ตอบโจทย์ธุรกิจใต้ รับจ่ายด้วย QR ข้ามพรมแดน
จุฬารัตน์ โฆษะโก | ธนายุส บุญทอง | เอกนุช นวลศรี | ภัทรียา นวลใย | วรเมธ พานิชอุดม ธนาคารแห่งประเทศไทย
12 ธ.ค. 2567
จากความพยายามเชื่อมโยงการชำระเงินระหว่างประเทศโดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน ด้วย QR ข้ามพรมแดน หรือ “cross-border QR payment” มาตั้งแต่ปี 2563 โดยมุ่งหวังให้บริการ QR ข้ามพรมแดนเป็นทางเลือกในการอำนวยความสะดวกการค้าขายข้ามพรมแดน และตอบรับพฤติกรรมของทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ทำธุรกรรมทางการเงินผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มมากขึ้น ซึ่งจุดเด่นของบริการนี้ คือ ร้านค้าได้รับเงินเร็วเหมือนคนไทยด้วยค่าธรรมเนียมที่ต่ำลง ขณะที่นักท่องเที่ยวสามารถใช้จ่ายผ่านการสแกน QR ข้ามพรมแดนได้ง่าย สะดวก และปลอดภัย ไม่จำเป็นต้องแลกเงินและพกเงินสด โดยสังเกตได้ง่ายจากสัญลักษณ์ “cross-border QR payment, pay like a local” ปัจจุบัน (ณ พ.ย. 2567) ได้เชื่อมโยงการชำระเงินแล้วกับ 8 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย กัมพูชา สิงคโปร์ เวียดนาม ฮ่องกง ลาว และญี่ปุ่น นอกจากนี้ ยังมีประเทศอินเดียที่อยู่ระหว่างการเชื่อมโยงในอนาคต
ภาคใต้เป็นพื้นที่เป้าหมายแรกที่แบงก์ชาติภาคใต้เล็งเห็นประโยชน์จากการเชื่อมโยงการชำระเงินกับประเทศเพื่อนบ้าน และอยากผลักดันให้มีการใช้งานมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศมาเลเซียที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติอันดับ 1 ของภาคใต้ โดยจากสถิติ 10 เดือนแรกของปี 2567 มีนักท่องเที่ยวมาเลเซียเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองภาคใต้สะสมสูงถึง 4.1 ล้านคน ขยายตัวจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนถึง 26% นอกจากมาเลเซียแล้ว QR ข้ามพรมแดนยังรองรับนักท่องเที่ยวประเทศอื่นในภาคใต้อีกด้วย อาทิ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย อีกทั้งในอนาคตจะรองรับการใช้จ่ายจากนักท่องเที่ยวอินเดียได้
เพื่อมุ่งตอบโจทย์เชิงพื้นที่ แบงก์ชาติภาคใต้จึงเลือก จ. สงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่นักท่องเที่ยวมาเลเซียนิยมเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวมาเลเซียคิดเป็นสัดส่วน 91 % ของนักท่องเที่ยวต่างชาติใน จ. สงขลา ให้เป็นพื้นที่นำร่องผลักดันการใช้งานการชำระเงินด้วย QR ข้ามพรมแดนให้แพร่หลาย โดยได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2566 ในบทความนี้จึงขอเล่าสู่กันฟังถึงประสบการณ์ที่ผ่านมา พร้อมตอบคำถามที่พบบ่อย
