ชีพจรความเป็นอยู่ของคนภาคเหนือ
รสสุคนธ์ ศึกษานภาพัฒน์ | จรรยารักษ์ ตันติพลากร | พัชรี พันธุ์พงศ์พิพัฒน์ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ
16 ธ.ค. 2567
ที่ผ่านมาการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศ (GDP) และภาคเหนือ (GRP ภาคเหนือ) มีความแตกต่างกัน ผลจากโครงสร้างเศรษฐกิจและปัจจัยที่เข้ามากระทบแตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา นอกจากนี้ อัตราการเติบโตเฉลี่ยของเศรษฐกิจภาคเหนือยังต่ำกว่าประเทศมาโดยตลอด โดยช่วง 10 ปีที่ผ่านมาการเติบโตของเศรษฐกิจภาคเหนือเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.6 ต่ำกว่าประเทศที่ร้อยละ 1.9 ผลจากภาวะแล้งกระทบผลผลิตในภาคเกษตรและการฟื้นตัวหลังโควิด-19 ที่ช้ากว่าประเทศ
หากจะจับชีพจรความเป็นอยู่ของคนในภาคเหนือ ในช่วง 10 ปีก่อนโควิด-19 พบว่าตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวม (GRP ภาคเหนือ) ต่อคนต่อปี ขยายตัวค่อนข้างดีที่เฉลี่ยร้อยละ 3 ต่อปี อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ที่จัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า รายได้จากการทำงานหรือการผลิตของครัวเรือน ขยายตัวได้เพียงร้อยละ 1 ต่อปีเท่านั้น ซึ่งสะท้อนว่าการเติบโตของภาพรวมเศรษฐกิจภาคเหนือไม่ได้ส่งผลอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยต่อความเป็นอยู่ของครัวเรือน ดังนั้น การทำความเข้าใจจับชีพจรความเป็นอยู่ของคนภาคเหนือในบทความนี้ ผ่าน 3 มิติ ได้แก่ รายได้ รายจ่าย และหนี้ จึงเป็นพื้นฐานสำคัญเพื่อวางแนวทางพัฒนาความเป็นอยู่ และสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ครัวเรือนของคนภาคเหนือ ซึ่งข้อมูลจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติสามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อจับชีพจรความเป็นอยู่ในมิติต่างๆ ที่น่าสนใจได้
รายได้ครัวเรือนภาคเหนือเติบโตต่ำและการกระจายตัวไม่ทั่วถึง รายได้จากการทำงานของครัวเรือนภาคเหนือในช่วง 10 ปีก่อน โควิด-19 เติบโตเพียงร้อยละ 1 เทียบกับประเทศที่โตถึงร้อยละ 2.6 โดยข้อมูลการสำรวจรายได้ครัวเรือนในภาคเหนือปี 2556 เฉลี่ยอยู่ที่ 1.8 แสนบาทต่อครัวเรือนต่อปี หรือเฉลี่ยเดือนละ 1.5 หมื่นบาท และจำนวนครัวเรือนส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 69 มีรายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี จนถึงปี 2566 พบว่าครัวเรือนในภาคเหนือมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 2.1 แสนบาทต่อครัวเรือนต่อปี หรือเฉลี่ยเดือนละ 1.8 หมื่นบาท แต่ยังคงมีครัวเรือนร้อยละ 67 ที่รายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย จะเห็นว่าพัฒนาการของการกระจายรายได้ปรับดีขึ้นน้อยมาก เมื่อเทียบกับเวลาที่ผ่านไป
รายได้จากการทำงานของครัวเรือนภาคเหนือที่เติบโตต่ำเป็นอุปสรรคที่ทำให้การกระจายรายได้ปรับดีขึ้นได้ช้า หากลองคำนวณโดยใช้ข้อมูลรายได้จากการทำงานของครัวเรือนภาคเหนือ ปี 2566 แบ่งกลุ่มครัวเรือนเป็น 4 ระดับชั้น กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้จากการทำงานอยู่ระดับล่าง (percentile ที่ 25) จะมีรายได้อยู่ที่ 60,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี หรือเฉลี่ยเดือนละ 5,000 บาทต่อครัวเรือนเท่านั้น หากสมมติให้รายได้เติบโตต่ำเช่นที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 1 จะต้องใช้เวลายาวนานถึง 33 ปี กว่าครัวเรือนในกลุ่มนี้จะเลื่อนชั้นไป เป็นกลุ่มที่มีรายได้ปานกลาง (percentile ที่ 50) ที่รายได้ 142,164 บาทต่อครัวเรือนต่อปี
