​ปลดล็อก SMEs ไทย ปรับตัวอย่างไรให้เติบโต

 

ถ้าพิจารณาถึงจำนวนผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว คงยากที่จะปฏิเสธถึงความสำคัญของธุรกิจ SMEs ที่มีต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม และคนไทยนับล้านคนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะในฐานะเจ้าของกิจการหรือลูกจ้าง ที่ผ่านมาธุรกิจ SMEs ต้องเผชิญความท้าทายจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด ซึ่งทำให้กระบวนการผลิต การดำเนินธุรกิจ โครงสร้างทางเศรษฐกิจ และพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปธปท. จึงได้สำรวจ SMEs กว่า 2,400 รายทั่วประเทศ เพื่อศึกษาถึงปัญหา อุปสรรค รวมทั้งแนวทางการปรับตัวที่ตรงจุด


ปัญหาสำคัญที่ SMEs ไทยต้องเผชิญ

 

จากการสำรวจธนาคารพาณิชย์ 6 แห่ง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ในการกระจายแบบสำรวจให้แก่ SMEs ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ที่ผ่านมา พบว่า SMEs ไทยเผชิญกับ 2 ปัญหาสำคัญ คือ

 

(1) ปัญหาต้นทุนสูง นอกจาก SMEs จะมีภาระต้นทุนธุรกิจที่สูง เช่น ราคาวัตถุดิบ ต้นทุนการเงิน และค่าจ้างแรงงานแล้ว ยังเผชิญกับต้นทุนแฝงที่เกิดจากความยุ่งยากในการติดต่อกับภาครัฐและการขอสินเชื่อ

 

(2) การแข่งขันรุนแรงที่มาจากรอบด้าน ทั้งจากคู่แข่งที่เป็น SMEs ด้วยกันเอง การแข่งขันกับธุรกิจขนาดใหญ่ที่ขยายสาขาไปทุกพื้นที่และการแข่งขันกับธุรกิจ e-Commerce ที่ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป

 

เมื่อประมวลผลสำรวจเพื่อศึกษาแนวทางที่ SMEs ใช้รับมือกับ 2 ปัญหาข้างต้นพบว่า ทางเลือกหลักที่ SMEs ส่วนใหญ่ใช้ โดยเฉพาะเมื่อประสบกับภาวะแข่งขันที่รุนแรง คือ การใช้กลยุทธ์ด้านราคาเพื่อดึงดูดลูกค้าและเพิ่มปริมาณขาย อย่างไรก็ตาม การแข่งด้วยราคาโดยไม่ได้พัฒนาสินค้าหรือบริการให้มีคุณภาพหรือมีความแตกต่างจากคู่แข่ง กลับส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง โดยผลสำรวจพบว่า SMEs ที่เน้นการแข่งขันด้วยราคาเป็นหลัก ส่วนใหญ่ประสบกับภาวะยอดขายลดลง เนื่องจากธุรกิจขาด Brand Loyalty และเสียฐานลูกค้าให้กับคู่แข่งได้ง่าย

 

อย่างไรก็ดี พบว่ามี SMEs อีกกลุ่มหนึ่งที่เลือกใช้การปรับตัวเพื่อแก้ไขปัญหา โดยมีแนวทางการปรับปรุงและพัฒนาธุรกิจ ดังนี้

 

(1) เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจและการควบคุมต้นทุน ด้วยการใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยี รวมถึงนำระบบ IT มาใช้ในการวางแผนธุรกิจจัดทำบัญชีและบริหารสต็อกสินค้า

 

(2) พัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการให้แตกต่างจากคู่แข่ง และใช้โอกาสจากโลกออนไลน์เพื่อเพิ่มช่องทางการขายและขยายตลาดไปสู่กลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ

 

นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังสะท้อนให้เห็นว่า การที่ SMEs นำธุรกิจเข้าสู่ตลาดออนไลน์ แต่ยังคงขายสินค้าหรือบริการที่ไม่มีเอกลักษณ์นั้นไม่เพียงพอที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน เนื่องจากตลาดออนไลน์มีการแข่งขันด้านราคาที่ดุเดือดจากคู่แข่งจำนวนมาก และจากการสำรวจพบว่า มี SMEs เพียงร้อยละ 47 ที่ธุรกิจสามารถเติบโตได้จากการเพิ่มช่องทางออนไลน์ในการจำหน่ายสินค้าและบริการที่ไม่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว (Mass Product) ดังนั้นการมุ่งยกระดับคุณภาพสินค้าและบริการให้แตกต่างจากคู่แข่ง และให้ช่องทางการค้าออนไลน์สร้างโอกาสในการเข้าถึงและขยายฐานลูกค้า จึงเป็นการสร้างความเข้มแข็งและความมั่นคงให้แก่ธุรกิจในระยะยาว

