ดร.วรพร ตั้งสง่าศักดิ์ศรี 
กับการบริหารงานบุคคลเพื่อปลดล็อกศักยภาพพนักงานและขับเคลื่อน ธปท. สู่องค์กรสมัยใหม่

 

หลายปีที่ผ่านมา เรามักได้ยินข่าวการเร่งปรับโครงสร้างองค์กรและการบริหารบุคคลของสถาบันการเงินเพื่อรับมือกับผลกระทบของ Disruptive Technology ที่กระทบในหลายรูปแบบ ทั้งพฤติกรรมของคนและโมเดลธุรกิจที่เปลี่ยนไป และเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับโลกอนาคตที่มีแนวโน้มผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน และยากจะคาดเดา (VUCA) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะผู้กำกับดูแลภาคการเงินการธนาคารและดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศ

 

ในภาพรวมก็ได้ปรับตัวในเรื่องนี้เช่นกัน BOT พระสยาม MAGAZINE ได้รับเกียรติจาก ดร.วรพร ตั้งสง่าศักดิ์ศรี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายทรัพยากรบุคคลและพัฒนาองค์กร ผู้รับผิดชอบงานการปรับโครงสร้างองค์กรและการบริหารบุคคลของ ธปท. มาให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ รวมถึงวิสัยทัศน์ต่อการเตรียมพร้อมองค์กรเพื่อรับมือโลกในอนาคตที่จะไม่เหมือนเดิม

 


ธปท. กับบริบทโลกที่ไม่เหมือนเดิม

 

“ภายใต้บริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วและมีลักษณะ VUCA เช่นนี้ ผมคิดว่า โจทย์ของ ธปท. พิเศษกว่าองค์กรอื่น กล่าวคือ ในด้านหนึ่ง การทำงานของ ธปท. ต้องสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งหมายความว่า เราต้องขับเคลื่อน ธปท. ไปสู่องค์กรที่ Agile มากขึ้น เพื่อเอื้อต่อการพัฒนาและสนับสนุนการปรับตัวของภาคการเงินและภาคเศรษฐกิจจริง แต่ในอีกด้านหนึ่ง ธปท. ต้องดูแลเสถียรภาพในภาพรวมควบคู่ไปด้วย ที่ต้องอาศัยความซื่อสัตย์-รอบคอบ-เป็นกลาง ซึ่งเป็น DNA ของคน ธปท. ก็ต้องไม่ทิ้ง”

 


มุ่งสู่องค์กรสมัยใหม่ที่ Agile

 

“ในความคิดผม คุณสมบัติขององค์กรที่ Agile คือองค์กรที่ทำงานมุ่งสู่ผลสำเร็จเป็นเป้าหมาย โดยไม่ต้องเน้นรูปแบบและขั้นตอนมาก นี่คือทิศทางที่เราพยายามผลักดัน ธปท. ให้เดินหน้าไป ขณะเดียวกัน เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ธปท. เป็นองค์กรที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีโครงสร้างองค์กรใหญ่และมีลำดับขั้นการบังคับบัญชามาก การบริหารงานที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยม ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นลักษณะร่วมของธนาคารกลางทั่วโลก จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายอยู่ไม่น้อย”

 


การสรรหาและเตรียมคนเพื่อตอบโจทย์องค์กร

 

“แน่นอนว่า ทุกองค์กรต้องการ ‘คนเก่งและดี’ ซึ่งผมคิดว่า ธปท. มีจุดแข็งในการดึงดูดคนที่มีคุณสมบัติดี ๆ เข้ามาร่วมงานได้ เพราะที่นี่ทำให้เรามีโอกาสทำงานเพื่อประเทศชาติ อย่างไรก็ดี เราจะอาศัยชื่อเสียงและเกียรติภูมิในอดีตอย่างเดียวไม่ได้ เพราะทุกวันนี้ตลาดแรงงานมีการแข่งขันอย่างรุนแรง แต่ละองค์กรต้องการดึงดูดคนเก่งในสาขาอาชีพต่าง ๆ เข้ามาเสริมศักยภาพองค์กรเช่นกัน ขณะเดียวกัน สิ่งที่เราไม่สามารถมองข้ามไปได้คือ ศักยภาพที่ซ่อนอยู่ของพนักงาน ธปท.

 

 

“ผมจึงคิดว่า ความท้าทายในการหาและเตรียมคนเพื่อตอบโจทย์องค์กรมีอย่างน้อย 3 เรื่องสำคัญ

 

 

เรื่องแรก เราจะแข่งขันกับตลาดเพื่อดึงคนเหล่านี้เข้ามาร่วมงานกับเราได้อย่างไร?

 

 

เรื่องต่อมา เราจะรักษาคนเก่ง-คุณสมบัติดีที่มีอยู่ไม่ให้ถูกตลาดดึงไปได้อย่างไร?

 

 

เรื่องที่สาม ทำอย่างไรจึงจะดึงศักยภาพที่หลากหลายของพนักงานออกมาให้เกิดประโยชน์กับองค์กรมากที่สุด?”

 


การเป็นองค์กรที่ Attractive คือหนึ่งในโจทย์สำคัญ

 

“ในการก้าวข้ามความท้าทาย ผมคิดว่า สิ่งสำคัญคือ จะทำอย่างไรให้ ธปท. เป็นองค์กรที่มีเสน่ห์หรือ Attractive Organization ที่จะดึงดูดให้คนเก่งและมีคุณสมบัติดี ๆ อยากเข้ามาร่วมงาน รวมถึงมัดใจไว้ได้ และการจะทำให้ ธปท. เป็นองค์กรที่ Attractive ผมคิดว่า จะต้องทำ 3 ด้านให้ดี ได้แก่ พนักงานได้รับการดูแลอย่างดี กระบวนการทำงานและระบบงานมีประสิทธิภาพ รวมทั้งบรรยากาศการทำงานที่เหมาะสมกับจริตของคนที่หลากหลาย จึงจะนำไปสู่องค์กร Agile ที่พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงบริบทโลกได้ โดยสิ่งที่อยู่ใน Focus ขณะนี้คือ

 

 

“ด้านที่หนึ่งคือ พนักงาน ในเรื่องแรกคือ ‘พัฒนาคน’ ผมเชื่อว่า พนักงาน ธปท. มีพื้นฐานดี สามารถต่อยอดในเชิงองค์ความรู้ได้ไม่ยาก แต่การพัฒนาพนักงานให้มีพฤติกรรมที่สอดคล้องกับคุณสมบัติองค์กรที่ Agile เป็นเรื่องสำคัญ เพราะคนคือคำตอบของทุกเรื่อง ถ้าปักหมุดได้ถูกต้อง องค์กรก็สามารถเดินหน้าตามทิศทางที่วางไว้ได้ โดย ธปท. พยายามปลูกฝังให้พนักงานให้คุณค่ากับพฤติกรรม 5 ด้าน ได้แก่

 

          1. ยืนหยัดในหลักการที่ถูกต้อง ยึดมั่นในคุณธรรม-ธรรมาภิบาล ซึ่งข้อนี้เป็นคุณสมบัติพื้นฐานพวกเราอยู่แล้ว แต่ถ้าเน้นแต่ข้อนี้อย่างเดียว อาจทำให้ติดอยู่ในกรอบและกลายเป็นข้อจำกัดในการปรับตัวรับมือกับบริบทโลกปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องมีพฤติกรรมด้านอื่น ๆ เสริมด้วย

 

          2. รู้ลึก-รู้รอบ-คิดไกล-มีวิสัยทัศน์ เพื่อขยายกรอบความคิด มุมมองและประสบการณ์

 

          3. เปิดใจ-รับฟัง-แบ่งปัน ซึ่งจะเป็นประตูสู่ความเข้าถึง เข้าใจ และทำงานร่วมกับผู้อื่นได้

 

          4. คล่องตัว-ทันการณ์ ปรับตัวได้รวดเร็ว ตอบสนองต่อสถานการณ์ได้ทันการณ์ และ

 

          5. มุ่งผลลัพธ์ขององค์กร โดยไม่เน้นรูปแบบและขั้นตอนมาก

 

“ในอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญมากคือ ‘การดูแลคุณภาพชีวิตที่ดีของพนักงาน’ ซึ่งคุณภาพชีวิตไม่ได้หมายความเพียงการมี Work-Life Balance ที่เราพยายามส่งเสริมมาต่อเนื่อง แต่มีนัยรวมถึงความจำเป็นในการปรับระบบผลตอบแทนและแรงจูงใจให้ยืดหยุ่น สอดคล้องกับความต้องการและสิ่งที่พนักงานให้คุณค่าควบคู่ไปด้วย

 

“นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจกับทุกฝ่ายคือ การดูแลคุณภาพชีวิตที่ดีของพนักงาน ไม่ใช่เรื่องของสายงานใดสายงานหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่ทุกสายงานต้องให้ความสำคัญ

 

“ด้านที่สองคือ การปรับปรุงกระบวนการทำงานและระบบงาน โดยลด-ละ-เลิก กระบวนการทำงานที่ไม่จำเป็น และลดลำดับขั้นในการตัดสินใจลง (Empowerment) รวมถึงเพิ่มการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีมากขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน

 

“ด้านที่สามคือ การสร้างบรรยากาศการทำงานที่เอื้อให้คนเก่งที่มีอยู่มากใน ธปท. ได้ปลดปล่อยศักยภาพอย่างเต็มที่ (Unleash Potential) และมีความสำเร็จที่แต่ละคนภูมิใจได้ ซึ่งสิ่งที่ผมสัมผัสมาตลอดคือ พนักงาน ธปท. เก่ง แต่ยังไม่มีโอกาสแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่ จึงจำเป็นต้องสร้างบรรยากาศการทำงานให้เอื้อต่อการระเบิดศักยภาพของพนักงาน โดย 

 

  • สร้าง Platform และเพิ่มรูปแบบการทำงานที่หลากหลายเพื่อให้คนเก่งมีเวทีปลดปล่อยศักยภาพมากขึ้น และยังจะช่วยขยายความร่วมมือ (Collaboration) ระหว่างสายงาน รวมทั้งให้คนที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ที่แตกต่างกัน มาทำงานร่วมกันได้ง่ายขึ้น เพื่อร่วมกันตอบโจทย์ที่ยากและซับซ้อนขึ้นขององค์กร

 

  • ส่งเสริมบรรยากาศการทำงานที่ ‘มองแต่ดีมีแต่ได้’ และ ‘การให้กำลังใจซึ่งกันและกัน’ เพื่อสนับสนุนให้คนกล้าคิด กล้าลอง กล้าทำ เมื่อผิดพลาดพร้อมลุกขึ้นมาทำใหม่

 

“และผมเชื่อว่า หากสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ธปท. จะเป็นองค์กรในดวงใจของพนักงาน และสามารถดึงดูดคนเก่งและดีเข้ามาร่วมงานกับ ธปท. ได้ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อน ธปท. ต่อไป”

 

สิ่งที่ดำเนินการ

 

“2 - 3 ปีที่ผ่านมา ธปท. ดำเนินการในหลายเรื่อง ที่สำคัญและทำกันค่อนข้างเข้มข้นคือ ปลูกฝังพฤติกรรม 5 ด้าน โดยให้พฤติกรรมข้อที่ 5 ได้แก่ การทำงานที่มุ่งผลสำเร็จเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก ด้วยการทำให้ผู้บริหารนึกถึง ‘Intended Outcome’ ทุกครั้งในการทำงาน และเปิดใจรับฟัง Stakeholder มากขึ้น ซึ่งผมคิดว่า ผู้บริหารระดับสูงซึมซับแนวคิดเรื่องนี้มากแล้ว และผลการทำงานตามแนวทางนี้ได้รับการยอมรับจาก Stakeholder ซึ่งตอนนี้ เราพยายามผลักดันเรื่องเหล่านี้เข้าไปในการทำงานของพนักงานทุกระดับ

 

“และเพื่อให้พนักงานมีความรู้ลึก-รู้รอบ-คิดไกล-มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล เราได้ขยายโอกาสให้พนักงานหมุนเวียนงานทั้งภายในและภายนอกองค์กรมากขึ้น รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างพนักงานกลุ่มต่าง ๆ มากขึ้น

 

“นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการในด้านอื่น ๆ ที่สำคัญได้แก่

 

  • การพัฒนาและดูแลคุณภาพชีวิตพนักงาน ผมคิดว่า ปัจจุบันพนักงานได้รับโอกาสดีกว่าอดีตหลายอย่าง ทั้งในด้านการเลื่อนตำแหน่ง ที่เปิดกว้างให้สมัครเข้ารับการคัดเลือกในตำแหน่งที่สนใจได้ โดยเริ่มจากตำแหน่งผู้อำนวยการ การพัฒนาที่เปิดให้พนักงานได้ Upskill ผ่าน Online Platform มากขึ้น โดยเริ่มจากทักษะด้านเทคโนโลยี ขณะเดียวกัน เรามีระบบสนับสนุนการทำงานมากมาย และมีอิสระในการทำงานมากขึ้น เช่น การวางโครงสร้างพื้นฐานให้พนักงานพร้อมทำงานที่ไหนก็ได้ การบันทึกเวลาทำงานที่ยืดหยุ่น ซึ่งประเด็นเหล่านี้ เรายังสามารถพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นได้อีก

 

  • การลดลำดับขั้นการตัดสินใจ เช่น การปรับโครงสร้างองค์กร ที่อดีตต้องขออนุมัติจากคณะกรรมการ ปัจจุบันให้สิทธิส่วนงานปรับโครงสร้างภายในเพื่อช่วยให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการมากขึ้น

 

  • การสร้างบรรยากาศการทำงาน โดยเฉพาะการสร้างวัฒนธรรมการทำงานร่วมกัน เราเริ่มนำการทำงานแบบ Squad มาใช้ เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสายงานมาทำงานร่วมกัน เพื่อนำความรู้และประสบการณ์ที่หลากหลายมาช่วยกันตอบโจทย์ที่ท้าทายใหม่ ๆ ของ ธปท. และเร็ว ๆ นี้ เรากำลังจะทดลองเปิด Platform ใหม่ ให้พนักงานรวมกลุ่มกันทำงานที่ตัวเองสนใจได้อย่างอิสระ เพื่อสร้าง Community Idea และเป็นเวทีให้พวกเขาได้ลองผิดลองถูกซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการสร้างนวัตกรรมต่อไปในอนาคต ซึ่งเรามีระบบสนับสนุนและงบประมาณให้ด้วย

 

“อย่างไรก็ดี เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการต่อเนื่อง ก็ต้องยอมรับว่า ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ แต่อะไรที่ยังไม่ดีก็ต้องค่อย ๆ แก้ปัญหาไป เพราะเรื่องคนหรือองค์กรไม่มีอะไรที่เป็นสูตรสำเร็จ ขณะเดียวกัน อะไรดีก็ขยายผลในวงกว้างมากขึ้น”

 

เงื่อนไขความสำเร็จ

 

“ในการขับเคลื่อน ธปท. จากองค์กรที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานไปสู่องค์กรที่ Agile และ Attractive ดึงดูดให้คนสนใจอยากเข้ามาทำงาน แม้จะมีความตั้งใจและแนวทางการขับเคลื่อนแล้ว แต่การขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังย่อมต้องใช้เวลา ความอดทน และความเสียสละจากทุกฝ่าย เพราะในระยะแรกย่อมมีอะไรที่ติดขัด ไม่ลงตัว ซึ่งเป็นธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลง

 

“และแน่นอนว่า เงื่อนไขความสำเร็จของเรื่องนี้ นอกจากความตั้งใจของผู้บริหารระดับสูงแล้ว การยอมรับและร่วมมือของผู้บริหารระดับรองลงมาจนถึงพนักงานทุกคนเป็นสิ่งจำเป็น การขับเคลื่อนองค์กร จึงไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง หรือสายงานใดสายงานหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของทุกสายงาน ทั้งระดับบริหารและพนักงาน เมื่อทุกคนร่วมกันเป็นพลังในการขับเคลื่อน จึงจะเกิดความสำเร็จอย่างแท้จริง”

 

และนี่คือ ดร.วรพร ตั้งสง่าศักดิ์ศรี กับความตั้งใจปลดล็อกศักยภาพพนักงาน ธปท. เพื่อปูทางไปสู่องค์กรสมัยใหม่ที่คล่องตัว และมีเสน่ห์ดึงดูดคนมาร่วมงานด้วย เพื่อรับมือกับบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วและมีลักษณะ VUCA ที่แม้ขณะเริ่มสัมภาษณ์ ท่านจะออกตัวว่าเพิ่งย้ายมาดำรงตำแหน่งนี้ได้เพียงไม่กี่เดือน แต่เมื่ออ่านถึงตรงนี้แล้ว ทุกคนคงคิดไม่ต่างกันว่า โจทย์ที่ท่านได้รับไม่ง่ายแต่ความตั้งใจท่านเต็มร้อย