แรงงานสูงวัยปรับตัวอย่างไร…ให้ทันเทรนด์

ศิรินัดดา ปรีชา | ธีรพัฒน์ เขื่อนปัญญา | ปราณี จิระกิตติเจริญ สำนักงานภาคเหนือ ธนาคารแห่งประเทศไทย

04 มี.ค. 2567

 

การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญลำดับต้น ๆ และเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจและสังคม เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ตลาดแรงงานกำลังปรับตัวเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ สำหรับภาคเหนือมีสัดส่วนแรงงานสูงอายุมากที่สุดและเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะแรงงานสูงอายุในภาคเกษตรมีรายได้ต่ำสุดและมีภาระหนี้สะสม ดังนั้น งานศึกษานี้จะฉายภาพลักษณะของแรงงานสูงอายุในภาคเหนือ รวมทั้ง ถอดบทเรียนเชิงนโยบายจากต่างประเทศ และชวนคิดแนวทางส่งเสริมการจ้างงานแรงงานสูงอายุในเชิงพื้นที่ เพื่อช่วยยกระดับรายได้และลดภาระหนี้ของแรงงานสูงอายุได้อย่างยั่งยืน 

oldlabour1

นิยามแรงงานสูงอายุ มีความหลากหลายตามบริบทของแต่ละประเทศ และศักยภาพร่างกายที่เหมาะสม ทำให้นิยามค่อนข้างกว้าง ตั้งแต่อายุ 45-65 ปี อาทิ ในสหรัฐฯ หมายถึง แรงงานที่มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป[1] ขณะที่ในญี่ปุ่น หมายถึง แรงงานที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป สำหรับงานศึกษานี้ แรงงานสูงอายุ หมายถึง แรงงานที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป โดยอิงนิยามของประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งสอดคล้องกับนิยามอายุประชากรขององค์การสหประชาชาติด้วย (United Nations : UN) 

 

1. ภาคเหนือมีสัดส่วนแรงงานสูงอายุมากที่สุด ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพอิสระในภาคเกษตร รายได้หลังเกษียณลดลงเกินครึ่ง

oldlabour2

 

10 ปีที่ผ่านมา แรงงานสูงอายุของไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ข้อมูล ปี 2566 มีจำนวน 5.1 ล้านคน เพิ่มขึ้นกว่า 52% เมื่อเทียบกับปี 2556 ที่มีจำนวน 3.3 ล้านคน สอดคล้องกับสัดส่วนแรงงานสูงอายุที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จาก 8.5% เป็น 12.6% และเมื่อพิจารณาสัดส่วนแรงงานสูงอายุ แยกรายภาค พบว่า สัดส่วนแรงงานสูงอายุเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในทุกภาค โดยภาคเหนือ มีสัดส่วนแรงงานสูงอายุมากที่สุด (18.8%) รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (17.1%) ภาคใต้ (12.1%) และภาคกลาง (8.5%)

 

oldlabour3

แรงงานผู้สูงอายุในภาคเหนือ ปี 2566 มีจำนวน 1.2 ล้านคน เพิ่มขึ้นกว่า 58% จาก 0.7 ล้านคน ในปี 2556 หากพิจารณาแยกรายจังหวัด พบว่า จำนวนแรงงานสูงอายุเพิ่มขึ้นในทุกจังหวัด โดย 3 จังหวัดแรกที่มีจำนวนแรงงานสูงอายุมากที่สุด คือ เชียงใหม่ (1.9 แสนคน) เชียงราย (1.2 แสนคน) และพิษณุโลก (1.0 แสนคน) อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาตามสัดส่วนแรงงานสูงอายุต่อแรงงานรวม พบว่า 3 จังหวัดแรกที่มีสัดส่วนแรงงานสูงอายุมากที่สุด คือ สุโขทัย (22.0%) กำแพงเพชร (20.8%) และพิจิตร (20.3%)

แรงงานสูงอายุภาคเหนือส่วนใหญ่ประกอบอาชีพอิสระ ทั้งนี้ ประมาณ 60% เป็นเกษตรกรในภาคเกษตร ที่เหลืออยู่ภาคการค้า บริการ และการผลิต

oldlabour4-1

 

