​เปลี่ยนปัจจุบัน ทันเศรษฐกิจแห่งอนาคตกับ

“ก้าวที่กล้า” ของ ดร.สันติธาร เสถียรไทย

ในประเทศไทย มีนักเศรษฐศาสตร์ไม่กี่คนที่ผันตัวเข้ามาทำงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีอย่างจริงจัง เพราะการก้าวออกจาก Comfort Zone ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะการก้าวออกจาก “โลกเก่า” เช่นอุตสาหกรรมการเงินรูปแบบเดิม ไปสู่ “โลกใหม่” ที่แทบไม่รู้จัก เช่นอุตสาหกรรมดิจิทัล BOT พระสยาม MAGAZINE ฉบับนี้ ได้รับเกียรติจากหนึ่งในนั้นคือ ดร.สันติธาร เสถียรไทย เจ้าของสมญานาม “นักเศรษฐศาสตร์ภาคเทคโนโลยีแห่งเอเชีย” Group Chief Economist ของ Sea Limited บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของอาเซียน ซึ่งเป็นผู้ให้บริการที่เป็นรู้จัก และได้รับความนิยม อาทิ เกม RoV อีคอมเมิร์ซ Shopee และ AirPay มาเปิดใจถึง “ก้าวที่กล้า” ออกจากโลกเดิม เพื่อเผชิญกับอนาคตที่ไม่เคยคุ้น ซึ่งเชื่อว่ามุมมองและประสบการณ์ดังกล่าวจะมีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อคนทำงานยุคนี้อย่างมาก


การก้าวออกจาก “โลกเก่า” เข้าสู่ “โลกใหม่”

 

วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ทำให้ชีวิตใครหลายคนพัง แต่สำหรับ ดร.สันติธาร วิกฤตต้มยำกุ้งเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาเลือกที่จะศึกษาทางด้านเศรษฐศาสตร์ เพื่อทำความเข้าใจในเหตุการณ์ครั้งนั้น รวมถึงหาแนวทางป้องกันวิกฤตเศรษฐกิจในอนาคต ใบเบิกทางที่ทำให้เขาเข้าสู่เส้นทางสายนักเศรษฐศาสตร์การเงินเริ่มต้นที่กระทรวงการคลัง และเข้าสู่เส้นทางสายวิชาการด้วยการเป็นอาจารย์พิเศษด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

จุดเปลี่ยนอีกครั้งเกิดขึ้นหลังจบการศึกษาปริญญาโทและเอกจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดย ดร.สันติธารได้เข้าทำงานภาคการเงินระหว่างประเทศที่ธนาคารเครดิตสวิส (Credit Suisse) ประจำสิงคโปร์ ซึ่งตำแหน่งสุดท้ายก่อนออกจากอุตสาหกรรมการเงินคือ Head of Emerging Asia Economics Research

 

เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่ผ่านมา ดร.สันติธารตัดสินใจก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล โดยร่วมงานกับ Tech Startup มูลค่ากิจการระดับหมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (Decacorn) อย่าง Sea Limited ในตำแหน่ง Group Chief Economist หรือ “ประธานนักเศรษฐศาสตร์” ซึ่งมีบทบาทด้านบริหารเช่นเดียวกับผู้บริหารระดับ C Level อื่น เป็นตำแหน่งที่ไม่เคยมีมาก่อนในบริษัทเทคโนโลยีของเอเชีย

“ตำแหน่งนี้ตั้งขึ้นมาตอนที่ผมเขียนแผนโครงการไปเสนอว่าบริษัทควรมีตำแหน่งนี้ โดยมีหน้าที่หลัก 2 ประการ ได้แก่

 

(1) การสร้างองค์ความรู้โดยรวม มีหน้าที่ศึกษาวิจัยผลกระทบของเทคโนโลยีดิจิทัลกับเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ และศึกษาปัจจัยที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียน เพื่อทำให้บริษัทก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำทางความคิด (Thought Leader) ในอุตสาหกรรมนี้ และ

 

(2) การเป็นสะพานเชื่อมกับภาครัฐ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายและสร้างระบบนิเวศเศรษฐกิจดิจิทัล โดยใช้เทคโนโลยีเป็นตัวสร้างโอกาสในการพัฒนาคนและเปลี่ยนแปลงสังคม”

 

 

 

“ความกลัว” เป็นวัตถุดิบของความกล้า

 

