้สูงอายุต่ำกว่า ขณะที่การพัฒนาศักยภาพของแรงงานยังมีความท้าทาย สะท้อนจากผลการประเมินสมรรถนะผู้เรียนตามมาตรฐานสากล (PISA) ที่ตามหลังประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนหลายประเทศ มิติลงทุน เราดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้น้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงการลงทุนวิจัยและพัฒนาของไทยค่อนข้างต่ำคิดเป็นเพียง 1% ของจีดีพี แต่ไม่ใช่ทุกอย่างไม่ดี การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ของไทยค่อนข้างดี ในอาเซียนเป็นรองแค่สิงคโปร์ 

จากการประเมินทั้ง 3 ด้านข้างต้น ผู้ว่าแบงก์ชาติสรุปว่า ภาพรวมสุขภาพของเศรษฐกิจไทยตอนนี้เปรียบเหมือนกับคนป่วยที่ออกจากโรงพยาบาล กลับไปพักฟื้นตัวที่บ้านได้แล้ว แต่สุขภาพยังไม่เข้มแข็งนัก เพราะมีโรคเรื้อรังที่ต้องใช้การรักษาที่ตรงกับสภาพของปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งเวลานี้เศรษฐกิจไทยมีปัญหาในเชิงโครงสร้างระยะยาว การรักษาผ่านการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นจึงไม่มีความจำเป็นมากนัก แต่ควรเพิ่มศักยภาพการแข่งขันผ่านการพัฒนาคนและส่งเสริมการลงทุนมากกว่า สำหรับบริบทไทยนั้น ผู้ว่าแบงก์ชาติยกตัวอย่าง ยารักษาที่เกิดผลข้างเคียงน้อย มีต้นทุนต่ำ คือการปลดล็อกเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรค ลดขั้นตอนหรือกฎหมายต่าง ๆ ที่ซ้ำซ้อน สิ่งเหล่านี้จะช่วยสนับสนุนการลงทุน ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่เศรษฐกิจไทยต้องการมากได้ค่ะ 

** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด **

ผู้เขียน :
ธนันธร มหาพรประจักษ์
ฝ่ายกลยุทธ์สื่อสารและความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย

คอลัมน์ “บางขุนพรหมชวนคิด” นสพ.ไทยรัฐ

ฉบับวันที่ 14 ตุลาคม 2566