PromptBiz: พลิกโฉมธุรกิจไทยก้าวสู่ดิจิทัล
แจงสี่เบี้ย No. 13/2023 | 19 กันยายน 2566
รู้หรือไม่? ใน 5 ปีที่ผ่านมา การชำระเงินดิจิทัลของคนไทยเพิ่มขึ้นกว่า 7 เท่า[1] สะท้อนการปรับพฤติกรรมการชำระเงินจากเงินสดมาสู่การใช้ digital payment กันมากขึ้น และแน่นอนว่า PromptPay นับเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ เพราะตอบโจทย์ประชาชนผู้ใช้บริการทั้งด้านความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และต้นทุนต่ำ
เมื่อกลับมามองภาคธุรกิจ แม้ระบบชำระเงินไทยจะมีบริการ digital payment รองรับการชำระเงินของภาคธุรกิจอยู่แล้ว แต่เมื่อวิเคราะห์การดำเนินธุรกิจทั้งกระบวนการ พบว่าขั้นตอนการซื้อ-ขายระหว่างธุรกิจยังเป็นการใช้เอกสารกระดาษอยู่มาก ทั้งเอกสารทางการค้า เช่น ใบวางบิล ใบเสร็จ รวมไปถึงการชำระเงินโดยการใช้เช็ค ซึ่งมีต้นทุนสูง เกิดข้อผิดพลาดได้ง่าย ตรวจสอบยาก และใช้เวลาพอสมควร ทำให้ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร อันเป็นข้อจำกัดหรืออุปสรรคสำคัญต่อการการพัฒนาและการแข่งขันของภาคธุรกิจ
วันนี้ เราจึงมีโครงสร้างพื้นฐานด้านการชำระเงินใหม่ ที่จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการปรับพฤติกรรมของภาคธุรกิจให้ไปสู่การทำธุรกิจแบบดิจิทัลอย่างครบวงจร ภายใต้ชื่อ “PromptBiz”
ทำความรู้จักกับ “PromptBiz”
PromptBiz คือ ระบบที่จัดเป็นโครงสร้างพื้นฐานกลางทางการเงินและการชำระเงิน ให้ภาคธุรกิจสามารถใช้เชื่อมโยงข้อมูลการค้า เช่น ใบวางบิล กับการชำระเงิน และสามารถต่อยอดไปยังข้อมูลภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้ ซึ่งจะช่วยทำให้กระบวนการทางธุรกิจเป็นดิจิทัลได้อย่างครบวงจร รวมทั้งออกแบบให้รองรับการเชื่อมต่อกับบริการอื่นที่มีในปัจจุบัน เช่น digital business platform และ tax service provider (TSP) เพื่อสร้างระบบนิเวศด้านดิจิทัลของภาคธุรกิจที่ครบวงจร ในระยะต่อไปข้อมูลดิจิทัลที่ผ่านระบบ PromptBiz สามารถต่อยอดไปยังบริการอื่นที่เกี่ยวข้องได้ เช่น บริการสินเชื่อ รวมทั้งเป็นฐานในการพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องด้วย
PromptBiz ecosystem
ลักษณะการทำงาน ผู้ซื้อและผู้ขายสมัครใช้บริการ PromptBiz กับธนาคารผู้ให้บริการ ผู้ขายนำ invoice เข้าระบบ (invoice presentment) เมื่อถึงกำหนดชำระเงิน ระบบจะแจ้งเตือนไปยังผู้ซื้อ เมื่อผู้ซื้อชำระเงิน ข้อมูลการชำระเงินจะมาพร้อมกับข้อมูลการค้า ทำให้รู้ว่ายอดเงินที่รับเข้ามาเป็นการชำระเงิน invoice ใบไหนบ้าง ผู้ขายจึงสามารถสั่งให้ระบบนำส่งใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์กลับไปยังผู้ซื้อได้ทันทีโดยไม่ต้องติดตามทวงถามและไม่ต้องกระทบยอดกับ statement เพื่อตรวจสอบว่าชำระเงิน invoice ใบไหน
PromptBiz ช่วยยกระดับการทำธุรกิจได้อย่างไร
PromptBiz ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์การยกระดับการแข่งขันของภาคธุรกิจไทย ผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และสร้างข้อมูลดิจิทัลเพื่อต่อยอดในการใช้ประโยชน์
การเพิ่มประสิทธิภาพ เกิดจากการทำให้กระบวนการทางการค้าตลอดสายอยู่บนระบบดิจิทัล ทำให้ช่วย ลดข้อผิดพลาด ตรวจสอบได้ง่าย ลดการใช้กระดาษและการจัดเก็บเอกสาร รวมทั้งลดเวลาในการดำเนินการ และที่สำคัญสามารถทำธุรกรรมข้ามธนาคารได้
การลดต้นทุน จากการลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ทั้งค่ากระดาษ ค่าขนส่ง ค่าจัดเก็บเอกสาร และค่าจ้างแรงงานจากการลดขั้นตอนและการประหยัดเวลาในการทำงาน หลายประเทศที่ใช้กระบวนการทางธุรกิจแบบดิจิทัล เช่น เยอรมนี นิวซีแลนด์ และสิงคโปร์ พบว่ามีค่าใช้จ่ายลดลงราว 70-80%[2]
กระบวนการทางดิจิทัลบนระบบ PromptBiz ทำให้เกิดการสร้างและบันทึกข้อมูลดิจิทัลที่เชื่อถือได้ (digital footprint) เป็นการสร้างโอกาสให้กับภาคธุรกิจ ทั้งการใช้ประโยชน์ในการพัฒนาธุรกิจ และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs สามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวในการขอสินเชื่อ ด้วยข้อมูลที่เชื่อถือได้ และไม่มีการนำมาใช้ซ้ำในการขอสินเชื่อ (double financing) ซึ่งอาจนำไปสู่การได้สินเชื่อในอัตราที่จูงใจด้วย
