​ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ

มือที่ไม่มีบาดแผล ย่อมไม่เกรงที่จะจับยาพิษ

ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้ที่คลุกคลีกับงานด้านกระบวนการยุติธรรมของประเทศมายาวนาน และผ่านการพิจารณาคดีระดับชาติมานับไม่ถ้วน ปัจจุบันในฐานะคณบดี คณะนิติศาสตร์ ท่านมีโอกาสถ่ายทอดองค์ความรู้งานด้านกระบวนการยุติธรรม หลักธรรมาภิบาลและจริยธรรมของผู้พิพากษา ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการบริหารประเทศ การบริหารองค์กร และยังความสง่างามมาถึงผู้ประพฤติปฏิบัติ

 

ชีวิตที่ไม่มีแผน คือ ชีวิตที่ล้มเหลวตั้งแต่เริ่มต้น

 

ในการดำเนินชีวิต อาจารย์วิชา ถือเป็นผู้หนึ่งที่ดำเนินชีวิตอย่างมีระเบียบแบบแผน สิ่งที่หล่อหลอมท่านเกิดจากประสบการณ์ การใช้ชีวิต การทำงาน รวมถึงการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ทำให้ท่านสามารถตั้งจิตในงาน และปล่อยวางเมื่อถึงเวลาพักผ่อนได้อย่างชัดเจน


“ผมจะทำอะไรหลายอย่างได้ในขณะเดียวกัน เพราะผมปฏิบัติธรรมตั้งแต่เด็ก ๆ คือ เจริญวิปัสสนากรรมฐานมหาสติปัฏฐาน 4 กำหนดรู้ว่าทำอะไรอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งในระบบศาลเราจะต้องพิจารณาคดีทุกวันทำการ เราต้องทราบล่วงหน้าว่าวันนี้มีคดีอะไรบ้าง ต้องเตรียมการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน รวมถึงผมไปศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นประจำและทำวิจัยกับนักวิชาการชาวญี่ปุ่น ทำให้ได้รู้เรื่อง Mind Map วางแผนการทำงาน และวางแผนชีวิตในรายละเอียด เขาบอกเลยว่าชีวิตที่ไม่มีแบบแผนเป็นชีวิตที่ล้มเหลว ตั้งแต่เริ่มต้น สมมุติจะเข้าทำงานต้องรู้เลยว่าปีที่หนึ่ง สอง สาม จะทำอะไร จนถึงปีสุดท้าย จะยืนอยู่ในตำแหน่งไหน ถ้าวันนี้บกพร่อง ยังมีพรุ่งนี้ และพรุ่งนี้ต้องดีกว่าวันนี้”


หลักการดำรงตนบนความถูกต้อง

 

ในส่วนของการรักษาตนให้อยู่ในจริยธรรมที่จะดำรงความน่าเชื่อถือศรัทธาได้นั้น อาจารย์วิชาได้ให้หลักคิดไว้ว่า จิตใจที่มั่นคง มีสิ่งสำคัญ 2 ประการ เรื่องแรก คือ ทฤษฎีที่ว่าด้วยการตัดสินใจ ซึ่งต้องอยู่บนพื้นฐานคุณธรรมเรื่องคุณค่าของมนุษย์ ตัวอย่างหนึ่ง ที่อาจารย์วิชามักเล่าให้นักศึกษาฟัง คือ เมื่อพบคนตกทุกข์ได้ยาก ต้องไม่ลังเลว่าจะช่วยหรือไม่ช่วย ให้นึกถึงว่าอะไรคือ จริยธรรม แล้วทำทันที เพราะจริยธรรมคือ สิ่งที่ต้องปฏิบัติโดยไม่นึกถึงภาระของตนเอง เรื่องที่สอง คือ ทฤษฎีภาระหน้าที่ ซึ่งเป็นทฤษฎี ที่อริสโตเติลสอนมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ ภาระหน้าที่ทำให้เกิดหลักการสำคัญ คือ Professionalism การทำอย่างมืออาชีพ คือ Best Practice และ High Performance คือ ต้องทำให้ดีที่สุด ทำในสิ่งที่สูงสุดไม่ใช่แค่มาตรฐานขั้นต่ำ


