ว.วินิจฉัยกุล

นักประพันธ์ชั้นครู ผู้ก้าวทันทุกความเปลี่ยนแปลง

 

 

“ว.วินิจฉัยกุล” และ “แก้วเก้า” เป็นชื่อที่นักอ่านนวนิยายชาวไทยรู้จักเป็นอย่างดี ซึ่งทั้งสองชื่อเป็นนามปากกาของรองศาสตราจารย์ ดร.คณุหญิง วินิตา ดิถียนต์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์์ ประจำปี 2547 ท่านใช้เวลาเกือบทั้งชีวิตอยู่ในแวดวงวรรณกรรม และเขียนนวนิยายหลากหลายแนวไม่ว่าจะเป็น จินตนิยาย ประวัติศาสตร์ โรแมนติก สะท้อนชีวิตและสังคม ฯลฯ ซึ่งแต่ละเรื่อง ต้องอาศัยการศึกษาค้นคว้าในห้องสมุด จนบางครั้งต้องอ่านหนังสือเป็นพัน ๆ หน้าเพื่อจะหาข้อมูลมาเขียนเพียงไม่กี่คำ บวกกับแรงบันดาลใจและจินตนาการส่วนตัว ผลงานที่เผยแพร่ออกมาจึงทั้งสนุกเข้มข้น และเต็มไปด้วยความรู้ทั้งทางภาษา วรรณคดี และประวัติศาสตร์ ทำให้ผู้อ่านได้เห็นและเรียนรู้สังคมในแต่ละยุคสมัยผ่านตัวละครที่โลดแล่นอยู่ในหน้าหนังสือ

 


ครอบครัวนักอ่าน

 

รศ. ดร.คุณหญิงวินิตา เป็นลูกสาวคนเดียวในครอบครัวนักอ่านตัวยง ในบ้านจึงมีตู้เก็บหนังสือดี ๆ ไว้มาก ตั้งแต่วรรณคดีไทยในสมัยคุณแม่เป็นนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปจนถึงนวนิยายดี ๆ ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ว.ณ ประมวญมารค (พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต) ดอกไม้สด (ม.ล.บุปผา นิมมานเหมินท์) เมื่อมีเวลาอยู่บ้านก็จะอ่านหนังสือเป็นหลัก

นอกจากนี้ บรรยากาศในโรงเรียนก็เอื้อให้ท่านได้เขียนมากโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัยที่ท่านศึกษา เน้นให้นักเรียนอ่านเขียนได้เร็วมาก นักเรียนเขียนเรียงความเป็นเรื่องเป็นราวได้ตั้งแต่อยู่ประถมศึกษาปีที่ 3

 

“เมื่อจบประถมศึกษาปีที่ 4 ขึ้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 พวกเราก็เขียนเรื่องกันได้แล้ว ถึงขั้นออกวารสาร ลงเรื่องสั้นและนิยายหลายตอนจบ โดยเขียนลงในสมุด ใครลายมือสวยก็ช่วยกันคัดจากต้นฉบับ แล้วส่งเวียนกันอ่าน เพราะ 60 กว่าปีก่อนยังไม่มีใครมีพิมพ์ดีดอยู่ในบ้าน ไม่มีการอัดสำเนา ทั้งหมดนี้ต้องแอบทำกันไม่ให้ครูเห็น เพราะถ้าครูจับได้ว่าเอาหนังสือหรือสมุดอะไรที่ไม่ใช่หนังสือ เรียนมาจะโดนริบไม่คืน การเขียนหนังสือก็เป็นเรื่องต้องห้ามเช่นกัน

 

“เพื่อน ๆ หลายคนมีหัวทางการประพันธ์ แต่พอเติบโตก็ไปได้ดีทางอื่นกันหมด เหลือดิฉันคนเดียวที่ยึดเป็นอาชีพมาจนทุกวันนี้ มีคนถามกันมากว่าเขียนหนังสือได้อย่างไร คงจะเกิดจากใจรักและฝึกฝนตัวเอง ไม่ทอดทิ้งความสามารถทางนี้ แม้ว่าเจออุปสรรคมากพอสมควรกว่าจะแจ้งเกิดได้”

แม้ครอบครัวจะส่งเสริมเรื่องการอ่านและเขียนเป็นอย่างมาก ทว่าคุณแม่ของท่านก็ไม่อยากให้ลูกสาวยึดอาชีพนักประพันธ์ เพียงแค่ยอมให้เขียนเป็นงานอดิเรกเท่านั้น จึงกีดกันทุกทาง เช่น ไม่ให้ติดต่อกับบรรณาธิการ ส่งต้นฉบับได้ทางไปรษณีย์เท่านั้น ทุกเรื่องคุณแม่ของท่านต้องอ่านก่อนส่ง และไม่ให้ไปรับค่าเรื่อง โดยอ้างว่าถ้าบรรณาธิการเห็นว่าเป็นเด็กจะไม่ให้ลงอีก จนกระทั่งเรียนจบปริญญาเอกจึงเขียนเรื่องได้ตามใจชอบ

 

การก้าวข้ามอุปสรรคเหล่านี้ได้ รศ. ดร.คุณหญิงวินิตาบอกสั้น ๆ แค่เพียง “ทำต่อไป” และผลจากการไม่ยอมถอยแม้แต่ก้าวเดียว เราจึงได้อ่านนวนิยายดี ๆ มากมาย งานเขียนของท่านประสบความสำเร็จและเป็นที่นิยม รวมถึงได้รับรางวัลด้านผลงานประพันธ์จากภาครัฐและเอกชนหลายสิบเรื่อง ในจำนวนนี้ นวนิยายเรื่อง “รัตนโกสินทร์” ได้รับการยกย่องเป็นวรรณกรรมแห่งชาติอีกด้วย

 

เรียงร้อยเรื่องราว

 

จากสิ่งรอบตัวอย่างที่ทราบกันดีว่าผลงานของ รศ. ดร.คุณหญิงวินิตา นั้นมีหลากหลายแนว ซึ่งท่านหยิบเอาความรู้และประสบการณ์รอบตัวมาเรียงร้อยประกอบเข้ากับสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการอ่าน

 

“เมื่ออ่านหนังสือมาก ๆ สมองก็จะทำงานไปเรื่อย ๆ จินตนาการก็จะแตกแขนงงอกงามออกไป เหมือนคนที่ออกกำลังกายไม่หยุดร่างกายจะสร้างกล้ามเนื้อขึ้นมา แต่การเขียน คือ การออกกำลังสมองและจินตนาการ มันก็จะสร้างภาพสร้างเรื่องต่อไปเรื่อย ๆ ของมันเอง

 

“อีกอย่าง คือ ดิฉันไม่ได้นั่งอยู่กับที่ แล้วคิดกับเขียนไปเฉย ๆ แต่ต่อยอดความรู้ไปด้วย เจอหนังสือที่ไหนก็อ่าน เรียนจบมาหลายสิบปีแล้วก็ยังค้นคว้าศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นพื้นฐานในการเขียนเรื่อง ความคิดใหม่ ๆ ก็จะเกิด ทำให้เราไม่ยำจำเจอยู่กับของเดิม ๆ การไม่หยุดพัฒนาความรู้เป็นเรื่องสำคัญมาก ทำให้เราไม่ตกยุคเมื่อระยะเวลาผ่านไป”

 

เราจึงได้อ่านนวนิยายหลายแนวและน่าติดตามทุกเรื่อง เพราะ รศ. ดร.คุณหญิงวินิตาไม่เคยสร้างข้อจำกัดหรือตีกรอบเป็นสูตรสำเร็จสำหรับงานแต่ละชิ้น

 

“งานเขียนไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว แต่ละคนต้องลงมือทำแล้วจะรู้เอง ทั้งหมดเกิดจากตัวเจ้าของ ผลงานจึงเปรียบได้กับลูกของผู้เขียน ไม่มีเรื่องไหนเป็นเรื่องโปรดเป็นพิเศษ รักเท่ากัน”

 

แต่ในความหลากหลายนั้นยังมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่เห็นเด่นชัดในงานเขียนของท่าน เรื่องที่เขียนในนาม “ว.วินิจฉัยกุล” ทุกเรื่องจะมีข้อคิด คติสอนใจ ไม่ได้ให้แต่ความบันเทิงเท่านั้น ส่วนหนังสือของ “แก้วเก้า” เป็นนิยายแนวแฟนตาซี จะวางเรื่องแปลกไปจากเรื่องอื่น ๆ ที่เคยอ่าน ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีใครเดาตอนจบได้ จึงกลายเป็นเสน่ห์ที่ทำให้ผู้อ่านติดตามผลงานเสมอ

 

นักเขียนผู้ไม่เคยตกยุค

 

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาสังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปมากโดยเฉพาะเมื่อเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาทั้งอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย เมื่อคนอ่านหนังสือหรือเสพข่าวสารผ่านหน้าจอโทรศัพท์มือถือเพิ่มมากขึ้น จำนวนคนอ่านหนังสือผ่านหน้ากระดาษก็น้อยลง แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำให้คนยุคเก๋าอย่าง รศ. ดร.คุณหญิงวินิตา รู้สึกแปลกหรือตื่นตกใจกับความเปลี่ยนแปลงเพราะท่านไม่เคยหยุดพัฒนาความรู้ โดยท่านเริ่มใช้อินเทอร์เน็ตมาตั้งแต่ปี 2542 จนมีเว็บไซต์ที่ดูแลเองในชื่อ www.reunthai.com ซึ่งเป็นเว็บบอร์ดให้ความรู้ทางศิลปะและวัฒนธรรมอีกด้วย

 

 

“อินเทอร์เน็ตซึ่งปัจจุบันกลายมาเป็นโซเชียลมีเดีย ช่วยขยายขอบเขตความรู้ให้กว้างขึ้นมาก มีผลดีต่อการเขียนแน่นอน อย่างน้อยก็ทำให้ติดตามข่าวคราวความเป็นไปของสังคมได้ทันและไม่ตกยุค”

ความฝันที่ถูกเติมเต็มเป็นชีวิตที่สมบูรณ์พร้อม

 

ในด้านชีวิตส่วนตัว รศ. ดร.คุณหญิงวินิตาในวัยเกษียณมีความสุขกับลูก ๆ ที่ต่างเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีการงานมั่นคงและมีครอบครัวที่น่ารัก

 

ท่านเล่าให้ฟังว่า “ลูกสาว 2 คน ชื่อ ดร.สาวิตา ดิถียนต์ จบอักษรศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบปริญญาโทและเอกทาง Theatre Practice จาก University of Exeter ประเทศอังกฤษ ปัจจุบันเป็นอาจารย์ภาควิชาการศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ส่วนคนน้องผศ. ดร.วัตสาตรี ดิถียนต์ จบศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโททาง Visual Arts (คะแนนเฉลี่ย 4.00) และปริญญาเอกทาง Educational Technology (รางวัลดีเด่น 2 เหรียญทอง) จาก University of Northern Colorado แห่งเดียวกับที่แม่จบมา ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ ในคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

“ดิฉันเป็นคนตามใจลูก ไม่เอาทฤษฎีอะไรมาใช้ทั้งนั้น ถ้าจะมีหลักในการเลี้ยง เพื่อให้ชีวิตไปได้ด้วยดี ก็แค่ 2 ข้อ คือ หัดให้รัก หนังสือตั้งแต่เด็ก กับทำให้เขารู้สึกเป็นสุขเมื่ออยู่บ้าน ข้อแรกเพื่อเพิ่มพูนสติปัญญา จะได้สร้างอนาคตให้มั่นคง ข้อสองทำให้เขาไม่เตลิดออกนอกเส้นทางเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น”

 

อย่างไรก็ตาม ท่านยังไม่วางมือจากงานด้านสังคม ตั้งแต่ปี 2558 จนปัจจุบันท่านเป็นอนุกรรมาธิการกิจการเด็กและเยาวชนในกรรมาธิการสังคมฯ ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นกรรมการและที่ปรึกษาในชุดอื่น ๆ ของ สนช. อีก 2 ชุด

 

เมื่อได้โลดแล่นอย่างเต็มที่ไปกับการทำงานอย่างที่ฝันให้กลายเป็นจริงได้แล้ว ชีวิตของ รศ. ดร.คุณหญิงวินิตาจึงนับเป็นตัวอย่างของการใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่าและมีคุณค่ามากที่สุด

 

ท่านกล่าวทิ้งท้ายว่า “ดิฉันอยากได้อะไรก็ได้หมดแล้ว แต่ก็รู้ว่าสรรพสิ่งที่เราได้มาทั้งหมดในโลกนี้ เป็นเพียงของชั่วคราว ก็เลยอยู่กับความเป็นจริง ทำชีวิตที่เหลือในแต่ละวันให้ดีที่สุดก็พอ จึงไม่มีความฝันอยากทำอะไรอีก”