ก่อนก้าวออกจาก Comfort Zone ในโลกการเงิน ดร.สันติธาร ก็เหมือนนักเศรษฐศาสตร์การเงินหลายคน ที่มีความถนัดและเชี่ยวชาญในแวดวงของตน แต่ในโลกแห่งเทคโนโลยีดิจิทัล เรียกได้ว่าเขาคือ “มือใหม่” ที่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้น้อยมาก เขาต้องมานั่งเรียนรู้ใหม่ทั้งหมด

 

ความเข้าใจเรื่องเทคโนโลยีค่อย ๆ สะสมจากการค้นคว้าข้อมูล เพื่อเขียนบทความเกี่ยวกับโลกอนาคตในหลากหลายแง่มุมลงในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ จนสามารถรวมเล่มเป็นหนังสือ “Futuration: เปลี่ยนปัจจุบัน ทันอนาคต”

 

ผู้บริหารหนุ่มเล่าว่า การเขียนหนังสือถือเป็นการอุ่นเครื่องให้เขาเริ่มรู้จักโลกอนาคต กระทั่งวันหนึ่ง มีทางเลือกเข้ามาให้ต้องตัดสินใจ ระหว่างการทำงานสายงานเก่าในตำแหน่งที่สูงขึ้น หรือเปลี่ยนไปสายงานใหม่ที่ดูน่ากลัวเพราะไม่คุ้นเคย แต่สุดท้าย เขาเลือกสายงานที่น่ากลัว เพราะมองว่าท้าทาย และน่าจะทำให้เขากระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ยิ่งขึ้น

 

“แน่นอน ผมกลัวการลองสิ่งใหม่ กลัวที่จะล้มเหลว กลัวเสียหน้า แต่สิ่งที่กลัวมากกว่า คือกลัวเสียโอกาส กลัวว่าวันหนึ่ง เมื่อมองย้อนมา จะตอบตัวเองไม่ได้ว่าเราได้พยายามเต็มที่แล้ว และที่สำคัญ กลัวว่าถ้าลูกถามว่าตอนนั้นพ่อเลือกอะไร แล้วเราตอบว่าพ่ออยู่ที่เดิม มันเหมือนกลืนคำพูดตัวเอง เพราะหนังสือที่เราเขียนไว้บอกว่าในโลกอนาคต มนุษย์ต้องกล้าที่จะออกจาก Comfort Zone กล้าเปลี่ยนตัวเองก่อนจะโดนเปลี่ยน และต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต

 

 

"ความพ่ายแพ้นั้นไม่ได้แย่เสมอไป เพราะมันทำให้เราแกร่งขึ้น

และมันก็ไม่ได้อยู่กับเราตลอด
เพราะถ้าเรามุ่งมั่น ก็มีสิทธิ์ชนะได้
หรือแม้ว่าเราพยายามทำเต็มที่แล้วยังไม่สำเร็จ
เพราะโอกาสยังไม่มา
ถ้าเรามุ่งมั่นและเตรียมความพร้อมให้ตัวเองเสมอ
เมื่อโอกาสมาถึง เราจะสามารถคว้าและ
ประสบความสำเร็จได้”

 

“จริง ๆ แล้ว ความกลัวไม่ใช่สิ่งที่แย่เสมอไป เพราะความกลัวเป็นวัตถุดิบของความกล้า เวลาที่คนเรากลัวสิ่งใด แสดงว่ากำลังจะออกไปลองสิ่งใหม่ หรือออกจากบริบทที่คุ้นเคย ซึ่งถ้าทำความรู้จักและความเข้าใจกับสิ่งนั้นมากพอ ความกล้าจะเข้ามาแทนที่ แต่ถ้าไม่กล้าเผชิญความกลัว คุณจะอยู่เฉย ไม่ทำอะไรใหม่ นั่นแปลว่าคุณจะไม่มีโอกาสได้ก้าวไปไหน และไม่ได้เรียนรู้อะไรใหม่ ฉะนั้น ความกลัวเป็นสิ่งดี ถ้าเราใช้มันให้เป็น”

 

กล่าวได้ว่า หนังสือ Futuration สำหรับ ดร.สันติธาร แล้วเป็น “หนังสือที่เริ่มด้วยความกลัวแต่จบด้วยความกล้า” ซึ่งกลายเป็นแรงบันดาลใจที่จุดประกายผู้อ่านและตัวผู้เขียนเอง ให้กล้าเผชิญหน้ากับความกลัวในโลกการทำงานยุคดิจิทัล