หากพิจารณาผลลัพธ์จากการปรับตัว ผลการสำรวจพบว่าการที่ SMEs ปรับตัวและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง นอกจากจะทำให้ความสามารถทางการแข่งขันเพิ่มขึ้นและต้นทุนการบริหารจัดการลดลงซึ่งทำให้ผลประกอบการเพิ่มขึ้นแล้ว ยังนำมาสู่ผลพลอยได้ด้านการเงินที่ตามมาอีกด้วย กล่าวคือ SMEs ที่มีการปรับตัวส่วนใหญ่เห็นว่าต้นทุนการเงินไม่ใช่ปัญหาหลักเพราะธุรกิจเข้มแข็งและมีรายรับเพียงพอต่อรายจ่าย

 

นอกจากปัญหาสำคัญที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ผลสำรวจยังพบว่า SMEs ไทยบางกลุ่มต้องเผชิญกับปัจจัยภายนอกอื่น ๆ ที่ทำให้การเติบโตและการปรับตัวมีความท้าทายมากขึ้น โดยเมื่อวิเคราะห์แบบสำรวจในมิติเชิงพื้นที่พบว่า SMEs ในเมืองรองมีความท้าทาย ในการดำเนินธุรกิจมากกว่าเมืองหลัก จาก 3 ปัญหาเพิ่มเติม ดังนี้

 

(1) ขนาดของตลาดที่เล็ก ทำให้ผลกระทบจากการแข่งขันกับธุรกิจขนาดใหญ่รุนแรงกว่า SMEs ในเมืองหลัก อาทิ การแข่งขันกับ Modern Trade ห้างสรรพสินค้า และโรงแรมที่พักที่มีเครือข่ายจากส่วนกลาง

 

(2) ปัญหาขาดแคลนแรงงาน จากการอพยพย้ายถิ่นเข้าสู่เมืองหลักการดึงดูดแรงงานจากธุรกิจขนาดใหญ่ และความต้องการของแรงงานรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไป และ (3) ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานไม่เอื้ออำนวยซึ่งเป็นสาเหตุให้ SMEs เมืองรองเสียโอกาสทางการค้าและภาระต้นทุนธุรกิจสูงขึ้น อาทิ ถนนชำรุดและคับแคบ ต้นทุนค่าขนส่งแพงกว่าคู่แข่งในเมืองหลัก และเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่ไม่เสถียร

 

 

 

อีกหนึ่งปัจจัยที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจของ SMEs ไทย คือ ความยุ่งยากในการติดต่อกับภาครัฐและภาคการเงิน โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า การติดต่อกับภาครัฐและการขอสินเชื่อมีขั้นตอนที่ซับซ้อน มีเงื่อนไขและใช้เอกสารมาก รวมถึงมีค่าใช้จ่ายแฝง อาทิ ค่าประเมินหลักประกัน ซึ่งปัญหาดังกล่าวเพิ่มภาระต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ และทำให้ SMEs บางกลุ่มเสียโอกาสทางการค้า นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า SMEs มีความไม่แน่ใจต่อประสิทธิผลที่จะเกิดขึ้นจากการเข้าร่วมโครงการอบรมต่าง ๆ จากภาครัฐ เนื่องจากเห็นว่ารูปแบบการติดตามและประเมินผลไม่ได้ยึดโยงกับความสำเร็จของธุรกิจ

 


ผลสำรวจและความคิดเห็นจาก SME
s

 

การประมวลผลสำรวจและความคิดเห็นจาก SMEs กว่า 2,400 รายทั่วประเทศ นำมาซึ่งบทสรุป 3 ประการ ดังนี้


ประการแรก ภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการสร้างแรงจูงใจและสนับสนุนให้ SMEs มีการปรับตัวและใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับศักยภาพในการดำเนินธุรกิจด้วยต้นทุนที่ต่ำลง โดยการจัดทำหรือสนับสนุนภาคเอกชนให้จัดทำโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เช่น Cloud, Software สำเร็จรูป หรือ Web Service และควรเน้นโครงการให้ความรู้และทักษะที่จำเป็นแก่ผู้ประกอบการให้มีความพร้อมด้านการประยุกต์ใช้ข้อมูลและเทคโนโลยียุคใหม่ พร้อมทั้งการฝึกอบรมแรงงาน โดยเฉพาะทักษะที่ขาดแคลน อาทิ ทักษะทางภาษา การใช้คอมพิวเตอร์พื้นฐาน และการใช้และซ่อมบำรุงเครื่องจักร นอกจากนี้ ภาครัฐควรพิจารณาลดกฎเกณฑ์ และขั้นตอนที่ยุ่งยาก ซับซ้อน เพื่อลดต้นทุนแฝง และเพิ่มความสะดวกให้แก่ SMEs ในการเข้ารับบริการภาครัฐ ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาและลดค่าใช้จ่ายด้วยการเชื่อมโยงฐานข้อมูลระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกันเองให้มากขึ้นด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

 

นอกจากนี้ ภาครัฐควรพิจารณาขยายโอกาสและสร้างความเท่าเทียมแก่ SMEs ให้สามารถแข่งขันกับธุรกิจรายใหญ่ได้มากขึ้นและเร่งยกระดับมาตรฐานระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดเมืองรองให้ทัดเทียมกับเมืองหลัก เพื่อขยายโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมและสร้างแรงจูงใจให้แรงงานทำงานอยู่ในท้องถิ่น

 

ประการที่สอง ในการสนับสนุนให้ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ด้วยต้นทุนที่เหมาะสม ธปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมผลักดันและส่งเสริม SMEs ให้ใช้โครงสร้างพื้นฐานทางการเงินกลาง อาทิ Prompt Pay และ QR Payment ให้มากขึ้น เพื่อสนับสนุนการสร้างTrack Record ที่จะนำไปใช้ประกอบการพิจารณาสินเชื่อ นอกจากนี้ ธปท. ได้ปฏิรูปกฎเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงินที่สร้างภาระ ต้นทุนทางการเงินที่ไม่จำเป็น เช่น การปรับปรุงกฎเกณฑ์การประเมิน ราคาหลักประกัน สามารถประเมินหลักประกันเพียงครั้งเดียวเพื่อยื่นขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินได้หลายแห่ง จากเดิมที่ต้องมีการประเมินใหม่ทุกครั้ง รวมถึงได้มีการสนับสนุนให้เกิด Information-based Lending มากขึ้น ด้วยการอนุญาตให้สถาบันการเงินใช้ข้อมูลอื่น ๆ (Alternative Data) ในการพิจารณาสินเชื่อ อาทิ ข้อมูลการให้คะแนน Rating ของผู้ใช้บริการ ข้อมูลคะแนนเครดิต ข้อมูลค่าน้ำ ค่าไฟ และ ค่าโทรศัพท์ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น

 

 

ประการสุดท้าย แม้ว่าภาครัฐ ภาคเอกชน และ ธปท. จะร่วมกันสนับสนุน SMEs อย่างเต็มกำลังแล้ว แต่การเติบโตอย่างแข็งแกร่งของ SMEs ยังต้องพึ่งพาวิสัยทัศน์ของผู้ประกอบการ SMEs เองที่ตระหนักรู้และมีการเตรียมพร้อมที่จะปรับตัวให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากอิทธิพลของเทคโนโลยี ทั้งด้านการพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการให้มีคุณภาพ แตกต่างจากคู่แข่ง รวมถึงมีการประยุกต์ใช้ประโยชน์จากข้อมูลและเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการดำเนินงาน

 

ดังนั้น การจะยกระดับความสามารถทางการแข่งขันและผลักดันให้ SMEs เป็นแรงขับเคลื่อนหลักให้แก่เศรษฐกิจไทยต้องอาศัยการปรับตัวของทุกภาคส่วน ทั้งจากภาครัฐ ภาคการเงิน และผู้ประกอบการ SMEs ที่พร้อมใจกันเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโตภายใต้บริบทของโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว