"ห้องเรียนการเงิน...สร้างได้ในโรงเรียน"
จารุมาส ปาละรัตน์ | นิรัชรา ปัญญาจักร | ไพโรจน์ เงาวิจิตร ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ
20 มี.ค. 2568
“ทักษะทางการเงินที่ดี” จะนำไปสู่การตัดสินใจทางการเงินที่ดีและทำให้เกิดความเป็นอยู่ทางการเงินที่ดี (financial wellbeing) แต่ผลการสำรวจทักษะทางการเงินของไทยปี 25651 กลับพบว่าทักษะทางการเงินของคนในภาคเหนืออยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับภาคอื่น ๆ โดยเฉพาะความรู้ทางการเงินได้คะแนนเฉลี่ยน้อยกว่าทุกภูมิภาค การพัฒนาทักษะทางการเงินจึงควรถูกปลูกฝังในทุกระดับการศึกษาเพื่อสร้างรากฐานทักษะทางการเงินที่ดีในอนาคต
จากแนวทางส่งเสริมทักษะทางการเงินของ OECD2 ระบุว่า การพัฒนาทักษะทางการเงินควรเริ่มในวัยเด็ก ก่อนอายุ 7 ปี หรือก่อนที่จะเข้าถึงบริการทางการเงิน เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ตามระดับพัฒนาการ และปลูกฝังทักษะทางการเงินที่จำเป็นในแต่ละช่วงวัย แต่ในประเทศไทยกลับพบว่า การเรียนการสอนทักษะทางการเงินในโรงเรียนยังมีไม่มากนัก
ปี 2566 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ (ธปท. สภน.) และคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ร่วมมือออกแบบและพัฒนา โครงการครูสตางค์ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างนักศึกษาฝึกสอนให้เป็น “ครูสตางค์” ทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนให้เกิดสภาพแวดล้อมในสถานศึกษาที่เอื้อต่อการพัฒนาทักษะทางการเงินที่ดี ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของ ธปท. ที่มุ่งเน้นการสร้างผู้ส่งต่อความรู้ (multipliers) โดยขยายโครงการไปยังคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ต่อมาเมื่อ ธปท. มีโครงการที่เกี่ยวข้องกับครูมากขึ้น จึงเปลี่ยนชื่อโครงการเป็น “ครูสตางค์จูเนียร์”
มหาวิทยาลัยราชภัฏ ได้คัดเลือกนักศึกษาที่สนใจเข้าร่วม Workshop “การสร้างห้องเรียนการเงิน” ที่จัดโดย ธปท. สภน. เพื่อถ่ายทอดความรู้พื้นฐานทางการเงินที่จำเป็นสำหรับนักเรียน โดยอิง “ร่างกรอบสมรรถนะทางการเงินของไทย”3 ซึ่งเป็นความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐด้านการเงิน4 และปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาเป็น “กรอบสมรรถนะทางการเงิน เพื่อการศึกษาและการเรียนรู้” เพื่อนำไปใช้กับงานด้านการศึกษาโดยตรง
ครูสตางค์จะสร้างห้องเรียนการเงินที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ลองคิดและลองตัดสินใจเรื่องการเงิน เพื่อสะสมประสบการณ์ที่ได้รับไปปรับใช้ในชีวิตจริง โดยยึด “กรอบสมรรถนะทางการเงิน” เป็นแนวทางการพัฒนาห้องเรียนการเงินให้มีเนื้อหาที่เหมาะสมกับนักเรียนแต่ละช่วงวัย
ครูสตางค์สามารถบูรณาการเรื่องเงินไปกับรายวิชาที่ฝึกสอน โดยดูความเป็นไปได้ในการเชื่อมโยงเรื่องการเงินไปกับมาตรฐานการเรียนรู้ หรือหน่วยการเรียนรู้ที่ต้องสอนในเทอมนั้น ๆ หรือจัดเป็นกิจกรรมนอกห้องเรียน เพื่อเน้นเนื้อหาเกี่ยวกับการพัฒนาทักษะทางการเงินโดยตรงก็ได้
หนึ่งภาคการศึกษาในการฝึกสอนครูสตางค์จะมีเจ้าหน้าที่จาก (1) ธปท. สภน. คอยสนับสนุนเนื้อหาการเงิน (2) อาจารย์จากมหาวิทยาลัย ช่วยเหลือในการออกแบบห้องเรียน และ (3) ครูพี่เลี้ยง เป็นที่ปรึกษาในการปฏิบัติจริงที่โรงเรียน
ที่มา :
1 รายงานผลการสำรวจทักษะทางการเงินของไทยปี 2565 ธนาคารแห่งประเทศไทย
2 OECD (2014), Financial Education for Youth: The Role of Schools, OECD Publishing.
3 ร่างขึ้นตามมาตรฐานสมรรถนะทางการเงินขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD)- OECD/INFE (2015), OECD/INFE Core Competencies Framework on Financial Literacy for Youth.
4 หน่วยงานภาครัฐด้านการเงิน ประกอบด้วย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กรมสรรพากร และสถาบันคุ้มครองเงินฝาก
5 นางสาวอรวรรณ เพชรโกษาชาติ ครูสตางค์ ปี 2566 นักศึกษาฝึกสอน มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
6 นางสาวเกศราพร ฟองน้อย และนางสาวธนวรรณ ต๊ะแก้ว ครูสตางค์ ปี 2566 นักศึกษาฝึกสอน มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
7 นางสาวศศิกานต์ คำตรีวงศ์ นายรัชชานนท์ ปัญญา นายธเนศ ลุงจาย นางสาวศิริรัตน์ เพชรอาริน และนายพงษ์พัฒน์ แก้วตา ครูสตางค์ ปี 2567 นักศึกษาฝึกสอน มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย