เดช ฐิติวณิช

 

กับภารกิจยกระดับศักยภาพงานไอที
และการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที

ของระบบการเงินไทย

 

 

ในปัจจุบัน เทคโนโลยีดิจิทัลกำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ และนับเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของทุกองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงต้องเร่งยกระดับศักยภาพงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงจัดวางโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศให้แก่ระบบการเงินไทยอย่างมั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว

 

BOT พระสยาม MAGAZINE มีโอกาสสนทนากับคุณเดช ฐิติวณิช ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายระบบข้อสนเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อสอบถามถึงประโยชน์ และความเสี่ยงของเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงความท้าทายสำหรับงานด้านไอทีของ ธปท.

 

คุณเดช ฐิติวณิช สำเร็จการศึกษาปริญญาโทสาขาวิชาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ Worcester Polytechnic Institute รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา มีประสบการณ์ในการวางยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และนำนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศมาขับเคลื่อนองค์กรชั้นนำขนาดใหญ่หลายแห่ง เป็นผู้มีประสบการณ์โดยตรงกว่า 25 ปี ในการบริหารการเปลี่ยนแปลงองค์กรขนาดใหญ่ และมีความรอบรู้ในระบบงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นอย่างดี


Maximizing Value of Digital Tech

 

คุณเดชได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับเทคโนโลยีในปัจจุบันว่า ปัจจุบันองค์กรต่าง ๆ ต้องเร่งเดินหน้าปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ จะเห็นว่าเทคโนโลยีดิจิทัลถูกนำมาใช้เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจในทุกอุตสาหกรรม องค์กรที่สามารถนำดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ จะมีศักยภาพในการแข่งขันที่สูงกว่าองค์กรอื่นอย่างมาก โดยตัวอย่างของเทคโนโลยีดิจิทัลสมัยใหม่ประกอบไปด้วย Cloud, Computing, Analytics, Mobility, Automation, Blockchain, Artificial Intelligence และ Machine Learning เป็นต้น

 

เทคโนโลยีบน Cloud ก้าวล้ำไปไกลและรวดเร็วกว่าเทคโนโลยีเดียวกันที่ใช้อยู่ภายในองค์กร (On-premises) ในราคาที่ถูกลงเรื่อย ๆ เทคโนโลยี Automation ช่วยเสริมให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยความแม่นยำและความรวดเร็ว เทคโนโลยี Analytics ควบคู่กับเทคโนโลยี Machine Learning ช่วยให้ค้นหาความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลที่เราอาจจะมองไม่ออกด้วยความสามารถของมนุษย์ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีดิจิทัลสมัยใหม่มาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดต่อ ธปท.

 

“งานด้านเทคโนโลยีในปัจจุบันจะต้องเปลี่ยนแปลงจากการพัฒนาระบบตามความต้องการของธุรกิจ มาเป็นการทำงานอย่างใกล้ชิดระหว่างธุรกิจ กับหน่วยงานเทคโนโลยีโดยใช้วิธีการใหม่ ๆ เช่น Design Thinking และ Agility เพื่อร่วมกันประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด” คุณเดชอธิบาย

 

Managing Information Security

 

          ทว่าเทคโนโลยีดิจิทัลสมัยใหม่ก็มาพร้อมความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของข้อมูล คุณเดชกล่าวว่า ความท้าทายที่สำคัญสำหรับไอที คือ วิธีการปรับความสมดุลที่เหมาะสมที่สุด ระหว่างการนำเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่มาใช้ขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้า โดยมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของข้อมูลต่ำ และระบบต้องมีความเสถียร ดังนั้นจึงต้องใช้ความรอบคอบอย่างมากในการปรับสมดุลทั้ง 3 ด้านนี้อย่างต่อเนื่องเพื่อที่จะเดินหน้าต่อไป

 

          “งานด้านไอทีของ ธปท. มีความท้าทายในส่วนที่ต้องเชื่อมโยงกับองค์กรภายนอก ให้ทันต่อสถานการณ์ การเปลี่ยนแปลงความต้องการและพฤติกรรมของประชาชนอย่างรวดเร็ว รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างประเทศในอนาคต ในขณะที่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของระบบพื้นฐานของประเทศด้วย”

 

Digital Challenges

 

          คุณเดชยังได้ชักชวนให้ชาว ธปท. และประชาชนทุกคน มองเทคโนโลยีดิจิทัลสมัยใหม่เป็นเรื่องสนุก และท้าทาย ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมผ่านสื่อต่าง ๆ รวมถึงการแลกเปลี่ยนความรู้จากพี่น้องและเพื่อน ๆ ทั้งในและนอกองค์กรของตน เพื่อจะได้นำความรู้นี้มาใช้ในการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

 

          “อีกเรื่องที่อยากจะฝากไว้คือ ความปลอดภัยของข้อมูล ซึ่งไม่เฉพาะแค่ที่ทำงานเท่านั้น แต่อยู่รอบตัวเราตลอดเวลา รวมถึงที่บ้านด้วย ผู้ไม่ประสงค์ดีมักใช้ช่องโหว่ในอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสารส่วนตัว ในการหาข้อมูลที่สามารถใช้เพื่อเข้าถึงระบบของเรา เราจึงต้องตระหนักถึงความปลอดภัย และใช้อุปกรณ์สื่อสารด้วยความระมัดระวัง”