 

ความสำเร็จในโลกนี้ ไม่เคยมาจากความโชคดี

 

จากเส้นทางการศึกษาจนมาสู่เส้นทางการทำงาน หลายคนมองว่า เส้นทางชีวิตของ ดร.สันติธาร น่าจะพบกับความสำเร็จมาตลอด แต่เขาเล่าว่า ชีวิตเขาผ่านความล้มเหลวมามาก ตั้งแต่สมัยเด็ก เนื่องจากต้องย้ายโรงเรียนหลายครั้งเพราะหลายปัจจัย ทำให้ที่ผลการเรียนที่กำลังจะไปได้ดีกลับตกลงมา หรือกว่าจะได้รับเลือกให้เรียนปริญญาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เขาถูกปฏิเสธมาแล้ว 2 - 3 ครั้ง แต่ด้วยความมุ่งมั่น ในที่สุดก็ได้รับคัดเลือกให้เข้าเรียน หรือกว่าที่จะได้งานที่ Credit Suisse เขาสมัครงานไปถึง 30 กว่าแห่ง แต่ได้รับพิจารณาให้เข้าสัมภาษณ์ไม่ถึง 10 แห่ง

 

“ความล้มเหลวมีอยู่ตลอดเวลา จึงมีโอกาสเป็นทั้งผู้แพ้และผู้ชนะ ทำให้รู้ว่าความพ่ายแพ้นั้นไม่ได้แย่เสมอไป เพราะมันทำให้เราแกร่งขึ้น และมันก็ไม่ได้อยู่กับเราตลอด เพราะถ้าเรามุ่งมั่น ก็มีสิทธิ์ชนะได้ หรือแม้ว่าเราพยายามทำเต็มที่แล้วยังไม่สำเร็จ เพราะโอกาสยังไม่มา ถ้าเรามุ่งมั่นและเตรียมความพร้อมให้ตัวเองเสมอ เมื่อโอกาสมาถึง เราจะสามารถคว้าและประสบความสำเร็จได้”

 

เหมือนกับคำทำนายในคุ้กกี้เสี่ยงทายที่ ดร.สันติธาร ได้รับสมัยเรียนอยู่สหรัฐอเมริกา ที่กล่าวว่า “Luck is when preparation meets opportunity” ซึ่งเขานำมาใช้เป็นคติเตือนใจในการทำงานเสมอ ด็อกเตอร์หนุ่มย้ำว่า หลายครั้งเวลาที่มองความสำเร็จของใครคนหนึ่งว่าเป็นเพราะ “โชคดี” แต่ในความเป็นจริง เบื้องหลังความสำเร็จของคนนั้น เขาอาจใช้เวลาเตรียมพร้อมมานานมาก จนวันที่โอกาสมาถึง เขาจึงสามารถคว้าไว้ได้


“สิ่งที่เราทำได้คือเตรียมพร้อมให้เต็มที่ และทำไปเรื่อย ๆ ความสำเร็จหลายอย่างต้องใช้เวลาและความอดทน คนรุ่นใหม่มักใจร้อนเกินไป หลายคนพอไม่สำเร็จก็หมดไฟ ผมไม่กลัวคนไทยสมองไหลออกไปต่างประเทศ หรือย้ายจากองค์กรนี้ไปองค์กรอื่น แต่กลัวคนหมดไฟแล้วออกจากเส้นทางการทำงานและการเรียนรู้ ซึ่งแปลว่าเขาจะไม่มีวันประสบความสำเร็จ และโลกต้องสูญเสียทรัพยากรไปด้วย”

 

 

งานอดิเรกที่ให้อะไรมากกว่าความเพลิดเพลิน

 

         ดร.สันติธาร มีงานอดิเรกที่โปรดปรานหลายกิจกรรม ทั้งเล่นดนตรี เล่นกีฬา (บาสเกตบอล) ท่องเที่ยว ถ่ายรูป อ่านหนังสือ และดูภาพยนตร์ ซึ่งล้วนสร้างคุณค่าให้กับเวลาในยามว่างได้ดี โดยเฉพาะดนตรี

 

         เขาเล่าว่า สมัยก่อนเขาชอบเล่นดนตรีแนวแจ๊ส เพราะดนตรีแนวนี้มีทั้งส่วนที่เปิดโอกาสให้ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในช่วงของ “การด้นสด (Improvise)” ขณะที่การเล่นดนตรีในวงแจ๊สยังให้ข้อคิดเรื่องการทำงานเป็นทีม เพราะในช่วงของการด้นสด จำเป็นที่วงจะต้องมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและรู้ทางกัน เพื่อที่จะทำให้การด้นสดนั้นไพเราะยิ่งขึ้น

 

         หลังจากมีลูก การท่องเที่ยวและการเล่นบาสฯ เริ่มลดลง ส่วนดนตรียังเล่นบ้างแต่เริ่มเปลี่ยนแนวเป็นเพลงของเด็ก การถ่ายรูปก็เน้นรูปครอบครัวเป็นหลัก สำหรับการอ่านหนังสือและดูภาพยนตร์ เขาชอบเนื้อหาที่ให้ข้อคิดผ่านการตั้งคำถามเกี่ยวกับชีวิตและโลกอนาคตในมุมมองใหม่ ๆ

 

         โดยหนังสือแนะนำ นอกจาก Futuration ที่เขาต้องการสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนลุกขึ้นมาเปลี่ยนเพื่อสร้างอนาคตด้วยตัวเอง (ก่อนโดนบีบให้เปลี่ยน) แล้ว ยังมีอีกเล่มที่เขานำเสนอ มีชื่อว่า “Sapiens: A Brief History of Humankind” โดย Yuval Noah Harari หนังสือที่กระตุ้นให้ตั้งคำถามชวนคิดเกี่ยวกับหลาย ๆ อย่างรอบตัวที่ดูผิดที่ผิดทาง เช่น ขนบธรรมเนียมที่ทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกัน แต่ขณะเดียวกัน หลาย ๆ ขนบธรรมเนียมกลับกลายเป็นสิ่งที่กดไม่ให้มนุษย์ปรับตัวตามยุคสมัยได้ เรียกว่า  ทั้ง 2 เล่มเหมาะกับ “นัก(อยาก)คิด” ที่ห้ามพลาด ส่วนภาพยนตร์ เขาแนะนำซีรีส์อังกฤษชื่อ “Black Mirror” ซึ่งสะท้อนสมมุติฐานด้านมืดของโลกเทคโนโลยี และชวนตั้งคำถามเพื่อทำความเข้าใจในความเป็นมนุษย์ให้ดียิ่งขึ้น

 

ก้าวสู่โลกอนาคตยุคดิจิทัลอย่างเท่าทัน

 

         จากตัวอักษรในหนังสือ Futuration ต่อยอดให้ ดร.สันติธาร กลายเป็นวิทยากรรับเชิญในหลาย ๆ เวทีเพื่อแบ่งปันคนรุ่นใหม่ถึงแนวทางปรับตัวในการทำงานและแนวคิดในการใช้ชีวิตในโลกดิจิทัล โดยแง่คิดสำคัญที่เขาทิ้งท้ายคือคำว่า “สูงสุดคืนสู่สามัญ” เพราะในโลกอนาคตที่ต้องพึ่งพาและใช้เทคโนโลยีกันมาก “ความเป็นมนุษย์” จะยิ่งทวีความสำคัญ

 

         “คุณสมบัติที่จะทำให้เราเป็น “มนุษย์” ที่บางคนเรียกว่า Soft Skill เช่น ความคิดสร้างสรรค์ ความเอื้ออาทร การคิดเชิงวิพากษ์ การเปิดกว้างที่จะเรียนรู้ การปรับตัว รวมไปถึงความอดทน และทักษะในการรับมือกับความล้มเหลว คุณสมบัติเหล่านี้จะสำคัญมากในโลกอนาคต ต้องช่วยกันบ่มเพาะตั้งแต่เด็ก”

 

         นอกจากนี้  ผู้บริหารหนุ่มยังแนะนำว่า คนรุ่นใหม่ยุคดิจิทัลควรเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน เพราะความถ่อมตนจะทำให้ไม่ลืมตัว และพร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เสมอ แต่ถ้าเมื่อไรที่ลืมตัว อาจหลงในความสำเร็จ หยุดเรียนรู้ และไม่กล้าที่จะล้ม เพราะเท้าที่ลอยสูงจากพื้นย่อมทำให้ล้มแล้วเจ็บหนักและลุกยากกว่าคนที่เท้าติดดิน​