ปาล์มน้ำมันไทยอยู่ตรงไหนในสมการราคาน้ำมันแพง?

ณรงค์ฤทธิ์ อดุลย์ฐานานุศักดิ์ I ปิติยาธร พิลาออน สำนักเศรษฐกิจภูมิภาค ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย

15 เม.ย. 2565

ประเทศไทยใช้น้ำมันปาล์มดิบเป็นส่วนประกอบหลักในการผลิตไบโอดีเซล ซึ่งนำมาผสมเป็นน้ำมันดีเซล ทำให้ราคาไบโอดีเซลมีความสัมพันธ์กับราคาปาล์มน้ำมันสูง จีงนำมาซึ่งคำถามที่ว่า “ปาล์มน้ำมันอยู่ตรงไหนในสมการน้ำมันแพง?” บทความนี้จึงพยายามตอบคำถามดังกล่าว โดยนำเสนอตั้งแต่ความสำคัญของปาล์มน้ำมันต่อนโยบายพลังงานของไทย กระบวนการผลิตตั้งแต่จากเกษตรกรไปถึงมือผู้ใช้น้ำมัน ผลของปาล์มน้ำมันและปัจจัยที่มีต่อราคาน้ำมันดีเซล รวมถึงการบรรเทาปัญหาน้ำมันแพงในปัจจุบัน

ปาล์มน้ำมันมีความสำคัญต่อนโยบายพลังงานของไทย

ไบโอดีเซลถูกนำมาผสมกับน้ำมันจากปิโตรเลียมเพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งมีปริมาณและสัดส่วนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในช่วงแรก เป็นพลังงานทางเลือกเพื่อความมั่นคงทางพลังงานและลดการนำเข้าน้ำมันปิโตรเลียมจากต่างประเทศ จากนั้นได้ทยอยปรับเพิ่มสัดส่วนการผสมและกำหนดให้ใช้เป็นมาตรฐานบังคับตั้งแต่กลางปี 2554 เป็นต้นมา ทั้งนี้ มาตรการส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซลเป็นพลังงานทดแทน ทำให้ภาครัฐมีมาตรการส่งเสริมการปลูกปาล์มน้ำมันเพื่อให้มีผลผลิตเพียงพอ โดยเฉพาะมาตรการโค่นยางปลูกปาล์ม ในช่วงที่ราคายางพาราตกต่ำระหว่างปี 2556-60 /1 ส่งผลให้พื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันของไทยขยายตัวสูงถึงปีละ 3.25 แสนไร่ (รูปที่ 1)

อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์ปาล์มน้ำมันที่มีความไม่แน่นอน กระทรวงพลังงานได้ให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณาการปรับสัดส่วนการผสมไบโอดีเซล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบริหารจัดการไม่ให้ราคาสูงเกินไปจนกระทบต่อราคาน้ำมันพืชเพื่อบริโภค ขณะเดียวกันยังจำเป็นต้องมองแนวโน้มสถานการณ์ปาล์มน้ำมันในระยะข้างหน้า เพื่อป้องกันไม่ให้ราคาตกต่ำเกินไปจนส่งผลกระทบต่อเกษตรกร ซึ่งปัจจุบัน น้ำมันดีเซลเกรดพื้นฐานของไทยอยู่ที่ B10 ก่อนที่จะปรับลดลงมาเหลือ B7 และ B5 เป็นการชั่วคราว (สิ้นสุด 1 ก.ค. 65) เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปาล์มน้ำมันและเพื่อแก้ปัญหาราคาน้ำมันดีเซลที่ราคาปรับสูงขึ้น

