รถไฟจีน-ลาว มีนัยสำคัญต่อการค้าภาคเหนือหรือไม่ ?

ก้องภพ ภู่สุวรรณ | กุศล จันทร์แสงศรี | ปราณี จิระกิตติเจริญ สำนักเศรษฐกิจภูมิภาค ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย

15 มี.ค. 2565

  ภาคเหนือเป็นอีกหนึ่ง gateway สำคัญเชื่อมโยงการค้าระหว่างไทยกับจีนตอนใต้ผ่านโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงทั้งทางบกทางถนนผ่าน สปป.ลาว (R3A) และเมียนมา (R3B) รวมทั้งทางแม่น้ำโขง โดยตั้งแต่ปี 2535 ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภาคลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Sub-region: GMS) ทำให้การค้าและการท่องเที่ยวเติบโตสูงต่อเนื่อง  (รูปที่ 1) ล่าสุดมีการเปิดให้บริการรถไฟจีน-ลาว เมื่อ 3 ธ.ค. 2564 ที่ผ่านมา จะเป็นโอกาสของสินค้าภาคเหนืออย่างไร1/ บทความนี้จึงได้ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกเส้นทาง อาทิ ต้นทุน ระยะเวลา ความเสี่ยง และความสะดวกในการขนส่ง เพื่อวิเคราะห์ศักยภาพของเส้นทางขนส่งสินค้าเดิมเปรียบเทียบกับเส้นทางใหม่ ชวนค้นหาคำตอบได้ที่นี่                                    

รถไฟจีน-ลาว เพิ่มทางเลือกจากเส้นทางขนส่งเดิม เพิ่มโอกาสการค้า

เดิมการขนส่งสินค้าระหว่างภาคเหนือกับจีนตอนใต้ มี 3 เส้นทาง  เรือแม่น้ำโขง R3A และ R3B (รูปที่ 2) การเลือกเส้นทางขึ้นกับชนิดของสินค้า และตลาดลูกค้าปลายทาง ส่วนใหญ่ใช้ทางถนน R3A การเปิดเดินรถไฟจีน-ลาว ช่วยเพิ่ม
ทางเลือกในการขนส่ง เป็นโอกาสที่จะขยายการค้ากับจีนตอนใต้เพิ่มขึ้น  (รูปที่ 3)

1. ทางเรือแม่น้ำโขง (ด่านเชียงแสน-ท่าเรือสบหลวย (เมียนมา)-สิบสองปันนา มณฑลยูนนาน)

  • สัดส่วน 40%4/ ของมูลค่าการส่งออกผ่านชายแดนในภาคเหนือไปจีน
  • สินค้าส่วนใหญ่แบบเทกอง (Bulk Cargo) อาทิ ยางพารา ซึ่งกระจายไปเมือง
    คุนหมิง และเฉิงตู ส่วนสินค้าอุปโภคบริโภคใช้ในสิบสองปันนา
  • การขนส่งทางเรือแม่น้ำโขงมีต้นทุนต่ำ อย่างไรก็ตาม ช่วงฤดูแล้งระดับน้ำลดลงมีความเสี่ยงเรือติดสันดอนทราย และบรรทุกสินค้าได้น้อยลง ส่งผลให้ค่าขนส่งปรับเพิ่มขึ้น แม้ท่าเรือกวนเหล่ยของจีนปิดตั้งแต่ มี.ค. 2563 แต่สามารถส่งผ่านท่าเรือสบหลวยของเมียนมาเข้าจีนได้

 

2. ถนน R3A (ด่านเชียงของ-สปป.ลาว-คุนหมิง)

  • สัดส่วน 60%4/ ของมูลค่าการค้าผ่านชายแดนภาคเหนือไปจีนทั้งหมด
  • สินค้าส่งออกกว่า 88%4/ เป็นผลไม้ เช่น ทุเรียน มังคุด ลำไย และมะขาม โดยช่วงก่อน COVID-19 มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง5/ ส่วนใหญ่สินค้ากระจายไปมณฑลตะวันตกของจีน ขณะที่สินค้านำเข้ากว่า 94%4/ เป็นสินค้าอุปโภคบริโภคและเกษตรแปรรูป
  • ช่วงปลายปี 2564 การส่งออกผลไม้ลดลง จากมาตรการควบคุม COVID-19ที่เข้มงวด ใช้เวลาตรวจสอบสินค้านานขึ้น ส่งผลให้สินค้าบางส่วนเสียหายและมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

 

3.ถนน R3B (ด่านแม่สาย-เชียงตุง-คุนหมิง )

  • เปิดใช้เส้นทางนี้เมื่อปี 2547 มีค่าผ่านด่านสูง และทางการจีนปิดด่านชายแดนตั้งแต่ปี 2549  จึงไม่สามารถขนส่งสินค้าไปจีนได้ 

 

เส้นทางใหม่ รถไฟจีน-ลาว เพิ่มโอกาสการค้าภาคเหนือ-จีนตอนใต้

  • รถไฟจีน-ลาว เป็นความคิดริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ของจีน กับ ยุทธศาสตร์ “เปลี่ยนประเทศ Land Lock สู่ Land link” ของ สปป.ลาว
    ตั้งแต่เปิดบริการเมื่อ 3 ธ.ค. 2564 ถึง 25 ก.พ. 2565 ขนส่งสินค้าระหว่างจีน-ลาวแล้วมากกว่า 350 ขบวน น้ำหนัก  250,000 ตัน
  • ผู้ประกอบการในภาคเหนือ สามารถใช้โอกาสนี้ขนส่งสินค้าไปจีนตอนใต้ทางถนนจากเชียงใหม่-หนองคายระยะทาง 640 กม. ขนส่งต่อโดยรถไฟ
    ช่วงในลาว 414 กม. และช่วงในจีน 628 กม. ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ในภาคเหนือเริ่มไปตั้งสำนักงานที่ จ.หนองคาย เพื่อให้บริการขนส่งที่มีต้นทุนต่ำ รวดเร็ว ทำให้ธุรกิจผลิตในภาคเหนือ6/ อาทิ ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเซรามิก ให้ความสนใจเส้นทางขนส่งมาใช้รถไฟจีน-ลาว

รถไฟจีน-ลาว เส้นทางขนส่งสินค้าที่ดีกว่าเส้นทางเดิมของภาคเหนือในอนาคต

รถไฟจีน-ลาว จะช่วยลดต้นทุน ลดเวลา ลดความเสี่ยง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการค้าระหว่างภาคเหนือกับจีนตอนใต้ให้คล่องตัวยิ่งขึ้น 

 

  • ระยะต่อไป หากระบบตรวจสอบสินค้าระหว่างด่าน และข้อตกลงการขนส่งสินค้าระหว่างไทยและสปป.ลาว เสร็จสมบูรณ์ เส้นทางรถไฟจีน-ลาว จะรองรับการขนส่งสินค้าภาคเหนือไปจีนตอนใต้ได้มากขึ้น จากการวิเคราะห์เปรียบเทียบเส้นทางการขนส่งทางถนน R3A เรือแม่น้ำโขง และรถไฟจีน-ลาว ด้วยปัจจัย 4 ด้าน คือ ต้นทุน ระยะเวลา ความเสี่ยง เช่น อุบัติเหตุทางถนน เรือติดสันดอนทราย และความสะดวกในการขนส่ง เช่น พิธีการศุลกากร การเปลี่ยนถ่ายสินค้า (รูปที่ 4 และ 5) โดยให้น้ำหนักกับต้นทุนและระยะเวลาขนส่งเป็นหลักตามความเห็นของผู้ประกอบการ พบว่า การขนส่งทางรถไฟจีน-ลาว เป็นเส้นทางที่คุ้มค่า เพราะมีต้นทุนต่ำกว่าถนน R3A 50% และต่ำกว่าทางแม่น้ำโขง 42% รวมถึงใช้เวลาน้อยกว่า และมีความเสี่ยงในการขนส่งสินค้าต่ำที่สุด ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนเปลี่ยนเส้นทางขนส่งสินค้ามาใช้ทางรถไฟจีน-ลาวมากขึ้น

โอกาสของสินค้าภาคเหนือในการส่งออกทางรถไฟ

 

