คนรุ่นใหม่ ธปท. จากสายงานผู้ดูแลเศรษฐกิจการเงิน

 

กับมุมมองต่อการทำงานในบริบทที่เศรษฐกิจ

กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

สะท้อนมุมมองของคนรุ่นใหม่ สายงานหลัก ธปท.

 

          ปัจจุบันตลาดการเงินมีความผันผวนจากสถานการณ์โลก ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ความไม่แน่นอนจากการดำเนินนโยบายทางการเงินในลักษณะผ่อนคลายเพื่อกลับสู่ภาวะปกติ (Monetary Policy Normalization) ของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก รวมถึงผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนที่กระทบต่อความผันผวนในตลาดการเงินโลก รวมถึงความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์

 

BOT พระสยาม MAGAZINE ได้มีโอกาสร่วมเปิดมุมมองกับคลื่นลูกใหม่จากสายงานหลัก ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้แก่

 

ใหม่ - นายชนวีร์ คำมี ผู้วิเคราะห์ ทีมกลยุทธ์ตลาดการเงิน ฝ่ายตลาดการเงิน


แบงค์ - นายกิตติพงษ์ วิวัฒน์สุจริตกุล ผู้วิเคราะห์ ฝ่ายบริหารเงินสำรอง และ


แป้ง - นางสาวพรวลี พิลาวรรณ เศรษฐกร ทีมวิเคราะห์เศรษฐกิจภูมิภาค ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค

 

เพื่อสะท้อนภาพการทำงานที่ท้าทายกับมิติเศรษฐกิจของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง พร้อมกับการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกิดขึ้นให้เศรษฐกิจไทยพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

 

นายชนวีร์ คำมี - ผู้วิเคราะห์ ทีมกลยุทธ์ตลาดการเงิน ส่วนธุรกิจและกลยุทธ์ตลาดการเงิน สำนักธุรกิจตลาดการเงิน ฝ่ายตลาดการเงิน

 

1. เพื่อให้คนเข้าใจว่าแบงก์ชาติทำหน้าที่อะไรมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสายงานหลักที่ท่านทำงานอยู่ อยากให้ช่วยอธิบายงานที่ทำ ที่ท่านดูแลด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายๆ

 

การทำงานที่ทีมกลยุทธ์ตลาดการเงิน ฝ่ายตลาดการเงิน งานหลักหนึ่งของทีม คือ การกำหนดกลยุทธ์และกรอบการดำเนินนโยบายการเงิน เพื่อปรับสภาพคล่องให้อยู่ในระดับที่สมดุลและรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินให้เคลื่อนไหวสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กำหนด ถ้าถามว่าสภาพคล่องเกี่ยวกับการรักษาอัตราดอกเบี้ยอย่างไร เปรียบเทียบง่ายๆ ถ้าหากมองว่า เงิน เป็นสินค้าชนิดหนึ่ง ราคาคืออัตราดอกเบี้ย และปริมาณคือสภาพคล่องในระบบ กนง. จะทำหน้าที่กำหนดราคาที่เหมาะสม ซึ่งก็คืออัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดย ธปท. มีหน้าที่ทำให้ราคาในตลาดเป็นไปตามราคาที่ กนง. กำหนดไว้ ผ่านการทำธุรกรรม Open Market Operations ที่ระดับใกล้เคียงกับดอกเบี้ยนโยบายเพื่อปรับสภาพคล่อง หรือเปรียบเทียบคือปริมาณสินค้า ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค

 

2. งานที่ท่านทำ ประชาชน ภาคธุรกิจ ธปท. และประเทศชาติจะได้อะไร

 

งานที่ผมทำคือการทำให้นโยบายการเงินสามารถส่งผ่านไปยังภาคเศรษฐกิจจริงทั้งในส่วนการบริโภคและการลงทุนได้ตามที่ กนง. คาดหวังเพื่อบรรลุเป้าหมายในเรื่องของเงินเฟ้อ การเติบโตทางเศรษฐกิจ และการรักษาเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ ซึ่งหากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ กนง. ไม่สามารถส่งผ่านไปยังภาคเศรษฐกิจได้ ก็อาจทำให้นโยบายการเงินไม่มีประสิทธิภาพและขาดความน่าเชื่อถือ

 

3. มุมมองถึงความท้าทายหรือความยากของการทำงานของท่าน ในสถานการณ์ปัจจุบัน

 

ในระยะถัดไป ตลาดการเงินไทยและตลาดการเงินโลกจะมีความเสี่ยงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผลจากการดำเนินนโยบายการเงินสู่ภาวะปกติของธนาคารกลางหลัก และความไม่แน่นอนด้านอื่น ๆ เช่น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่อาจรุนแรงขึ้น การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และสถานการณ์ Brexitดังนั้น ธปท. อาจต้องมีการปรับการดำเนินนโยบายการเงินทั้งเครื่องมืออัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนให้มีประสิทธิภาพ ภายใต้บริบทที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น

 

4. ทิ้งท้ายฝากถึงผู้อ่าน

 

ผมคิดว่าอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือการสร้างความแข็งแกร่งของทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาวะที่ตลาดการเงินมีความเสี่ยงมากขึ้น เราอาจต้องส่งเสริมให้ภาคเอกชนสามารถรับมือความผันผวนในตลาดการเงินและตลาดอัตราแลกเปลี่ยนได้มากขึ้น ไม่ว่าจะผ่านการเสริมสร้างความรู้ทางการเงิน การสร้างความตระหนักเรื่องการบริหารความเสี่ยง รวมถึงการพัฒนาเครื่องมือ Hedging Instruments ที่หลากหลายและสนับสนุนช่องทางที่ภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงเครื่องมือดังกล่าวได้มากขึ้น

 

นายกิตติพงษ์ วิวัฒน์สุจริตกุล- ผู้วิเคราะห์ สำนักกลยุทธ์การลงทุน 2 ส่วนวิเคราะห์และจัดสรรความเสี่ยงการลงทุน ฝ่ายบริหารเงินสำรอง

 

1.เพื่อให้คนเข้าใจว่าแบงก์ชาติทำหน้าที่อะไรมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสายงานหลักที่ท่านทำงานอยู่ อยากให้ช่วยอธิบายงานที่ทำ ที่ท่านดูแลด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายๆ

 

ฝ่ายบริหารเงินสำรอง สายตลาดการเงิน มีหน้าที่หลักคือ การบริหารจัดการเงินสำรองทางการของ ประเทศ โดยนำไปลงทุนในตลาดต่างประเทศ ซึ่งต้องยึดหลักของการบริหารความเสี่ยงเป็นปัจจัยสำคัญ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามหลักเกณฑ์ และความเสี่ยงที่ได้รับจัดสรร และยังรวมถึงหน้าที่ของการติดตาม และประเมินผลการบริหารและความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ ยังต้องมีการติดตาม วิเคราะห์ คาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจ ตลาดการเงิน แนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย และราคาสินทรัพย์ของประเทศที่มีการนำเงินสำรองไปลงทุน รวมถึงศึกษาความเหมาะสมของการลงทุนในตลาด หรือตราสารการเงินใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารเงินสำรอง

 

2. งานที่ท่านทำ ประชาชน ภาคธุรกิจ ธปท. และประเทศชาติจะได้อะไร

 

เป้าหมายของการบริหารเงินสำรองของ ธปท. คือ สร้างความเชื่อมั่น และเสถียรภาพให้กับค่าเงินบาท รวมถึงระบบเศรษฐกิจของประเทศชาติ โดย มุ่งหวังให้ประชาชนต้องมีความเชื่อมั่นในปริมาณทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศว่าเพียงพอต่อการดูแลค่าเงินบาท และในส่วนภาคธุรกิจเองสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงได้ จากปัจจัยที่ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพ และลดโอกาสโดนโจมตีค่าเงิน (การเก็งกำไร) เพิ่มความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจ และท้ายสุด ธปท. ได้รับการยอมรับจากประชาชนและสถาบันการเงิน ว่ามีความเชี่ยวชาญในการบริหารสินทรัพย์ต่างประเทศอย่างโปร่งใสและมีธรรมาภิบาลเพื่อให้ประเทศชาติเติบโตได้อย่างมั่นคง มีเสถียรภาพ และยั่งยืน

 

3. มุมมองถึงความท้าทายหรือความยากของการทำงานของท่านในสถานการณ์ปัจจุบัน

 

งานด้านการบริหารเงินสำรองเป็นงานที่ Dynamic ต้องมีการเรียนรู้ตลอดเวลาและปรับการลงทุนเพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกิดขึ้นตลอดเวลาอย่างรวดเร็ว มีแนวทางการวิเคราะห์ที่เป็นแบบแผนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสอดรับกับ World of VUCA

 

4. ทิ้งท้ายฝากถึงผู้อ่าน

 

สำหรับแนวโน้มในอนาคต ผมมองว่าจะมีความท้าทายมากขึ้นเนื่องจากเศรษฐกิจจะมีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างในหลายด้าน ระบบการเงินโลกมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น ดังนั้นเราจะต้องมีการ “รู้ลึก คิดไกล เปิดใจ คล่องตัว” เพื่อปรับการทำงานให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง และสามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

นางสาวพรวลี พิลาวรรณ เศรษฐกร ทีมวิเคราะห์เศรษฐกิจภูมิภาค ส่วนเศรษฐกิจต่างประเทศ สำนักวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจ ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค

 

1. เพื่อให้คนเข้าใจว่าแบงก์ชาติทำหน้าที่อะไรมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสายงานหลักที่ท่านทำงานอยู่ อยากให้ช่วยอธิบายงานที่ทำ ที่ท่านดูแลด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายๆ

 

ส่วนเศรษฐกิจต่างประเทศ สายงานนโยบายการเงินมีหน้าที่ติดตามภาวะเศรษฐกิจคู่ค้าที่สำคัญของไทยรวมถึงการวิเคราะห์ และประเมินแนวโน้มโดยเฉพาะความเชื่อมโยงของระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เพื่อประเมินการส่งผ่านความเสี่ยงระหว่างประเทศ และผลกระทบต่อการขยายตัวและเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทย ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะถูกใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ดังนั้น งานที่ทำหลัก ๆ จะเป็นการเตรียมข้อมูลและจัดทำบทวิเคราะห์ รวมถึงทำงานวิจัยเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจและทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้แก่กนง. สำหรับการประชุมในแต่ครั้งและในกรณีที่กนง. มีข้อสงสัยให้ศึกษาเพิ่มเติม

 

2. งานที่ท่านทำ ประชาชน ภาคธุรกิจ และประเทศชาติจะได้อะไร

 

การดำเนินนโยบายการเงินให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพด้านราคา ควบคู่ไปกับการดูแลการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน ซึ่งเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพด้านราคา หมายถึงระบบเศรษฐกิจที่รายได้และค่าครองชีพเติบโตในอัตราที่สอดคล้องกัน ประชาชนสามารถซื้อหาสินค้าและบริการได้ในราคาสมเหตุสมผล ขณะที่ระบบการเงินที่มีเสถียรภาพคือระบบการเงินที่สามารถจัดสรรทรัพยากรทางการเงินอย่างเหมาะสม โดยภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ซึ่งเศรษฐกิจการเงินที่มีเสถียรภาพจะเติบโตได้อย่างยั่งยืนและทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี

 

3. มุมมองถึงความท้าทายหรือความยากของการทำงานของท่าน ในสถานการณ์ปัจจุบัน

 

การวิเคราะห์เศรษฐกิจในปัจจุบันมีความท้าทาย 2 อย่าง

อย่างแรก คือ ความไม่แน่นอน เรากำลังอยู่ในโลกที่มีความไม่แน่นอนสูงและเปลี่ยนแปลงเร็ว หากมองย้อนกลับไปเมื่อ 5 ปีที่แล้ว คงไม่มีใครคาดเดาได้ว่าสหรัฐฯ จะประกาศสงครามทางการค้ากับจีน และหากมองไปข้างหน้าก็ยากที่จะคาดเดาได้ว่าสงครามการค้าจะจบลงอย่างไร มันมีสถานการณ์ใหม่ ๆ ให้ติดตามกันอย่างต่อเนื่อง และพลิกไปพลิกมาอย่างรวดเร็ว

อย่างที่สอง คือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทำให้รูปแบบของกิจกรรมทางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป ตัวอย่างเช่น พฤติกรรมการบริโภคสินค้าและบริการที่เปลี่ยนแปลงไปจากในอดีตไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายผ่าน E-Commerce ที่มากขึ้น รวมถึงการบริโภคในรูปแบบใหม่ เช่น Sharing Economy เป็นต้น ดังนั้น ในฐานะเศรษฐกร นอกจากเราจะต้อง“รู้ทัน” โลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เราจะต้อง “รู้ลึก” และ “เข้าใจ” ถึงโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปด้วย เพื่อให้สามารถจัดทำบทวิเคราะห์ที่ถูกต้องแม่นยำและข้อเสนอเชิงนโยบายที่เหมาะสมและยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจจริง

 

4. ทิ้งท้ายฝากถึงผู้อ่าน

 

ในโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็ว อยากให้ผู้อ่านรู้ทันความเสี่ยงและมองเห็นโอกาส รู้ทันความเสี่ยง คือ รู้ว่างานหรือธุรกิจของเรามีความเสี่ยงซ่อนอยู่ตรงไหนบ้าง และเข้าไปจัดการกับความเสี่ยงอย่างทันท่วงที ขณะเดียวกันก็อยากให้จับตาดูโอกาสทางสายอาชีพหรือธุรกิจด้วย เพราะโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปทำให้เกิดธุรกิจใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพเกิดขึ้นมากมาย และต้องการแรงงานที่มีความสามารถหลากหลายขึ้นด้วย หากผู้อ่านมองเห็นโอกาสตรงนี้ก็น่าจะทำให้สามารถรับมือกับความท้าทายได้ไม่ยากค่ะ