คำถามที่พบบ่อย คือ “ร้านค้าอยากรับเงินลูกค้าต่างชาติด้วย QR ต้องทำอย่างไร?” คำตอบ “ร้านค้าต้องสมัคร QR ร้านค้า” ที่อยู่ในแอปจัดการร้านค้า (merchant application) ของ 6 แบงก์ที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งทำได้ 2 ช่องทาง คือ สมัครที่สาขาแบงก์ หรือ สมัครด้วยตนเองผ่านสมาร์ทโฟน โดยดาวน์โหลดผ่าน Playstore (มือถือระบบ Android) หรือ Appstore (มือถือระบบ iOS) โดยใช้บัญชีเงินฝากบุคคลธรรมดาหรือบัญชีนิติบุคคลก็ได้ โดยร้านค้าสามารถใช้ QR เดียวกันนี้รับชำระเงินได้ทั้งชาวไทยและต่างชาติอย่างสะดวกรวดเร็ว อีกทั้งยังมี feature ตอบโจทย์ร้านค้าอีกด้วย อาทิ แจ้งเตือนเงินเข้าทันที รายงานยอดขาย
ช่วงแรกที่เปิดโครงการ QR ข้ามพรมแดนยังเห็นการใช้งานไม่มาก แม้ในพื้นที่ที่มีศักยภาพการใช้งานสูงอย่าง จ. สงขลา ก็ตาม จากการสำรวจพบว่าทั้งร้านค้าและนักท่องเที่ยวมาเลเซียส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าสามารถชำระเงินข้ามพรมแดนด้วย QR ได้ และแม้มีกลุ่มชาวมาเลเซียที่ทราบว่าใช้ได้แต่ก็พบปัญหาว่ามีร้านค้าไทยรองรับน้อยมาก จึงเป็นที่มาของการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้งานรับรู้และเริ่มใช้ โดยเริ่มมุ่งเป้าจากฝั่งร้านค้าไทยให้มี QR ร้านค้ารองรับการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวมาเลเซีย โดยแบงก์ชาติร่วมกับแบงก์ที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 6 แห่ง ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ร้านค้าในพื้นที่ท่องเที่ยวที่ชาวมาเลเซียนิยมใน จ.สงขลา อาทิ ตลาดกิมหยง ตลาดกรีนเวย์ ย่านการค้าถนนเสน่หานุสรณ์ ย่านเมืองเก่าสงขลา อีกทั้งยังได้รับความร่วมมือจากสมาคมและหน่วยงานในภาคการท่องเที่ยวช่วยประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการในเครือข่ายตนเองรับทราบ รวมถึงสื่อมวลชนในพื้นที่ร่วมกันสื่อสารข้อมูลให้ถึงประชาชนและร้านค้ารายย่อย ทั้งผ่าน Social media และวิทยุท้องถิ่น ในขณะที่อีกด้านหนึ่งได้ประชาสัมพันธ์ฝั่งนักท่องเที่ยวมาเลเซียให้รับรู้จาก Influencer ฝั่งมาเลเซียที่ทดลองสแกนจ่ายผ่าน QR ในไทยและป้ายประชาสัมพันธ์ที่ด่านชายแดน ซึ่งไอเดียประชาสัมพันธ์ส่วนหนึ่งแบงก์ชาติได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายคนรุ่นใหม่ City Connext
ตั้งแต่เริ่มผลักดันการใช้งาน QR ข้ามพรมแดนในพื้นที่ จำนวนธุรกรรมชำระเงินข้ามพรมแดนของชาวมาเลเซียในไทยทยอยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมูลค่าชำระเงินเฉลี่ย 570 บาทต่อครั้ง ซึ่งสะท้อนได้ว่าการใช้จ่ายนักท่องเที่ยวกระจายสู่ร้านค้ารายย่อย รองรับพฤติกรรมนักท่องเที่ยวมาเลเซียที่นิยมชิมและชอปปิงร้านท้องถิ่น อีกทั้งคุ้นชินกับการชำระเงินผ่านช่องทางดิจิทัล
นอกจากข้อมูลสถิติแล้ว แบงก์ชาติภาคใต้ยังเห็นตัวอย่างการใช้งานจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ อาทิ ธุรกิจโรงแรมสามารถส่ง QR ร้านค้าให้นักท่องเที่ยวมาเลเซียใช้สแกนชำระค่าจองห้องพักล่วงหน้า ซึ่งรองรับพฤติกรรมนักท่องเที่ยวมาเลเซียที่นิยมจองห้องพักโดยตรงกับโรงแรมมากขึ้น นอกจากนี้ ผลการสำรวจร้านค้าในพื้นที่นำร่อง จ.สงขลา ประมาณ 500 ร้าน พบว่า ร้านค้าที่เคยรับชำระเงินข้ามพรมแดนส่วนใหญ่เห็นประโยชน์ในการรับเงินจากลูกค้าต่างชาติได้สะดวกขึ้น และร้านค้าบางส่วนมียอดขายที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน นักท่องเที่ยวมาเลเซียกว่า 1 ใน 3 ตอบว่าจะใช้จ่ายมากขึ้นเมื่อชำระเงินด้วย QR ได้ ทั้งหมดนี้ สะท้อนประโยชน์จากการรับชำระเงินด้วย QR ข้ามพรมแดนที่ตอบโจทย์ร้านค้าในพื้นที่ภาคใต้และนักท่องเที่ยวต่างชาติ
หลังจากเริ่มเห็นการใช้งานมากขึ้นในพื้นที่นำร่อง จ.สงขลา แบงก์ชาติภาคใต้ได้เลือก จ.กระบี่ เป็นพื้นที่ต่อไปในการเดินหน้าประชาสัมพันธ์ให้ร้านค้ารับรู้ เพราะเป็นอีกพื้นที่ศักยภาพที่จะได้รับประโยชน์จากการใช้งานชำระเงินด้วย QR ข้ามพรมแดน แม้กระบี่เป็นพื้นที่นิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หลากหลายสัญชาติกว่า จ.สงขลา แต่สถิตินักท่องเที่ยวผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง จ.กระบี่ ใน 9 เดือนแรกของปี 2567 พบว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติ 3 อันดับแรก ได้แก่ มาเลเซีย อินเดีย และสิงคโปร์ ตามลำดับ ซึ่งมาเลเซียและสิงคโปร์เป็นประเทศที่ไทยเชื่อมโยงการชำระเงินอยู่แล้ว ส่วนอินเดียกำลังเป็นประเทศที่จะเชื่อมโยงการชำระเงินในระยะต่อไป แบงก์ชาติภาคใต้จึงได้จัดงานสัมมนาสัญจร ในหัวข้อ “ตอบโจทย์ธุรกิจใต้ รับจ่ายข้ามพรมแดน” ที่ จ.กระบี่ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา เพื่อสร้างการรับรู้ให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่รับทราบและใช้งานอย่างแพร่หลาย โดยภายในงานสัมมนาฯ มีช่วงนำเสนอหัวข้อ “เพิ่มโอกาสธุรกิจใต้รับจ่ายด้วย QR ข้ามพรมแดน” แนะนำให้รู้จักการชำระเงินด้วย QR ข้ามพรมแดนที่ร้านค้าใช้งานได้ง่าย เพียงแค่สมัคร QR ร้านค้าก็จะรองรับการชำระเงินได้ทั้งลูกค้าชาวไทยและต่างชาติ นอกจากนี้ ยังมีช่วงเล่าสู่กันฟัง “Success story ซื้อง่ายขายคล่องด้วย QR ข้ามพรมแดน” โดย คุณมนตรี ลีลาวิชิตชัย จากตลาดกรีนเวย์ ซึ่งส่งเสริมให้ร้านค้าภายในตลาดใช้งาน QR ข้ามพรมแดนและเห็นประโยชน์การรับเงินจากลูกค้าชาวมาเลเซียที่สะดวกมากขึ้น นอกจากนี้ แบงก์ชาติภาคใต้ยังร่วมกับสาขาในพื้นที่ของแบงก์ผู้ให้บริการจัดกิจกรรมลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ให้ร้านค้าในย่านอ่าวนางรับทราบ
ท้ายที่สุดนี้ ความร่วมมือกับหลายภาคส่วนเป็นหัวใจสำคัญของการผลักดันใช้งาน QR ข้ามพรมแดนในพื้นที่ภาคใต้ จนเห็นการใช้งานจริงของธุรกิจและเกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นรูปธรรม และหวังว่าการชำระเงินด้วย QR ข้ามพรมแดนจะเป็นอีกทางเลือกการชำระเงินหนึ่งที่เปิดโอกาสการค้าขายข้ามพรมแดนของชาวไทยที่สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย มีต้นทุนต่ำ และเข้าถึงได้อย่างแพร่หลาย
คลิกเพื่อรับชม สัมมนาสัญจร ในหัวข้อ “ตอบโจทย์ธุรกิจใต้ รับจ่ายข้ามพรมแดน”
“บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย”