ทิศทางเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทยปี 2562

และบทบาทของธนาคารกลาง

ในการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ

 

ปัจจุบันดูเหมือนมีหลากหลายปัจจัยเสี่ยงกดดันเศรษฐกิจโลก หลายคนอาจวิตกถึงทิศทางและภาวะของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในปี 2562 และบางคนอาจหวั่นใจว่าจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจอีกรอบหรือไม่ เพื่อไขข้อสงสัย BOT พระสยาม MAGAZINE ฉบับนี้ ได้รับเกียรติจาก คุณสุทธิชัย หยุ่น พิธีกร “เบอร์หนึ่ง” ของเมืองไทย มาร่วมพูดคุยกับ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ตลอดจนบทบาทของ ธปท. ในการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจในบริบทที่เต็มไปด้วยความผันผวนและไม่แน่นอน

 

​เศรษฐกิจโลกยังขยายตัวแต่ด้วยอัตราที่ชะลอลง

 

คุณสุทธิชัย : IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะขยายตัวได้น้อยกว่าปีที่ผ่านมา และน้อยกว่าที่เคยประเมินไว้ และมีอาการน่าเป็นห่วง เช่น ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจจีนก็โตเพียง 6.6% ต่ำสุดในรอบ 28 ปี ธปท. มองภาพเศรษฐกิจปีนี้อย่างไร? เป็นห่วงอะไรหรือไม่?

 

ดร.วิรไท : บางคนเห็นข่าวแล้วอาจตกใจนึกว่าเศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือจะเกิดวิกฤติ ผมคิดว่าเศรษฐกิจโลกโดยรวมยังคงขยายตัวแต่ในอัตราที่น้อยกว่าปีที่แล้ว และอาจจะน้อยกว่าที่ IMF เคยประมาณการไว้ IMF ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกปีนี้ลง 0.2% แต่ก็ยังโต 3.5% ซึ่งถือว่ายังขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ปีนี้มีปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบมากหน่อย ไม่ว่าสงครามการค้า เรื่อง Brexit รวมทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจจีนและมาตรการต่างๆ ที่ทางการจีนจะออกมา ปัจจัยเหล่านี้จะมีผลที่ชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ต่อเนื่องไปถึงปี 2563

 

สำหรับความกังวลว่าจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจอีกหรือไม่ ต้องเรียนว่า โครงสร้างของเศรษฐกิจโลกโดยรวมเปลี่ยนไปมาก ถ้าดูวิกฤติรอบก่อน ๆ จะพบว่าสาเหตุมาจากภาคการเงิน ความเปราะบางในระบบสถาบันการเงิน หรือปัญหาฟองสบู่ แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ระบบธนาคารของทั้งโลกมีความเข้มแข็งมากขึ้น วิกฤติซับไพรม์เป็นบทเรียนสำคัญที่นำไปสู่การปฏิรูปกฎเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงินให้รอบคอบรัดกุมมากขึ้น เศรษฐกิจของไทยเองได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหลายอย่างให้เข้มแข็งมากขึ้นถ้าเทียบกับช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง ปัจจุบันสามารถรับแรงปะทะได้มากขึ้น เศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมหลักหลายประเทศก็เข้มแข็งมากขึ้น เห็นได้ชัดจากภาวะในตลาดแรงงานที่ดี ในสหรัฐฯ อัตราการว่างงานต่ำสุดในรอบ 50 ปี และปริมาณการจ้างงานในแต่ละเดือนก็เพิ่มสูงขึ้นขณะที่ในญี่ปุ่นจำนวนตำแหน่งงานที่ว่างมีมากกว่าจำนวนผู้สมัครงาน ในยุโรปอัตราการว่างงานก็ลดต่ำลงแทบจะทุกประเทศ


สงครามการค้าสหรัฐฯ - จีน กับผลกระทบต่อไทย

 

คุณสุทธิชัย : หลายคนเป็นห่วงเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ซึ่งนักวิเคราะห์จีนเองก็ยอมรับว่ามีผลกระทบมากกว่าที่คาด ขณะที่ทางการของไทยแถลงว่า การส่งออกปีที่ผ่านมาต่ำกว่าเป้า ส่วนหนึ่งมาจากสงครามการค้า เราประเมินความเสี่ยงเรื่องนี้อย่างไร?