หลังอายุ 60 ปี รายได้แรงงานภาคเหนือลดลง 55% แต่ยังมีภาระหนี้สะสม โดยเฉพาะแรงงานสูงอายุในภาคเกษตร

oldlabour5

เมื่อเกษียณอายุแรงงานมีรายได้ลดลง 55% เช่นปี 66 จากรายได้ 17,984 บาท เหลือ 9,806 บาท ทำให้มีโอกาสที่รายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายและภาระหนี้ ซึ่งเห็นได้ชัดเจนขึ้นหลังโควิด-19 ที่หนี้เสียของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นสูงกว่าช่วงวัยอื่น[2] นอกจากนี้ แรงงานสูงอายุในภาคเกษตรโดยเฉลี่ยมีรายได้เพียง 5,513 บาทต่อเดือน และมีสัดส่วนสูงถึง 62% ของแรงงานสูงอายุทั้งหมด ส่วนใหญ่กว่า 72% มีรายได้ไม่พอชำระหนี้ ประกอบกับมาตรการช่วยเหลือด้วยการยืดอายุสัญญาของสถาบันการเงินที่ผ่านมา ส่งผลให้ภาระหนี้สะสมข้ามสู่วัยเกษียณและมีแนวโน้มปิดจบหนี้ได้ยาก[3]

 

2. ถอดบทเรียนจากต่างประเทศ : ญี่ปุ่น ต้นแบบนโยบายสร้างรายได้ให้แรงงานสูงอายุ ด้วยนโยบายภาพรวมร่วมกับเชิงพื้นที่

ประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศรองรับสังคมสูงอายุด้วยระบบสวัสดิการและเงินบำนาญ แต่การพึ่งพาระบบดังกล่าวเพียงอย่างเดียวอาจนำไปสู่ปัญหาหนี้สาธารณะได้ ดังนั้น นโยบายขยายอายุเกษียณ จึงถูกนำมาใช้เพื่อช่วยสร้างรายได้ที่ยั่งยืน ตัวอย่างของประเทศญี่ปุ่นที่เข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ และเป็นต้นแบบในการแก้ปัญหาสังคมสูงอายุ ยังมีการให้ความสำคัญกับคุณค่าของประสบการณ์ ภูมิปัญญา และวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องของแรงงานสูงอายุ ดังนั้น เมื่อแรงงานมีอายุมากขึ้น ภาครัฐก็ช่วยสนับสนุนให้ทำงานต่อ และแรงงานสูงอายุถูกมองใ่นเชิงบวกเมื่อเทียบกับประเทศอื่น[4] อีกทั้งมีมาตรการหลักในการขยายอายุการจ้างงาน มาตรการจูงใจการจ้างแรงงานสูงอายุทั้งในและนอกภาคเกษตร ตลอดจนมาตรการสร้างรายได้ให้แก่ผู้สูงอายุในเชิงพื้นที่ อาทิ อิโรโดริโมเดล

oldlabour6

 

กรณีศึกษาโมเดลแรงงานสูงอายุในเชิงพื้นที่ของญี่ปุ่น : “ อิโรโดริ ” ธุรกิจใบไม้ที่ผู้สูงอายุทุกคนสามารถเป็นเจ้าของกิจการ และสร้างรายได้ให้ท้องถิ่น

oldlabour8

“อิโรโดริ” ถูกนำมาใช้ในคามิคัตสึ เมืองชนบทที่ตั้งอยู่บนเกาะชิโกกุของญี่ปุ่น ภูมิประเทศแวดล้อมด้วยภูเขา ประชากรเกินครึ่งของเมืองนี้เป็นผู้สูงอายุ ขณะที่การปลูกส้มแมนดารินที่เป็นอาชีพหลักลดลงจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย  ทำให้ขาดแคลนทั้งงานและรายได้ ต่อมา ปี ค.ศ.1987 องค์กรเกษตรและรัฐบาลท้องถิ่นต้องการสร้างรายได้ให้กับผู้สูงอายุและท้องถิ่น จึงจัดตั้งสหกรณ์อิโรโดริ และริเริ่ม “ธุรกิจใบไม้” เช่น ใบเมเปิ้ล พีช บัว ซึ่งหาได้ทั่วไปในพื้นที่ โดยเป็นงานที่ใช้แรงน้อย และใช้องค์ความรู้ความเชี่ยวชาญของผู้สูงอายุในการคัดเลือกใบไม้ แล้วส่งขายให้กับร้านอาหารทั่วประเทศเพื่อใช้ในการตกแต่งอาหารญี่ปุ่น

