​Digital Payment เป็นทางเลือกหลักในการชำระเงิน

แผนกลยุทธ์ระบบการชำระเงิน ฉบับที่ 4


ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รูปแบบการชำระเงินของไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Digital Payment อย่างชัดเจน ซึ่งหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว มาจากความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการวางรากฐานถนนการชำระเงินของไทยด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ทั้งการพัฒนาระบบพร้อมเพย์ การพัฒนามาตรฐาน Thai QR Code เพื่อการชำระเงิน รวมถึงการวางเครื่องรับบัตร เพื่อขยายบริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น

ในระยะต่อไป ยังมีโจทย์ท้าทายที่ ธปท ต้องดำเนินการต่อ คือ ทำอย่างไรให้ Digital Payment ไม่ได้เป็นเพียงแค่ทางเลือก แต่เป็นวิธีการชำระเงินหลักของภาคประชาชน ภาครัฐ และภาคธุรกิจ ธปท. จึงได้จัดทำแผนกลยุทธ์ระบบการชำระเงิน ฉบับที่ 4 เพื่อเป็นกรอบทิศทางในการพัฒนาระบบการชำระเงินของไทยในช่วงปี 2562 - 2564 โดยแผนกลยุทธ์ฯ ฉบับนี้ ให้ความสำคัญกับการสร้างระบบนิเวศ หรือ Ecosystem ที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรม ส่งเสริมการแข่งขัน และตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บริการแต่ละกลุ่มโดยเฉพาะ e-Commerce และ Social Commerce ที่มีการเติบโตสูง รวมถึงกลุ่มธุรกิจทั้ง SMEs และธุรกิจขนาดใหญ่ ตลอดจนเร่งขยายการใช้งาน Digital Payment ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยมีกรอบการพัฒนาที่สำคัญ 5 ด้าน ดังนี้

 

ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่เชื่อมโยงกัน (Interoperable Infrastructure)

 

โครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินสมัยใหม่ต้องเป็นระบบที่เปิดโอกาสให้สามารถใช้งานร่วมกันหรือเชื่อมโยงกับระบบอื่นได้ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรม และสนับสนุนการแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการ โดยยังคงให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงปลอดภัย โดยมาตรการที่สำคัญในด้านนี้ประกอบด้วย

 

(1) เพิ่มขีดความสามารถและยกระดับการบริหารความเสี่ยงของระบบการชำระเงินที่มีความสำคัญ ได้แก่ ระบบพร้อมเพย์ ระบบบาทเนต และระบบของผู้ให้บริการชำระเงิน ทั้งที่เป็นสถาบันการเงินและผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-banks) ให้รองรับปริมาณและมูลค่าธุรกรรมที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น สามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ

 

(2) ผลักดันการใช้มาตรฐานข้อความสากล ISO20022 กับระบบการชำระเงินที่สำคัญเพื่อรองรับการรับ-ส่งข้อมูลการชำระเงิน ข้อมูลทางธุรกิจ และการเชื่อมโยงกับต่างประเทศ

 

(3) ออกมาตรฐาน Biometrics สำหรับการยืนยันตัวตนในกระบวนการรู้จักลูกค้าผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Know-Your-Customer: e-KYC) ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมชำระเงินในอนาคต

 

(4) เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเงินสด เพื่อลดต้นทุนของระบบเศรษฐกิจโดยรวม


ด้านการส่งเสริมนวัตกรรมและบริการชำระเงิน (Innovation)

 

เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเงินเข้ามามีบทบาทต่อการดำเนินชีวิตในปัจจุบันและสร้างโอกาสในการพัฒนาบริการทางการเงินที่สะดวก ปลอดภัย ต้นทุนต่ำลง ดังนั้น การสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เอื้อต่อการพัฒนาและประยุกต์ใช้นวัตกรรมจึงเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้ระบบการชำระเงินในอนาคตมีการพัฒนาให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายทั้งภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และภาครัฐ โดยมาตรการสำคัญในด้านนี้ประกอบด้วย

 

(1) สนับสนุนให้สถาบันการเงินทดสอบนวัตกรรมเฉพาะรายใน Sandbox ของตนเอง (Own Sandbox) เพื่อเปิดโอกาสทางธุรกิจและตอบโจทย์ของลูกค้าได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

 

(2) ผลักดันโครงการนำร่องร่วมกับภาครัฐและเอกชนเพื่อใช้กระบวนการทำงานแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) และ Digital Payment อย่างครบวงจร ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการทำงาน

 

(3) สนับสนุนการพัฒนาบริการชำระเงินโดยใช้เทคโนโลยีที่หลากหลาย อาทิ Bio-payment, Contactless Payment บริการทางเลือกทดแทนการใช้เช็ค และบริการโอนเงินและชำระเงินระหว่างประเทศที่สะดวก ต้นทุนต่ำ

 

(4) นำกระบวนการออกกฎเกณฑ์ที่ดีหรือ Regulatory Impact Assessment (RIA) มาใช้ในกระบวนการออกและทบทวนหลักเกณฑ์เพื่อส่งเสริมนวัตกรรมและลดภาระผู้ให้บริการ


ด้านการส่งเสริมการเข้าถึงและการใช้บริการชำระเงิน (Inclusion)

 

การพัฒนา Digital Payment ของไทยจะเกิดประโยชน์สูงสุด หากสามารถตอบโจทย์การใช้งานของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องสร้างโอกาสในการเข้าถึงและส่งเสริมการใช้ Digital Payment ที่สะดวกและแพร่หลาย เพื่อทดแทนการใช้เงินสดและเช็ค โดยมาตรการสำคัญประกอบด้วย

 

(1) ขยายการใช้ Digital Payment ของหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจที่ติดต่อกับประชาชนจำนวนมาก เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการใช้ Digital Payment

 

(2) ลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับบริการ Mobile Payment เพื่อช่วยให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลสามารถเข้าถึงและใช้บริการได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง

 

(3) สื่อสารให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้บริการ Digital Payment และเทคโนโลยีอย่างถูกต้อง ปลอดภัย ผ่านช่องทางที่หลากหลาย เพื่อให้ผู้ใช้บริการมีความเชื่อมั่นและเลือกใช้บริการได้อย่างเหมาะสม

 

ด้านการกำกับดูแลและการบริหารความเสี่ยง (Immunity)

 

การรักษาความมั่นคงปลอดภัยของระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยสร้างเสถียรภาพและความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีมีความซับซ้อนมากขึ้นและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยมาตรการสำคัญประกอบด้วย

 

(1) ผลักดันการใช้มาตรฐานความมั่นคงปลอดภัยสากล เพื่อรับมือภัยไซเบอร์ทั้งระดับองค์กรและระดับประเทศ

 

(2) สร้างกลไกบริหารจัดการและธรรมาภิบาลที่ดีในกลุ่มผู้ให้บริการชำระเงิน

 

(3) ยกระดับการคุ้มครองผู้ใช้บริการ

 

(4) พัฒนาการกำกับตรวจสอบให้เหมาะสมกับลักษณะการให้บริการและระดับความเสี่ยง (Risk-based Supervision)

ด้านการพัฒนาข้อมูลการชำระเงิน (Information)

 

ข้อมูลเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งข้อมูลการชำระเงินสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ในหลายมิติ ด้วยการบริหารจัดการข้อมูลที่เหมาะสมและการพัฒนาอย่างบูรณาการ โดยมาตรการสำคัญในด้านนี้ประกอบด้วย

 

(1) เพิ่มมิติการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานที่มีความพร้อม ภายใต้การกำกับดูแลการใช้ข้อมูล (Data Governance) และการรักษาความเป็นส่วนบุคคลของข้อมูล (Data Privacy) ที่เหมาะสมและรัดกุม

 

(2) เพิ่มประสิทธิภาพการวิเคราะห์และใช้ประโยชน์จากข้อมูลการชำระเงิน เพื่อพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน สนับสนุนงานด้านนโยบายและการกำกับตรวจสอบ

 

แผนกลยุทธ์ระบบการชำระเงิน ฉบับที่ 4 นี้ มุ่งหวังให้ประเทศไทยมี Ecosystem ที่สนับสนุนให้ Digital Payment เป็นทางเลือกหลักในการชำระเงินของทุกภาคส่วน ช่วยอำนวยความสะดวก เพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนการทำธุรกรรมของประชาชนและภาครัฐ เป็นส่วนสำคัญที่สนับสนุนการเติบโตของ SMEs e-Commerce และธุรกิจขนาดใหญ่ ช่วยยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ และสร้างความพร้อมในการเชื่อมโยงกับต่างประเทศ เพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนของคนไทย