ส่องชีวิตคนใน 3 ภาค จากดัชนีความเป็นอยู่ของคนไทย
ปริญดา สุลีสถิร | ดวงทิพย์ ศิริกาญจนารักษ์ ฝ่ายเศรษฐกิจการเงินภูมิภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย
01 ธ.ค. 2566
“ความเป็นอยู่ของคนใน 3 ภูมิภาคมีความโดดเด่นแตกต่างกัน โดยคนในภาคใต้อยู่ในสิ่งแวดล้อมดี ทำให้จังหวัดที่มีค่าดัชนีฯ สูงสุด Top 5 ของประเทศ อยู่ในภาคใต้ทั้งหมด ได้แก่ พังงา ระนอง นราธิวาส พัทลุง และชุมพร สำหรับด้านการศึกษาและด้านสาธารณสุขใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ ขณะที่คนในภาคอีสานอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัยสูง โดยจังหวัดที่มีค่าดัชนีฯ สูงสุด Top 5 ของประเทศ อยู่ในภาคอีสานทั้งหมด ได้แก่ นครพนม บุรีรัมย์ อำนาจเจริญ สุรินทร์ และสกลนคร และมีโครงสร้างพื้นฐานดีใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ สำหรับคนในภาคเหนือมีการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายติด Top 5 ของประเทศ และด้านความปลอดภัยดีรองจากอีสาน ส่วนด้านสาธารณสุขของภาคเหนือและภาคอีสานไม่ดีเท่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ มีเพียงจังหวัดหลักของแต่ละภาคที่ติดอันดับต้น ๆ ของประเทศที่มีจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยมากสุดเมื่อเทียบกับประชากร”
การติดตามภาวะเศรษฐกิจและการเงินอย่างเดียวไม่ได้ครอบคลุมชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งหมด งานศึกษานี้ จึงได้พัฒนาดัชนีความเป็นอยู่ของคนไทย (ดัชนีฯ) ในการติดตามความเป็นอยู่ของคนไทยในพื้นที่ต่าง ๆ ที่นอกเหนือจากด้านเศรษฐกิจ เพื่อประโยชน์ด้านนโยบายเชิงพื้นที่ในอนาคต โดยจัดทำขึ้นตามกรอบแนวคิดและวิธีการคำนวณของ OECD[1] ที่นำมาปรับใช้กับบริบทของไทย ครอบคลุมความเป็นอยู่ใน 6 ด้าน ผ่าน 20 เครื่องชี้ (ตารางที่ 1) ซึ่งใช้ข้อมูลที่เผยแพร่จากหลายหน่วยงาน เป็นข้อมูลรายจังหวัดและรายปี ปี 2564-2565 (ปีล่าสุด)[2]
ดัชนีฯ ในแต่ละด้าน มาจากการนำเครื่องชี้แต่ละด้านรายจังหวัดมาสร้างเป็นดัชนีฯ รายภาคและเฉลี่ยทั้งประเทศ ซึ่งมี 2 ขั้นตอนหลัก คือ
ขั้นตอนที่ 1 การนำเครื่องชี้มา Normalize ให้มีค่าอยู่ในช่วง 0-10 เนื่องจากเครื่องชี้มีหน่วยและการตีความแตกต่างกัน การทำให้เครื่องชี้มีค่าอยู่ในช่วง 0-10 จะทำให้เปรียบเทียบกันได้ โดย “ค่ายิ่งมากยิ่งดี”
ขั้นตอนที่ 2 คำนวณดัชนีฯ แต่ละด้าน รายภาค และประเทศ โดยหาค่าเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักด้วยจำนวนประชากร แต่ละจังหวัดในภาคนั้น ๆ (Arithmetic Mean)[3] ดูรายละเอียดใน Appendix 2
ในภาพรวมคนไทยใน 3 ภูมิภาคมีความเป็นอยู่ที่โดดเด่นในหลายด้าน ทั้งด้านสภาพแวดล้อมในภาคใต้ด้านความปลอดภัยในภาคอีสานและภาคเหนือ รวมทั้งด้านการศึกษาในภาคใต้และภาคเหนือ
หมายเหตุ: ค่าดัชนีฯ แต่ละด้าน มีค่าอยู่ระหว่าง 0-10 โดยค่ายิ่งมากยิ่งดี