Conflict of Interests บ่อนทำลายความน่าเชื่อถือ


ในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน สิ่งที่จะทำให้บุคคลปราศจากข้อครหาต่าง ๆ นอกจากเรื่องร้ายแรง เช่น การทุจริตแล้ว เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interests) ก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน


“สิ่งที่เป็นจริยธรรมสมัยใหม่ที่ต้องทำอยู่เสมอ แต่ทำยากมาก คือ การไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งโดยมากแล้วคนจะขาด เพราะคิดถึงประโยชน์ส่วนตนก่อนส่วนรวม เมื่อประโยชน์มันขัดกัน การเป็นพรรคพวกเพื่อนฝูงกันเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจ การที่องค์กรต่าง ๆ มีปัญหาทุกวันนี้ก็เพราะมีผลประโยชน์ทับซ้อนของคนในองค์กร ที่เรียกว่า พรรคพวกมาก่อน (Nepotism)


“หากเป็นองค์กร เราจะเห็นแก่พวกพ้องไม่ได้ ผลประโยชน์ ทับซ้อนถือเป็นเรื่องสำคัญสูงสุดของมนุษย์ คนไทยในปัจจุบันไม่ได้รับการศึกษาอบรมในเรื่องนี้มาอย่างดี แต่ในต่างประเทศ เช่น ฮ่องกง สอนกันตั้งแต่เด็กว่าต้องไม่มีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ขณะที่บ้านเราไม่เคยสอน เราจะปล่อยตามสบาย และยังทำให้เด็กเข้าไปอยู่ในวงจรนั้นด้วย เช่น การเลือกหัวหน้าชั้นของเด็กอนุบาล พ่อแม่ก็มีส่วนเกี่ยวข้องบอกให้เอาขนมไปให้เพื่อน การแก้ไขเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนจะต้องทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง เช่น นโยบายงดรับของขวัญของหน่วยงานภาครัฐ ผู้บริหารของหน่วยงาน ต้องแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างว่า ‘ไม่รับของขวัญ’ อย่างเด็ดขาดไม่ใช่ทำแต่ปากพูด”

 

 

 

ถ้าไม่มีบาดแผลในฝ่ามือฉันใด เมื่อจับยาพิษย่อมไม่เข้าสู่หัวใจ ได้ฉันนั้


 

“เวลาจะทำอะไรต้องสำรวจว่า เราตั้งต้นความคิดไว้ถูกหรือเปล่า ผมเคยตัดสินประหารชีวิตคนอยู่ครั้งหนึ่ง มันยากมาก เพราะคิดอยู่เสมอว่าเราไม่มีอำนาจที่จะไปประหารใคร ผมจึงยึดหลักของท่านพุทธทาส ท่านสอนว่า ‘มนุษย์ ถ้าไม่มีบาดแผลในฝ่ามือฉันใด เมื่อจับยาพิษย่อมไม่เข้าสู่หัวใจได้ฉันนั้น’ เราจึงเรียกหลักนี้ว่า คือ ความบริสุทธิ์ยุติธรรม

 

 

“หากคนที่สุจริตและคนที่ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบ วินิจฉัยชี้ขาดคดี โดยไม่ได้กลั่นแกล้งใคร ก็เปรียบเสมือนเราเป็นคนที่มีมืออันบริสุทธิ์ เมื่อจับยาพิษ ยาพิษย่อมไม่แล่นเข้าสู่หัวใจฉันใด การทำงานหาก ตั้งอยู่บนความสุจริตปราศจากอคติก็ไม่ต้องกลัวสิ่งใดฉันนั้น ถ้าเมื่อใด เรากลั่นแกล้งคน ก็เท่ากับเรามีบาดแผลในฝ่ามือจับยาพิษไม่ได้”

 

 

 

ความเป็นอิสระของธนาคารชาติ

 