รายได้ที่เติบโตต่ำถูกชดเชยด้วยการพึ่งพิงเงินช่วยเหลือที่มากขึ้น เมื่อพิจารณาตามแหล่งที่มาของรายได้พบว่าในอดีตครัวเรือนพึ่งพิงเงินช่วยเหลือ 22% ของรายได้ ผ่านไป 10 ปี ครัวเรือนในภาคเหนือพึ่งพิงเงินช่วยเหลือมากขึ้นเป็น 28% ของรายได้ โดย 1 ใน 4 เป็นเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สะท้อนความเปราะบางจากรายได้ที่โตต่ำ รวมถึงต้องพึ่งพารายได้ที่ไม่แน่นอน เปลี่ยนแปลงตามนโยบายในแต่ละช่วงเวลา
ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเร็วกว่ารายได้จากการทำงาน ทำให้ครัวเรือนในภาคเหนือมีความเปราะบางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รายได้จากการทำงานของครัวเรือนในภาคเหนือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียงร้อยละ 1.1 ต่อปี ขณะที่รายจ่ายเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 3 ต่อปี หากพิจารณาถึงหมวดค่าใช้จ่ายของครัวเรือน พบว่าค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมากอยู่ในหมวดค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคอาหารและเครื่องดื่ม อีกทั้งครัวเรือนยังมีค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นที่สามารถลดได้อีกร้อยละ10 อาทิ การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ และการบันเทิง ดังนั้น เมื่อค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเร็วกว่ารายได้จากการทำงาน ครัวเรือนจึงต้องอาศัยรายได้จากแหล่งอื่นมาช่วย โดยเฉพาะเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ เงินส่งกลับของคนในครอบครัว รวมถึงการกู้ยืม
ผลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนพบว่าหนี้เฉลี่ยของครัวเรือนในภาคเหนือ ปี 2566 เท่ากับ 182,968 บาทต่อครัวเรือน เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 2.9 ต่อปี (ประเทศร้อยละ 1.9) ภาระหนี้สินที่สูงขึ้น สะท้อนฐานะครัวเรือนที่มีความเปราะบางและความเป็นอยู่ที่แย่ลง
วัตถุประสงค์การก่อหนี้ของครัวเรือนในภาคเหนือ ส่วนใหญ่เป็นการก่อหนี้ระยะสั้นเพื่อใช้อุปโภคบริโภคในสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 34 ขณะที่การก่อหนี้ระยะยาวเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยมีสัดส่วนค่อนข้างต่ำ ภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นมากกว่ารายได้เป็นปัจจัยกดดันฐานะการเงินครัวเรือนและฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจในพื้นที่ ซึ่งในที่สุดก็ส่งผลต่อการเติบโตของรายได้ที่ต่ำด้วย สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ส่งผลกระทบวนซ้ำไปเรื่อย ๆ
การยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในภาคเหนือให้มีความกินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืน นอกจากแนวทางที่ ธปท. ช่วยดูแลใน 3 ด้าน ทั้งมิติด้านเสถียรภาพราคาหรือรายจ่าย ด้านรายได้ และการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ยังต้องอาศัยการบูรณาการความร่วมมือจากภาครัฐ ผู้ประกอบการ และคนในพื้นที่ เข้ามาร่วมกันสร้างโอกาสและอนาคตที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน
* งานศึกษานี้ได้รับแรงบันดาลใจจากงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2567 ของสำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย