02

    ดัชนีราคารถยนต์มือสองเป็นข้อมูลที่จัดทำขึ้นเพื่อใช้สะท้อนการเปลี่ยนแปลงราคารถยนต์มือสองจากปัจจัยที่กดดันตลาดและพฤติกรรมของผู้บริโภค และในอีกแง่หนึ่งได้ถูกนาไปใช้สำหรับการวิเคราะห์และติดตามความเสี่ยงของสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ โดยเป็นการติดตามการด้อยค่าของรถยนต์ซึ่งเสมือนเป็นหลักประกันในการกู้ยืม ในปัจจุบันที่เศรษฐกิจหดตัวจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้อำนาจซื้อและความสามารถในการผ่อนชำระของประชาชนเปลี่ยนไป ซึ่งได้มีการคาดคะเนฉากทัศน์ (Scenario) ในหลายประเด็น อาทิ ราคารถยนต์มือสองที่ลดลงจะส่งผลให้มูลค่าหลักประกันของสินเชื่อรถยนต์มีแนวโน้มลดลงตาม รายได้ผู้กู้ที่ลดลงอาจทำให้คุณภาพของสินเชื่อลดลง และมีการยึดรถเพื่อขายทอดตลาดมากขึ้น จึงเป็นที่น่าสนใจว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตลาดรถยนต์ทั้งรถยนต์ใหม่และรถยนต์มือสองในช่วงที่ผ่านมาเป็นอย่างไร จะเกิดความเสี่ยงต่อสถาบันการเงินต่อไปอย่างไร และดัชนีราคารถยนต์มือสองยังทำหน้าที่สะท้อนภาพตลาดได้ดีภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันหรือไม่

 

 

 

 

 

ผู้จัดทำ

ณฐพร สัจวิทย์วิศาล

Stat in Focus กันยายน 2563

ธนาคารแห่งประเทศไทย

 

ดาวน์โหลดบทความฉบับเต็มได้ที่นี่

 

บทคัดย่อ

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับปรุงสถิติเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน หรือที่รู้จักกันในชื่อ
“หนี้ครัวเรือน” ให้มีความครอบคลุมเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้เครื่องชี้สามารถสะท้อนภาพภาระหนี้ที่ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด และยังเป็นข้อมูลสนับสนุนการออกนโยบายหรือมาตรการให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ดียิ่งขึ้น โดย
มีการปรับปรุงด้านขอบเขตของผู้ให้กู้ จากเดิมที่ครอบคลุมเฉพาะเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินที่รับฝากเงินและ
ไม่รับฝากเงิน ได้เพิ่มความครอบคลุมไปถึงกลุ่มผู้ให้กู้อื่น ๆ ด้วย ได้แก่ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) การเคหะแห่งชาติ ธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด (พิโกไฟแนนซ์) และสหกรณ์ประเภทต่าง ๆ ที่นอกเหนือจากสหกรณ์ออมทรัพย์ซึ่งได้รวมอยู่ในสถิติเดิมแล้ว

สถิติเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนที่ปรับปรุงแล้วมีข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่ไตรมาส 1/2555 เป็นต้นไป โดย
การปรับปรุงครั้งนี้ ทำให้ยอดคงค้างของเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน ณ ไตรมาส 1/2566 อยู่ที่ 16.0 ล้านล้านบาท หรือมีสัดส่วนร้อยละ 90.6 ต่อ
GDP เพิ่มขึ้นจากก่อนการปรับปรุง 7.7 แสนล้านบาท หรือร้อยละ 4.3 ของ GDP อย่างไรก็ตาม โครงสร้างสัดส่วนเงินให้กู้ยืมที่จำแนกตามวัตถุประสงค์ยังคงใกล้เคียงกับโครงสร้างเดิมก่อน
การปรับปรุง โดยเป็นการกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยเป็นหลัก รองลงมาคือการกู้ยืมเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลทั่วไป และการกู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพ

 

 

การปรับปรุงความครอบคลุมของสถิติเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน*

1.      บทนำ

หนี้ครัวเรือนเป็นตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่สำคัญตัวหนึ่งที่หน่วยงานภาครัฐทุกประเทศ รวมถึงไทย โดย ธปท. ได้มีการติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นเครื่องชี้ที่สะท้อนถึงความมีเสถียรภาพหรือความเปราะบางทางเศรษฐกิจของครัวเรือน ซึ่งสามารถส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศได้ นอกจากนี้ยังสามารถสะท้อนโครงสร้างของตลาดสินเชื่อภาคครัวเรือน

ประเทศไทยมีระบบการเงินที่พึ่งพิงธนาคารเป็นหลักหรือที่เรียกว่า Bank-based economy ดังนั้นผู้ให้กู้หลักแก่ภาคครัวเรือนจึงเป็นธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ จากรูปที่ 1 เห็นได้ว่าธนาคารเป็นผู้ให้กู้
ที่ครองสัดส่วนตลาดมากกว่าร้อยละ 70 ของเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนทั้งหมดมาโดยตลอด อย่างไรก็ดี ในช่วง 10 ปี
ที่ผ่านมา บทบาทของธนาคารมีแนวโน้มค่อย ๆ ลดลง และถูกแทนที่ด้วยเงินให้กู้ยืมจากสหกรณ์ออมทรัพย์และ
สถาบันการเงินอื่น โดยเฉพาะธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล ลีสซิ่ง และบริษัทบัตรเครดิต ค่อย ๆ เพิ่มบทบาทมากขึ้น สังเกตได้จากสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

รูปที่ 1  แผนภูมิยอดคงค้างเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนจำแนกตามผู้ให้กู้และเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนต่อ GDP ก่อนการปรับปรุงความครอบคลุม

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

การศึกษาเชิงประจักษ์หลายชิ้นบ่งชี้ว่า การขยายตัวของระดับหนี้ครัวเรือนเป็นการเพิ่มความเสี่ยง
การเกิดวิกฤตการเงินและสามารถนำไปสู่การชะลอตัวของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในบทความเรื่องหนี้ครัวเรือนและเสถียรภาพทางการเงินของ
IMF ปี 2017 ระบุว่า อัตราส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่เพิ่มขึ้นมีทั้งผลดีและผลเสีย
อย่างไรก็ตาม ผลดีจะเกิดขึ้นเพียงระยะสั้น แต่กลับส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเงินในระยะกลางและระยะยาว โดยในระยะสั้น หนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นสัมพันธ์กับการบริโภคและการจ้างงานที่สูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้เกิดการขยายตัว
ทางเศรษฐกิจ แต่ผลดีเหล่านี้จะกลับสู่สภาพเดิมภายใน 3 - 5 ปี การขยายตัวมากขึ้นของหนี้ครัวเรือนในระยะกลางและระยะยาวนั้นสัมพันธ์กับความเสี่ยงของการเกิดวิกฤตในระบบการเงิน เนื่องจากอาจส่งผลให้ภาคครัวเรือนไม่สามารถ
ชำระหนี้ได้ ยิ่งไปกว่านั้นหากเกิดการผิดนัดชำระหนี้ในวงกว้างอาจนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจได้ในที่สุด ผลเสียเหล่านี้
จะยิ่งมากขึ้นเมื่อระดับหนี้ครัวเรือนยิ่งสูงและเห็นชัดเจนในเขตเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว (
Advanced market economies) มากกว่าเขตเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ (Emerging market economies) ที่ส่วนใหญ่มีระดับหนี้ครัวเรือนและ
การมีส่วนร่วมในตลาดสินเชื่อต่ำกว่าตามรูปที่ 2

 

%

รูปที่ 2 หนี้ครัวเรือนต่อ GDP ณ ไตรมาส 4/2565 ของเขตเศรษฐกิจพัฒนาแล้วและตลาดเกิดใหม่

ที่มา: BIS (ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ) / จัดทำแผนภูมิ: ธปท.

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ธปท. รวมทั้งหน่วยงานผู้ให้กู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตระหนักถึงความสำคัญของข้อมูลหนี้ครัวเรือนเช่นเดียวกับ
งานศึกษาตามที่กล่าวมาข้างต้น  ประกอบกับการให้กู้ยืมของผู้ให้กู้กลุ่มอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากสถาบันการเงินมีบทบาทและขนาดที่มีนัยสำคัญ รวมถึงหน่วยงานผู้ให้กู้อื่น ๆ มีความพร้อมของข้อมูลมากขึ้น ธปท. จึงได้ทบทวนและปรับปรุงข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน ให้ครอบคลุมมากกว่าเงินกู้ยืมจากกลุ่มผู้ให้กู้ที่จัดเก็บอยู่เดิม เพื่อให้ได้ข้อมูลที่
สะท้อนภาพภาระทางการเงินของภาคครัวเรือนให้ครบถ้วนใกล้เคียงจริงมากที่สุด เพื่อใช้ในการดำเนินนโยบาย
ทางเศรษฐกิจ และนโยบายการแก้ปัญหาหนี้ให้แก่ครัวเรือนที่แม่นยำมากยิ่งขึ้น

2.      นิยามและขอบเขตของข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน

 ข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน (Loans to Household) สถิติทางการที่ ธปท. เผยแพร่ มักถูกนำไปใช้อ้างอิงเป็นข้อมูลหนี้ครัวเรือน (Household debts) จนผู้ใช้บางส่วนเข้าใจว่า ข้อมูลทั้ง 2 ชุด คือข้อมูลเดียวกัน อย่างไรก็ดี ตามมาตรฐานสากลสถิติทั้ง 2 ชุด มีนิยามและองค์ประกอบความครอบคลุมแตกต่างกัน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

เงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน ยังมิได้มีนิยามหรือองค์ประกอบที่เป็นสากล ในแต่ละประเทศจึงมีรายละเอียด ความครอบคลุมที่ต่างกันทั้งในมิติของผู้ให้กู้และวัตถุประสงค์การกู้ยืม เนื่องจากข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งข้อมูล หน่วยงานผู้จัดทำข้อมูลจึงใช้ความพยายามอย่างที่สุด (best effort) ในการรวบรวมจากแหล่งข้อมูลเท่าที่จะทำได้ โดยมิติผู้ให้กู้ ข้อมูลของบางประเทศครอบคลุมแค่สถาบันการเงินหรือธนาคารพาณิชย์เนื่องจากกำกับดูแล
โดยธนาคารกลางซึ่งเป็นผู้จัดทำสถิติ บางประเทศขอความร่วมมือจากภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ เช่น สถาบันการเงินอื่น หน่วยงานราชการ หรือภาคธุรกิจร่วมด้วย ทำให้มีความครอบคลุมในมิติของผู้ให้กู้กว้างมากขึ้น สำหรับมิติ
ด้านวัตถุประสงค์ ข้อมูลของบางประเทศครอบคลุมเฉพาะการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล และบางประเทศครอบคลุมถึงการนำไปประกอบอาชีพด้วย ความครอบคลุมของข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ครัวเรือนของไทย และตัวอย่างคำศัพท์
และนิยามของประเทศต่าง ๆ แสดงดังตารางที่
1

ตารางที่ 1 ตัวอย่างคำศัพท์ที่ใช้เรียกเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนของประเทศต่าง ๆ

ประเทศ/
กลุ่มประเทศ

คำศัพท์ที่ใช้เรียก
เงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน
(Term)

ความหมาย

ไทย

Loans to Households

เงินให้กู้ยืมทุกประเภทที่ให้แก่บุคคลธรรมดาที่อยู่อาศัยในประเทศ (resident) ทั้งเงินเบิกเกินบัญชี เงินให้กู้ยืมทั่วไป ตั๋วเงินที่เปลี่ยนมือไม่ได้ และเงินลงทุนในลูกหนี้ รวมทุกสกุลเงินในทุกวัตถุประสงค์ โดยรวมเฉพาะส่วนที่เป็นเงินต้น (ไม่รวมดอกเบี้ยคงค้าง)

ญี่ปุ่น

Loans to Households

เงินให้กู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัยและเพื่ออุปโภคบริโภค

สหภาพยุโรป

Loans granted to households

เงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนและองค์กรไม่แสวงหากำไร

มาเลเซีย

Loans to Household sector

เงินให้กู้ยืมแก่บุคคลธรรมดาของธนาคาร (ไม่รวม non-bank)
โดยไม่รวมเงินกู้เพื่อประกอบกิจการ

ฝรั่งเศส

Loans to individuals

เงินให้กู้ยืมแก่บุคคลธรรมดาจากสถาบันการเงินในประเทศ

อังกฤษ

Lending to Individuals (excluding student loans)

เงินให้กู้ยืมแก่บุคคลธรรมดาจากสถาบันการเงิน โดยไม่รวมเงินกู้ยืม
เพื่อการศึกษาและเพื่อประกอบกิจการ

แคนาดา

Credit liabilities of households

เงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน (รวมกิจการที่ไม่จดทะเบียนเป็น
นิติบุคคล) จากทุกภาคเศรษฐกิจ

เกาหลีใต้

Credit to households

เงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนจากสถาบันการเงินที่รับฝากเงิน สถาบันการเงินที่ไม่รับฝากเงิน และสินเชื่อการค้า

สิงคโปร์

Consumer loans

เงินให้กู้ยืมและเงินทดรองจากธนาคารแก่บุคคลธรรมดา โดยไม่รวม
เงินให้กู้ยืมเพื่อประกอบกิจการ

สหรัฐอเมริกา

Consumer Credit

เงินให้กู้ยืมแก่บุคคลธรรมดาเพื่ออุปโภคบริโภคในครัวเรือน โดย
ไม่รวมเงินกู้ยืมที่มีอสังหาริมทรัพย์ค้ำประกัน

ขณะที่ หนี้ครัวเรือน (Household debt) ตามนิยามขององค์กรระหว่างประเทศ เช่น BIS (ธนาคาร
เพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ)
IMF (กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) หรือ OECD (องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ) หมายถึง หนี้สินรวมทั้งหมด ซึ่งประกอบด้วยเครื่องมือทางการเงินทุกประเภท ได้แก่ ตราสารหนี้ (debt securities) เงินกู้ยืม (loans) รวมถึงหนี้สินอื่น ๆ ของภาคครัวเรือน ที่มีต่อทุกภาคเศรษฐกิจ
ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยเงินกู้ยืมเป็นหนี้สินที่รวมทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยคงค้าง ส่วนตราสารหนี้
เป็นหนี้สินตามมูลค่าตลาด

หนี้ครัวเรือนที่มีความครอบคลุมครบถ้วนตามนิยามสากลข้างต้น จำเป็นต้องใช้ข้อมูลในระบบบัญชีประชาชาติ หรือ System of National Accounts จากส่วนที่เป็นงบแสดงฐานะการเงินแบบจำแนกภาคเศรษฐกิจของคู่สัญญาของภาคครัวเรือน หรือ Household and NPISHs Sectoral Balance Sheet  อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีข้อมูลงบแสดงฐานะการเงินดังกล่าวที่สมบูรณ์ ดังนั้น ถึงแม้ว่าความครอบคลุมของข้อมูลชุด
เงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนจะแคบกว่า แต่ก็เป็นข้อมูลที่มีขอบเขตใกล้เคียงมากที่สุดที่สามารถนำมาใช้ทดแทนได้ ประเทศไทยจึงใช้ข้อมูลสถิติเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนและสถิติหนี้ครัวเรือนเป็นข้อมูลชุดเดียวกัน ซึ่ง
การเปรียบเทียบความครอบคลุมของหนี้ครัวเรือน ตามนิยามสากล และเงินให้กู้ยืมแก่ครัวเรือนของไทย
แสดงดังตารางที่
2

ตารางที่ 2 เปรียบเทียบความครอบคลุมของหนี้ครัวเรือน (ตามนิยามสากล) และเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน
ของไทย (ก่อนการปรับปรุง)

มิติต่าง ๆ ของความครอบคลุม

หนี้ครัวเรือน

(นิยามสากล)

เงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน หรือ หนี้ครัวเรือนของไทย
(ก่อนการปรับปรุง)

1.      ผู้กู้

 

 

 

ครัวเรือน

P

P

 

องค์กรไม่แสวงหากำไรที่ให้บริการครัวเรือน (NPISHs*)

P

Î

2.      ผู้ให้กู้

 

 

 

สถาบันการเงิน

P

P

 

ภาครัฐบาล

P

Î

 

ภาคธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน

P

Î

 

เจ้าหนี้ต่างประเทศ

P

Î

3.      เครื่องมือทางการเงิน

 

 

 

เงินกู้ยืม

P

P

 

ตราสารหนี้

P

Î

 

หนี้สินอื่น ๆ เช่น หนี้สินทางการค้า

P

Î

4.      การวัดมูลค่า

 

 

 

เงินกู้ยืม

 

 

 

 

เงินต้น

P

P

 

 

ดอกเบี้ยค้างรับ

P

Î

 

ตราสารหนี้

 

 

 

 

มูลค่าตลาด

P

-

*ตัวอย่างขององค์กรไม่แสวงหากำไรที่ให้บริการครัวเรือน หรือ NPISHs ได้แก่ วัด โบสถ์ องค์กรทางศาสนา มูลนิธิเพื่อการกุศล สโมสรกีฬา สหภาพแรงงาน และพรรคการเมือง

ทั้งนี้ แต่ละประเทศมักนำสถิติเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนหรือหนี้ครัวเรือนมาจัดทำเป็นอัตราส่วนหนี้สินของภาคครัวเรือนต่อ GDP ของประเทศ เพื่อประเมินระดับหนี้ของภาคครัวเรือนมีมาก-น้อยเพียงใดเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจากฐานข้อมูลของ BIS ประเทศต่าง ๆ มีอัตราส่วนของหนี้ครัวเรือนต่อ GDP
ตามตารางที่
3

ตารางที่ 3 ตัวอย่างอัตราส่วนหนี้สินของภาคครัวเรือนต่อ GDP ของประเทศต่าง ๆ ณ ไตรมาส 4/2565 จากฐานข้อมูลของ BIS

ประเทศ/กลุ่มประเทศ

หนี้สินของภาคครัวเรือนต่อ GDP*
  ณ ไตรมาส 4/2565

ไทย**

87.7

ญี่ปุ่น

68.2

สหภาพยุโรป

57.4

มาเลเซีย

66.8

ฝรั่งเศส

66.2

สหราชอาณาจักร

83.5

แคนาดา

102.4

เกาหลีใต้

105.0

สิงคโปร์

48.6

สหรัฐอเมริกา

74.4

จีน

61.3

                                   *Total credit to households (core debt) to GDP (BIS) ซึ่งผู้กู้รวมองค์กรไม่แสวงหากำไร
                                   ** ก่อนการปรับปรุง

3.      การปรับปรุงสถิติเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน

สถิติเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนของ ธปท. ก่อนการปรับปรุง ประกอบด้วย สถิติเงินให้กู้ยืมแก่
ภาคครัวเรือนที่จำแนกตามสถาบันผู้ให้กู้และตามวัตถุประสงค์การกู้ โดยมิติของผู้ให้กู้ ธปท. ได้จัดเก็บและขยายความครอบคลุมข้อมูลการให้กู้ยืมของผู้ให้กู้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสถิติชุดล่าสุดก่อนการปรับปรุงมีองค์ประกอบของผู้ให้กู้ ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่รับฝากเงิน บริษัทเงินทุน บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ และสหกรณ์ออมทรัพย์ นอกจากนี้ ธปท. ยังได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหน่วยงานกำกับดูแลอื่นและจากสถาบันการเงินโดยตรง เช่น ธุรกิจสินเชื่อที่ไม่ใช่ธนาคาร (
Non-bank) บริษัทประกันภัยและประกันชีวิต
บริษัทหลักทรัพย์ ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ โรงรับจำนำ เป็นต้น ดังรายละเอียดตามตารางที่
4 สถิติชุดนี้เริ่มเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม 2556 โดยมีข้อมูลย้อนหลังเริ่มตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2546

ส่วนมิติวัตถุประสงค์การกู้ยืม ธปท. เห็นว่า ข้อมูลที่จำแนกวัตถุประสงค์จะช่วยให้ผู้ใช้ข้อมูลทราบถึง
การนำเงินกู้ยืมไปใช้ในวัตถุประสงค์ต่าง ๆ รวมทั้งช่วยในการวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงของสินเชื่อ
แต่ละประเภทได้ดียิ่งขึ้น จึงได้จัดทำและเผยแพร่สถิติเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนจำแนกตามวัตถุประสงค์
เมื่อต้นปี
2563 โดยมีข้อมูลย้อนหลังเริ่มตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2555  โดยวัตถุประสงค์ที่จำแนกได้มีดังต่อไปนี้

Ø เพื่ออุปโภคบริโภค

·      เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์

·      ซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์

·      เพื่อการศึกษา

·      อุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่น

§  บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับของ ธปท.

§  สินเชื่อส่วนบุคคลอื่น ๆ (ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับของ ธปท.)

Ø เพื่อประกอบอาชีพ

Ø อื่น ๆ

สำหรับการปรับปรุงสถิติในครั้งนี้เป็นการขยายความครอบคลุมของผู้ให้กู้เพิ่มเติมจากเดิมที่มีเฉพาะ
สถาบันการเงิน โดยมีปัจจัยหรือเกณฑ์ในการเลือกแหล่งข้อมูล ได้แก่ ความคุ้มค่า (
cost and benefit)
ความมีสาระสำคัญของข้อมูล (
materiality) คุณภาพของข้อมูล ความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล ความสม่ำเสมอ
ของการเผยแพร่จากแหล่งข้อมูล ภาระของผู้รายงาน ความต่อเนื่องเพียงพอของข้อมูลสำหรับการวิเคราะห์
อนุกรมเวลา (
time series) รวมถึงการทำประมาณการเพิ่มเติมจากข้อมูลที่ได้รับที่จะต้องสามารถทำได้โดยใช้
หลักสถิติที่สมเหตุสมผล จากการพิจารณาปัจจัยตามที่กล่าวถึงข้างต้น ธปท. ได้เลือกข้อมูลจาก
4 แหล่งเพื่อนำมาปรับปรุงสถิติเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน ซึ่งรวมทั้งผู้ให้กู้ที่อยู่ในภาครัฐและภาคเอกชนด้วย ได้แก่

Ø การเคหะแห่งชาติ

Ø กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา

Ø ธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด หรือ พิโกไฟแนนซ์

Ø สหกรณ์ประเภทอื่น ๆ นอกเหนือจากสหกรณ์ออมทรัพย์ ได้แก่ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน
สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์ประมง สหกรณ์ร้านค้า สหกรณ์นิคม และสหกรณ์บริการ

กลุ่มผู้ให้กู้เหล่านี้ได้เข้ามามีบทบาทในตลาดสินเชื่อภาคครัวเรือนมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีการให้เงินกู้ยืมแก่ครัวเรือนเพิ่มขึ้นถึงเกือบร้อยละ 50 กล่าวคือเพิ่มขึ้นจากราว 5 แสนล้านบาท ณ ไตรมาส 1
ปี
2555 มาเป็น 7.7 แสนล้านบาท ณ ไตรมาส 1 ปี 2566

ความครอบคลุมของกลุ่มผู้ให้กู้สำหรับสถิติชุดที่ปรับปรุงแล้ว สามารถจำแนกเป็นสถาบันรับฝากเงิน สถาบันการเงินอื่น และภาคเศรษฐกิจอื่น ดังรายละเอียดตามตารางที่ 4 โดยมีข้อมูลย้อนหลังเริ่มตั้งแต่ไตรมาส 1
ปี
2555 ในขณะที่ข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนจำแนกตามวัตถุประสงค์ภายหลังการปรับปรุงไม่มี
การเปลี่ยนแปลงรายการวัตถุประสงค์จากเดิม อย่างไรก็ตาม การขยายความครอบคลุมของผู้ให้กู้ทำให้จำเป็นต้องสร้างชุดข้อมูลใหม่อีกหนึ่งชุด โดยมีข้อมูลย้อนหลังเริ่มตั้งแต่ไตรมาส
1 ปี 2555 เช่นกัน เพื่อให้แนวโน้มของข้อมูล
มีความต่อเนื่องและมีข้อมูลในช่วงระยะเวลาที่ยาวเพียงพอสำหรับการวิเคราะห์และการพยากรณ์ได้

ตารางที่ 4 การเปรียบเทียบความครอบคลุมในมิติของผู้ให้กู้ในชุดข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน

ความครอบคลุมก่อนปรับปรุง

ความครอบคลุมหลังปรับปรุง

Ø สถาบันการเงินที่รับฝากเงิน

Ø สถาบันการเงินที่รับฝากเงิน

·      ธนาคารพาณิชย์ในประเทศ

·      ธนาคารพาณิชย์ในประเทศ

·      สถาบันการเงินเฉพาะกิจที่รับฝากเงิน

·      สถาบันการเงินเฉพาะกิจที่รับฝากเงิน

·      สหกรณ์ออมทรัพย์

·      สหกรณ์ออมทรัพย์

·      สถาบันรับฝากเงินอื่นๆ

 

·      สถาบันรับฝากเงินอื่นๆ (รวมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน)

Ø สถาบันการเงินอื่น

Ø สถาบันการเงินอื่น

·      บริษัทบัตรเครดิต ลิสซิ่ง และสินเชื่อส่วนบุคคล

·      บริษัทบัตรเครดิต ลิสซิ่ง และสินเชื่อส่วนบุคคล

·      บริษัทประกันภัยและประกันชีวิต

·      บริษัทประกันภัยและประกันชีวิต

·      บริษัทหลักทรัพย์

·      บริษัทหลักทรัพย์

·      ธุรกิจบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน

·      ธุรกิจบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน

·      โรงรับจำนำ

·      โรงรับจำนำ

·      สถาบันการเงินอื่นๆ

 

·      สถาบันการเงินอื่นๆ (รวมธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด หรือ พิโกไฟแนนซ์)

 

Ø ภาคเศรษฐกิจอื่น 
(กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา, การเคหะแห่งชาติ, สหกรณ์การเกษตร, สหกรณ์บริการ, สหกรณ์นิคม, สหกรณ์ประมง, สหกรณ์ร้านค้า)

เมื่อปรับปรุงความครอบคลุมของสถาบันผู้ให้กู้แล้ว ยอดคงค้างรวมของเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน ณ
ไตรมาส
1 ปี 2566 เพิ่มขึ้น 7.7 แสนล้านบาท ขณะที่อัตราส่วนเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนต่อ GDP เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 86.3 เป็นร้อยละ 90.6

 

รูปที่ 3  แผนภูมิเปรียบเทียบยอดคงค้างเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน และหนี้ครัวเรือนต่อ GDP
ก่อนและหลังการปรับปรุงความครอบคลุม

รูปที่ 4  แผนภูมิเปรียบเทียบสัดส่วนเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนจำแนกวัตถุประสงค์ ณ ไตรมาส 1/2566
ก่อนและหลังการปรับปรุงความครอบคลุม

สำหรับวัตถุประสงค์การกู้ยืมที่มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นมากที่สุด คือวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษา โดย
ณ ไตรมาส 1 ปี
2566 เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาเพิ่มขึ้นจากสถิติชุดเดิม 4.8 แสนล้านบาทหรือมากกว่า 2 เท่า
แต่โดยรวมแล้วสัดส่วนของเงินกู้ยืมแต่ละวัตถุประสงค์ไม่แตกต่างจากเดิมมากนัก โดยวัตถุประสงค์หลักยังคง
เป็นการกู้ยืมเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ รองลงมาคือการกู้ยืมเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคล

 

4.      บทสรุป

สถิติเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน เป็นข้อมูลที่หลายภาคส่วนให้ความสนใจติดตามอยู่เสมอ เนื่องจากเป็นเครื่องชี้ที่ช่วยสะท้อนถึงเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของภาคครัวเรือนในประเทศ ที่ผ่านมา ธปท. จึงมีการปรับปรุงขยายความครอบคลุมสถิติดังกล่าวอยู่เป็นระยะ ๆ สำหรับการปรับปรุงในครั้งนี้ เพื่อให้สถิติดังกล่าวสะท้อนระดับหนี้ของภาคครัวเรือนที่ใกล้เคียงจริงมากที่สุด ธปท. และหน่วยงานผู้ให้กู้มีความพยายามในการจัดเก็บและรวบรวมข้อมูลจากทุกแหล่งที่สามารถเข้าถึงได้ ซึ่งได้เพิ่มความครอบคลุมเงินให้กู้ยืมของกลุ่มผู้ให้กู้อื่น ๆ  ได้แก่ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา การเคหะแห่งชาติ ธุรกิจพิโกไฟแนนซ์ และสหกรณ์ประเภทต่าง ๆ เข้ามาด้วย เนื่องจากเป็นแหล่งข้อมูลที่มีบทบาทการให้กู้ยืมแก่ครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งมีความพร้อมทั้งด้านคุณภาพของข้อมูล และ
การให้ข้อมูลที่เพียงพอเพื่อให้สามารถใช้งานและเผยแพร่ได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี สถิติเงินให้กู้ยืมแก่

ภาคครัวเรือนของไทยมีนิยามและขอบเขตใกล้เคียงกับข้อมูลของต่างประเทศแต่ยังไม่ครอบคลุมในมิติต่าง ๆ เท่ากับหนี้สินของภาคครัวเรือนตามนิยามสากลขององค์กรระหว่างประเทศ

ข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนต่อ GDP หลังการปรับปรุงมีการปรับเพิ่มขึ้นจากข้อมูลก่อนปรับปรุงเฉลี่ยร้อยละ 4.5 ตลอดทั้งชุดข้อมูล โดยในข้อมูลที่จำแนกตามผู้ให้กู้มีการเพิ่มผู้ให้กู้ภาคอื่น ๆ เข้ามาด้วยนอกเหนือจากภาคสถาบันการเงิน ส่วนข้อมูลที่จำแนกตามวัตถุประสงค์การกู้ยืมมีความใกล้เคียงกับสัดส่วนเดิม มีเพียงสัดส่วนของเงินกู้เพื่อการศึกษาที่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1 เป็นร้อยละ 4 ของเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนทั้งหมด

ทั้งนี้ ธปท. กำหนดการเผยแพร่ข้อมูลสถิติชุดใหม่ที่จำแนกตามกลุ่มสถาบันผู้ให้กู้และวัตถุประสงค์การกู้
เป็นรายไตรมาส ล่าช้า
1 ไตรมาส เริ่มตั้งแต่ข้อมูลไตรมาส 1 ปี 2566 โดยมีข้อมูลย้อนหลังถึงงวดไตรมาส 1
ปี 2555 ในวันที่ 30 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป และสำหรับสถิติชุดปัจจุบันจะเผยแพร่จนถึงข้อมูลงวดไตรมาส 4
ปี
2566

 

ภาคผนวก

ตารางที่ 1 การเปรียบเทียบข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนจำแนกตามผู้ให้กู้ชุดเดิมกับข้อมูลปัจจุบัน
หลังการปรับปรุงความครอบคลุมสำหรับงวดไตรมาส 1 ปี 2566

(หน่วย: ล้านบาท)

 

 

 

ก่อนปรับปรุง

หลังปรับปรุง

 

 

Q1/2566

Q1/2566

1

สถาบันรับฝากเงิน

12,834,383

12,890,446

2

       ธนาคารพาณิชย์

6,327,510

6,327,510

3

       สถาบันการเงินเฉพาะกิจที่รับฝากเงิน

4,262,938

4,262,938

4

       สหกรณ์ออมทรัพย์

2,241,722

2,241,722

5

       สถาบันรับฝากเงินอื่นๆ

2,213

58,276

6

สถาบันการเงินอื่น

2,359,634

2,366,114

7

       บริษัทบัตรเครดิต ลิสซิ่ง และสินเชื่อส่วนบุคคล

1,848,409

1,848,409

8

       บริษัทประกันภัยและประกันชีวิต

179,401

179,401

9

       บริษัทหลักทรัพย์

116,460

116,460

10

       ธุรกิจบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน

87,955

87,955

11

       โรงรับจำนำ

82,264

82,264

12

       สถาบันการเงินอื่นๆ

45,145

51,625

13

อื่น ๆ

-

703,741

14

รวม

 15,194,016

 15,960,301

15

เงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนต่อ GDP (%)

 86.3

90.6

16

เงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนต่อ GDP ปรับฤดูกาล (%)

86.2

90.6

ตารางที่ 2 การเปรียบเทียบข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนจำแนกตามวัตถุประสงค์การกู้ยืมชุดเดิมกับข้อมูลปัจจุบันหลังการปรับปรุงความครอบคลุมสำหรับงวดไตรมาส 1 ปี 2566

(หน่วย: ล้านบาท)

 

 

 

ก่อนปรับปรุง

หลังปรับปรุง

 

 

Q1/2566

Q1/2566

1

เพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคล

11,615,763

 12,140,717

2

   เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์

5,341,316

 5,352,505

3

   ซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์

1,809,336

 1,809,336

4

   เพื่อการศึกษา

211,858

 696,449

5

   อุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่น

4,253,253

 4,282,427

6

      of which บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้
      การกำกับของธปท.

1,233,927

 1,233,927

7

เพื่อประกอบอาชีพ

2,714,557

 2,897,568

8

อื่นๆ

863,697

 922,015

9

รวม

15,194,016

 15,960,301

10

เงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนต่อ GDP (%)

 86.3

 90.6

 

 

เอกสารอ้างอิง

Bank for International Settlements. (2 มิถุนายน 2566). Total credit to households (core debt): BIS. เรียกใช้เมื่อ 20 มิถุนายน 2566 จาก เว็บไซต์ Bank for International Settlements: https://stats.bis.org/statx/srs/table/f3.1

Bank for International Settlements. (ม.ป.ป.). About credit statistics: BIS. เรียกใช้เมื่อ 20 เมษายน 2565 จาก เว็บไซต์ Bank for International Settlements: https://www.bis.org/statistics/about_credit_stats.htm?m=2673

Bank Negara Malaysia. (ม.ป.ป.). Publications - Monthly Highlights & Statistics in April 2022. เรียกใช้เมื่อ 14 มิถุนายน 2565 จาก เว็บไซต์ Bank Negara Malaysia: https://www.bnm.gov.my/-/monthly-highlights-statistics-in-april-2022

Bank of England. (14 กุมภาพันธ์ 2562). Further details about total lending to individuals data. เรียกใช้เมื่อ 14 มิถุนายน 2565 จาก เว็บไซต์ Bank of England: https://www.bankofengland.co.uk/statistics/details/further-details-about-total-lending-to-individuals-data

Bank of Japan. (ม.ป.ป.). [Notes on Statistics] Monetary Aggregates (Market volume, outstanding) / Outstanding of Deposits and Loans. เรียกใช้เมื่อ 28 เมษายน 2565 จาก เว็บไซต์ Bank of Japan: https://www.boj.or.jp/en/statistics/outline/note/notest33.htm/#08

Bank of Korea. (28 พฤษภาคม 2565). Economic Statisitics System - Search Stat. เรียกใช้เมื่อ 14 มิถุนายน 2565 จาก เว็บไซต์ Economic Statisitics System: https://ecos.bok.or.kr/#/SearchStat

Banque de France. (1 เมษายน 2565). Loans to individuals, France 2022Feb. เรียกใช้เมื่อ 20 เมษายน 2565 จาก เว็บไซต์ Banque de France: https://www.banque-france.fr/en/statistics/loans-individuals-france-2022feb

Board of Governors of the Federal Reserve System. (5 มิถุนายน 2563). The Fed - Consumer Credit - G.19 - About. เรียกใช้เมื่อ 13 มิถุนายน 2565 จาก เว็บไซต์ Federal Reserve Board: https://www.federalreserve.gov/releases/g19/about.htm

European Central Bank. (18 สิงหาคม 2563). European Central Bank - Statistical Data Warehouse - Quick View. เรียกใช้เมื่อ 18 เมษายน 2565 จาก เว็บไซต์ European Central Bank: https://sdw.ecb.europa.eu/quickview.do?SERIES_KEY=332.QSA.Q.N.I8.W0.S1M.S1.N.L.LE.F4.T._Z.XDC_R_B1GQ_CY._T.S.V.N._T

Monetary and Financial Dept. International Monetary Fund. . (ตุลาคม 2560). Global Financial Stability Report, October 2017 Is Growth at Risk? Washington, D.C.: International Monetary Fund.

Monetary Authority of Singapore. (26 กุมภาพันธ์ 2563). MAS Monthly Statistical Bulletin - I.5A Commercial Banks: Loans and Advances to Residents by Industry. เรียกใช้เมื่อ 13 มิถุนายน 2565 จาก เว็บไซต์ Monetary Authority of Singapore: https://eservices.mas.gov.sg/statistics/msb-xml/Report.aspx?tableSetID=I&tableID=I.5A

OECD. (ม.ป.ป.). Household accounts - Household debt - OECD Data. เรียกใช้เมื่อ 18 เมษายน 2565 จาก เว็บไซต์ OECD: https://data.oecd.org/hha/household-debt.htm

Statistics Canada. (18 ธันวาคม 2563). Guide to the Monthly Credit Aggregates. เรียกใช้เมื่อ 14 มิถุนายน 2565 จาก เว็บไซต์ Statistics Canada: https://www150.statcan.gc.ca/n1/en/pub/13-605-x/2020001/article/00004-eng.pdf?st=C41h4j3e

Statistics Canada. (13 มิถุนายน 2565). Credit liabilities of households. doi:https://doi.org/10.25318/3610063901-eng

ธนาคารแห่งประเทศไทย.ทีมสถิติการเงินการคลัง 1-2. (ม.ป.ป.). คำอธิบายข้อมูล: EC_MB_039 เงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน. เรียกใช้เมื่อ 18 เมษายน 2565 จาก เว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย: https://www.bot.or.th/App/BTWS_STAT/statistics/DownloadFile.aspx?file=EC_MB_039_TH.PDF

รชต ตั้งนรารัชชกิจ. (18 มกราคม 2565). หนี้ครัวเรือน: ปัญหาที่ทุกคนต้องร่วมด้วยช่วยกันแก้. เข้าถึงได้จาก เว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย: https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/articles/Pages/Article_18Jan2022-2.aspx

 

 

ผู้จัดทำ

  พิชามญชุ์ กิตติอัครเสถียร

  ผู้วิเคราะห์อาวุโส

  ธนาคารแห่งประเทศไทย

  PichamKi@bot.or.th

 

 



* ผู้เขียนขอขอบคุณ คุณสุวัชชัย ใจข้อ คุณคุณทิพย์ ตรงธรรมกิจ คุณวิชชวรรณ วรฉัตราวณิช และคุณชญากัญจน์ ประเสริฐบัญชาชัย สำหรับความร่วมมือ การสนับสนุน และคำแนะนำที่มีค่าตลอดระยะเวลาการศึกษาปรับปรุงในครั้งนี้