 

ดร.วิรไท : เรื่องนี้ทาง ธปท. กังวลและได้ส่งสัญญาณมาตลอดว่า สงครามการค้าจะมีผลกับระบบเศรษฐกิจโลกและจะโยงมาถึงเศรษฐกิจไทย แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นยากที่จะประเมินได้ชัดเจน เพราะต้องดูรายละเอียดของมาตรการต่าง ๆ ที่จะออกมา ซึ่งมีทั้งผลดีและผลเสีย ผลโดยตรงและผลทางอ้อมที่จะกระทบกับห่วงโซ่อุปทานการผลิต (Supply Chain) เช่น สินค้าที่ส่งไปประกอบในจีนแล้วส่งต่อไปสหรัฐฯ ก็จะได้รับผลลบ แต่ก็มีผลดีกับสินค้าบางอย่างที่เดิมไทยไม่เคยส่งไปสหรัฐฯ โดยตรง ก็ได้เห็นการส่งออกเพิ่มขึ้นแต่ถ้ามองในภาพรวมแล้ว คิดว่าผลเสียน่าจะมากกว่าผลดี เพราะสงครามการค้าจะกระทบกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและกระบวนการผลิตในห่วงโซ่อุปทานเดิม แม้ว่าตอนนี้อาจจะเห็นบางด้านที่เป็นผลดีกับเรา คือ มีความสนใจของนักลงทุนจีนที่จะมาลงทุนในไทยมากขึ้น แต่กว่าที่ห่วงโซ่อุปทานใหม่จะค่อย ๆ กลับขึ้นมาก็ต้องใช้เวลา

 

นอกจากนี้ สงครามการค้าไม่ได้กระทบแค่เศรษฐกิจจีนเท่านั้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ เองก็ถูกกระทบแรงด้วย บริษัทใหญ่ ๆ ของสหรัฐฯ เข้าไปลงทุนในจีน ซึ่งตลาดจีนถือเป็นตลาดสำคัญของสหรัฐฯ สำหรับเศรษฐกิจไทย เราพึ่งพิงเศรษฐกิจจีนค่อนข้างมากในหลายมิติ ไม่ใช่แค่เรื่องการค้า แต่รวมถึงเรื่องการท่องเที่ยว หรือแม้แต่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา นักลงทุนชาวจีนเข้ามาซื้อคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่จำนวนไม่น้อย ฉะนั้นมองไปข้างหน้า การพิจารณาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศใหญ่ ๆ ไม่ว่าจีน หรือสหรัฐฯ เราต้องบริหารความเสี่ยงในลักษณะที่เป็นองค์รวมมากขึ้น

 

 

ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่ต้องจับตา

 

คุณสุทธิชัย : สรุปว่าในปีนี้ เราควรจะห่วงประเด็นอะไรบ้าง ทั้งในระดับโลกและในระดับประเทศ?

 

ดร.วิรไท : ในระดับโลก ผมคิดว่าจำเป็นต้องติดตามพัฒนาการของหลายเรื่องอย่างใกล้ชิด ประการแรกคือ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ประการที่ 2 คือ เหตุการณ์ Brexit ที่แม้ว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจจริงอาจจะไม่มาก แต่จะทำให้เกิดความผันผวนในตลาดเงินและตลาดทุน ซึ่งนำไปสู่ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนได้ค่อนข้างมากประการที่ 3 คือ สภาวะเศรษฐกิจจีน ที่แม้จะยังโตได้ 6% แต่ก็เป็นการเติบโตที่ลดลงมากเทียบกับอดีต ผนวกกับที่ทางการได้เข้าไปดูแล “กิจกรรมธนาคารเงา” (Shadow Banking) ซึ่งปัจจุบันธุรกิจจีนจำนวนไม่น้อยใช้ช่องทางนี้กู้ยืมและลงทุน ทำให้สภาพคล่องลดลงมาก เศรษฐกิจไทยซึ่งมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจจีนมาก ก็จะได้รับผลกระทบด้วย และประการที่ 4 คือ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่รุนแรงมากขึ้น เช่น การประท้วงในฝรั่งเศสที่รุนแรงและลากยาวมาหลายเดือน หรือเหตุการณ์ในตะวันออกกลาง ฯลฯ ประเด็นเหล่านี้อ่อนไหวและจะกระทบตลาดเงินและตลาดทุนโลกได้ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า เศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจเปิดที่พึ่งพาเศรษฐกิจภายนอกค่อนข้างมาก ความเสี่ยงเหล่านี้จึงกระทบเราได้

 

นอกจากนี้ ปัจจัยการเมืองและการเลือกตั้งในประเทศของเราเองยังมีความไม่แน่นอน ถือเป็นความเสี่ยงอีกประการที่สำคัญของปีนี้ ฉะนั้น ปีนี้ทุกธุรกิจจำเป็นต้องเท่าทันและให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงให้มากขึ้น โดยเฉพาะการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพราะค่าเงินอาจผันผวนสูง ปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวมานี้กระทบต่อค่าเงิน กระทบต่อตลาดหุ้น และกระทบต่อราคาสินทรัพย์


ทิศทางของค่าเงินบา

 

คุณสุทธิชัย : ช่วงที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าขึ้นพอสมควร ท่านผู้ว่าการ มีความเห็นอย่างไร เห็นว่าเงินบาทแข็งค่าเกินไปหรือไม่?

 

ดร.วิรไท : ค่าเงินบาทเป็นเหมือนเหรียญซึ่งมีสองด้าน ที่ผ่านมาค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงเร็วเมื่อเทียบกับเงินหลายสกุลรวมทั้งเงินบาท ถ้ามองตั้งแต่ต้นปี ค่าเงินของ Emerging Market หลายสกุล เช่น เงินรูเปียอินโดนีเซีย เงินแรนด์แอฟริกาใต้ เงินเรอัลบราซิลก็แข็งค่าเร็วกว่าเงินบาท ในบริบทเช่นนี้ นักธุรกิจต้องให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยง อย่าชะล่าใจว่าจะมีใครมากำหนดค่าเงินให้ได้ เพราะในความจริง ค่าเงินถูกกำหนดโดยปัจจัยภายนอกเป็นส่วนใหญ่ ไม่มีใครคาดคิดว่าในสหรัฐอเมริกาจะเกิดเหตุการณ์ Government Shutdown ยืดเยื้อหรือตลาดทุนโลกจะปรับลดลงเร็วในช่วงปลายปีที่แล้ว

 

 

เวลาพูดถึงค่าเงิน เราไม่ควรให้ความสำคัญว่า “อัตราแลกเปลี่ยนควรอยู่ระดับที่เท่าไร” ที่ผ่านมา ธปท. ได้ผลักดันหลายเรื่องที่จะทำให้ภาคธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs สามารถบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ง่ายขึ้น มีภูมิต้านทานกับความผันผวนที่จะสูงขึ้น เช่น แทนที่จะใช้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในการ Quote ราคาสินค้าส่งออกก็ส่งเสริมให้ใช้เงินสกุลผู้ค้า เช่น เงินเยนกรณีค้าขายกับญี่ปุ่นให้มากขึ้น หรือการค้าขายกับมาเลเชียก็จะน่าจะ Quote เป็นบาทหรือริงกิต ซึ่งจะช่วยให้ภาคธุรกิจลดความเสี่ยงจากค่าเงินที่ต้องพึ่งพิงเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ได้ดีขึ้น เป็นต้น


กนง. ปรับขึ้นดอกเบี้ยนนโยบายครั้งแรกในรอบ 7 ปี

 

คุณสุทธิชัย : ปลายปี 2561 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในรอบ 7 ปีหลังจากนั้นเศรษฐกิจโลกดูจะมีความเสี่ยงมากขึ้น หลายสำนักปรับลดประมาณการ เรื่องเหล่านี้กระทบกับการประเมินภาพของ กนง. หรือไม่?

 

ดร.วิรไท : กนง. ประเมินอยู่แล้วว่า เศรษฐกิจในปี 2562 จะขยายตัวน้อยกว่าปี 2561 ในการตัดสินนโยบายการเงิน กนง. ชั่งน้ำหนัก 3 เรื่องสำคัญ เรื่องแรกคือ แรงกดดันของเงินเฟ้อ เรื่องที่ 2 คือการขยายตัวของเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับศักยภาพ และเรื่องที่ 3 คือเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงิน นอกจากนี้ กนง. ยังต้องชั่งน้ำหนักระหว่างผลกระทบระยะสั้นและระยะยาว หน้าที่ของธนาคารกลางทุกประเทศ คือ ต้องมองยาว มองไกล และให้ความสำคัญกับเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ

 

ในเรื่องของเงินเฟ้อ ปีที่ผ่านมาเงินเฟ้อของไทยปรับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย (1 - 4%) แม้จะอยู่ในช่วงขอบล่างของกรอบเป้าหมายแต่ก็ไม่น่าห่วง เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมยังขยายตัวได้ดี ไม่ได้เกิดปัญหาเงินฝืด

 

ด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจไทยปี 2561 โต 4 - 4.2% และในปี 2562 คาดว่าจะโตประมาณ 4% ซึ่งเป็นการโตในระดับ 4% ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ถือว่าเป็นระดับที่สอดคล้องกับศักยภาพของเศรษฐกิจไทย ถ้าจะดูว่าเศรษฐกิจไทยรองรับอัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้นได้หรือไม่ ต้องย้อนกลับไปช่วงวิกฤติการเงินโลก ตอนนั้น GDP ไทยติดลบ 0.9% กนง. จึงปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ 1.25% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในประวัติศาสตร์เพื่อดูแลเศรษฐกิจ ต่อมาเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว กนง. ก็ทยอยปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น จนเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ปี 2554 และความขัดแย้งทางการเมือง กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยมาที่ 1.5% ในปี 2558 และคงอัตราดอกเบี้ยไว้เกือบ 3 ปี ซึ่งปีที่ปรับอัตราดอกเบี้ยมาที่ 1.5% ช่วงนั้นไทยมีความวุ่นวายทางการเมืองรัฐบาลไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้นโยบายการคลังไม่ทำงาน GDP อยู่ประมาณ 0.8% จึงต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อช่วยดูแลเศรษฐกิจ แต่วันนี้ภาพเปลี่ยนไปมาก เศรษฐกิจไทยโตในระดับศักยภาพที่ประมาณ 4% ต่อเนื่องมา 2 - 3 ปี เงินเฟ้อปรับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย กนง. มีความเห็นว่าความจำเป็นที่จะต้องคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำมากเป็นพิเศษลดลง จึงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ฉะนั้น เวลาที่ดูอัตราดอกเบี้ยนโยบายต้องดูในบริบทของวัฏจักรเศรษฐกิจและภาพรวมในระยะยาวด้วย

 

ต้องขอย้ำว่าในโลกนี้ไม่มีอะไรฟรี การที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำเป็นเวลานาน มีผลข้างเคียงต่อเสถียรภาพของระบบการเงินข้อแรก คือ อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นเวลานานส่งเสริมให้คนก่อหนี้มาก วันนี้หนี้สินเทียบกับ GDP ของทั้งโลกอยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนของไทย หนี้ภาคครัวเรือนที่สูง เป็นปัญหาทั้งในระดับครัวเรือนและระดับประเทศ การบริโภคไม่ค่อยฟื้นตัว เพราะประชาชนมีหนี้อยู่เยอะมาก อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำทำให้แรงจูงใจในการออมก็ไม่มี การที่ประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย ถ้าประชาชนมีเงินออมไม่เพียงพอก็จะกลายเป็นปัญหาของประเทศในอนาคต นอกจากนี้ เราต้องไม่ลืมว่าอัตราดอกเบี้ยคือต้นทุนของเงิน อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำนาน ๆ กระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น หรือ “Search for Yield” ที่ประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร (Underpricing of Risk) ที่ผ่านมาเราเห็นพฤติกรรมเช่นนี้หลายรูปแบบ เช่น การนำเงินไปฝากไว้ในสหกรณ์ออมทรัพย์ โดยไม่ได้ตั้งคำถามว่าเขาเอาเงินเราไปทำอะไร ดูแลดีแค่ไหน มีการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสมหรือไม่ หรือพฤติกรรมที่คนใช้เงินออม หรือกู้เงินไปซื้อบ้านหลังที่ 2 หรือ 3 โดยหวังเพียงว่าราคาบ้านมีแต่จะปรับสูงขึ้น หรือได้ “เงินทอน” จากการกู้เงินสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์มาใช้ก่อน

 

 

เหตุผลเหล่านี้ทำให้ธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกต้องปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น หรือ Monetary Policy Normalization เช่นเดียวกัน กนง. มองว่านโยบายการเงินแบบผ่อนคลายยังจำเป็นที่จะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไทย แต่ระดับการผ่อนคลายที่มากเป็นพิเศษเหมือนในอดีต มีความจำเป็นน้อยลง

 


การเลือกตั้งกับเศรษฐกิจไทย

 

คุณสุทธิชัย : ท่านมองว่าการเลือกตั้งในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้จะมีผลอย่างไรกับเศรษฐกิจไทย

 

ดร.วิรไท : เราไม่สามารถคาดเดาผลของการเลือกตั้งได้ แต่เรื่องสำคัญที่ต้องพิจารณา คือ นโยบายเศรษฐกิจของพรรคการเมืองต่าง ๆ และอีกเรื่องสำคัญที่เราต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดขึ้น คือ ความขัดแย้ง ผมคิดว่า คนไทยรับรู้ถึงผลเสียจากความขัดแย้งทางการเมือง ฉะนั้น จึงเป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่ต้องช่วยกันดูแลให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปอย่างราบรื่น เพื่อให้ประเทศไทยกลับเข้าสู่ระบบประชาธิปไตย

นอกจากนี้ เรื่องที่ภาคธุรกิจทั้งไทยและต่างชาติจะให้ความสำคัญ คือ ความต่อเนื่องของโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ที่ได้ริเริ่มเอาไว้แล้ว ถ้ามองย้อนกลับไปในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ความขัดแย้งทางการเมืองทำให้เราเสียโอกาสลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น วันนี้มีหลายโครงการที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการประูมูลหรือก่อสร้าง ฯลฯ เราคงอยากเห็นความต่อเนื่องของโครงการเหล่านี้ เพราะจะเป็นรากฐานสำคัญที่จะช่วยยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทยในอนาคต