ธนบัตรไทย เพื่อนคู่ใจของคนไทย

15 พฤศจิกายน 2567

ในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา คนไทยเริ่มปรับพฤติกรรมหันมาใช้การชำระเงินดิจิทัลกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสแกน QR code การชำระเงินผ่านแอปพลิเคชันธนาคาร การใช้บัตรเครดิต/เดบิต หรือ e-Money รวมไปถึง แอปเป๋าตัง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้การใช้งานง่าย สะดวกสบาย ปลอดภัย โดยผลการสำรวจ Payment Diary[1] ในปี 2564 และ 2566 แสดงให้เห็นว่า สัดส่วนจำนวนครั้งของการใช้เงินสดเพื่อชำระเงินของคนไทยลดจาก 87% เหลือ 66%… เราลองสังเกตตัวเองดูก็ได้ครับว่า เราใช้เงินสดในชีวิตประจำวันน้อยครั้งลงจริงรึเปล่า?

อย่างไรก็ดี แม้สัดส่วนการใช้จ่ายด้วยเงินสดมีแนวโน้มลดลง แต่เงินสดยังเป็นสื่อการชำระเงินที่คนไทยคุ้นชินอยู่ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ยังไม่คุ้นชินหรือขาดความสามารถในการเข้าถึงสื่อชำระเงินดิจิทัล หรือกลุ่มคนที่ยังต้องการเงินสดเพื่อวัตถุประสงค์ในการเก็บรักษามูลค่า (store of value) และสำรองยามจำเป็น (precautionary) รวมไปถึงการใช้เงินสดเพื่อสำรองในการชำระเงินหากระบบดิจิทัลขัดข้อง ซึ่งเป็นแนวโน้มเดียวกับประเทศส่วนใหญ่ในโลก (ยกเว้นแถบสแกนดิเนเวีย เช่น สวีเดนและนอร์เวย์ที่ก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสดแล้ว) และถ้าเจาะลึกลงไปจะพบว่าเงินสดเป็นทางเลือกหลักสำหรับการใช้จ่ายที่มีมูลค่าต่ำกว่า 300 บาท ในพื้นที่ตลาดสด ร้านค้าขนาดเล็ก และร้านค้ารถเข็น เพราะประชาชนผู้ใช้งานรู้สึกว่าหยิบเงินสดยังสะดวกกว่า

CountryTravel

ด้วยเหตุนี้ แบงก์ชาติจึงยังคงให้ความสำคัญกับพันธกิจในด้านธนบัตร โดยศึกษา ติดตามข้อมูลโดยละเอียด และวางแผนการผลิตและบริหารจัดการธนบัตร เพื่อให้มั่นใจว่ามีธนบัตร "เพียงพอ" ต่อการความต้องการในระบบเศรษฐกิจอยู่เสมอ ทั้งในยามปกติและในภาวะวิกฤต และประชาชน "พึงพอใจ" ในสภาพธนบัตรที่ใช้งานได้ดี เชื่อมั่น ในธนบัตรไทยที่ยากต่อการปลอมแปลง…ในเมื่อเงินสดยังต้องอยู่กับคนไทยไปอีก เรามาทำความรู้จัก “เงินสด” เพื่อนคู่ใจของเราให้ลึกขึ้นกันอีกซักนิดนะครับ    

 

ธนบัตรไทยมีมากน้อยแค่ไหนในระบบเศรษฐกิจ? – ปัจจุบันเรามีธนบัตรหมุนเวียนใช้ในระบบเศรษฐกิจรวมทุกชนิดราคา (1000, 500, 100, 50, และ 20 บาท) ประมาณ 7550 ล้านฉบับ แน่นอนว่าแบงก์ 20 บาท มีปริมาณมากที่สุดประมาณ 35% ของธนบัตรทั้งหมด เพราะเป็นชนิดราคาย่อยที่ถูกใช้หมุนเวียนเปลี่ยนมือกันมาก ในขณะที่แบงก์ 500 บาท มีปริมาณน้อยที่สุดราว 5% ของธนบัตรทั้งหมด แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าแบงก์ชาติต้องพิมพ์แบงก์ใหม่ปีละ 7 พันกว่าล้านฉบับทุกปี โดยแบงก์ชาติจะพิมพ์ธนบัตรใหม่เข้าไปในระบบเศรษฐกิจเพื่อทดแทนธนบัตรหมดสภาพที่ถูกวนกลับเข้ามาทำลายประมาณ 1,400 ล้านฉบับต่อปี และเพื่อเสริมเพิ่มธนบัตรใหม่ตามการเติบโตของความต้องการในแต่ละปีราว 300 ล้านฉบับ

 

