ศาสตราจารย์พิเศษจรัญ ภักดีธนากุล

กฎหมายที่ปราศจากธรรมะ ถือเป็นสิ่งอันตราย

กว่าครึ่งชีวิตที่ศาสตราจารย์พิเศษจรัญ ภักดีธนากุล ทำงานคลุกคลีอยู่ในแวดวงศาลยุติธรรมและตุลาการ ท่านดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงยุติธรรม ก่อนได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จากประสบการณ์ไม่ว่าจะเป็นตุลาการในศาลใด ก็มีหลักการทำหน้าที่ไม่ต่างกัน คือ ต้องดำรงตนให้เป็นอิสระมากพอที่จะสามารถดำรงความยุติธรรมให้กับประชาชนและสังคมได้ ในขณะเดียวกัน คือต้องมีความเป็นกลางท่ามกลางความขัดแย้งไม่ว่าจะในทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการเมือง

 

ดำรงตนเป็นกลาง ท่ามกลางความขัดแย้ง


ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่ดูแลอำนาจอธิปไตยของประชาชน ดูแลการใช้อำนาจอธิปไตยของพระมหากษัตริย์ไทยซึ่งเป็นประมุขของรัฐ ให้เป็นไปตามหลักการพื้นฐานของสากล และหลักรัฐธรรมนูญ ระบอบการปกครองของไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 ระบุว่าเราแยกช่องทางการใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชนเป็น 3 ช่องทาง คือ นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ซึ่งถือว่าเป็นเส้นเลือดใหญ่ ส่งเข้า ส่งออก รองรับอำนาจอธิปไตยของประชาชนให้ได้ดุลและคานกันอย่างเหมาะสม ไม่ตกไปอยู่ในกำมือของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง คณะใด คณะหนึ่งทั้งหมด


ภารกิจของศาลรัฐธรรมนูญจะแตกต่างจากศาลอื่น ๆ ตรงที่คู่ขัดแย้งในศาลรัฐธรรมนูญเป็นกลุ่มคนที่มีอำนาจสูงมาก ฉะนั้น จึงมีความยากเพราะไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยไปในทางใด ก็ต้องให้คุณแก่ฝ่ายหนึ่ง และให้โทษแก่อีกฝ่ายหนึ่งเสมอ ซึ่งในสังคมยุคปัจจุบันที่คนต่างมีความคิด หรืออุดมการณ์แตกต่างหลากหลายกัน ทำให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญสามารถถูกโต้แย้งได้แทบทุกครั้ง


“ความยากนี้ทำให้เกิดแรงกระแทกกลับมาที่ศาลรัฐธรรมนูญสูงกว่าที่ศาลอื่น ๆ จนอาจทำให้ศาลฯ สูญเสียความเชื่อมั่นและหมดความน่าเชื่อถือศรัทธาจากประชาชน อันจะนำไปสู่สภาวะที่ปราศจากกระบวนการระงับข้อขัดแย้งโดยสันติ ทำให้ต้องสู้กันด้วยกำลัง ไม่ว่าจะเป็นกำลังทรัพย์ กำลังอำนาจ หรือแม้แต่กำลังฝูงชน ซึ่งจะเป็นผลเสียหายต่อบ้านเมืองร้ายแรง หากเราไม่สามารถรักษากระบวนการยุติธรรมให้คงอยู่และทำหน้าที่ได้”


ด้วยเหตุนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงเหล่าตุลาการจึงต้องเป็นอิสระ มีสถานะที่สามารถดำรงชีวิตอยู่อย่างเป็นกลาง ไม่ขายตน หรือมอบตนเข้าเป็นพลพรรค หรือบริวารของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะไม่เช่นนั้นก็จะไม่สามารถรักษาภาวะมั่นคงที่จะทำงานด้วยความบริสุทธิ์เพื่อให้เกิดผลที่ยุติธรรมได้สำเร็จ


ความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนคือสิ่งที่ค้ำสถาบันตุลาการ

 

ถ้าศาลใดสามารถปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นที่เคารพ เชื่อถือ ศรัทธาของประชาชนได้มากเท่าไร รากฐานและความมั่นคงของศาลนั้นก็จะเข้มแข็งมากเท่านั้น ในทางตรงกันข้าม ถ้าการปฏิบัติหน้าที่ของศาลใดนำไปสู่การเสื่อมความศรัทธา ความเคารพ ความเชื่อถือของประชาชน ศาลนั้นกำลังก้าวเข้าสู่ความตกต่ำ ซึ่งความเสียหายไม่ได้กระทบต่อแค่ศาลเท่านั้น แต่กระทบไปถึงประเทศชาติ รวมทั้งประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะคนด้อยโอกาสจะรู้สึกว่าหาที่พึ่งได้ยาก ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชน คือตอม่อใหญ่ที่ค้ำสถาบันตุลาการเอาไว้


