“Your Data” ... ข้อมูลชำระค่าน้ำ-ค่าไฟ เพื่อการขอสินเชื่อ

คอลัมน์แจงสี่เบี้ย 08 กรกฎาคม 2568

หลักการสำคัญของ “การเงินดิจิทัล” ที่เป็นส่วนหนึ่งของภูมิทัศน์ภาคการเงินไทย คือ นโยบาย 3 O’s ประกอบด้วย 1. Open Data: เปิดกว้างให้มีการใช้ประโยชน์จากข้อมูล 2. Open Infrastructure: เปิดกว้างให้เข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน และ 3. Open Competition: เปิดกว้างให้มีการแข่งขัน

 

ในส่วนของ Open data คือ การสร้างกลไกที่จะเอื้อให้ประชาชน  สามารถ“ใช้สิทธิในการส่งข้อมูลของตนที่มีอยู่” ไปยังผู้ให้บริการหรือหน่วยงานต่างๆ  “เพื่อสมัครหรือใช้บริการ”กับผู้ให้บริการรายอื่นได้สะดวกและปลอดภัย  ทางด้านผู้ให้บริการ สามารถเข้าถึงข้อมูล และโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่สำคัญ ด้วยการเชื่อมต่อ และกระบวนการที่เป็นมาตรฐาน ลดความซ้ำซ้อนและต้นทุนการดำเนินงาน 

Thailand Taxonomy … กติกาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เมื่อ ต.ค. 2567 แบงก์ชาติเปิดตัวโครงการ “Your Data ข้อมูลของคุณ สู่บริการทางการเงินที่ตอบโจทย์์” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และสมาคมผู้้ให้บริการทางการเงินหลายแห่ง เพื่อสร้างกลไกรับส่งข้อมูล ทั้งในและนอกภาคการเงิน ผ่านช่องทางดิจิทัล ที่่สะดวกและปลอดภัย โดยผู้ใช้บริการสามารถเลือกใช้สิทธิ ในการส่งข้อมูลของตนเอง ที่่อยู่กับผู้้ให้บริการทางการเงินและหน่วยงานต่าง ๆ ไปยังผู้ให้บริการที่่ตนเองต้องการใช้้ เพื่อให้้ได้รับบริการทางการเงินที่่ตอบโจทย์์มากขึ้น

 

หลักการของ “Your Data” คือ “ข้อมูลของเรา เรามีสิทธิใช้ข้อมูลของเราได้” เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้ใช้งาน จึงมีกลไกที่ผู้ใช้บริการ ใช้สิทธิส่งข้อมูลได้ สะดวก และ ปลอดภัย โดยมีข้อมูลที่พร้อมส่งในรูปแบบดิจิทัล มีมาตรฐานเดียวกัน และ มีกติกาให้มั่นใจว่า การรับส่งข้อมูลมีความปลอดภัย การเก็บ/ เชื่อมต่อ/ รับส่งข้อมูลของลูกค้า ต้องได้มาตรฐาน

 

การกำกับดูแลกลไกการรับ/ส่งข้อมูลของผู้ให้บริการ มี 3 ด้านสำคัญ คือ

 

1. ความมั่นคงปลอดภัย ต้องได้มาตรฐานระบบเทคโนโลยี

สารสนเทศ และความปลอดภัยในการรับส่งข้อมูลตามที่กำหนด

2. การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ต้องขอความยินยอม (consent) จากผู้ใช้บริการอย่างชัดเจน เข้าใจง่าย และใช้ข้อมูลตามวัตถุประสงค์ที่ขอตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล รวมทั้ง มีระบบรองรับการติดตามธุรกรรมเพื่อใช้ตรวจสอบและแก้ปัญหากรณีข้อมูลรั่วไหล

3. การดูแลผู้ใช้บริการ  มีช่องทางรับเรื่องและแก้ปัญหาให้ผู้ใช้บริการ รวมทั้งมีการกำหนดกระบวนการให้เป็นมาตรฐาน เช่น ต้องสามารถแจ้งเหตุไปที่ผู้ให้ข้อมูล ผู้ใช้ข้อมูล หรือหน่วยงานที่ดูแลอาชญากรรมที่เกี่ยวข้อง

 

ประโยชน์จากโครงการ “Your Data”

 

1. ผู้ใช้บริการทางการเงิน

  • สามารถขอสินเชื่อได้สะดวกขึ้น โดยส่งข้อมูลของตัวเองจากที่ต่าง ๆ  ผ่านช่องทางดิจิทัล ไปสมัครขอสินเชื่อจากผู้ให้บริการหลายรายพร้อมกันได้ ช่วยให้เปรียบเทียบข้อเสนอได้สะดวกรวดเร็ว
  • เพิ่มโอกาสเข้าถึงสินเชื่อด้วยต้นทุนเหมาะสม โดยเฉพาะผู้ใช้บริการที่มีประวัติทางการเงินในการขอสินเชื่อไม่มากพอ สามารถใช้ข้อมูลอื่น ๆ ประกอบการขอสินเชื่อได้
  • วางแผนและบริหารจัดการทางการเงินได้ดีขึ้น โดยรวมข้อมูลบัญชีทางการเงินไว้ที่เดียว เพื่อต่อยอดไปยังบริการอื่น เช่น การวางแผนทางการเงินและภาษี การได้รับคำแนะนำผลิตภัณฑ์การออมและการลงทุนที่เหมาะสมกับพฤติกรรมผู้ใช้บริการ รวมถึงแนวทางบริหารจัดการหนี้ที่เหมาะสม