การค้ากับจีนจะมีโอกาสและสะดวกมากขึ้น จากข้อตกลง RCEP ที่มีผลตั้งแต่ 1 ม.ค. 2565 สินค้าไทยมีโอกาสทำตลาดในจีนมากขึ้นในกลุ่มสินค้าเกษตรอาหาร และอุตสาหกรรมบางรายการ จากการตรวจปล่อยสินค้าที่รวดเร็วขึ้น สินค้าเน่าเสียง่ายภายใน 6 ชั่วโมง และสินค้าปกติภายใน 48 ชั่วโมง และจากงานศึกษา “คว้าโอกาสให้การค้าไทย จากรถไฟจีน-ลาว”9/ ซึ่งพิจารณาจากอัตราการเติบโตตลาดและการขยายตัวของส่วนแบ่งสินค้าไทยในจีน ระหว่างปี 2559-2563 พบว่า ภาคเหนือมีสินค้าดาวเด่น ที่มีศักยภาพในการส่งออกทางรถไฟไปจีนตอนใต้ ได้แก่

อย่างไรก็ตาม การขนส่งสินค้าทางรถไฟมีการตรวจสอบสินค้าเข้มงวด ทั้งด้านสุขอนามัยและมาตรฐานสินค้า ผู้ประกอบการต้องเตรียมความพร้อมรองรับ เพราะหากมีการตรวจพบเชื้อและสารตกค้างจะถูกทำลายสินค้าทิ้ง หรืออาจถูกยึดใบอนุญาตนำเข้า ตามที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2564 ที่จีนระงับการนำเข้าลำไยจากไทย เนื่องจากตรวจพบเพลี้ยแป้ง รวมถึงช่วงปลายปี 2564-ต้นปี 2565 จีนทำลายผลไม้นำเข้าจากไทย อาทิ ลำไยและทุเรียน จากการตรวจพบเชื้อ COVID-19

สรุปและข้อเสนอแนะ

 

การเปิดให้บริการรถไฟจีน-ลาว จะสร้างโอกาสทางการค้าระหว่างภาคเหนือกับจีนตอนใต้ เป็นประโยชน์ทั้งผู้ส่งออกสินค้า ผู้ประกอบการผลิต และเกษตรกรที่ทำการเพาะปลูกพืชผลเกษตร โดยเฉพาะผลไม้สำคัญของภาคเหนือ เช่น ลำไย ทุเรียน มะขาม และมะม่วง  อย่างไรก็ตาม ในช่วงทดลองให้บริการขนส่งสินค้ายังมีข้อจำกัดหลายประการ แต่หากสามารถปลดล็อคข้อจำกัดด้านต่าง ๆ ได้  เช่น ข้อตกลงพิธีสารด้านการขนส่ง ไทย-สปป.ลาว และระบบตรวจสอบสินค้าของจีนแล้วเสร็จ เส้นทางรถไฟจีน-ลาว จะมีศักยภาพในการขนส่งสินค้ากับจีนตอนใต้มากขึ้น เนื่องจากเป็นเส้นทางที่ประหยัดต้นทุน สะดวกรวดเร็วขึ้น และมีความเสี่ยงต่ำกว่าการขนส่งทางถนน R3A และทางเรือแม่น้ำโขง 

 

อย่างไรก็ตาม เกษตรกรต้องยกระดับมาตรฐานสินค้าให้สูงขึ้น และมีความเข้มงวดด้านสุขอนามัย เพื่อให้สามารถขนส่งผลไม้ทางรถไฟจีน-ลาวได้  ขณะที่ผู้ประกอบการผลิตจำเป็นต้องนำสินค้าไปตรวจสอบคุณภาพกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจีนก่อน รวมทั้งควรนำตู้คอนเทนเนอร์ไปจดทะเบียนขนส่งทางรถไฟจีน เพื่อให้สามารถขนส่งได้ต่อเนื่องโดยไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายตู้ มองไปข้างหน้า หากการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานบริเวณชายแดนไทย-ลาว-จีนตอนใต้ ทั้งทางด่วนบ่อเต็น-ห้วยทรายใน สปป.ลาว และเส้นทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงของ แล้วเสร็จ จะพลิกโฉมการขนส่งของภาคเหนือ ผู้ประกอบการจะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นอีกจากการเชื่อมโยงขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transportation) ไปเชื่อมต่อกับรถไฟจีน-ลาว จะทำให้สามารถกระจายสินค้าภาคเหนือไปทั่วประเทศจีนได้สะดวกยิ่งขึ้น ใช้เวลาขนส่งสั้นลง และลดต้นทุนค่าขนส่งได้มากกว่าที่ประเมินขั้นต้น

 