อาจารย์จรัญในฐานะบุคลากรในวงการตุลาการไทย มีปณิธานมั่นคงที่จะรักษาความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนเอาไว้ให้ได้ ด้วยการปฏิบัติให้มั่นคงในหลัก 3I คือ

 

Independent - เป็นอิสระ,

Impartiality - เป็นกลาง 

Integrity - บริสุทธิ์ยุติธรรม

 

          “ประการแรก ต้องมีความเป็นอิสระมากพอที่จะให้ความยุติธรรมกับประชาชนและสังคมได้ ประการที่สอง ต้องมีใจที่เป็นกลางในความขัดแย้งของผู้คน ส่วนต่าง ๆ ในสังคม ในแต่ละมิติ ในแต่ละด้าน ไม่ฝังตัวเข้าเป็นฝักฝ่าย เป็นสาวกหรือบริวาร หรือพวกพ้องของฝ่ายใด ในความขัดแย้งไม่ว่าในทาง เศรษฐกิจ สังคม หรือการเมือง

          “และประการที่สามสำคัญที่สุด ต้องสามารถดูแลระบบคิด ระบบจิตใจ และพฤติกรรมของตัวเองให้อยู่ในกรอบของความบริสุทธิ์ยุติธรรมในความหมายของนักกฎหมายไทย บริสุทธิ์ คือ วิธีการต้องถูกต้อง ยุติธรรม คือ ผลของการวินิจฉัยจะต้องไม่สุดโต่งหรือผิดเพี้ยนไปในทางด้านใดด้านหนึ่ งที่จะทำให้เกิดความฉีกขาดแตกแยกของผู้คนในสังคม”

 

สละเสรีภาพส่วนบุคคลเพื่อรักษาไว้ซึ่งความเป็นกลาง

 

          หลักคิดการทำงานของอาจารย์จรัญได้รับการปลูกฝังจากผู้พิพากษา ตุลาการไทยรุ่นก่อน ๆ นับตั้งแต่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ หรือกระทั่งได้เข้าเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ อาจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ และอาจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร ซึ่งท่านเหล่านี้มีแนวทางที่จะอบรมสั่งสอนคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาในวงการตุลาการให้พยายามรักษาภารกิจให้มั่นคงต่อไป

          “บางอย่างอาจทำให้เราต้องยอมลดละการใช้สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของเราลงบ้าง อย่างถ้าเราจะเข้าไปคลุกคลีใกล้ชิดสนิทสนม จนภาพที่ออกมาในสังคมมองว่าเราเป็นพวกพ้องของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มคนที่กำลังพิพาทขัดแย้งกันในสังคม ภาพลักษณ์ของความเป็นกลางก็จะสูญเสียไป ถึงแม้เราจะรักษาความเป็นอิสระที่สังคมมอบให้ได้ ถึงแม้เราจะมีความบริสุทธิ์ยุติธรรมในระบบคิด และการทำหน้าที่ แต่สังคมจะไม่เชื่อ และเมื่อสังคมไม่เชื่อว่าเราเป็นกลาง ความเชื่อถือศรัทธา และความมั่นคงของสถาบันนี้ก็จะเสื่อมไป เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องพยายามหลีกเลี่ยงภาพแบบนี้ไม่ให้เกิดขึ้น งานบางประเภทจึงต้องมีจรรยาบรรณ หรือจริยธรรมที่ละเอียดอ่อนกว่ากฎหมาย”

 

หากเราไม่ได้อ่านกฎหมาย เราจะรู้กฎหมายไหม
รู้ตัวอีกทีก็โดนกฎหมายเล่นงานเสียแล้ว
เหมือนกันหากเราไม่รู้ธรรมะ หรือธรรมนูญของชีวิต
เราจะรู้ก็ต่อเมื่อเราถูกธรรมนูญบทนั้นเล่นงาน
ซึ่งก็สายไปเสียแล้ว

 

ธรรม คือ ธรรมนูญชีวิต

 

          อาจารย์จรัญออกตัวว่าไม่ใช่นักอ่านตัวยง หนังสือส่วนใหญ่ที่ผ่านตา ผ่านสมองมักเป็นหนังสือเกี่ยวกับกฎหมายและความรู้อื่น ๆ ที่นำมาเชื่อมโยงกับกฎหมาย อาจารย์เอ่ยถึงพระไตรปิฏกที่บันทึกคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอาไว้ถึง 45 เล่มว่าเป็นหนังสือที่ดีที่สุดในโลกชุดหนึ่ง

          “ไม่มีหนังสืออะไรจะวิเศษเท่าหนังสือชุดนี้ และไม่จำเป็นต้องอ่านทั้งหมด ผมใช้วิธีเสี่ยงทาย ทุกครั้งที่ได้เข้าไปอยู่โดยลำพังหน้าตู้พระไตรปิฏก ก็จะตั้งใจว่าขอดูสักบทหนึ่ง เผื่อท่านจะให้แนวทางในการดำเนินชีวิตดี ๆ ผมอ่านเพื่อค้นหาหลักธรรมข้อเดียวในวาระนั้นและก็มักจะได้อะไรดี ๆ

          “ครั้งหนึ่งในเวลาสั้น ๆ เพียงแค่ไม่ถึง 15 นาที ผมพบว่ามีพระพุทธวจนะบทหนึ่งบอกให้รู้ว่า คนเราไม่มีใครหลีกหนีลูกศรดอกแรกได้พ้น ทุกคนจะต้องถูกลูกศรดอกนั้นเป็นครั้งคราว ดีบ้าง ร้ายบ้าง ส่วนใหญ่ก็เป็นลูกศรที่สร้างความเจ็บปวดให้แก่ชีวิต แต่ขอให้อย่าโดนลูกศรดอกที่ 2 ที่เกิดจากกิเลสร้ายของเราเองยิงซ้ำ เพราะจะทำร้ายเราซ้ำสองให้เจ็บปวดแสนสาหัส

          “เหมือนกับถ้าหากเราไม่ได้อ่านกฎหมายเราจะรู้กฎหมายไหม รู้อีกทีก็โดนกฎหมายเล่นงานเสียแล้ว เพิ่งเริ่มเรียนรู้กฎหมายบทนั้น เมื่อถูกกฎหมายบทนั้นเล่นงาน เหมือนกันหากเราไม่รู้ธรรมะ หรือธรรมนูญของชีวิต เราจะรู้ก็ต่อเมื่อเราถูกธรรมนูญบทนั้นเล่นงาน ซึ่งก็สายไปเสียแล้ว”

         ธรรมะได้ฝังรากลึกเป็นแนวคิดการทำงานในฐานะตุลาการของอาจารย์จรัญ ทำให้สามารถแยกแยะความผิดถูกได้อย่างเด็ดขาด ทั้งนี้ อาจารย์อยากให้คนทั่วไปสามารถมองทะลุถึงความผิดถูกได้เช่นเดียวกัน


อาจารย์แจกแจงให้เห็นว่า ผิด-ถูกมีหลายระดับ เริ่มต้นจากระดับสมมุติ เป็นบทบัญญัติในทางโลก ใช้เกณฑ์ภาวะวิสัยและสภาพการณ์บอกว่าผิดหรือถูก มีกฎหมาย คือ บัญญัติ ซึ่งหากทำอะไรแล้วก็ทำให้ทุกคนรอบข้างมีความสุขกาย สบายใจ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นั่นเป็นความถูกต้อง เป็นการกระทำที่ดีงาม ควรส่งเสริม ในขณะที่สิ่งที่ตรงกันข้ามก็เป็นของที่ผิด

          “ผิดถูกแบบนี้ไม่ใช่ของจริง แต่ขึ้นอยู่กับสังคม ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ การกระทำอย่างนี้ในประเทศหนึ่งได้รับการยกย่องว่าเก่งกล้าสามารถ ดีงามเป็นประโยชน์ แต่หากไปทำแบบเดียวกันในอีกสังคม หรืออีกประเทศหนึ่งอาจเป็นอาชญากรรมก็ได้ นี่คือผิดถูกในระดับสมมุติบัญญัติ เราก็ต้องรู้ให้เท่าทันและดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับสมมุติบัญญัติในสังคมของเรา

          “ต่อมา คือ ผิด-ถูกในระดับศีลธรรม ถ้าทำอะไรในทางที่ผิดศีลธรรม แม้ไม่ผิดกฎหมายแต่ก็รู้แก่ใจว่าผิด เช่น ผิดในทางไปละเมิดศีลข้อใดข้อหนึ่ง แต่นี่ก็ไม่ใช่ผิด-ถูกที่แน่นอนอีก เพราะศีลธรรมในแต่ละสังคมนั้นยังต่างกัน สิ่งที่ถูกต้องตามศีลธรรมของสังคม ความเชื่อหนึ่ง อาจเป็นสิ่งที่ใช้ไม่ได้ในมาตรฐานศีลธรรมอีกสังคมหนึ่งก็ได้ ผิด-ถูกในระดับนี้จะละเอียดกว่ากฎหมาย

          “แต่มีผิดถูกที่เด็ดขาด ไม่ต่างกันไม่ว่าจะอยู่ที่ประเทศไหน หรือช่วงระยะเวลาใด คือ กุศลและอกุศล ซึ่งอกุศล คือ ผิด เพราะพาให้เกิดความเสื่อม ความวิบัติ ความเดือดร้อน ส่วน กุศล คือ ถูก เพราะจะพาให้เกิดผลไปในทางงอกงาม เจริญ ปลอดภัย เราจึงต้องรู้จักแยกกุศลกับอกุศล ถ้าเราแยกตามกฎหมายอาจไม่แม่น เราแยกตามศีลธรรมในกลุ่มชนหรือความเชื่อของเราก็อาจยังไม่แม่น อาจถือว่าอกุศลกลายเป็นกุศลได้ แต่หากใช้หลักวิชาว่ากุศล-ถูก, อกุศล-ผิด นั้นถือเป็นผิดถูก ที่แน่นอนเด็ดขาด”