นอกจากนี้ ในปัจจุบันที่ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยให้ความสำคัญกับเรื่องการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนผ่าน ESG กระบวนการทางธุรกิจดิจิทัลบนระบบ PromptBiz ยังช่วยนำไปสู่การลดปริมาณคาร์บอนได้ด้วย เช่น ประเทศฟินแลนด์ที่สามารถลดปริมาณคาร์บอนลงถึง 3 เท่า
PromptBiz พร้อมแล้ว
ขณะนี้ PromptBiz ได้เริ่มเปิดให้บริการแล้ว เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา พร้อมให้บริการหลัก คือ การให้บริการวางบิล การเรียกเก็บเงินตามเอกสารการค้า และ การชำระเงิน ระยะต่อไปภายในไตรมาส 2 ปี 2567 จะเชื่อมโยงกับบริการสินเชื่อ Digital Supplychain Finance ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจที่สนใจ สามารถติดต่อขอข้อมูลและสมัครใช้บริการผ่านผู้ให้บริการนำร่อง 6 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารทหารไทยธนชาต ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์จะเปิดให้บริการ PromptBiz ประมาณไตรมาส 2 ปี 2567 และจะมีการขยายผู้ให้บริการและพัฒนาบริการต่อยอดเพื่อสร้าง value ให้กับภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่องด้วย
PromptBiz จะช่วยยกระดับการแข่งขันของภาคธุรกิจไทย เพื่อให้สามารถก้าวข้ามความท้าทาย พร้อมเปิดรับทุกโอกาส รองรับไปสู่การเชื่อมโยงในระดับสากล และก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างยั่งยืน
Endnotes:
[1] Payment Data Indicators สรุปสถิติและเครื่องชี้ธุรกรรมการชำระเงินที่สำคัญของไทย https://www.bot.or.th/th/research-and-publications/reports/payment-data-indicators.html
[2] Bruno Koch Billentis E-invoicing / E- Billing Significant market transition lies ahead May 18, 2017 https://www.billentis.com/einvoicing_ebilling_market_report_2017.pdf
อสมาภรณ์ ชูผกา AsamapoC@bot.or.th
ผู้วิเคราะห์อาวุโส ฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีฯ ธนาคารแห่งประเทศไทย
ปัจจุบันเป็นผู้วิเคราะห์อาวุโส ฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ทำงานโครงการพัฒนา “ระบบ “PromptBiz” โครงสร้างพื้นฐานทางการเงินและการชำระเงินกลางของภาคธุรกิจ ภายใต้ทิศทางยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบการชำระเงินภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย (new financial landscape)" มีประสบการณ์ทำงานด้านระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน และการขับเคลื่อน Digital Transformation ขององค์กร มีความสนใจศึกษาด้านการดำเนินนโยบายและการกำกับดูแลสถาบันการเงินภายใต้การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีทางการเงิน เช่น การกำกับดูแลเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์และบริการดิจิทัล สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีและโท การบัญชีธุรกิจแบบบูรณาการ (Integrated Bachelor's and Master's Degree Program) สาขาการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
Disclaimer: ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และการกล่าว คัด หรืออ้างอิงข้อมูลบางส่วนตามสมควรในบทความนี้ จะต้องกระทำโดยถูกต้อง และอ้างอิงถึงผู้เขียนโดยชัดแจ้ง
Theme: นโยบายระบบการชาระเงิน
Tags: ทิศทางการพัฒนาระบบการชาระเงิน, ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย, เศรษฐกิจดิจิทัล, โครงสร้างพื้นฐานทางการเงินและการชาระเงิน, ธนาคารแห่งประเทศไทย, แจงสี่เบี้ย, คอลัมนิสต์, อสมาภรณ์ ชูผกา, Asamaporn Choopakar
คอลัมน์แจงสี่เบี้ย
เป็นช่องทางสื่อสารมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ในสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยในประเด็นเศรษฐกิจ Hot issues รวมถึงให้ความรู้ทางเศรษฐกิจการเงิน และนโยบายและผลกระทบแก่สาธารณชน
Advisory Editors
ดร.สักกะภพ พันธ์ยานุกูล -- ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
ดร.สุรัช แทนบุญ -- ฝ่ายนโยบายการเงิน สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
Economics and Production Editor
ดร.เสาวณี จันทะพงษ์ -- ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
Media Queries
งานสื่อมวลชน -- ฝ่ายกลยุทธ์สื่อสารและความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย MassMediaCCD@bot.or.th