ดังนั้นการศึกษาเส้นทางการขนส่งรูปแบบต่าง ๆ จะช่วยให้การตัดสินใจเลือกรูปแบบการขนส่งสินค้าได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ การยกระดับมาตรฐานสินค้า และปฎิบัติตามข้อกำหนดของประเทศคู่ค้า รวมทั้งรับรู้สินค้าของภาคเหนือที่มีศักยภาพในจีนจะช่วยให้ผู้ประกอบการภาคเหนือสามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสที่ติดมากับขบวนรถไฟจีน-ลาว ได้มากยิ่งขึ้น

ประเด็นพิเศษ : ปัจจัยสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐานบริเวณพื้นที่ชายแดนไทย-ลาว-จีนตอนใต้ รองรับการค้าที่มีโอกาสเติบโต

 

ปัจจุบันพื้นที่เชียงของมีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำคัญรองรับการเชื่อมโยงรถไฟจีน-ลาว และถนน R3A  ดังนี้

 

1. ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ รองรับการเปลี่ยนหัวลาก-หางพ่วงระหว่างรถบรรทุกไทยกับรถบรรทุกต่างประเทศ และการเปลี่ยนถ่ายสินค้าจากทางถนนสู่ทางราง (Modal Shift) กับรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงของ คาดว่าก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2568

2. รถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงของ (รูปที่ 7) รองรับการขนส่งสินค้าและช่วยลดต้นทุนการขนส่ง คาดว่าเริ่มทยอยก่อสร้างกลางปี 2565 และแล้วเสร็จในปี 2571

 

นอกจากนี้ สปป.ลาว มีโครงการทางด่วนบ่อเต็น - ห้วยทราย ซึ่งจะช่วยร่นระยะทางบนเส้น R3A จาก 228.3 กม. เหลือเพียง 176.3 กม. และลดระยะเวลาการขนส่งจาก 5 ชั่วโมง เหลือเพียง 1.30 ชั่วโมง คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2570

บทความนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีจากการสนับสนุนของนักวิชาการและนักธุรกิจที่ให้ความร่วมมืออย่างดียิ่งในการให้ข้อมูลต่าง ๆ  ที่เป็นประโยชน์ต่อบทความนี้ ผู้เขียนขอขอบพระคุณ เป็นอย่างสูงมา ณ ที่นี้

 

หมายเหตุ: 

1/ เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนยังไม่สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้จึงขอโฟกัสเฉพาะการค้า

2/ ที่มา: กรมศุลกากร, อัตราเติบโตเฉลี่ยปี 2561-64 คำนวณโดยผู้ศึกษา

3/ เป็นข้อมูลล่าสุดและก่อนการระบาดโควิด

4/ ที่มา: กรมศุลกากรและการแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้ประกอบการค้าชายแดน คำนวณโดยผู้ศึกษา

5/ ที่มา: กรมศุลกากร, ปี 2561-62 มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ย 91% คำนวณโดยผู้ศึกษา

6/ การแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้ประกอบการภาคเหนือ 

7/ ที่มา: การแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้ประกอบการค้าชายแดน คำนวณโดยผู้ศึกษา
8/ การแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้ประกอบการค้าชายแดน และ Yunnan International Railway Service and Trading Co., Ltd คำนวนโดยผู้ศึกษา

9/ ที่มา: อ้างอิงงานศึกษา “คว้าโอกาสให้การค้าไทย จากรถไฟจีน-ลาว” โดยส่วนเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 

 

 

“บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย”               

.

.

.

ในระยาว ช่วยเพิ่มโอกาสการค้าผ่านจีนไปยังเอเชียกลางและยุโรป

 

  • ถไฟจีน-ลาว เชื่อมต่อไปยังเอเชียกลางและยุโรป (รูปที่ 6) ตามเส้นทาง Belt and Road โดยใช้คุนหมิงเป็น hub ในการขนส่ง และสามารถใช้ใบกำกับสินค้าใบเดียวตลอดการขนส่งระหว่างจีน-ยุโรป ประเทศปลายทางสำคัญ คือ เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ ตุรกี และรัสเซีย
  • ค่าขนส่งใกล้เคียงกับการขนส่งทางเรือเดินสมุทร แต่ใช้เวลาน้อยกว่า ปัจจุบันการขนส่งทางรถไฟจีน-ยุโรป ใช้เวลาเพียง 10-15 วัน ขณะที่การขนส่งทางเรือเดินสมุทรใช้เวลามากกว่า 30 วัน