ที่มา: 1) ผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ 2) ฐานข้อมูลดัชนีความก้าวหน้าของคน ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 3) สำรวจภาวะการทำงานของประชาชน ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ 4) The World Air Quality Project 5 ) Open Government Data of Thailand ของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) 6) VIIRS Stray Light Corrected Nighttime Day/Night Band Composites ของ Earth Observation Group, Payne Institute for Public Policy, Colorado School of Mines และ 7) Dynamic World ของ Google ร่วมกับ World Resources Institute คำนวณโดยทีมศึกษา อ่านรายละเอียดเครื่องชี้และดัชนีความเป็นอยู่ของประชาชนรายภาคเพิ่มเติมได้ใน Appendix 1- 2 และ 4
โดยหากพิจารณาข้อมูลในระดับภูมิภาคและจังหวัด จะพบ 5 มุมมองสำคัญ ได้แก่
ดัชนีความเป็นอยู่ด้านสิ่งแวดล้อมของคนในภาคใต้สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ โดยจังหวัดที่มีค่าดัชนีฯ ด้านสิ่งแวดล้อมสูงสุด Top 5 ของประเทศ อยู่ภาคใต้ทั้งหมด ได้แก่ พังงา ระนอง นราธิวาส พัทลุง และชุมพร ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์และสภาพอากาศของภาคใต้ ที่ตั้งอยู่ใกล้ทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน มีลมและฝนกระจายตัวเกือบตลอดทั้งปี ทำให้ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ (PM 2.5) และอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีของภาคใต้อยู่ในระดับดีกว่า 2 ภาคและค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ โดยจังหวัดตรังมีค่า PM 2.5 เฉลี่ยต่อปีต่ำสุดของประเทศ และยังติดอันดับ 5 เมืองไร้ฝุ่นในเอเชียที่เหมาะแก่การไปเที่ยวและฟอกปอด[4] และจังหวัดพังงามีอุณหภูมิต่ำสุดของประเทศ ส่วนหนึ่งจากปัจจัยเฉพาะทางภูมิศาสตร์ที่ตั้งอยู่ทางด้านฝั่งตะวันตกของภาคใต้ ซึ่งรับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้อย่างเต็มที่ในฤดูฝน จึงเป็นจังหวัดที่มีฝนอยู่ในเกณฑ์ดีมากเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่น ๆ ในภาคเดียวกัน
ดัชนีฯ ด้านสิ่งแวดล้อมของคนในภาคอีสานและภาคเหนือใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ สะท้อนจากค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ (PM 2.5) และอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีสูงกว่า
หมายเหตุ : ดัชนีความเป็นอยู่ด้านสิ่งแวดล้อมของทุกจังหวัดในภาคใต้ฝั่งตะวันตก (ฝั่งอันดามัน) ติด Top 15 ของประเทศ (สตูล (9) ภูเก็ต (11) ตรัง (13) และกระบี่ (14))
ที่มา : The World Air Quality Project และ Open Government Data of Thailand ของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (มหาชน) คำนวณโดยทีมศึกษา
ดัชนีความเป็นอยู่ด้านความปลอดภัยของคนในภาคอีสานสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ โดยจังหวัดที่มีค่าดัชนีฯ ด้านความปลอดภัยสูงสุด Top 5 ของประเทศอยู่ภาคอีสานทั้งหมด ได้แก่ นครพนม บุรีรัมย์ อำนาจเจริญ สุรินทร์ และสกลนคร โดยภาคอีสานมีจำนวนแจ้งความคดีชีวิต ร่างกาย เพศ และคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ ต่ำกว่า 2 ภาคและค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ ส่วนหนึ่งจากที่เกือบครึ่งหนึ่งของคนในภาคอีสานทำการเกษตร และมีวิถีชีวิตถ้อยทีถ้อยอาศัย