ความสำเร็จของธุรกิจใบไม้

 

  1. สร้างรายได้ให้ผู้สูงอายุ 16,752 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคนต่อปี ทำให้ผู้สูงวัยพึ่งพาตนเอง ดูแลครอบครัวได้ และภูมิใจในการสร้างประโยชน์ให้ท้องถิ่น
  2. ลดค่ารักษาบริการทางการแพทย์ ผู้สูงอายุได้ออกกำลังกายและสุขภาพจิตดี จากการพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้สูงอายุในชุมชน
  3. สร้างแรงบันดาลใจให้คนหนุ่มสาวกลับบ้านเกิด รวมถึงคนจากเมืองอื่นเพื่อเรียนรู้ ฝึกอบรม และต่อยอดงานกับผู้สูงอายุ 

 

oldlabour7

 

ปัจจัยที่ทำให้ “อิโรโดริโมเดล” ประสบความสำเร็จ

 

  • สร้าง mindset ว่า ผู้สูงอายุคือกลุ่มคนสำคัญต่อชุมชนและประเทศชาติ โดยสร้างแรงจูงใจให้ผู้สูงอายุดึงศักยภาพ เรียนรู้ และพัฒนาตัวเองเสมอ
  • รวมกลุ่ม เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้แบบเก่าและการค้าขายแบบใหม่ รวมทั้ง เพิ่มอำนาจต่อรองราคาสินค้า และหาตลาดรองรับ
  • เน้นงานเบา สร้างมูลค่าเพิ่มจากสิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่น อาทิ ใบเมเปิ้ล พีช บัว โดยอาศัยองค์ความรู้ ความชำนาญ ที่เป็นจุดแข็งของผู้สูงอายุมาใช้ประโยชน์ เช่น วิธีการเลือกช่วงเวลาเก็บเกี่ยวใบไม้ที่เหมาะสม
  • พัฒนาทักษะการใช้คอมพิวเตอร์และเเทบเล็ต อิโรโดริพัฒนาหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้ใช้งานง่ายด้วยภาษาญี่ปุ่น ทำให้สมาชิก 83% ใช้งานได้ง่าย และช่วยบริหารคลังสินค้าและคำสั่งซื้อของลูกค้ามายังเกษตรกร รวมทั้ง ช่วยวิเคราะห์ตลาด
  • ควบคุมคุณภาพสินค้าโดยใช้ Barcode เพื่อระบุชื่อสินค้าและเกษตรกร การแจ้ง Top rank ช่วยให้เกษตรกรมีแรงจูงใจพัฒนาและรักษาคุณภาพสินค้า ปัจจุบัน เมืองคามิคัตสึ เป็นแหล่งจำหน่ายใบไม้ตกแต่งอันดับ 1 ของญี่ปุ่น

 

3. ประเด็นที่ได้จากการลงพื้นที่ : กุญแจสู่ความสำเร็จในการสร้างรายได้และลดภาระหนี้ของแรงงานสูงอายุในท้องถิ่น