1

อายุการใช้งานของธนบัตรเป็นอย่างไร? – ถ้าเราต้องเปลี่ยนธนบัตรใหม่ยกเซตทุกปี เราคงต้องใช้ต้นทุนมหาศาลในการพิมพ์และทำลายแบงก์ในระบบ แต่ธนบัตรไทยมีอายุการใช้งานที่ยืนยาว อย่างเช่นแบงก์ 20 บาท ที่มีการเปลี่ยนมือกันมากที่สุดก็มีอายุเฉลี่ยประมาณ 23 เดือนก่อนจะเริ่มหมดสภาพ หรือแบงก์ 1,000 บาทมีอายุการใช้งานยาวถึงราว 76 เดือน และเมื่อแบงก์ชาติได้เปลี่ยนวัสดุธนบัตรจากกระดาษเป็นพอลิเมอร์ในแบงก์ 20 บาท ทำให้อายุการใช้งานยืดออกไปอีกเกือบ 4 เท่า ดังนั้น การรณรงค์ให้ประชาชนใช้ธนบัตรอย่างถูกวิธีไม่พับกรีด ไม่ประดิษฐ์ ไม่ขีดเขียน ไม่ขยำ ไม่เย็บลวด ไม่ใกล้ความร้อนสูง ก็จะช่วยให้ธนบัตรมีสภาพดีและยืดอายุการใช้งานธนบัตรไทย เพื่อลดต้นทุนการผลิตธนบัตรใหม่ทดแทนธนบัตรที่เสื่อมสภาพได้
 

ปัญหาธนบัตรปลอมในไทยน่ากังวลแค่ไหน? – เราอาจได้ยินข่าวแบงก์ปลอมเป็นระยะ ๆ แต่จากสถิติพบว่าอัตราการปลอมแปลงธนบัตรไทยในปี 2566 อยู่ที่ประมาณ 0.4 PPM (piece per million) เรียกได้ว่าในธนบัตรที่หมุนเวียนในประเทศเรา 1 ล้านฉบับ จะพบแบงก์ปลอมเพียงไม่ถึงครึ่งฉบับ ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ยิ่งไปกว่านั้น พบว่าแบงก์ปลอมในไทยส่วนใหญ่เป็นการปลอมแปลงที่ไม่ซับซ้อน เป็นการพิมพ์บนกระดาษทั่วไป ดังนั้น การสังเกตทุกครั้ง จะช่วยยับยั้งธนบัตรปลอมได้ ด้วย 3 วิธี ได้แก่ “สัมผัส” คือการจับเนื้อกระดาษธนบัตรจะรู้สึกถึงความแกร่ง เพราะทำจากใยฝ้ายเกือบ 100 % หากมีธนบัตรปลอมสอดแทรกปนมากับธนบัตรจริงจะรู้สึกแตกต่างได้ทันที “ยกส่อง” คือ การยกแบงก์ส่องกับแสงสว่าง เพื่อดูลายน้ำพระบรมสาทิสลักษณ์และตัวเลขบอกชนิดราคา ซึ่งจะเห็นภาพแสงเงาที่มีความคมชัด และเส้นแถบสีจะเห็นต่อเนื่องเป็นเส้นเดียวกัน และ “พลิกเอียง” คือ การพลิกดูลวดลายหมึกพิมพ์พิเศษ และแถบสีที่ฝังในเนื้อกระดาษ จะมีการเคลื่อนไหวและเปลี่ยนสลับสี... ลองหยิบขึ้นมาสังเกตกันได้ครับ
 

ในช่วงต่อจากนี้ไป คงเป็นความท้าทายของแบงก์ชาติในการส่งเสริมการชำระเงินดิจิทัลให้เป็นทางเลือกหลักในการชำระเงินของคนไทย แต่จะเปลี่ยนพฤติกรรมการชำระเงินของคนไทยให้ก้าวเข้าสู่สังคมที่ใช้เงินสดลดลง (less cash society) ได้เร็วและมากแค่ไหนเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก เรื่องที่แน่นอนกว่า คือ เงินสดยังคงอยู่ เป็นเพื่อนคู่ใจของคนไทยต่อไปอีก และ ไม่ว่าจะเป็นการชำระเงินดิจิทัล หรือ เงินสด ก็ล้วนเป็นพันธกิจของแบงก์ชาติที่ต้องทำให้มั่นใจว่า เราจะมีการชำระเงินที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการของคนไทยทุกกลุ่ม ในทุกสถานการณ์”   


[1] โครงการสำรวจพฤติกรรมการชำระเงินประชาชนโดยการบันทึกการใช้จ่ายประจำวัน (Payment Diary) ปี 2566, ธันวาคม 2566 https://www.bot.or.th/th/research-and-publications/research/payment-research.html

ธนบัตรไทย เพื่อนคู่ใจของคนไทย

** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด **

ผู้เขียน : วัชรกูร จิวากานนท์

ธนาคารแห่งประเทศไทย

คอลัมน์ "บางขุนพรหมชวนคิด"
ฉบับวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567