ดัชนีฯ ด้านความปลอดภัยของคนในภาคเหนือและภาคใต้อยู่ในระดับใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยทั้งประเทศแต่ต่ำกว่าภาคอีสาน โดยอัตราการตายจากอุบัติเหตุบนท้องถนนของคนในภาคเหนืออยู่สูงสุด เนื่องจากประชาชนและภาคธุรกิจมีการเดินทางสัญจรและขนส่งสินค้าเป็นจำนวนมาก[5] และลักษณะภูมิประเทศที่เป็นภูเขา เส้นทางคดเคี้ยว ประกอบกับนักท่องเที่ยวในภาคเหนือจะนิยมท่องเที่ยวโดยขับรถยนต์ข้ามจังหวัด ซึ่งอาจไม่มีความชำนาญในเส้นทางทำให้มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้สูง สำหรับอัตราการตายจากอุบัติเหตุบนท้องถนนของคนในภาคใต้ต่ำสุด ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยโครงสร้างถนนที่ส่วนใหญ่เป็นแนวราบไม่คดเคี้ยวเหมือนภาคเหนือ ประกอบกับรูปแบบการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวนิยมเดินทางโดยเครื่องบินไปยังจุดหมายปลายทางเป็นหลักไม่นิยมขับรถข้ามจังหวัด[6]
ดัชนีความเป็นอยู่ด้านการศึกษาของคนในภาคใต้ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ โดยจังหวัดภูเก็ตและตรัง ติด Top 10 ของประเทศที่มีดัชนีฯ ด้านการศึกษาสูงสุด รองจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเครื่องชี้สำคัญมาจากคนที่อายุ 15 ปีขึ้นไปในภาคใต้มีจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยอยู่ในระดับสูงใกล้เคียงค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ โดยเฉพาะคนในจังหวัดภูเก็ตมีจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยติดอันดับ Top 5 ของประเทศ เนื่องจากเป็นจังหวัดเศรษฐกิจที่สำคัญ มีรายได้สูง ทำให้ได้รับการจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาจากภาครัฐค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่น ๆ ในภาคใต้
สำหรับภาคเหนือและภาคอีสาน แม้ดัชนีฯ ด้านการศึกษาจะต่ำกว่าภาคใต้และค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ แต่หากพิจารณาเครื่องชี้แต่ละด้าน พบว่า แต่ละภาคมีจุดเด่นด้านการศึกษาต่างกัน โดยภาคเหนือมีคะแนนเฉลี่ยการทดสอบ ONET ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายอยู่ในระดับสูงที่สุดในประเทศ สอดคล้องกับข้อมูลรายจ่ายด้านการศึกษาต่อหัวของครัวเรือนในภาคเหนือที่อยู่ในระดับสูงที่สุดในประเทศเช่นกัน[7] สะท้อนให้เห็นว่าคนในภาคเหนือให้ความสำคัญและมีการลงทุนในด้านการศึกษาค่อนข้างมาก ขณะที่ภาคอีสานมีสัดส่วนของเด็กอายุ 0-5 ปี ที่มีพัฒนาการสมวัย สูงกว่า 2 ภาคและค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ
อย่างไรก็ตาม การศึกษาเป็นมิติหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลายแง่มุม ตั้งแต่การเปิดเรียน การปรับการเรียนการสอนผ่านกลไกต่าง ๆ ตลอดจนปัญหาทางเศรษฐกิจที่ตามมาทำให้เด็กหลายคนต้องออกจากโรงเรียน หรือเรียนนานขึ้น [2] ส่งผลให้ความเป็นอยู่ในด้านการศึกษาในทุกพื้นที่ยังต่ำกว่าก่อนโควิด (ปี 2562, รายละเอียดตาม Appendix 3) โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็กที่เป็นช่วงวัยแห่งการเรียนรู้ สะท้อนจากสัดส่วนของเด็กอายุ 0-5 ปี ที่มีพัฒนาการสมวัยลดลงมาก และเด็กโตระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่มีคะแนน ONET ลดลง สะท้อนว่าโควิดส่งผลกระทบกับคุณภาพการศึกษา
