ส่องความสนใจนักท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ : พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปและเทรนด์น่ารู้
พิมพ์ชนก แย้มสงค์ | ณัฏฐภัทร์ ศุภเศรษฐสิริ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ
08 พ.ย. 2567
ภาคท่องเที่ยวมีความสำคัญกับเศรษฐกิจในภาคเหนือ จากมูลค่าทางเศรษฐกิจคิดเป็น 9.6% ของ GRP ภาคเหนือ เกี่ยวข้องกับแรงงานร้อยละ 46 ในภาคบริการ จึงสามารถสร้างและกระจายรายได้ไปสู่ผู้ประกอบการในพื้นที่ไม่น้อย แม้ว่าโควิด 19 ทำให้ภาคท่องเที่ยวสะดุด การเดินทางระหว่างประเทศชะงัก แต่ภายหลังที่สถานการณ์คลี่คลาย นักท่องเที่ยวต่างชาติทยอยกลับมาเที่ยวภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ ใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด พร้อมกับพฤติกรรมการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลง ดังนั้น บทความนี้อยากชวนทำความเข้าใจ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ผ่านข้อมูลของแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องพร้อมปรับรับเทรนด์การท่องเที่ยวอย่างทันท่วงที
64 % ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาภาคเหนือนิยมมาเที่ยวที่จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนใหญ่เป็นชาวจีน 30% เกาหลีใต้ 25% ไต้หวัน 15% และอื่น ๆ เช่น ฮ่องกง มาเลเซีย และ สิงคโปร์ ทั้งนี้ นอกจากชาวเอเชียแล้ว ชาวยุโรปและอเมริกาก็นิยมมาเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่เช่นกัน ซึ่งกลุ่มนี้จะมีจำนวนวันเข้าพักที่นานกว่าและด้วยศักยภาพในการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สูงกว่าคนไทยประมาณ 2 เท่า (ชาวต่างชาติมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อทริปอยู่ที่ 10,383 บาท ขณะที่ชาวไทยอยู่ที่ 4,480 บาท) ทำให้เม็ดเงินที่ได้รับจากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 73% อยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่เช่นกัน
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่ได้รับความนิยมมาจากความหลากหลายของสถานที่ท่องเที่ยว วัฒนธรรมท้องถิ่น ธรรมชาติที่สวยงาม และค่าครองชีพที่ไม่สูงเมื่อเทียบกับเมืองใหญ่อื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ความท้าทายด้านข้อจำกัดของเที่ยวบินตรง ทำให้การเดินทางของนักท่องเที่ยวกลุ่มยุโรปและอเมริกาที่นิยมมาเที่ยวเชียงใหม่ต้องเดินทางผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ก่อนเดินทางเข้ามาเชียงใหม่ด้วยเที่ยวบินภายในประเทศ
Travel link เป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมข้อมูลสถิติเกี่ยวกับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) หนึ่งในข้อมูลที่น่าสนใจคือ ความเห็นของนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่าน Tripadvisor ซึ่งประกอบไปด้วย กิจกรรมที่สนใจ สถานที่ท่องเที่ยว รูปแบบการท่องเที่ยว และสัญชาติของนักท่องเที่ยว โดยข้อมูลเหล่านี้ทำให้ผู้ประกอบการเห็นพฤติกรรมและความสนใจของนักท่องเที่ยวในช่วงเวลานั้น ๆ
หมายเหตุ : (1) ผลิตภัณฑ์มวลรวมภูมิภาค หรือ GRP ซึ่งเป็นข้อมูลสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมจากการท่องเที่ยว (2) สัดส่วนแรงงานภาคการท่องเที่ยวต่อแรงงานทั้งหมดในภาคบริการของภาคเหนือ ปี 66 (3) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในภาคเหนือตั้งแต่ ม.ค.-ก.ย. 67 (4) ค่าใช้จ่ายนักท่องเที่ยวในภาคเหนือเฉลี่ย ม.ค.-ก.ย. 67 ที่มา : กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา , LFS (Labor Force Survey) คำนวณโดย ธปท.
1) ชาวต่างชาติที่เข้ามาแสดงความเห็นมากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา รองลงมาคือ อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี และออสเตรเลีย ตามลำดับ
2) ความสนใจของนักท่องเที่ยวมีความแตกต่างเชิงพื้นที่ เมื่อดูข้อมูลความสนใจต่อกิจกรรมแยกตามภูมิภาค พบว่า กิจกรรมที่นักท่องเที่ยวสนใจอันดับ 1 ของกรุงเทพฯ และภูเก็ต คือ สปา ส่วนขอนแก่น คือ สถานที่ทางศาสนา
3) สำหรับเชียงใหม่ กิจกรรม Cooking class หรือเรียนทำอาหารเป็นกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวต่างชาติพูดถึงมากที่สุด ส่วนมากเป็นการเรียนวิธีทำอาหารไทย หรืออาหารท้องถิ่น ซึ่งค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 800 - 1,500 บาทต่อคนต่อครั้ง โดยกิจกรรมเหล่านี้ใช้เวลาครึ่งวันจนถึงหนึ่งวันเต็ม
4) ลักษณะการมาท่องเที่ยวหรือทำกิจกรรมส่วนมากคือคู่รัก รองลงมาคือ กลุ่มเพื่อน มาเที่ยวคนเดียว และมาแบบครอบครัว
จากการลงพื้นที่พูดคุยกับผู้ประกอบการในพื้นที่ พบว่า พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลง ส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกวิธีการเดินทาง ที่พัก และประเภทใช้จ่าย โดย 2 ปัจจัยหลักที่ทำให้ผู้ประกอบการเข้าถึงนักท่องเที่ยวยุคใหม่ คือ 1) ติดตามเทรนด์ท่องเที่ยวอย่างใกล้ชิด และ 2) ปรับเพื่อตอบโจทย์ให้มากขึ้น
ตัวอย่างต่อไปนี้เป็นรูปแบบการท่องเที่ยวแบบใหม่ของผู้ประกอบการที่ปรับตัวและประสบความสำเร็จ ทั้งในไทยและต่างประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวในปัจจุบัน
ทั้งนี้ ททท. มีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของภูมิภาค โดยเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพ และยกระดับห่วงโซ่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว
ดังนั้น ผู้ประกอบการที่สามารถปรับตัว เตรียมพร้อมรับการแปลงแปลง และตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพจะสามารถประสบความสำเร็จและเติบโตได้อย่างยั่งยืน
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย