​เสียงจากคนอาชีวะ

โครงการ Fin.ดี We Can Do!!!

ทีมที่ได้รางวัลชนะเลิศประเภทนวัตกรรมการสอน คือ ผลงาน “ฝันให้ไกล ไปให้ถึงด้วยการออม” จากวิทยาลัยเทคโนโลยีพายัพและบริหารธุรกิจ จังหวัดเชียงใหม่ นำเนื้อหาความรู้และกิจกรรมปลูกฝังทักษะทางการเงินผนวกเข้ากับการเรียนการสอนที่มีอยู่แล้วในสถาบัน เช่น การตั้งเป้าหมายการออม รณรงค์ให้ปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ในโครงงาน “บาทเดียวก็ออมได้” และการประกวดสื่อประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการออม โดยให้แกนนำนักศึกษามีส่วนร่วมในการคิดออกแบบกิจกรรมและให้คำแนะนำเพื่อน ๆ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ตรงจุด

โดยสิ่งสำคัญที่ทำให้ผลงานของทีมประสบความสำเร็จ คือ ความมุ่งมั่น และจริงจังในการทำโครงการ รวมถึงการมี Teamwork ที่เป็นเลิศของสมาชิกในทีมที่มาจากต่างแผนก ทั้งสายพาณิชยกรรม และสายช่างอุตสาหกรรม ซึ่งผสมผสานความเชี่ยวชาญเฉพาะทางของสมาชิกในทีมได้อย่างลงตัว ยิ่งไปกว่านั้น ทีมยังสานต่อโครงการนี้ ภายในวิทยาลัยโดยบรรจุลงในหลักสูตรวิชา Skill for Life เพื่อเป็นวิชาพื้นฐานให้นักศึกษาทุกคนได้รับความรู้ทางการเงิน


สำหรับทีมที่ได้รางวัลชนะเลิศประเภทโครงงานนักศึกษา คือ ผลงาน “ทวีทรัพย์รักษ์การออม” จากวิทยาลัยเทคโนโลยี ภาคตะวันออก (อี.เทค) จังหวัดชลบุรี ซึ่งนักศึกษาแผนกบัญชีได้เล็งเห็นปัญหาใกล้ตัวที่เกิดขึ้นภายในสถานศึกษา และนำมาเป็นโจทย์ในการทำโครงการออมเพื่อเป็นทุนในวิชาโครงการของเพื่อนนักศึกษา แผนกช่างอุตสาหกรรม โดยอาศัยการออมแบบกลุ่มและให้เพื่อนนักศึกษามีส่วนร่วมในการติดตามผล พร้อมทั้งให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด

 

จุดเริ่มต้นของผลงานเกิดจากปัญหาที่น้อง ๆ ในทีมเห็นว่า มีเพื่อนนักศึกษาแผนกช่างอุตสาหกรรมบางส่วนที่ไม่สำเร็จการศึกษาตามกำหนด เนื่องจากไม่มีทุนเพียงพอสำหรับทำผลงานในวิชา โครงการจึงได้ประยุกต์ใช้กิจกรรมการออมเงินของแผนกบัญชีมาต่อยอดเป็นโครงการนี้ โดยจุดแข็งของผลงานนี้ คือ ผลลัพธ์ที่ชัดเจน ไม่ใช่เฉพาะจำนวนเงินออมที่เพิ่มขึ้น แต่ยังรวมถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเงินของเพื่อนที่เข้าร่วมโครงการ จากเดิมซึ่งเป็นเด็กช่างที่ไม่เคยสนใจเรื่องการออม วันนี้...กลับกลายมาเป็นแกนนำในการกระตุ้นเพื่อนให้ออมเงินได้สำเร็จ และมีเงินออมของตนเองเพิ่มขึ้นด้วย โดยความสำเร็จของผลงานนี้ยังเป็นแรงผลักดันให้ทางวิทยาลัยเห็นความสำคัญและสร้างนักศึกษาแกนนำรุ่นต่อไปมาสานต่อโครงการ เพื่อขยายผลไปยังแผนกอื่นอีกด้วย


นอกจาก 2 ผลงานชนะเลิศในแต่ละประเภทข้างต้นแล้ว ยังมีผลงานที่น่าสนใจจากทีมอื่น ๆ ที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ รางวัลด้านบูรณาการ และรางวัลด้านความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งทุกผลงานล้วนแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของครูและนักศึกษาในการสร้างสรรค์ผลงานของคนอาชีวะ และนี่ก็เป็นเสียงสะท้อนจากประสบการณ์การเดินทางในโครงการ Fin. ดี We Can Do!!! ของแต่ละทีม

 

ผลงานที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ

 

          “ชุดคู่มือการสอนการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ สู่ความสำเร็จ ทางการเงินของเยาวชนไทย” นำกิจกรรมการเรียนรู้ 8 สัปดาห์ ที่ให้ทั้งความรู้ทางการเงินและฝึกลงมือปฏิบัติจริง จากวิทยาลัย เทคโนโลยีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น

 

         “อยากให้ทุกคนมาช่วยกันสร้างเมล็ดพันธุ์ทางการเงินที่ดีให้กับ สังคมไทย การทำจากคนกลุ่มเล็ก ๆ ไม่เพียงพอแล้ว เพราะนี่ถือเป็นภารกิจระดับชาติที่เราทุกคนต้องมาร่วมมือกัน”

          “เยาวชนชนเผ่า รู้จักคิด รู้จักใช้ ใส่ใจการเงิน” โดยใช้ภาษาชนเผ่า เป็นสื่อให้ความรู้แก่นักศึกษา และคนในชุมชน ทั้งเรื่องวางแผน ทางการเงิน และรู้เท่าทันตลาด Online จากวิทยาลัยเกษตรและ เทคโนโลยีเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

 

         “เราใช้ความเข้าใจ และภาษาถิ่นในการสื่อสาร ทำให้คนในชนเผ่าของพวกเรามีความรู้ทางการเงินมากขึ้น”

 

ผลงานที่ได้รับรางวัลด้านบูรณาการ

 

          “Fin. Camp” ค่ายการเงินที่มีทั้งความรู้และความสนุกสนานจากการทำกิจกรรมที่ช่วยปลูกฝังความรู้และบ่มเพาะพฤติกรรมทางการเงินที่ดีแก่นักศึกษา จากวิทยาลัยเทคนิคนครขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น

          “หลังจากร่วมโครงการ นอกจากเด็ก ๆ ที่เปลี่ยนพฤติกรรม และตระหนักถึงประโยชน์ของการมีความรู้ทางการเงินแล้ว ตัวครูเองก็มีวินัยทางการเงินมากขึ้น เราก็ต้องฝึกวินัยให้ตัวเองเป็นแบบอย่างที่ดี เพื่อจะไปสอนเด็ก ๆ ได้”

          “กยศ. เป็นหนี้ได้ ใช้หนี้เป็น” โครงการส่งเสริมความรู้และกระตุ้นการออมเพื่อเตรียมชำระหนี้ กยศ. ในอนาคต ผ่านสื่อกิจกรรม ทั้ง Online และ Offline จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น

          “จากที่ได้เห็นข่าวปัญหาการค้างชำระหนี้ กยศ. ซึ่งส่งผลกระทบต่อการให้กู้ยืมเงินของเพื่อน ๆ ชาวอาชีวะ เราจึงอยากช่วยแก้ปัญหานี้ เพราะเขาเป็นเพื่อนเรา”

ผลงานที่ได้รับรางวัลด้านความคิดสร้างสรรค์

 

          “Plan your money” เกมเพิ่มพูนความรู้และสร้างความตระหนัก ในการวางแผนทางการเงิน จากวิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการ จังหวัดเชียงใหม่

         “โครงการนี้เป็นเวทีให้ชาวอาชีวะได้แสดงถึงศักยภาพที่ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่สิ่งประดิษฐ์”

          “3-color box” สื่อผสานการเรียนรู้และความสนุก เพื่อปลูกฝังความรู้ทางการเงินแก่ผู้เรียนในระดับประถม มัธยม และอาชีวศึกษา จากวิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น 

          “ต้องการเปลี่ยนแนวทางการให้ความรู้ทางการเงิน จากเดิมที่มีความเป็นแบบแผน ให้มีความสนุกสนานและน่าสนใจ เพื่อให้เหมาะสม กับผู้เรียนแต่ละกลุ่มมากขึ้น”

          ทุกผลงานได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การเรียนรู้เรื่องการเงิน ไม่จำำเป็นต้องเป็นเรื่องที่ยากและไกลตัว หากแต่เป็นการหยิบยกเรื่องใกล้ตัว หรือปัญหาที่พบในบริบทของตนออกมาทำให้เป็นเรื่องง่าย ๆ ที่ทุกคนสามารถเริ่มทำได้ ซึ่งนี่ถือเป็นเคล็ดลับความสำเร็จที่แต่ละโครงการมีร่วมกัน

 

          และแม้ว่าการประกวดจะผ่านพ้นไปแล้ว แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่เราอยากเห็น คือ ความต่อเนื่องและความยั่งยืนของโครงการต่าง ๆ ในสถานศึกษา รวมถึงการขยายผลไปยังสถาบันอาชีวศึกษาอื่น ๆ เพื่อสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง อันจะนำไปสู่การเกิด “New Norm” ในการมีพฤติกรรมทางการเงินที่ดีของเยาวชนรุ่นใหม่ในสังคมวงกว้าง ซึ่งจะเป็นรากฐานที่สำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน และพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศสืบเนื่องต่อไป