2. ผู้ให้บริการทางการเงิน ช่วยลดต้นทุนการตรวจสอบความถูกต้องและประมวลผลข้อมูล จากการรับข้อมูลของผู้ใช้บริการทางดิจิทัล รวมทั้งผู้ให้บริการสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนานวัตกรรมและต่อยอดบริการ สร้างโอกาสทางธุรกิจได้

 

เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา แบงก์ชาติ ร่วมกับ สนง.พัฒนารัฐบาลดิจิทัล การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปานครหลวง และ การประปาส่วนภูมิภาค เปิดตัว "บริการขอประวัติการใช้และชำระค่าน้ำ - ค่าไฟ" ผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” เพื่อใช้ประกอบการสมัครขอสินเชื่อ ภายใต้โครงการ “Your Data” ที่ให้ประชาชนใช้สิทธิส่งข้อมูลของตน ผ่านช่องทางดิจิทัล เพื่อได้รับบริการที่ตอบโจทย์มากขึ้น โดยเริ่มให้บริการแล้ว ตั้งแต่ 30 มิ.ย. 2568 เป็นต้นไป

 

โดยประชาชนที่มีชื่อ ในทะเบียนผู้ใช้น้ำ-ไฟ (คู่สัญญา) สามารถขอประวัติการใช้และชำระค่าน้ำ-ค่าไฟบนแอปฯ “ทางรัฐ” ได้สะดวก ปลอดภัย และไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อยื่นประกอบการสมัครขอสินเชื่อกับผู้ให้บริการทางการเงิน เพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อ เพราะพฤติกรรมการจ่ายที่มีวินัย จะเป็นข้อมูลสำคัญที่ช่วยในการพิจารณาให้ได้รับสินเชื่อ โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำ

 

ขั้นตอนการใช้งานในแอปฯ “ทางรัฐ” คือ ให้ประชาชนที่มีชื่อในทะเบียนผู้ใช้น้ำ-ไฟ (คู่สัญญา) ลงทะเบียนใช้งานแอปฯ และยืนยันตัวตน ก่อนดำเนินการ ดังนี้
1. เข้าหมวดหมู่ “การเงิน/ ประกัน” และกดเลือก “ขอเอกสารประกอบการสมัคร บริการทางการเงิน”
2. เลือกหน่วยงาน (กปน./ กปภ./ กฟน./ กฟภ.) และทะเบียนผู้ใช้ที่ต้องการขอประวัติชำระค่าน้ำ-ค่าไฟ
3. ตรวจสอบข้อมูล และกด “ขอเอกสาร” โดยเอกสารจะถูกเก็บในมือถือของผู้ขอใช้บริการ
4. นำเอกสารที่เก็บในมือถือ ไปยื่นสมัครขอสินเชื่อ ตามช่องทางที่ผู้ให้บริการสินเชื่อกำหนด

 

โดยผู้ให้บริการสินเชื่อที่ได้รับข้อมูลประวัติดังกล่าวจากประชาชน สามารถนำข้อมูลไปประมวลผลได้โดยอัตโนมัติ (machine - readable) มีการรับรองด้วยลายมือชื่อดิจิทัล (digital signature) และตรวจสอบได้ว่าข้อมูลไม่ถูกปลอมแปลงแก้ไข ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการให้บริการทางการเงินแก่ประชาชนโดยรวม

 

ปัจจุบัน ผู้ให้บริการสินเชื่อ ที่พร้อมรับเอกสารประวัติชำระค่าน้ำ-ค่าไฟแล้ว มี Non-bank 3 ราย และจะมี ธพ. 1 รายและ Non-bank อีก 4 รายที่พร้อมให้บริการ ในไตรมาส 3 โดยจะมีมากขึ้นในช่วงต่อไป

รายชื่อผู้ให้บริการสินเชื่อที่พร้อมรับเอกสารประวัติในปี 2568
รายชื่อผู้ให้บริการสินเชื่อที่พร้อมรับเอกสารประวัติในปี 2569

นอกจากข้อมูลการชำระค่าน้ำ-ค่าไฟแล้ว ในระยะต่อไป จะทยอยมีข้อมูลอื่นๆ ให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้สิทธิส่งข้อมูลได้อีก เพื่อตอบโจทย์การขอสินเชื่อได้มากขึ้น เช่น ข้อมูลแบบภาษีเงินได้ ที่คาดว่าจะใช้สิทธิส่งข้อมูลได้ในไตรมาส 4 ส่วนข้อมูลที่อยู่กับผู้ให้บริการทางการเงิน จะเริ่มใช้สิทธิส่งข้อมูลในปีหน้า

 

ท่านที่สนใจ จะใช้ข้อมูลประวัติการชำระค่าน้ำ-ค่าไฟ เพื่อประโยชน์ในการขอสินเชื่อ สามารถดูรายละเอียดได้ที่ web site แบงก์ชาติ บริการขอประวัติการใช้และชำระค่าน้ำ-ค่าไฟ นะคะ

 


 

** บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานที่สังกัด **

ผู้เขียน

pornpen photo








ดร.พรเพ็ญ สดศรีชัย
ธนาคารแห่งประเทศไทย
คอลัมน์ “แจงสี่เบี้ย”
ฉบับวันที่ 8 กรกฎาคม 2568 

Open data Your Data บทความ