ปาล์มน้ำมัน เป็นส่วนประกอบสำคัญในไบโอดีเซลและน้ำมันดีเซล

ในประเทศไทย ไบโอดีเซลเกือบทั้งหมดผลิตมาจากน้ำมันปาล์มดิบ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่า 70% ของต้นทุนการผลิต ทำให้ราคาไบโอดีเซลมีความสัมพันธ์กับราคาปาล์มน้ำมันสูง ทั้งนี้ กระบวนการผลิตจะเริ่มจากเกษตรกรขายผลปาล์มน้ำมันให้กับโรงสกัดเพื่อผลิตเป็นน้ำมันปาล์มดิบก่อนส่งไปยังโรงงานไบโอดีเซลอีกต่อหนึ่ง โดยหลังจากได้ไบโอดีเซลบริสุทธิ์ (B100) แล้ว จะขายต่อให้กับผู้ค้าน้ำมันเพื่อนำไปผสมกับน้ำมันจากปิโตรเลียมในสัดส่วนต่าง ๆ และกระจายให้กับสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศ (รูปที่ 2) ซึ่งปัจจุบัน น้ำมันดีเซลมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากมีสัดส่วนสูงสุดถึงประมาณ 61% ของการใช้เชื้อเพลิงทั้งหมดในภาคขนส่ง ดังนั้น ไบโอดีเซลจึงมีความสำคัญมากขึ้นตามไปด้วย /3

 

สำหรับด้านการส่งผ่านราคา ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกจะเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันในตลาดโลกเป็นหลัก ขณะที่ราคาไบโอดีเซลที่เป็นส่วนประกอบขึ้นอยู่กับปริมาณและความต้องการใช้ในประเทศ โดยผู้ค้าน้ำมันจะนำน้ำมันจากปิโตรเลียมและไบโอดีเซลมาผสมตามสัดส่วนตามที่ กบง. กำหนด และขายส่งโดยอ้างอิงราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่น อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีก นอกจากประกอบด้วยต้นทุนที่เป็นเนื้อน้ำมัน ยังมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามโครงสร้างราคาน้ำมัน โดยเฉพาะภาษีต่าง ๆ และเงินกองทุนพลังงานเชื้อเพลิง /4 ที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน โดยจัดเก็บเมื่อราคาน้ำมันจากปิโตรเลียมลดลงและนำออกมาใช้ในช่วงราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับสถานการณ์ในปัจุบัน  

ปาล์มน้ำมันไทยอยู่ตรงไหนในสมการราคาน้ำมันแพง?

ไบโอดีเซลมักมีราคาที่สูงกว่าน้ำมันจากปิโตรเลียมเสมอ เนื่องจากปาล์มน้ำมันเป็นได้ทั้งพืชอาหารและพลังงานทางเลือก ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา ราคาน้ำมันปาล์มดิบมีทิศทางปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำมันพืชในตลาดโลก  ดังนั้น การผสมไบโอดีเซลมากขึ้น จึงทำให้ราคาน้ำมันดีเซลหน้าโรงกลั่นเพิ่มขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ดี หากพิจารณารอบด้าน จะพบว่า การผสมไบโอดีเซลให้ประโยชน์หลายทาง ทั้งในด้านความมั่นคงทางพลังงาน การลดปัญหาฝุ่นควัน ตลอดจนการสร้างเสถียรภาพราคาปาล์มน้ำมันให้แก่เกษตรกร โดยที่ผ่านมา ต้นทุนจากไบโอดีเซลมีสัดส่วนไม่มากนัก เมื่อเทียบกับราคาน้ำมันดีเซลหน้าโรงกลั่น (ต่ำกว่า 25%) ขณะที่ราคาน้ำมันดิบจากปิโตรเลียมมีต้นทุนที่สูงกว่ามาก อีกทั้งยังผันผวนตามสถานการณ์ในตลาดโลก รวมทั้งมีการจัดเก็บค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามโครงสร้างราคาน้ำมัน ส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกปรับเพิ่มขึ้น ดังนั้น ปาล์มน้ำมันซึ่งเป็นวัตถุดิบในไบโอดีเซล จึงไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้ราคาน้ำมันแพง ทั้งนี้ หากพิจารณาราคาน้ำมันดีเซล โดยเชื่อมโยงกับราคาน้ำมันดิบและนโยบายพลังงาน (รูปที่ 3) จะแบ่งสถานการณ์ออกได้เป็น 3 ช่วงเวลา คือ