“ผมคิดว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สามารถสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาให้แก่สาธารณชนได้เพราะผมมองเห็นความเป็นอิสระของ ธปท. ตั้งแต่สมัยอาจารย์ป๋วย ผมนิยมชมชอบในความเป็นอิสระที่ถูกปลูกฝังมา สิ่งที่ประเสริฐที่สุดของธนาคารในระดับธนาคารชาติ คือ ความเป็นอิสระ ถึงแม้ไม่ใช่องค์กรอิสระ แต่ลักษณะในการทำงานและการตัดสินใจต้องเป็นอิสระ

 

“ธปท. ต้องแสดงสิ่งนี้ให้ปรากฏ คือ ‘ความเป็น Professional’ ใช้องค์ความรู้ในการตัดสินใจ มีความกล้าหาญ มีความรอบรู้ คือ Prudence (ความชาญฉลาด, พิถีพิถัน, สุขุม) หยั่งรู้ลึกซึ้ง ในสิ่งที่ตนเองรู้ คุณต้องตั้งอยู่ในศีลธรรม และวินัยของ ธปท. คือ ความรอบรู้ มีอุดมการณ์สูงสุด การรักษาระเบียบวินัยทางการเงินของประเทศ”

 

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ผู้เป็นต้นแบบแห่งความดี

 

          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงไว้ซึ่งพระราชจริยวัตรที่งดงาม ทรงตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม และทรงปฏิบัติพระราชภารกิจอย่างมิรู้จักเหน็ดเหนื่อย เพื่อความสุขของอาณาประชาราษฎร์ พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างในการทำความดีให้กับหลาย ๆ คน รวมถึงอาจารย์วิชา

          “ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงสอนให้ราษฎรได้รู้ภาระหน้าที่ของตนเองว่าต้องทำอะไร รู้สำนึกตลอดเวลาเรื่องภาระหน้าที่ แล้วเดินทางสายกลางตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง หลักทางสายกลางไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป

          “พระองค์ทรงเป็นสุดยอดมนุษย์ ทรงมีพระราชหฤทัยที่นึกถึงคนอื่นเสมอ ทรงคิดในสิ่งที่คนอื่นคิดไม่ถึง เช่น ทรงวางแผนว่าจะปลูกต้นไม้อะไรที่มีมูลค่าสูงในอนาคตทดแทนการปลูกฝิ่น พลตำรวจเอกวสิษฐ เดชกุญชร เล่าให้พวกเราฟังว่า พระองค์เสด็จพระราชดำเนินพาข้าราชบริพารขึ้นเขาอย่างไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย เพื่อทอดพระเนตรต้นกาแฟเพียงต้นเดียว และทรงไม่คำนึงถึงความยากลำบากที่ต้องพบ แต่ทรงคิดถึงประโยชน์สุขของประชาชน จึงเป็นจุดเริ่มต้นโครงการหลวง ปลูกกาแฟบนที่สูงสามารถเปลี่ยนวิถีชีวิตชาวเขาจากการปลูกฝิ่นมาเป็นการปลูกกาแฟ สอดคล้องกับพระปฐมบรมราชโองการ ‘เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม’ คำว่า ‘ครอง’ ของพระองค์ ไม่ใช่การ ‘ครอบครอง’ แต่เป็นการ ‘ปกครอง’ แผ่นดินโดยธรรม คำว่า ‘เพื่อประโยชน์สุข‘ ไม่ใช่ประโยชน์อย่างเดียว แต่คือ ประโยชน์สุขของคนส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นหัวใจของลัทธิประโยชน์สุขนิยม หรือ Utilitarianism มาจากหลักคิดของปราชญ์อังกฤษ ชื่อ Jeramy Bentham และหลักกฎหมายโรมันโบราณ ซึ่งเชื่อว่าอะไรที่เป็นประโยชน์สุขของประชาชนส่วนใหญ่ นั่นคือ กฎหมายสูงสุด ไม่มีกฎหมายอะไรจะเหนือกว่านี้อีกแล้ว”