ร้านค้ารู้ยัง ... รับเงินต่างชาติ 6 ประเทศได้ด้วย QR Code

25 พฤศจิกายน 2566

สัปดาห์ก่อน ผู้ที่ได้อ่านบทความ “สายเที่ยว รู้ยัง ... ช้อป 6 ประเทศได้ด้วย QR Code” จะรู้แล้วว่าเมื่อเดินทางไปญี่ปุ่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย กัมพูชา และเวียดนาม สามารถสแกน QR code ใช้จ่ายได้ ในสัปดาห์นี้ เรายังอยู่กันที่เรื่อง Cross-Border QR Payment โดยจะขอชวนผู้ประกอบกิจการร้านค้าในไทยมาทำ QR code ไว้รับเงินจากชาวต่างชาติ 6 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย กัมพูชา เวียดนาม และเกาหลีใต้ ซึ่ง 9 เดือนแรกของปีนี้ นักท่องเที่ยวทั้ง 6 ประเทศมีสัดส่วนสูงถึง 35% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด โดยเฉพาะมาเลเซียที่น่าจับตามอง เพราะมาเที่ยวไทยมากที่สุดในขณะนี้ ร้านค้าในสงขลา ยะลาแถวเบตง ภูเก็ต และกระบี่ เตรียม QR Code ไว้ก็ไม่เสียหาย

Thai regions

Cross-Border QR Payment ดีกับร้านค้าในไทยอย่างไร? ข้อแรก ช่วยเพิ่มโอกาสในการขาย เช่น นักท่องเที่ยวช้อปปิ้งจนเงินสดเหลือน้อย แต่อยากซื้อของจากร้านค้าของเรา ก็อาจสนใจซื้อมากขึ้นเพราะจ่ายเงินได้ด้วย QR Code หรือก่อนมาเที่ยวประเทศไทย นักท่องเที่ยวอาจแลกเงินมาในอัตราแลกเปลี่ยนที่ซื้อของแพง แต่พอมาเที่ยวจริง อัตราแลกเปลี่ยนได้เปลี่ยนแปลงไปทำให้ซื้อของได้ถูกลง ก็อาจสนใจจ่ายด้วย QR code ได้ หรือร้านค้าออนไลน์สามารถส่ง QR code ให้ลูกค้าที่อยู่อีกประเทศจ่ายเงินได้ทันที ข้อที่สอง ขอบอกเลยว่า ไม่มีต้นทุน ไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม แถมยังช่วยร้านค้าบริหารเงินได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยลดภาระการจัดการเงินสด ลดความเสี่ยงในการรับเงิน และเลือกรับรายงานแบบ Real-time ได้ ข้อที่สาม สะดวกสบายปลอดภัย แค่มี QR Code ของธนาคารเพียงแห่งเดียว ก็สามารถรับเงินจากลูกค้าได้หลายประเทศ และวิธีรับชำระเงินเหมือนกับการรับชำระเงินภายในประเทศทั่วไป เมื่อลูกค้ายืนยันการทำรายการ ร้านค้าจะได้รับเงินเข้าบัญชีทันที และสุดท้าย มีการกำหนดเพดานอัตราแลกเปลี่ยนให้แข่งขันได้ ไม่แพงจนเกินไป ซึ่งจูงใจให้ลูกค้าต่างชาติใช้จ่าย 

 

ถ้าร้านค้าสนใจมี QR code ควรทำอย่างไรและควรรู้อะไรบ้าง? เรื่องแรกที่ร้านค้ามักจะถามกันคือประเภทของ QR code โดยร้านค้าที่จะรับเงินจากชาวต่างชาติจะต้องใช้ QR สำหรับร้านค้า (Merchant QR) เท่านั้น ไม่สามารถใช้ QR ที่สร้างจากบัญชีส่วนบุคคลได้ หากร้านค้ายังไม่มี Merchant QR ขอให้ติดต่อธนาคารพาณิชย์ที่ใช้บริการอยู่และลงทะเบียนบัญชีว่าเป็นผู้ประกอบการร้านค้า เรื่องที่สอง คือ บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ขอ Merchant QR ได้ เรื่องที่สาม คือ ธนาคารของไทยแต่ละแห่งจะรับเงินจากลูกค้าต่างสัญชาติกัน โดยในขณะนี้ธนาคารกรุงเทพ กรุงไทย กรุงศรีอยุธยา กสิกรไทย และไทยพาณิชย์ รับเงินได้จากลูกค้า 6 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย กัมพูชา เวียดนาม และเกาหลีใต้ ส่วนซีไอเอ็มบีไทยรับเงินได้เฉพาะลูกค้ามาเลเซีย อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ และสุดท้าย ลูกค้าต่างชาติสแกน QR code ที่สร้างจากเครื่องรูดบัตร (EDC) ได้

 

ร้านค้าควรรู้อะไรบ้างเพื่ออธิบายกับลูกค้าต่างชาติ? เริ่มจากลูกค้าต่างประเทศต้องดูว่าตนเองมี mobile banking application ของธนาคารที่เข้าร่วมบริการด้วยหรือไม่ อย่างลูกค้ามาเลเซียใช้ application ได้หลายธนาคาร เช่น application ของ CIMB, Hong Leong bank, Maybank เฉพาะ MAE app เป็นต้น ลูกค้าเกาหลีใต้ต้องมี application ของธนาคาร KEB Hana ประเด็นถัดมาที่ควรรู้ คือ วงเงินสูงสุดในการชำระเงินจะเป็นไปตามข้อกำหนดของธนาคารแต่ละประเทศ เช่น มาเลเซีย 3,000 ริงกิตต่อครั้ง ไม่เกิน 50,000 ริงกิตต่อวัน ค่าธรรมเนียมของลูกค้าต่างชาติ ขึ้นกับธนาคารของแต่ละประเทศ เช่น ธนาคารของมาเลเซียไม่คิดค่าธรรมเนียม เวลานักท่องเที่ยวมาเลเซียสแกน QR code เพื่อซื้อของในไทย อีกทั้ง ลูกค้าจะทราบอัตราแลกเปลี่ยนและค่าธรรมเนียมก่อนจ่ายเงิน ถ้าไม่พอใจ ก็ไม่ต้องกดจ่ายเงิน 

 

ในอนาคตจะเป็นอย่างไร? ธนาคารที่ให้บริการจะมีมากขึ้น และจะขยายความเชื่อมโยงไปที่อื่น เช่น ฮ่องกงจะใช้ได้ 4 ธันวาคมนี้ และอินเดียจะใช้ได้ภายในไตรมาส 1 ปีหน้า เหมือนกรณีคนไทยไปใช้จ่ายในต่างประเทศ โดย คุณ Eddie Yue Wai-man  ซีอีโอธนาคารกลางฮ่องกงกล่าวในงาน FinTech Week เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาว่า ช่วงวันคริสต์มาสและปีใหม่นี้ ชาวฮ่องกงสามารถสแกนและชำระเงินที่ร้านค้าในไทยได้ โดยไม่ต้องยุ่งยากแลกเงินไว้ล่วงหน้า หากร้านค้าไหนมี QR Code น่าจะช่วยเพิ่มโอกาสในการขายช่วงปลายปีนี้ได้ค่ะ 

** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด **

ผู้เขียน :
รุจา อดิศรกาญจน์

ธนาคารแห่งประเทศไทย

คอลัมน์ “บางขุนพรหมชวนคิด” นสพ.ไทยรัฐ

ฉบับวันที่ 25 พฤศจิกายน 2566