การบรรเทาปัญหาน้ำมันแพงในปัจจุบัน : ปรับตามความเหมาะสมและหาจุดสมดุลร่วมกัน

 

จากที่กล่าวมาข้างต้น ปัญหาราคาน้ำมันดีเซลแพงในปัจจุบันจึงไม่ได้มาจากไบโอดีเซลเพียงอย่างเดียว แต่มาจากหลายองค์ประกอบที่เกิดขึ้นพร้อมกัน โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น การบริหารจัดการจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงทั้งผู้ใช้น้ำมัน เกษตรกรชาวสวนปาล์ม และผู้บริโภคน้ำมันพืชเพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบมากเกินไป 

1. ไตรมาสที่ 1 ปี 2563

ในช่วงต้นการแพร่ระบาดของ COVID-19 และมีการบังคับใช้มาตรการปิดเมือง (Full lockdown) ทั้งในไทยและหลายประเทศทั่วโลก ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก และมีผลทำให้ราคาน้ำมันจากปิโตรเลียมและราคาไบโอดีเซลลดลง ส่งให้ราคาดีเซลขายปลีกปรับลดลงต่ำสุดในรอบมากกว่า 10 ปี  โดยราคาในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2563 อยู่ต่ำกว่า 20 บาท/ลิตร     

 

2. หลังไตรมาสที่ 3 ปี 2563 - ปัจจุบัน

การทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ของหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงไทย ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกทยอยกลับมาฟื้นตัวและความต้องการใช้น้ำมันปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ การจำกัดปริมาณการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปกพลัสและความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนในปัจจุบัน ยิ่งทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และราคาน้ำมันขายปลีกปรับเพิ่มขึ้น

 

ทำให้ภาครัฐจำเป็นต้องหาแนวทางในการบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน ซึ่งได้แก่ (1) การปรับลดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลจาก B10 เหลือ B5 เหมือนที่เคยทำในอดีตในช่วงที่ผลผลิตปาล์มน้ำมันมีน้อย (สิ้นสุด 1 ก.ค. 65)  (2) การปรับลดภาษีสรรพสามิตชั่วคราว 3 บาท/ลิตร เป็นเวลา 3 เดือน (สิ้นสุดเดือน พ.ค. 65) และ (3) การนำเงินจากกองทุนน้ำมันฯ มาชดเชย เพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกให้ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร ส่งผลให้เงินกองทุนน้ำมันฯ มีสถานะเป็นลบ ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2564 หลังราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น และราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง (รูปที่ 4)

 

แม้ต้นทุนไบโอดีเซลจะคิดเป็นสัดส่วนไม่มากนักเมื่อเทียบกับน้ำมันจากปิโตรเลียม แต่ราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องส่งผลต่อราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งที่ผ่านมา การบรรเทาปัญหาจึงอยู่บนพื้นฐานของการหาจุดสมดุลร่วมกันโดยมุ่งหวังไม่ให้ส่งผลกระทบต่อทั้งเกษตรกรและผู้ใช้น้ำมันมากเกินไป

 

หมายเหตุ:

/1 สำนักเศรษฐกิจการเกษตร (2565)

/2 ความต้องการใช้แบ่งเป็นเพื่อบริโภคและไบโอดีเซล *น้ำมันดีเซลทางเลือก , F หมายถึง ข้อมูลประมาณการ

/3 สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (2564) 

/4 ค่าใช้จ่ายที่เก็บตามโครงสร้างราคาน้ำมัน ได้แก่ (1) ภาษีต่างๆ ประกอบด้วย ภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล และภาษีมูลค่าเพิ่ม (2) เงินกองทุน ประกอบด้วย เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมและอนุรักษ์พลังงาน และ (3) ค่าการตลาด (หรือ ค่าใช้จ่ายและกำไรของผู้ค้าปลีกน้ำมันทั้งระบบ) 

 

 

“บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย”               

.

.

.