ดัชนีความเป็นอยู่ด้านสาธารณสุขของคนในภาคใต้ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ โดยจังหวัดภูเก็ตติด Top 10 ของประเทศที่มีดัชนีฯ ด้านสาธารณสุขสูงสุด รองจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วนหนึ่งมาจากแผนพัฒนาจังหวัดภูเก็ตที่เน้นขับเคลื่อนด้านสาธารณสุข ให้ภูเก็ตเป็นเมืองบริการทางการแพทย์นานาชาติโดยเน้นส่งเสริมมาตรฐานการตรวจวินิจฉัยและพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลในพื้นที่ นอกจากนี้ หากพิจารณาเครื่องชี้แต่ละด้าน พบว่า ภาคใต้มีจุดเด่นในหลายเครื่องชี้ โดยมีประชากรที่พิการ อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ และสัดส่วนประชากรต่อจำนวนเตียงอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ
ดัชนีฯ ด้านสาธารณสุขของคนในภาคอีสานและภาคเหนือต่ำกว่าภาคใต้และค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ อย่างไรก็ดี พบว่า จังหวัดหลักใน 3 ภูมิภาค ต่างติดอยู่ในอับดับต้น ๆ ของประเทศ โดยที่มีจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยมากที่สุดเมื่อเทียบกับประชากร ได้แก่ เชียงใหม่ (ลำดับ 3) ภูเก็ต (ลำดับ 7) และขอนแก่น (ลำดับ 11) เนื่องจากเป็นจังหวัดใหญ่และรายได้อยู่ในระดับสูง ทำให้มีโอกาสได้รับการดูแลและเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ[9]
ความเป็นอยู่ด้านสาธารณสุขเป็นอีกด้านที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติมากขึ้น ดัชนีฯ ด้านสาธารณสุขของคนใน 3 ภูมิภาค กลับมาอยู่ระดับใกล้เคียงกับก่อนโควิด (ปี 2562) เนื่องจากมีการรับวัคซีนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและสถานการณ์ระบาดลดความรุนแรงลง โดยสุขภาพของทารกแรกเกิดใกล้เคียงกับก่อนโควิด-19 ในทุกภาค สำหรับสัดส่วนเตียงรองรับผู้ป่วย และผู้ป่วยในปรับดีขึ้นเล็กน้อยจากก่อนโควิด-19 ในทุกภาค อย่างไรก็ตาม ประชากรที่พิการยังสูงกว่าก่อนโควิดในทุกภาค และการฆ่าตัวตายของภาคอีสานและภาคเหนือยังแย่กว่าช่วงก่อนโควิด-19 ส่วนหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากความเครียดและปัญหาด้านสุขภาพจิตที่เพิ่มสูงขึ้น
ดัชนีความเป็นอยู่ด้านโครงสร้างพื้นฐานของคนในภาคอีสานใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ โดยอุบลราชธานีและบุรีรัมย์ ติด Top 5 ของประเทศที่มีดัชนีฯ ด้านโครงสร้างพื้นฐานสูงสุด จากมีพื้นที่ก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีสูงกว่า 2 ภาค โดยส่วนหนึ่งเป็นการก่อสร้างที่ขยายตัวตามการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานถนนสายหลักในอีสาน เช่น ถนนทางเหลวงเลข 24 สีคิ้ว-เดชอุดม ซึ่งเป็นถนนสายหลักของภาคอีสานตอนใต้ ได้ขยายเป็นโครงข่ายทางหลวง 4 ช่องจราจรและเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์เชื่อมโยง 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม และสายรอง สาย 226 สำหรับด้านปริมาณแสงสว่างใกล้เคียงกับ 2 ภาค
ดัชนีฯ ด้านโครงสร้างพื้นฐานของคนในภาคใต้และภาคเหนืออยู่ในระดับใกล้เคียงกัน แต่ต่ำกว่าภาคอีสาน โดยดัชนีฯ ด้านโครงสร้างพื้นฐานของคนในภาคใต้ สะท้อนจากมีพื้นที่ปลูกสร้างที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีต่ำกว่าอีสาน อย่างไรก็ดี มีสัดส่วนประชากรเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสูงกว่า 2 ภาคและใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ โดยจังหวัดตรังและภูเก็ต มีสัดส่วนฯ มากถึง 96% เป็นอับดับ 3-4 ของประเทศ ด้านดัชนีฯ ด้านโครงสร้างพื้นฐานของคนในภาคเหนือ จากมีพื้นที่ปลูกสร้างที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีต่ำกว่าภาคอีสาน รวมทั้งมีสัดส่วนประชากรเข้าถึงอินเทอร์เน็ตต่ำสุด คือ 81 % ส่วนหนึ่งจากสภาพภูมิศาสตร์ในบางพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่เขา เช่น จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีสัดส่วน 68% และจังหวัดตากมีสัดส่วนฯ 72% ต่ำสุดของประเทศ
กล่าวโดยสรุป ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในแต่ละภูมิภาคมีจุดเด่นแตกต่างกัน คนใต้อยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ดีมาก คนในภาคอีสานอุ่นใจด้านความปลอดภัยและมีโครงสร้างพื้นฐานดีใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ คนในภาคเหนือให้ความสำคัญและลงทุนในการศึกษาสูง และทั้ง 3 ภาคมีจังหวัดที่มีระบบสาธารณสุขติด Top 5 ของประเทศ ซึ่งทั้งหมดนับเป็นเสน่ห์ของ 3 ภูมิภาคของไทยที่ส่องผ่านดัชนีความเป็นอยู่ของคนไทยในงานศึกษานี้
ผู้เขียนขอขอบคุณ ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ ที่ช่วยเป็นที่ปรึกษาให้กับบทความนี้สำเร็จไปได้ด้วยดี คุณศรันยา อิรนพไพบูลย์ และคุณจิรวัฒน์ ภู่งาม ที่ช่วยประมวลผลข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ของสำนักงานสถิติแห่งชาติและข้อมูลดาวเทียม รวมทั้งคุณศราวัลย์ อังกลมเกลียว คุณณวรา สกุล ณ มรรคา คุณมนัสชัย จึงตระกูล คุณจิดาภา ช่วยพันธุ์ คุณปุญญวิชญ์ เศรษฐ์สมบูรณ์ และทีมงานสำนักงานภาค สำหรับความคิดเห็นเชิงพื้นที่ที่มีประโยชน์ ตลอดจน ดร.สุรจิต ลักษณะสุต และคุณรุจา อดิศรกาญจน์ ที่ช่วยทำให้บทความนี้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ผู้เขียนขอขอบพระคุณอย่างสูงมา ณ ที่นี้
Contact Authors:
ฝ่ายเศรษฐกิจการเงินภูมิภาค
ปริญดา สุลีสถิร Email: parindas@bot.or.th โทร 0-2283-5660
ดวงทิพย์ ศิริกาญจารักษ์ Email: doungtis@bot.or.th โทร 0-2283-5453
หมายเหตุ:
[1] จาก Organization for Economic Cooperation and Development (OECD) Regional Well-Being: A User’s guide (www.oecdregionalwellbeing.org)
[2] ดูรายละเอียดใน Appendix 1 และการคำนวณดัชนีความเป็นอยู่ของคนไทยในทุกด้านจะใช้ข้อมูลปี 2564-2565 แต่ในการวิเคราะห์ด้านสิ่งแวดล้อมจะใช้ข้อมูลPM 2.5 ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงตุลาคมปี 2566 และข้อมูลอุณหภูมิจะใช้ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกันยายนปี 2566 ซึ่งเป็นข้อมูลล่าสุด ประกอบการวิเคราะห์ต่างหากด้วย เพื่อให้ได้ภาพที่สะท้อนสถานการณ์ล่าสุด เนื่องจากมีข้อมูลเป็นรายเดือน แต่ยังไม่สามารถนำข้อมูลปี 2566 มาคำนวณเป็นดัชนีได้ เพราะข้อมูลยังไม่ครบปี
