“อยู่รอด” อย่าง “ยั่งยืน”

โครงการพัฒนาแก้มลิงหนองเลิงเปือย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

 

การบริหารจัดการน้ำเป็น 1 ในองค์ความรู้ 6 มิติ ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ซึ่งมูลนิธิปิดทองหลังพระได้สืบสานแนวพระราชดำริ โดยนำมาปรับใช้เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านที่เดือดร้อนในบริเวณหนองเลิงเปือย จังหวัดกาฬสินธุ์ ไม่เพียงแต่เข้ามาบริหารจัดการน้ำแต่ยังร่วมมือกับหลายฝ่ายในการพัฒนาความเป็นอยู่ของคนในชุมชน จนกลายเป็นหนึ่งในโครงการต้นแบบและแรงบันดาลใจ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ประสบความสำเร็จ


หนองเลิงเปือยเป็นแหล่งน้ำมีขนาด 887 ไร่ ลึก 9 เมตร จุน้ำ ได้ 3.5 ล้านลูกบาศก์เมตร ครอบคลุมพื้นที่เกษตรกรรมของ ชาวบ้าน 53 หมู่บ้านจาก 4 ตำบลในจังหวัดกาฬสินธุ์ คิดเป็น 42,958 ไร่ หนองน้ำแห่งนี้ แต่ละปีมีน้ำหมุนเวียนเฉลี่ย 57.5 ล้าน ลูกบาศก์เมตร ก่อนการพัฒนาพื้นที่บริเวณรอบหนองเลิงเปือย มีปัญหาจากฝายชำรุด ทำให้น้ำตื้นเขินจนจุน้ำได้เพียง 1 ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วงฤดูฝนเกิดน้ำท่วมถึง 4 เดือนต่อปี สร้างความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตร ในขณะที่ฤดูอื่นๆ ประสบปัญหาน้ำไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกในฤดูอื่น ๆ ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนต่อเนื่องเป็นเวลานาน จนองค์การบริหารส่วนตำบลเหล่าอ้อย อำเภอร่องคำ เป็นตัวแทนราษฎรยื่นฎีกาขอพระราชทาน ความช่วยเหลือจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการซ่อมแซมฝายสันมนในพื้นที่แก้มลิงหนองเลิงเปือยเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อปี 2554


การพัฒนาที่ไม่มีทางลัด


จากความร่วมมือระหว่างคณะกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ กับ 4 หน่วยงานได้แก่ กองทัพบก กรมชลประทาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดำเนินการพัฒนาแก้มลิงหนองเลิงเปือยฯ โดยการนำของ คุณการัณย์ ศุภกิจวิเลขการ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ ในการช่วยแก้ปัญหาพยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมและสร้างชุมชน ต้นแบบที่นำเอาแนวพระราชดำริโครงการแก้มลิงมาประยุกต์ใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

 

 

 

ผอ.การัณย์ เล่าถึงพัฒนาการของโครงการว่า“โจทย์คือ ต้อง ให้ครัวเรือนพึ่งพาตัวเองได้ น้ำเป็นหัวใจ เพราะฉะนั้นโครงสร้างพื้นฐานเรื่องน้ำ เรื่องดิน เรื่องเกษตร เป็นเรื่องสำคัญ และเรื่องที่นำเข้ามาส่งเสริม คือ ทฤษฎีของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ต้องไม่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว เดิมชาวบ้านจะปลูกข้าวแต่ไม่ได้ปลูกพืชหลังนาจึงส่งเสริมให้ปลูกพืชหลังนาด้วย หลังจากที่เราลองทำกันมา 5 ปี เราก็ชำนาญขึ้น ผลผลิตดีขึ้นมาก จากที่เคยปลูกข้าวได้ 200 กิโลกรัมต่อไร่ ปัจจุบันได้ถึง 400 กิโลกรัมต่อไร่ มูลค่าข้าวก็เพิ่มขึ้น เพราะมีดินและน้ำที่ดี”


 

โครงการพัฒนาแก้มลิงหนองเลิงเปือยฯ แบ่งขั้นตอนการพัฒนาเป็น 3 ระยะ ในระยะแรก (ปี 2556 - 2557) เริ่มที่การซ่อมแซมฝายสันมน สร้างอาคารบังคับน้ำ และขุดลอกหนองน้ำเพื่อเพิ่มปริมาณการกักเก็บให้มากกว่า 6 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อรองรับการชลประทานในพื้นที่โดยรอบในรัศมี 2.5 กิโลเมตรได้ นอกจากนี้ การขุดลอกทำให้มีดินไปถมพื้นที่รับน้ำและทำการเกษตรให้ชาวบ้านได้ถึง 2,039 ไร่ ซึ่งนับว่าได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย

 

 

 

 

ระยะที่ 2 (ปี 2558 - 2560) เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทรัพยากรมนุษย์ สังคม เศรษฐกิจชุมชน มีการส่งเสริมให้ทำเกษตรอินทรีย์ มีการรวมกลุ่มกับชาวบ้านเพื่อวางแผนบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยมีจุดประสงค์ให้พวกเขา“อยู่รอด”


 

หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น คือ การสนับสนุนให้ปลูกพืชหลังนาในช่วงแรกมีเป้าหมายเพื่อลดการบริโภค เมื่อเหลือจึงนำมาขายเพิ่มรายได้ การเลือกพืชมาปลูกหลังทำนา เริ่มจากมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ช่วยหาตลาด วิเคราะห์ความคุ้มค่าของการลงทุน และยังต้องคำนึงถึงสภาพพื้นดินภายในพื้นที่ที่แตกต่างกัน โดยโครงการฯ สนับสนุนให้เกษตรกรปลูกมะเขือเทศซึ่งคาดว่าจะทำรายได้ดี แต่ด้วยระยะทางการขนส่งที่ไกล และความไม่ชำนาญของผู้ปลูก ทำให้การปลูกมะเขือเทศไม่ประสบผลสำเร็จและกลายเป็นบทเรียนสำคัญในการเลือกปลูกพืชหลังนาชนิดอื่น ๆ ทุกวันนี้ชาวบ้านปลูกข้าวโพดและผักสวนครัว เลี้ยงปลาและไก่ไข่ ซึ่งนอกจากจะเป็นแหล่งรายได้แล้ว ยังเป็นต้นแบบ ให้กับองค์กรท้องถิ่น เช่น โรงพยาบาลร่องคำ ที่ต้องการลดรายจ่ายด้วยการปลูกผักอินทรีย์และเลี้ยงไก่ไข่ เพื่อใช้ปรุงอาหาร ให้กับผู้ป่วย

 

 

 

ระยะที่ 3 (ปี 2561 - ปัจจุบัน) เมื่อชาวบ้านอยู่รอดแล้ว โครงการฯ จึงเริ่มถ่ายทอดความรู้และติดตามการพัฒนาอย่าง ต่อเนื่องใน 3 ด้าน คือ ทรัพยากรมนุษย์ โครงสร้างพื้นฐาน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ หนองเลิงเปือย “อยู่รอดได้อย่างยั่งยืน”


ตั้งแต่จัดตั้งโครงการมา5 ปี มีชาวบ้านยอมเข้าร่วมเพียง 35% จาก 1,000 ครอบครัว แม้ว่าเกษตรกรที่เข้าร่วมจะมีรายได้ดีขึ้น มีเงินปลดหนี้ และยังมีเงินเก็บ แต่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมยังคงเป็นโจทย์ยากที่สุด ผอ.การัณย์ ตั้งเป้าหมายว่าต้องการให้ชาวบ้าน 80% เข้าร่วมโครงการและต้องการเห็นพวกเขามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน


การบริหารจัดการน้ำ

 

อีกเรื่องที่สำคัญ คือ การบริหารจัดการน้ำที่เป็นโครงการ สนับสนุนให้ชาวบ้านบริหารจัดการน้ำเองด้วยการจัดตั้ง “กลุ่มผู้ใช้น้ำ” ขึ้นมาดูแลรับเรื่องเก็บข้อมูลความต้องการใช้น้ำสำหรับแปลงเกษตร ขณะนี้มีสถานีน้ำ 5 สถานี แต่ละวันเกษตรกรที่ต้องการใช้น้ำจะแจ้งกลุ่มจัดการน้ำ เมื่อได้รับอนุญาตจึงทำการเปิดวาล์วน้ำเข้าสู่พื้นที่ของตัวเอง และต้องจ่ายค่าน้ำเป็นเงิน 220 บาท ต่อหัวจ่ายน้ำต่อวัน การจัดการแบบเรียบง่ายนี้จะช่วยให้ชุมชนสามารถดูแลกันเองได้อย่างเหมาะสมในอนาคต


งานวิจัยลองใช้ในพื้นที่จริง


โครงการพัฒนาแก้มลิงหนองเลิงเปือยฯ ยังทำหน้าที่เป็น Social Lab ที่เชิญชวนนักวิชาการให้นำเอาความรู้และงานวิจัยมาทดลองใช้ในสถานการณ์จริง โดยมีทีมจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นทีมหลักของโครงการ


ผศ. ดร.บารเมศ วรรธนะภูมิ และทีมจากมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ได้เข้าร่วมโครงการตั้งแต่ปี 2557 โดย อ.บารเมศ ยอมรับว่าการขุดลอกหนองน้ำส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงผลักดันให้มีการปรับปรุงทรัพยากรธรรมชาติ และติดตามความคืบหน้าเสมอ มีการปล่อยปลาเพื่อเพิ่มสิ่งมีชีวิตให้ระบบนิเวศ สนับสนุนการใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อลดสารเคมีในดิน เมื่อผ่านมา3 ปี ก็พบว่านอกจากดินและน้ำจะมีคุณสมบัติเหมาะสมต่อการเพาะปลูกยิ่งขึ้นแล้ว ยังมีสิ่งมีชีวิตที่หลากหลายขึ้น มีปลาและกุ้งน้ำจืดขนาดใหญ่ให้คนในชุมชนได้บริโภค อย่างไรก็ตาม อ.บารเมศ เล่าว่าระบบนิเวศต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น ทางโครงการฯ จะยังคงติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดต่อไป


ดร.ภูมิสิทธ์ มหาสุวีระ และทีมจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เข้าร่วมกับโครงการปลายปี 2557 เพื่อศึกษาความเปลี่ยนแปลงของชาวบ้านหลังจากมีโครงการ โดยเก็บข้อมูลครัวเรือนจาก 53 หมู่บ้าน พบว่ารายได้ส่วนใหญ่มาจากภาคเกษตร นอกจากนั้นจะได้มาจากการรับจ้าง และเงินจากคนในครอบครัวที่ไป ทำงานต่างถิ่นส่งกลับบ้าน โดยรวมแล้วแต่ละครัวเรือนมีรายได้เฉลี่ย ปีละ 160,000 บาท แต่มีรายจ่ายประมาณ 130,000 บาท เหลือเงินออม 30,000 บาท แต่มีหนี้สินต่อครัวเรือนประมาณ 270,000 บาท ส่วนมากเป็นการก่อหนี้เพื่อการเกษตร เช่น ซื้อปุ๋ย อุปกรณ์ และ สารเคมี รวมทั้งเนื่องจากค่านิยมปลูกพืชเชิงเดี่ยว คือ ทำนาเพียงอย่างเดียว ถ้าปีใดน้ำท่วมก็ขาดทุน ถึงแม้บางปีจะทำกำไร แต่ก็ไม่มากพอที่จะปลดหนี้ของครอบครัวได้ นอกจากนี้ ชาวบ้านยังเล่นหวยโดยใช้เงินถึง 10% ของรายได้ ซึ่งนับว่าค่อนข้างสูง จึงต้องเร่งแก้ไขปัญหาทุกข้อด้วยการปรับพฤติกรรม เพิ่มรายได้ และลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น


ในช่วงแรกเกษตรกรไม่สนใจเข้าร่วมโครงการปลูกพืชหลังนา เนื่องจากกลัวความเสี่ยงที่ต้องปลูกพืชชนิดใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์ และไม่แน่ใจว่าจะขายได้ ทีมงานจึงทดลองการ “ถ่ายโอนความเสี่ยง” ด้วยการให้ยืมปัจจัยการผลิต หาผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้ รวมทั้งรับซื้อผลผลิตในปีแรก และประกันรายได้ให้เกษตรกร ทำให้มีผู้สมัคร กว่า300 ราย แต่ภายหลังจากการคัดเลือกมีผู้เข้าร่วมจริง ๆ เพียง 181 ราย ลองทำการเกษตรปลอดภัย ไม่ใช้สารเคมีฆ่าแมลง กลายเป็นผลิตผลทางการเกษตรปลอดสารพิษ ซึ่งสามารถทำกำไรได้ ถึง 2 เท่าในปีถัดมามีผู้เข้าร่วมเพิ่มขึ้นเป็น 252 ราย แม้ว่าโครงการจะยกเลิกการประกันรายได้ แต่ก็จะเห็นว่าเริ่มมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเกษตรกรไปสู่หนทางที่ยั่งยืนขึ้นแล้ว


โครงการต่อไปที่จะทำ คือ การช่วยให้ชาวบ้านวางแผนทาง การเงินโดยใช้แนวคิดทางจิตวิทยาเช่น การตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน การกระตุ้นให้ออม และก้าวสำคัญคือ การก่อตั้งบรรษัทชุมชน (Social Enterprise) เพื่อให้ชุมชนสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง ถ้าในอนาคต มูลนิธิฯ ถอนตัวออกไป


เกษตรกรไทย อยู่ได้อย่างยั่งยืน


ปัจจุบัน ผักสดปลอดภัยที่ชาวบ้านในโครงการปลูก ถูกส่งต่อ ไปยังห้างสรรพสินค้าและโรงพยาบาลท้องถิ่น ส่วนข้าวโพดหวาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ก็มีผู้มารับซื้อถึงที่ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการ

 

          คุณพ่อเรืองศิลป์ ยุบลมาตย์ หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการที่พยายามหาความรู้ ทั้งเรื่องการเกษตร และการทำบัญชีรายรับรายจ่าย รวมถึงการนำเอาปรัชญาแบบเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ จนในที่สุดสามารถปลดหนี้ได้จากการปลูกผักสวนครัว มีรายได้สม่่ำเสมอ มีเงินออม คุณพ่อเรืองสินพูดว่าสิ่งสำคัญที่สุดที่ได้จากโครงการคือ ลูกชาย ย้ายกลับภูมิลำเนาเพื่อมาช่วยครอบครัว และท่านทิ้งท้ายไว้ว่า“แค่เปลี่ยนความคิด ทุกอย่างก็เปลี่ยน ... ตอนนี้ภูมิใจมากเวลามีคนเรียกผมว่าเกษตรกร”