ประเทศไทยมีนโยบายสนับสนุนการจ้างแรงงานสูงอายุเช่นกัน โดยการขยายอายุเกษียณในตำแหน่งที่ขาดแคลนและอาศัยประสบการณ์ ควบคู่กับภาคการเงินที่มีมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม แรงงานสูงอายุส่วนใหญ่เป็นแรงงานเกษตรในภูมิภาคที่มีรายได้ต่ำและภาระหนี้สะสม ดังนั้น การออกแบบนโยบายที่ตอบโจทย์เชิงพื้นที่ร่วมด้วยเป็นสิ่งจำเป็น เช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่นำอิโรโดริโมเดลมาใช้ในพื้นที่ชนบท สำหรับตลาดแรงงานสูงอายุในภาคเหนือเห็นการจ้างงานในระบบอยู่บ้าง แต่รองรับได้เพียงบางส่วน อาทิ ร้านอาหาร ร้านนวดสปา และโรงงานผลิตขนม ทำให้ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ประกอบอาชีพอิสระในภาคเกษตร อย่างไรก็ดี ตลาดแรงงานสูงอายุในภาคเกษตรที่เข้มแข็งอยู่ในรูปแบบของการรวมกลุ่ม คนรุ่นใหม่มาช่วยขับเคลื่อนให้เกิดมุมมองใหม่ ผสมผสานกับความชำนาญของคนรุ่นใหญ่ ในเชิงบูรณาการร่วมกับชุมชน และปรับใช้เทคโนโลยีร่วมด้วย 

oldlabour9

 

ประเด็นชวนคิด

 

การขยายโอกาสการทำงานของแรงงานสูงอายุส่งผลดีต่อทั้งการสร้างรายได้ สุขภาพ และความสุขของผู้สูงอายุ อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติการจ้างงานยังขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ประกอบการที่จะพิจารณาทั้งข้อได้เปรียบและความเสี่ยงด้านศักยภาพร่างกาย ตลอดจนการดึงศักยภาพแรงงาน ดังนั้น การสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นในสังคมผู้สูงอายุจึงเป็นโจทย์ที่ยังต้องช่วยกันขับเคลื่อนเพื่อขยายผลต่อไป ทั้งเพิ่มการจ้างงานแรงงานสูงอายุ สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพ เช่น ระบบน้ำ และเครื่องจักรขนาดเล็กในการเกษตร การออกแบบเทคโนโลยีพื้นฐานให้ใช้งานง่าย ตลอดจนมาตรการดูแลเกษตรกรสร้างโอกาสทำรายได้เพิ่มขึ้นให้เพียงพอใช้จ่ายและชำระหนี้ ซึ่งต้องบูรณาการร่วมกันกับทุกภาคส่วน เพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมให้เข้มแข็งและยั่งยืน

 

ผู้เขียนขอขอบคุณ คุณมาโนช บัวองค์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ภาคเหนือตอนบน, คุณณวิศาร์ มูลทา I LOVE FLOWER FARM, คุณประยูร บุญธรรม และกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ปลูกผักปลอดภัย ต.อุโมงค์ จ.ลำพูน และคุณมนัสวัฑฒก์ ชุติมา ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่ เจ้าของเกษียณมาร์เก็ต

 

 

“บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย”

 
 


เอกสารอ้างอิง :  [1] สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, 2561. เมื่อคำว่า แรงงานสูงอายุ (ไม่เท่ากับ) ตัวเลข, สืบค้นจาก https://tdri.or.th/2018/10/aging-workers/  [2] สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2566. หนี้สินคนไทย ภาพสะท้อนจากข้อมูลเครดิตบูโร สืบค้นจาก https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=13634&filename=social_outlook และ  [3] สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์, 2566. หนี้ข้ามรุ่นของเกษตรกรไทย จะมีเยอะแค่ไหนหากยังไม่มีแนวทางแก้ไขอย่างจริงจัง? สืบค้นจาก  https://www.pier.or.th/blog/2023/0501/  [4] Debroux, P., 2016. Elderly workers in Japan: The need for a new deal. management revue, 82-96. สืบค้นจาก https://www.jeed.go.jp/english/human_resources/vocational_training.html [5] สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, 2566. การขยายอายุเกษียณในญี่ปุ่น. สืบค้นจาก https://tdri.or.th/2023/01/japan-aging-workforce/.  [6] สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, 2566. ระบบการจ้างงาน ผู้สูงอายุของญี่ปุ่น สืบค้นจาก https://tdri.or.th/2017/01/2017-01-20/  [7] O.E.C.D., 2019. Working Better with Age. สืบค้นจาก  https://www.oecd.org/els/public-pensions/PAG2021-country-profile-Japan.pdf  และ  [8] Hashimoto, K., 2012. Agri-business for elderly people through the Internet. The example of the Irodori leaf business. Netcom. Réseaux, communication et territoires, (26-3/4), 235-250