[3] ทั้งนี้ การวิเคราะห์ในงานศึกษานี้เป็นการเปรียบเทียบดัชนีความเป็นอยู่ของคนแต่ละภาคเทียบกับค่าเฉลี่ยทั้งประเทศว่าพื้นที่ใดดีกว่า ใกล้เคียง หรือแย่กว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ ดัชนีฯ ไม่ได้ใช้เปรียบเทียบข้ามช่วงเวลาว่าปีใดดีกว่าปีใด แต่หากจะเปรียบเทียบข้ามช่วงเวลา เช่น เปรียบเทียบว่าด้านการศึกษากับสาธารณสุขที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เป็นอย่างไร ในการศึกษานี้จะพิจารณาจากเครื่องชี้แต่ละตัวในแต่ละด้านแทน
[4] จากการสำรวจ 5 เมืองไร้ฝุ่นในเอเชียที่เหมาะแก่การไปฟอกปอด โดยประชาชาติธุรกิจ (เผยแพร่เดือนมกราคม 2563)
[5] ภาคเหนือมีปริมาณการจราจรสูงกว่าภาคใต้ จากข้อมูลปริมาณจราจรบนทางหลวง ปี 2565 ของกรมทางหลวง (เผยแพร่เดือนเมษายน 2566)
[6] กรุงเทพฯ ติด Top 5 ของจังหวัดที่มีอัตราการตายจากอุบัติเหตุบนท้องถนนต่ำ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมีทางเลือกการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะที่หลากหลายรูปแบบซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ในขณะที่ประชากรในต่างจังหวัดยังมีทางเลือกการขนส่งสาธารณะจำกัด จากบทความ “สถานการณ์ความปลอดภัยทางถนนของประเทศไทย รถ(ยัง)ชน-คน(ยัง)ตาย” ของ ดร. ภญ.ฐิติพร สุเเก้ว (เผยแพร่เดือนกันยายน 2566)
[7] จากงานศึกษา “งบการศึกษา 8 แสนล้าน ความเหลื่อมล้ำขนาด โรงเรียน ภูมิภาคและระดับรายได้” ของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ สำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (เผยแพร่เดือนมีนาคม 2564)
[8] จากงานศึกษา “สำรวจผลกระทบหลังโควิด-19 จุดเปลี่ยนการศึกษาโลก” ของ ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) (เผยแพร่เดือนมกราคม ปี 2564)
[9] จากรายงานดัชนีความก้าวหน้าของคน ปี 2565 ของกองพัฒนาข้อมูลและตัวชี้วัดสังคม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (เผยแพร่เดือนตุลาคม 2566)
.
หมายเหตุ:
หมายเหตุ: ค่าดัชนีฯ แต่ละด้าน มีค่าอยู่ระหว่าง 0-10 โดยค่ายิ่งมากยิ่งดี
ที่มา: 1) ผลสารวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ของสานักงานสถิติแห่งชาติ 2) ฐานข้อมูลดัชนีความก้าวหน้าของคน ของสานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 3) สารวจภาวะการทางานของประชาชน ของสานักงานสถิติแห่งชาติ 4) The World Air Quality Project 5 ) Open Government Data of Thailand ของสานักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) 6) VIIRS Stray Light Corrected Nighttime Day/Night Band Composites ของ Earth Observation Group, Payne Institute for Public Policy, Colorado School of Mines และ 7) Dynamic World ของ Google ร่วมกับ World Resources Institute คานวณโดยทีมศึกษา
Disclaimer: ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และการกล่าวคัด หรืออ้างอิงข้อมูลบางส่วนตามสมควรในบทความนี้ จะต้องกระทำโดยถูกต้องและอ้างอิงถึงผู้เขียนโดยชัดแจ้ง
.
.
.