บทบาทของ ธปท.

ในการเป็นประธานธนาคารกลางของ ASEAN

​ปี 2562 นับเป็นปีสำคัญของประเทศไทยในหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือ การที่ประเทศไทยได้รับเกียรติให้ทำหน้าที่ประธานอาเซียน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมธนาคารกลางอาเซียน เมื่อวันที่ 2 - 5 เมษายน 2562 ณ จังหวัดเชียงราย

 

BOT พระสยาม MAGAZINE ฉบับนี้ ได้รับเกียรติจาก คุณณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้ประกาศข่าวหญิงแกร่ง บรรณาธิการข่าวอาเซียนของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส มาพูดคุยกับ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. เกี่ยวกับความสำคัญของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รวมทั้งประเด็นที่หารือกันในการประชุมธนาคารกลางอาเซียนปีนี้ และความร่วมมือในช่วงที่ผ่านมา

 

 

 

 

ความสำคัญของอาเซียนต่อเศรษฐกิจไทย

 

คุณณัฏฐา : คนไทยจำนวนมากอาจยังไม่เข้าใจว่าอาเซียนมีความสำคัญและเกี่ยวกับข้องกับคนไทยอย่างไร ขอให้ผู้ว่าการช่วยอธิบายด้วย

 

ดร.วิรไท : ปัจจุบันอาเซียนอายุ 52 ปี มีพัฒนาการต่อเนื่องมาเป็นลำดับ เริ่มต้นจากความร่วมมือด้านความมั่นคงเป็นส่วนใหญ่ แต่หลังจากภูมิภาคอาเซียนมีความมั่นคงทางการเมืองมากขึ้น ประเด็นความสนใจจึงเปลี่ยนมาที่เรื่องเศรษฐกิจ และเป็นที่มาของ “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” (ASEAN Economic Community: AEC)

 

วันนี้ ขนาดเศรษฐกิจของอาเซียนรวมกันใหญ่เป็นอันดับที่ 6 ของโลก มีประชากร 600 ล้านคน และที่สำคัญสมาชิกแต่ละประเทศมีลักษณะที่แตกต่างกัน สามารถเป็นพลังเสริมซึ่งกันและกันได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น เรื่องทรัพยากรธรรมชาติ ประเทศไทยไม่มีพลังงาน แต่สามารถนำเข้าพลังงานจากเพื่อนบ้าน ประเทศไทยขาดแคลนแรงงานในวัยทำงาน เพราะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเร็วกว่าประเทศอื่น แต่ก็ได้ประโยชน์จากแรงงานประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามาทำงานอยู่ในประเทศไทย ตัวอย่างเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า ถ้าประเทศอาเซียนทำงานร่วมกันลดความเป็นพรมแดนของประเทศลงก็จะสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศสมาชิกอาเซียนโดยรวมได้

 

 

“ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” จะช่วยให้การทำธุรกิจ การติดต่อค้าขาย หรือการลงทุนร่วมกันภายในอาเซียนสะดวกมากขึ้น ด้วยต้นทุนที่ถูกลงเสมือนกับค่อย ๆ ลดพรมแดนด้านเศรษฐกิจลง ขณะที่การนำจุดแข็งด้านเศรษฐกิจของแต่ละประเทศมาส่งเสริมซึ่งกันและกันจะทำให้ผลิตภาพ (Productivity) ของทุกประเทศสมาชิกอาเซียนดีขึ้น ส่งผลให้ศักยภาพเศรษฐกิจของกลุ่มอาเซียนดีขึ้น สุดท้ายก็ย่อมกลับมายังประโยชน์ให้กับธุรกิจไทยและคนไทย

 

ถ้าดูตัวเลขการส่งออก อาเซียนถือเป็นตลาดส่งออกใหญ่ที่สุดของไทย คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 4 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด นอกจากนี้ “การค้าชายแดน” กับประเทศเพื่อนบ้านถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดที่อยู่ตามแนวชายแดน ในขณะเดียวกัน คนของประเทศเพื่อนบ้านก็เข้ามาท่องเที่ยว หรือรักษาพยาบาลในประเทศ ซึ่งล้วนส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย มองไปข้างหน้าความสำคัญของภูมิภาคอาเซียน และความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจในอาเซียนจะยังมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น เราจึงไม่อาจ มองข้ามพลังของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนไปได้

 


“ชนะไปด้วยกัน (Win-Win)” โจทย์สำคัญของประชาคม

 

คุณณัฏฐา : การที่นักท่องเที่ยวมาเมืองไทย แล้วใช้จ่ายผ่าน QR Code อาจมีคำถามว่าสุดท้ายใครได้ประโยชน์ หรือการเปิดให้สถาบันการเงินต่างประเทศเข้ามาทำธุรกิจในเมืองไทยก็อาจมีความกังวลว่าผลประโยชน์จะไปตกอยู่กับสถาบันการเงินต่างประเทศหรือไม่

 

ดร.วิรไท : สิ่งสำคัญเมื่อพูดถึงการรวมกลุ่มกันคือ เราต้องคิดถึงโจทย์ที่จะ “ชนะไปด้วยกัน” หรือ “Win-Win” เพราะถ้ายังคิดอยู่ในกรอบของการมี “ผู้แพ้-ผู้ชนะ” หรือ “Zero-sum Game” ก็จะทำให้การรวมกลุ่มเกิดขึ้นได้ยาก การรวมกลุ่มของอาเซียนมีความสำคัญ เพราะมีโอกาสสูงที่ประเทศสมาชิกจะ “ชนะไปด้วยกัน” อาเซียนมีประชากรกว่า 600 ล้านคน และเป็นตลาดที่กำลังขยายตัวมาก ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน และกำลังเข้าสู่ “ชนชั้นกลาง” (Middle Class) มีอำนาจซื้อสูง ตัวอย่างเช่น ปัจจุบันไทยมีแรงงานเมียนมากว่า 3 ล้านคน การส่งเงินกลับต้องเสียค่าธรรมเนียมค่อนข้างแพง ส่วนหนึ่งเพราะความเชื่อมโยงทางการเงินระหว่างสองประเทศมีจำกัด แต่ถ้าเราร่วมมือกันสร้างความเชื่อมโยงทางการเงินจะสร้างโอกาสทางธุรกิจในลักษณะ “ชนะไปด้วยกันทุกฝ่าย” ทั้งสถาบันการเงินไทย สถาบันการเงินเมียนมา และที่สำคัญ คือ แรงงานเมียนมาที่มาทำงานในไทยจะสามารถส่งเงินกลับไปให้ญาติพี่น้องในเมียนมาได้ด้วยต้นทุนที่ถูกลง แล้วเงินเหล่านี้ ส่วนหนึ่งจะกลับมาใช้ซื้อสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย

 

 

ธปท. กับบทบาทผลักดันการรวมกลุ่มทางการเงินในอาเซียน

 

คุณณัฏฐา : ที่ผ่านมา ธปท. มีบทบาทส่งเสริมและผลักดันให้เกิด “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” อย่างไร

 

ดร.วิรไท : การรวมกลุ่มเป็นประชาคมเศรษฐกิจ จะร่วมมือกันในหลายมิติ ในส่วนที่ ธปท. เข้าไปเกี่ยวข้อง คือ การส่งเสริมความร่วมมือทางการเงิน เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่ว่าการค้าขายหรือ การลงทุนจะไม่สะดวกถ้าขาดความร่วมมือทางการเงิน

 

เป้าหมายความร่วมมือในช่วงแรกมีอยู่ 3 ด้านสำคัญ ได้แก่ การส่งเสริมการรวมกลุ่มในภาคการเงิน (Integration) การส่งเสริมให้พลเมืองในอาเซียนเข้าถึงบริการทางการเงินได้ดี และมีประสิทธิภาพมากขึ้น (Inclusion) และการส่งเสริมเสถียรภาพทางการเงินในประชาคมอาเซียน (Stability) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการกำจัด “จุดเปราะบาง” และสร้าง “ภูมิคุ้มกัน” ให้กับระบบการเงินของทุกประเทศสมาชิก ซึ่งสำหรับการรวมกลุ่มทางการเงินมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องในหลายด้าน ตั้งแต่การเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายเงินทุน การเปิดโอกาสให้สถาบันการเงินในประเทศหนึ่งสามารถเข้าไปทำธุรกิจในอีกประเทศได้ง่ายและสะดวกขึ้น ตามกรอบความร่วมมือเปิดเสรีในภาคธนาคาร “Qualified ASEAN Bank (QAB)” ซึ่งเป็นการเจรจาทวิภาคีตามความสมัครใจและความพร้อมของประเทศสมาชิกเป็นคู่ ๆ ไป เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทยกับธนาคารกลางมาเลเซียที่ได้เจรจาเสร็จแล้ว ในอนาคตธนาคารพาณิชย์มาเลเซียจะขยายธุรกิจมาในประเทศไทยสะดวกขึ้น และธนาคารพาณิชย์ไทยก็จะขยายธุรกิจไปประเทศมาเลเซียสะดวกขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ ประเทศอาเซียน และจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ฮ่องกง ร่วมมือสร้างกลไกดูแลเวลาที่ประเทศ อาเซียนประเทศใดประเทศหนึ่งขาดสภาพคล่องเงินตราต่างประเทศ ดังที่รู้จักกันในนาม Chiang Mai Initiative Multilateralisation (CMIM) ซึ่งจะช่วยรักษาเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศอาเซียน

 


บทบาทของ ธปท. ในฐานะประธานธนาคารกลางอาเซียน

 

คุณณัฏฐา : การที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ และ ธปท. ต้องรับบทบาทประธานธนาคารกลางของอาเซียน ผู้ว่าการคิดว่าปีนี้วาระทางเศรษฐกิจที่ต้องผลักดันคือเรื่องอะไรบ้าง

 

ดร.วิรไท : ไม่อยากให้มองระเบียบวาระของอาเซียนเป็นเรื่องปีต่อปี เพราะการประชุมอาเซียนทุกครั้งเป็นการวางรากฐานที่ทุกประเทศจะชนะไปด้วยกันในระยะยาว ซึ่งในปีนี้จะให้ความสำคัญ ใน 4 เรื่อง


เรื่องที่ 1 ASEAN Payment Connectivity

 

การนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมทางการเงินเข้ามาช่วยให้ระบบการชำระเงินในอาเซียนเชื่อมโยงกันมากขึ้น สถาบันการเงินในอาเซียนค่อนข้างตื่นตัวกับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี และ เทคโนโลยีการเงินที่ก้าวหน้าสามารถต่อยอดและช่วยให้การเชื่อมโยงทางการเงินเกิดได้เร็วขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการชำระเงินและโอนเงินระหว่างประเทศ ซึ่งหากทำให้การเชื่อมโยงการชำระเงิน (ASEAN Payment Connectivity) สะดวกทั้งรับและโอนผ่านธนาคารพาณิชย์เดียว หรือใช้มาตรฐานการชำระเงินที่สอดคล้องและเชื่อมต่อกันได้อย่าง QR Code สุดท้ายแล้ว ทั้งภาคธุรกิจ และประชาชนอาเซียนก็จะสามารถใช้บริการชำระเงินและโอนเงินภายในกลุ่มอาเซียนด้วยต้นทุนที่ถูกลงและสะดวกมากขึ้น

ในการประชุมผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียนที่เชียงราย เมื่อวันที่ 4 - 5 เม.ย. 2562 นี้ ได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างธนาคารพาณิชย์และ Non-banks ที่จะตอบโจทย์ประชาชนของอาเซียนโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่หลากหลาย อาทิ การนำ Blockchain มาใช้ในการโอนเงินและทำธุรกรรมสินเชื่อการค้าระหว่างประเทศ (Trade Finance) ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนระยะเวลา และต้นทุนทั้งของธนาคารและลูกค้าที่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่หรือแม้กระทั่งการส่งเงินกลับประเทศของแรงงานหรือผู้ที่ทำงานในต่างแดน

การใช้มาตรฐาน QR Code ของไทยก็เป็นตัวอย่างที่ดีที่จะช่วยให้เกิดการเชื่อมโยงการชำระเงินในอาเซียนได้ดีขึ้น เป็นที่น่ายินดีที่ธนาคารกลางกัมพูชาประกาศว่าจะใช้มาตรฐานที่สอดคล้องกันกับประเทศไทย ทำให้ในอนาคตการโอนเงินหรือชำระเงินระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชาผ่าน QR Code จะสะดวกมากขึ้น และค่าธรรมเนียมถูกลง การพัฒนานวัตกรรมทางการเงินเหล่านี้จะช่วยตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บริการกลุ่มต่าง ๆ ที่หลากหลาย และจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการเงิน ทำให้การทำธุรกิจและการค้าระหว่างประเทศสะดวกขึ้น ลดต้นทุนให้แก่ผู้ใช้บริการและเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชากรในอาเซียน เทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นโอกาสสำหรับกลุ่มอาเซียน และธนาคารกลางควรมีบทบาทส่งเสริมให้ผู้ให้บริการปรับตัวได้เร็ว โดยการทำงานร่วมกันเพื่อสนับสนุนนวัตกรรมทางการเงินที่จะลดอุปสรรคจากกฎเกณฑ์กำกับดูแล และผลักดันให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงิน และมาตรฐานกลางที่สามารถเชื่อมโยงกันได้ (Interoperability)

 

 

เรื่องที่ 2 การธนาคารเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Banking)

 

เราจะต้องคิดถึงเรื่อง “การธนาคารหรือการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Banking/Finance)” มากขึ้น เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ที่กลุ่มประเทศอาเซียนยังตามหลังสหรัฐอเมริกาหรือประเทศในยุโรปที่จะให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม ผลข้างเคียงทางสังคม ธรรมาภิบาล หรือแม้กระทั่งปัญหาคอร์รัปชัน เพราะเรื่องเหล่านี้สถาบันการเงินสามารถเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง

 

นอกจากนี้ ปัญหาหลายเรื่องที่เรากำลังเผชิญมิได้เกิดขึ้นภายใต้พรมแดนประเทศใดประเทศหนึ่ง ตัวอย่างเช่น ปัญหาภาวะหมอกควันในภาคเหนือของเราที่ส่วนหนึ่งได้มาจากประเทศข้างเคียง หรือ ปัญหาเขื่อนแตกในประเทศลาวก็ปฎิเสธไม่ได้ว่ามีสถาบันการเงินไทยเข้าไปเกี่ยวข้องกับการให้เงินกู้ด้วย เพราะฉะนั้น ปัญหาสิ่งแวดล้อมและภาคการเงินเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกัน เพราะสถาบันการเงินเป็นผู้จัดสรรทรัพยากรทางการเงินหรือทุนในระบบเศรษฐกิจ ถ้าสถาบันการเงินในอาเซียนให้ความสำคัญกับเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ก็จะทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ในระยะยาว การขับเคลื่อนเรื่องนี้จะต้องปรับแนวคิดและวิธีปฏิบัติของประเทศอาเซียนให้ใกล้เคียงสอดคล้องกัน โดยหวังว่าในที่สุดแล้วจะทำให้เกิดมาตรฐานของอาเซียนในเรื่อง Sustainable Finance

 

 

 

เรื่องที่ 3 การส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency)

 

 

ความร่วมมือที่สำคัญมากอีกเรื่อง คือ การส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการทำธุรกรรมการค้าการลงทุนระหว่างประเทศอาเซียนให้มากขึ้น ตัวอย่างเช่นประเทศไทยกับมาเลเซีย ทั้งสองประเทศมีการค้าที่ค่อนข้างสมดุล สินค้าที่เราส่งออกไปกับนำเข้ามามีมูลค่าใกล้เคียงกัน แต่ในการชำระเงินมักกำหนดราคาในรูปของเงินดอลลาร์ สรอ. หรือ ดอลลาร์สิงคโปร์ ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการแปลงเงินท้องถิ่นเป็น ดอลลาร์ สรอ. และแปลงดอลลาร์ สรอ. กลับเป็นเงินท้องถิ่น อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมาค่าเงินดอลลาร์ สรอ. ผันผวนสูง และมีแนวโน้มจะผันผวนสูงต่อไป ดังนั้น เมื่อประมาณ 2 ปีก่อน ธปท. และธนาคารกลางมาเลเซีย ได้ทำข้อตกลงร่วมกันส่งเสริมการใช้เงินริงกิตและเงินบาททำธุรกรรมการค้าและการลงทุน ซึ่งถือเป็นการเพิ่มทางเลือกที่ดีให้กับผู้ประกอบการไทยและมาเลเซียในการลดส่วนต่างจากอัตราแลกเปลี่ยน และช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของเงินสกุลหลัก

 

 

หลังจากที่ ธปท. ตกลงกับธนาคารกลางมาเลเซียแล้ว ธนาคารกลางอินโดนีเซียเห็นว่าเป็นโครงการที่ดีก็เข้ามาร่วมด้วย และในการประชุมเมื่อต้นเดือน ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ได้ลงนามจะเข้าร่วม โครงการด้วยเช่นกัน เรื่องนี้เป็นตัวอย่างความพิเศษของข้อตกลงภายใต้กรอบอาเซียนที่ประเทศใดพร้อมก็สามารถที่จะขับเคลื่อนเดินหน้าไปก่อนได้

 


เรื่องที่ 4 การป้องกันภัยทางด้านไซเบอร์ (Cybersecurity)

 

 

เรื่องนี้เป็นโจทย์ใหม่ที่กลุ่มประเทศอาเซียนต้องทำงานร่วมกันในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ปัญหาเรื่องเสถียรภาพระบบการเงินอาจไม่ได้มาในรูปแบบเดิม ความเสี่ยงด้านไซเบอร์สำคัญมากขึ้นเมื่อโลกการเงินเข้าสู่ยุคดิจิทัล โจทย์เรื่องการป้องกันภัยทางด้านไซเบอร์ของภาคการเงิน(Cybersecurity) จึงเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ ธปท. ร่วมกับธนาคารกลางของประเทศอาเซียนจะช่วยกันผลักดันมากขึ้น ทั้งในด้านความร่วมมือแลกเปลี่ยนข้อมูลกันเวลาที่ประเทศหนึ่งเผชิญภัยไซเบอร์ ไปจนถึงการพัฒนากระบวนการตอบสนองได้เร็ว ต้องรู้ว่าจะจัดการกับปัญหาอย่างไร จากการที่เราร่วมมือกันมากขึ้น แลกเปลี่ยนข้อมูลกันมากขึ้น จะช่วยทำให้ระบบการเงินของอาเซียนมีภูมิคุ้มกัน สามารถป้องกันความเสี่ยงด้านไซเบอร์ได้อย่างเท่าทันมากขึ้น