Data Analytics

ข้อมูล คือ ทรัพย์สินเศรษฐกิจยุคใหม่

“การที่โลกก้าวเข้าสู่ยุคแห่งข้อมูลจะสร้างโอกาสอีกมหาศาลในการรังสรรค์ความรู้ใหม่ที่มีคุณประโยชน์นานัปการ” คือ คำพูดที่ท่านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดร.วิรไท สันติประภพ เคยกล่าวไว้ในงาน BOT Symposium 2016

ในเศรษฐกิจยุคใหม่ “ข้อมูล” คือ “สินทรัพย์” ที่มีความสำคัญยิ่งยวด เพราะผู้ที่รู้จักการวิเคราะห์และการใช้ข้อมูลจะสามารถสกัดคุณค่าที่ซ่อนอยู่ออกมาเพื่อสร้างโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจ ใช้ขับเคลื่อนองค์กร รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมอย่างยั่งยืนได้

 

Data-driven World

 

 

ปัจจุบัน Data Analytics ถูกมองว่าเป็นขุมพลังที่สำคัญในการขับเคลื่อนของภาคธุรกิจ ช่วยสร้างความเข้าใจและประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้แก่ผู้บริโภค ช่วยเพิ่มช่องทางการตัดสินใจและ Productivities ซึ่งจะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น ช่วยลดกระบวนการที่ไม่จำเป็นและลดต้นทุนขององค์กร รวมไปถึงการบริหารความเสี่ยงในมิติต่าง ๆ


ไม่แต่เฉพาะภาคธุรกิจเท่านั้นที่ใช้ Data Analytics หน่วยงาน ภาครัฐ ธนาคารกลาง โรงพยาบาล หรือแม้กระทั่งทีมฟุตบอล ต่างก็ใช้รูปแบบการวิเคราะห์ข้อมูลแบบใดแบบหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น Business Intelligence, Real-time Analytics หรือ Machine Learning


Unlock Untold Value

 

 

Data Analytics และ Big Data เกี่ยวพันอยู่ในหลายภาคส่วนของสังคมธุรกิจ โดยมีพลังอำนาจในการปลดล็อก Untold Value ซึ่งเป็นคุณค่าที่ซ่อนอยู่ภายใต้ข้อมูลเหล่านี้ ผู้ใช้จะต้องมีความเชื่อมั่นต่อข้อมูลและรู้จักที่จะใช้ข้อมูลให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กร อาทิ สาขาร้านขายยาอาจเก็บข้อมูลหลากหลายจากการทำธุรกิจ ตั้งแต่ข้อมูลที่เก็บจากพฤติกรรมใช้จ่ายของผู้บริโภคผ่านบัตรสมาชิก การทำการตลาดเบื้องต้นไปจนถึงสถิติประชากรและภูมิประชากรศาสตร์ เพื่อช่วยในการตัดสินใจเรื่องการเลือกตำแหน่งของร้านใหม่

 

บริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับ e-Commerce และ Microloan ที่ปล่อยกู้ให้ SMEs ก็ใช้ Algorithms (กระบวนการแก้ปัญหาโดยมีลำดับหรือวิธีเป็นขั้นตอนชัดเจน) เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลอย่างละเอียด โดยนำมาใช้พิจารณาข้อมูลการทำธุรกรรมเพื่อประเมินว่าธุรกิจนั้นไปได้ดีแค่ไหน สินค้าและบริการแข่งขันได้มากน้อยแค่ไหนในตลาด และคู่ค้ามีเครดิตเรตติ้งสูงเพียงใด เพื่อแยกแยะระหว่างผู้กู้ที่ดีที่จะชำระเงินคืนตรงเวลาและผู้กู้ที่มีแนวโน้มจะผิดนัดชำระ ข้อมูลพฤติกรรมเหล่านี้ถูกวิเคราะห์แบบอัตโนมัติและเรียลไทม์

 


ในภาคเกษตรกรรม ปัจจุบันก็มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพมากมาย ทั้งแอปพลิเคชันที่ให้ข้อมูลปัจจัยเพาะปลูกทางการเกษตรเฉพาะพื้นที่ที่ต้องการ ทั้งพยากรณ์อากาศที่แม่นยำ(Microclimate Weather) และข้อมูลวางแผนเพาะปลูกพืช ตัวอย่าง เช่น NECTEC FAARM Series : “ฟาร์ม เทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม ด้านการเกษตร”เพื่อเกษตรกรยุค 4.0 เทคโนโลยี ผลงานจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งเป็น ชุดเทคโนโลยีที่จัดทำโดยนักวิจัยไทย อาทิ อุปกรณ์สำหรับผลิตภัณฑ์ ระบบควบคุมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ Smart Aqua Application เทคโนโลยีกล่องควบคุมวาล์วให้น้ำ (Irrigation Valve Control Box) หรือเทคโนโลยีโซลาปั๊มอินเวอร์เตอร์ (SUN FLOW) เป็นต้น

Marketing Technology

 

 

อีกรูปแบบหนึ่งของ Data Analytics ที่เป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจในประเทศไทย คือ Startup ด้านเทคโนโลยีทางการตลาดที่ให้บริการทางด้าน Social Listening and Monitoring มีจุดประสงค์ให้ธุรกิจ หรือแบรนด์สามารถรับฟังเสียงสะท้อนจากผู้บริโภค เข้าถึงข้อมูลเชิงลึก และตรวจสอบกระแสบนโซเชียลมีเดียแบบเรียลไทม์ ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับแบรนด์สินค้าตัวเอง คู่แข่ง หรือเทรนด์ในอุตสาหกรรม

องค์กรธุรกิจ หรือ SMEs ที่ใช้บริการ Data Analytics ประเภทนี้ สามารถวัดผลลัพธ์ของธุรกิจและแบรนด์ นำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อแก้ไขปัญหาธุรกิจได้อย่างตรงจุดและรวดเร็ว เชื่อมโยงไปสู่การบริหารลูกค้าสัมพันธ์และคอลเซ็นเตอร์ วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อกำหนดกลยุทธ์ การสื่อสารและทำการตลาดได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงต่อยอดไปสู่การพัฒนาสินค้าและบริการที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

 

          ทั้งนี้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ร่วมกับบริษัท ไอดีซี รีเสิร์ช (ไทยแลนด์) จำกัด เคยเปิดเผยผลการสำรวจข้อมูลและประเมินอุตสาหกรรม Big Data ในประเทศไทย พบว่ากลุ่มธุรกิจที่มีการใช้งานและมีการลงทุนในเทคโนโลยี Big Data มากที่สุด คือ กลุ่มอุตสาหกรรมการเงินการธนาคาร และในปี 2562 มูลค่าของธุรกิจ Big Data Analytics ในไทย มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเป็น 15,671 ล้านบาท โดยการลงทุนในด้านไอทีและบริการทางธุรกิจซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์จะยังคงมีสัดส่วนมูลค่าสูงที่สุด