ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร
​วิถีคนจริง เมื่อเดิมพันของการปฏิบัติการ คือ ชีวิต

 

ช่วงกลางปี 2561 ที่ผ่านมา คงไม่มีข่าวใดชวนลุ้นระทึกและน่าตื่นเต้นเท่ากับปฏิบัติการช่วยชีวิตนักฟุตบอลเยาวชนและผู้ช่วยโค้ชทีมหมูป่าอะคาเดมี ณ ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย ตลอด 18 วัน ของภารกิจค้นหาและช่วยหมูป่า 13 ชีวิต มีเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงาน อาสาสมัครจิตอาสาทั้งไทยและเทศนับหมื่นชีวิตร่วมภารกิจนี้

 

แน่นอนว่า ทุกการรบย่อมต้องมีแม่ทัพ ซึ่งแม่ทัพนำทีมกู้ชีวิตในครั้งนั้นมี คุณณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา (อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย) เป็นผู้บัญชาการ หลังเหตุการณ์ท่านได้รับเสียงชื่นชมและรางวัลต่าง ๆ มากมาย ล่าสุดคือ รางวัลสุดยอดวัฒนธรรมสร้างสรรค์แห่งปี พ.ศ. 2561 สาขาบุคคลแห่งปี ด้วยบทบาทเด่นชัดในการทำงานที่เด็ดขาด จริงจังจนเอาชนะใจทีมงานผู้ที่เกี่ยวข้อง พี่น้องคนไทย และคนต่างชาติที่ติดตามข่าวนี้ได้อย่างอยู่หมัด

 

 

ปัจจัยแห่งความสำเร็จ

 

“วันนี้สิ่งที่ท่านเห็น (กรณีถ้ำหลวง) เป็นการทำงานในภาวะวิกฤติจริง ๆ เราทำงานด้วยการคิดถึงเป้าหมายจริง ๆ คนไปช่วยเป็นหมื่น เครื่องมืออะไรก็ยังไม่รู้ กลยุทธ์อย่างไรก็ยังไม่รู้ แต่เป้าหมายคือ เด็ก 13 คน“สิ่งที่ทำให้เราทำงานสำเร็จมี 3 อย่าง คือ Vision ที่ดี Well Planning และ Well Rescued สุดท้ายคือ Discipline โดยมี Ultimate Goal คือ 13 ชีวิต เราเห็นคนเป็นหมื่นคนทำงานร่วมกัน หากใครคนใดคนหนึ่งหายไป งานจะไม่สำเร็จ สิ่งสำคัญอีกเรื่องคือ หากพวกเราเปลี่ยนชีวิตเราคนละนิดเพื่อการอยู่เพื่อผู้อื่น โลกจะดีกว่านี้แน่ ผมยืนอยู่ตรงนี้ไม่ใช่ผมเก่ง ไม่ใช่ผมสำเร็จ คนสำเร็จคือคนที่ยืนอยู่ข้างหลังผมเป็นหมื่นคน ความสำเร็จเกิดจากคนเหล่านั้น แต่ผมในฐานะผู้บัญชาการ เป็นคนที่ยืนอยู่เบื้องหน้า ทำหน้าที่ออกหน้าแทนเขาเหล่านั้น

 

 

“คืนวันที่ 2 กรกฎาคม ผมเชื่อว่า ทุกคนมีความสุข มีคนไทยติดตามแถลงข่าวผ่านทางโทรทัศน์ประมาณ 26 - 27 ล้านคน ช่องทางออนไลน์อีกหลายล้าน เกือบครึ่งประเทศ คนดูทั่วโลกกว่าร้อยล้านคนท่านเชื่อไหมว่าคนที่เครียดที่สุด คือ ผมกับทีมงาน

 

 

“สิ่งที่เราคลำดำมืด ตอนนั้นเรารู้แล้วว่า อะไรคืออุปสรรค อะไรคือสิ่งที่เราต้องเอาชนะ การที่ต้องนำนักอุตุนิยมวิทยามาหน้าถ้ำ เพราะเราต้องรู้ว่าพายุลูกถัดไปจะเข้าวันไหน พอกรมอุตุฯ แจ้งว่าพายุลูกใหญ่จะเข้าวันพุธ เราส่งอีกทีมเข้าไปจุดที่เด็กอยู่ทันทีเพื่อวัดปริมาณออกซิเจน เราหายใจอยู่ที่ 21% ถ้า 12% เราจะหลับกันหมด พอรายงานออกซิเจนออกมา ยิ่งกุมขมับ เพราะตอนนั้นออกซิเจนอยู่ที่ 15% เด็กจะอยู่ได้อีกประมาณ 6 - 7 วัน การตัดสินใจต่าง ๆ ต้องอยู่บนเหตุผลทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น

 

 

 

“Key Factor ที่ทำให้เราสำเร็จต่อมาคือ การซ้อมกู้ภัย การซ้อมเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ถ้าไม่ซ้อม เราจะไม่รู้เลยว่าเวลาเกิดวิกฤติจะทำอย่างไร ผมเป็นผู้ว่าฯ เชียงราย 15 เดือน ผมสั่งซ้อมกู้ภัย 3 ครั้ง เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดเหตุวันที่ 24 มิถุนายน 2561 ห่างจากวันซ้อมกู้ภัยใหญ่เพียง 2 อาทิตย์กว่า ๆ เมื่อซ้อมมาดี เวลาเกิดสถานการณ์จริง เจ้าหน้าที่รู้ว่าจะติดต่อหน่วยงานไหน ยืมอุปกรณ์อะไร และจะต้องประสานงานอย่างไร ประสบการณ์ตรงนี้ต้องเรียนรู้จากชีวิตจริง

 

 

 

“ผู้ปฏิบัติภารกิจที่ว่ายน้ำนำเด็กออกมา ต้องไปซ้อมว่ายน้ำกับเด็ก ๆ ที่มีสัดส่วนใกล้เคียงกับเด็กทั้ง 13 คน ซ้อมด้วยหน้ากากพิเศษ ชุดพิเศษ และท่าที่เหมาะสม การซ้อมอีกอย่าง คือ การซ้อมโรงพยาบาล ถ้าไม่มีการซ้อมเราจะไม่รู้เลยว่าจะทำได้อย่างไร ผมจึงบอกว่า ‘การซ้อม’ เป็น Key Factor ที่สำคัญ

 


บทพิสูจน์ผู้นำ : การตัดสินใจในภาวะวิก
ฤติ

 

“การตัดสินใจในภาวะวิกฤติ คือ ภาวะไม่ปกติ ต้องมีการย่อหย่อนบางเรื่อง แต่ก็ต้องมีกติกากำกับเหมือนกัน แม้จะลดดีกรีความเข้มข้นลง แต่ก็ต้องโปร่งใสและตรวจสอบได้ ในวิกฤติจะมีความเสี่ยง วิธีบริหารจดการความเสี่ยงมีแค่ 3 วิธี ผมพูดจากการปฏิบัติ วิธีแรก โยนความเสี่ยงทิ้งไป วิธีที่สอง กระจายความเสี่ยง สามคือ ต้องมีหลายแผนและตัดสินใจบนแผนที่มีความเสี่ยงน้องสุด และหากเกิดเหตุการณ์เลวร้าย เรายังับความเสี่ยงนั้นได้

 

“เวลาวิกฤติ สังคมไทยดี ช่วยกันด้วยน้ำใจไม่หวังผลประโยชน์ใด ๆ ทุกคนมีเป้าหมายเดียวกัน คือ เอาเด็กออกมาโดยปลอดภัยทุกคน เราสำรวจถ้ำร้อยกว่าโพรง ส่วนงานสูบน้ำ คนวางถังออกซิเจนทำงานกัน 400 - 500 คน นักวิชาการทุกแขนงอยู่หน้าถ้ำ เราทำงานกันทั้งวันทั้งคืน เปลี่ยนผลัดใหม่ ๆ นี่เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สำเร็จ

 

 

“ในภาวะวิกฤติ เราช่วยผู้อื่นโดยไม่หวังอะไรเลย นี่คือ น้ำใจของคนไทย นี่คือบทเรียนที่เราควรนำมาปรับปรุงเพื่อเดินหน้าประเทศไทย ลึก ๆ แล้วเราเป็นคนอย่างนี้ เราเป็นคนมีน้ำใจ ผมไม่ใช่คนที่ทำให้สำเร็จ เราแบ่งงานออกไป ทีมดำน้ำ ทีมสูบน้ำ ทุกทีมมีผู้บัญชาการไปแบ่งงาน ซึ่งเราให้เกียรติแต่ละทีมไปประชุมกันหมด ผมมีหน้าที่ต่อจิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายเข้าไป ภาพทุกภาพต่อมาดีหมด และผมทำหน้าที่แค่ต่อตัวสุดท้าย มันไม่ใช่ความสำเร็จของผม แต่เป็นความสำเร็จของคนเป็นหมื่นคน

 

 

“มีคนสงสัยว่า คนเป็นหมื่นคนมาทำงาน คนเก่งมากมาย เราทำได้อย่างไรในการควบคุมทีมงาน กติกาของทีมคือ หัวหน้าทีมเป็นผู้ตัดสินใจ ทุกคนมีความเสี่ยงหมด ใครเก่งขนาดไหนถ้าอยู่ร่วมทีมกันไม่ได้ก็เชิญ เราไม่ตอบโต้ เพราะหน้าที่ของเราคือ กู้เด็ก

 

 

“ในสภาวะวิกฤติการตัดสินใจมันยากมาก และเราตัดสินใจบนชีวิตของคนอื่น ทหารพูดกับผมว่าภารกิจนี้ยากกว่าสงคราม เพราะสงครามเราประเมินความเสียหายได้ว่าจะสูญเสียเท่าไร แต่ภารกิจนี้ห้ามสูญเสีย มีแค่ 0 กับ 1 ไม่มีตรงกลาง เอาเด็กออกมาได้ 12 คนแต่ตาย 1 ก็ล้มเหลว วันนี้ตรงข้ามกันเลยนะครับ เด็กรอดทั้งหมด 13 คน ผมถึงได้มายืนตรงนี้”

 

 

 


ธรรมะของผู้นำ

 

 

ท่านผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ ได้กล่าวถึงการเป็นผู้นำต้องมีศีล หรือธรรมะ เพื่อบริหารทั้งอารมณ์ของตนเอง และบริหารคนด้วยไมตรี โดยหลักธรรมที่ท่านนำมาใช้ประกอบด้วย อิทธิบาท 4 อริยสัจ 4 รวมถึงพรหมวิหาร 4 และทศพิธราชธรรม

 

"ภาวะของผู้นำต้องคุมคน ดูแลคน แก้ปัญหาพ่อแม่พี่น้อง ต้องมีพรหมวิหาร 4 และทศพิธราชธรรม มีทาน ศีล บริจาค ความอ่อนโยน ความไม่เบี่ยงเบน ฯลฯ ถ้าเรามีธรรมะและศีลเหล่านี้อยู่ในมือ และเลือกใช้ให้ถูกกับสถานการณ์ เราจะแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง หลักคิดตรงนี้เป็นหลักที่จะทำให้เป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จ

 

 

"แต่ผมยืนยันว่าผมไม่ใช่ผู้นำที่ประสบความสำเร็จ ผมเป็นเพียงผู้ทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายตามกฎหมาย เพียงแต่ว่าทีมงานผม แข็งแกร่งทุกคน ผมโชคดีที่ดำเนินการตามแผนได้ และจุดอ่อนที่อาจทำให้งานไม่สำเร็จ คือ การขาดการประเมินผลที่ดี เราจึงปรับแผนหน้าถ้ำทุกวัน เราประชุมอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เพื่อรู้ว่า สิ่งที่ผ่านมา จุดอ่อนคืออะไร ทีมไหนทำอะไรไป และอีก 12 ชั่วโมง ต่อไปจะทำอะไร ทุกคนต้องรู้ ทำงานเข้าใจตรงกันหมด ถ้าประชุมแผน และปรับปรุงแผนทุกวัน จะทำให้การทำงานดีขึ้นทุกวัน และประสบ ความสำเร็จ"