​โครงการคลินิกแก้หนี้

หนึ่งในเสาหลักของการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย

“หนี้ครัวเรือน” ถือเป็นปัญหาและอุปสรรคสำคัญในการดำรงชีวิตของประชาชน และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างเต็มประสิทธิภาพ ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจึงจำเป็นที่ต้องร่วมมือกันดูแลและแก้ไขรวมถึงร่วมกันสร้างค่านิยมที่ถูกต้องในการบริหารจัดการเงิน

 

ในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ดำเนินการใน 3 มิติสำคัญ


มิติที่หนึ่ง คือ การกำกับดูแลเพื่อส่งเสริมการปล่อยสินเชื่อที่ยั่งยืน (Responsible Lending) ธปท. ได้ออกหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเพื่อควบคุมการให้สินเชื่อ เพราะที่ผ่านมามีการเร่งขยายสินเชื่อ โดยไม่ได้คำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า ทำให้เกิดผลเสียตามมาในระยะยาว

 

มิติที่สอง คือ โครงการคลินิกแก้หนี้ (Debt Clinic) เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการช่วยเหลือลูกหนี้ที่สุจริตและตั้งใจที่จะแก้ไขหนี้ และรักษาวินัยทางการเงินให้สามารถออกจากกับดักหนี้ได้ เนื่องจากปัจจุบันลูกหนี้จำนวนมากมีหนี้สินล้นพ้นตัว มีเจ้าหนี้หลายราย และไม่มีทางออก

 

มิติที่สาม คือ การส่งเสริมความรู้ความเข้าใจทางการเงิน (Financial Literacy) ยุคนี้เป็นยุค Digital Finance and Banking ทำให้คนตัดสินใจใช้บริการทางการเงินได้ง่ายขึ้น ดังนั้น การส่งเสริมความรู้ทางการเงินจึงเป็นสิ่งที่สำคัญเพื่อให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย และไม่ให้ใช้จ่ายเงินเกินตัว


แนวคิดของโครงการคลินิกแก้หนี้

 

 

“โครงการคลินิกแก้หนี้” เป็นหนึ่งในเสาหลักของการแก้ไขปัญหาหนี้จากความร่วมมือของธนาคารพาณิชย์ สมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ และบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (SAM) โดยการสนับสนุนของ ธปท. ที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2560 เป็นต้นมา ในลักษณะ One-stop Service เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้กับเจ้าหนี้หลายราย โดย SAM จะทำหน้าที่ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเดียวกันตามที่ได้ตกลงกับเจ้าหนี้ที่เข้าร่วมโครงการทุกราย ติดตามการชำระหนี้ และจัดสรรเงินให้กับเจ้าหนี้ ซึ่งในทางปฏิบัติเป็นไปได้ยากที่ลูกหนี้จะไปหาเจ้าหนี้ทุกรายและเจรจาหนี้ได้สำเร็จ ทั้งนี้ เงื่อนไขของโครงการนี้จะช่วยให้สามารถผ่อนชำระได้ยาวถึง 10 ปี และอัตราดอกเบี้ยลดลงไม่เกินร้อยละ 7 ตัวอย่างเช่น หากเรามียอดหนี้ 100,000 บาท จะผ่อนชำระต่อเดือนเพียง 1,200 บาท

 

โครงการระยะที่ 1 เป็นโครงการนำร่อง ครอบคลุมเฉพาะลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ 16 แห่ง ในช่วงเกือบ 2 ปี มีลูกหนี้ที่เข้ามาปรึกษา 37,000 ราย ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้สำเร็จ 1,500 ราย มีเจ้าหนี้เฉลี่ย 3 ราย เงินต้นเฉลี่ย 300,000 บาท โดยลูกหนี้ส่วนหนึ่งยังไม่เป็นหนี้เสีย (NPL) หรือเป็นลูกหนี้ที่มีเจ้าหนี้ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-bank) รวมอยู่ด้วย จึงไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ นอกจากนี้ จากข้อมูลพบว่าทั้งระบบมีลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสีย หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน จำนวน 490,000 ราย ยอดหนี้คงค้าง 49,000 ล้านบาท และในจำนวนนี้มีลูกหนี้ที่มีหนี้กับ Non-bank ถึงร้อยละ 80 (ข้อมูล ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2561) ดังนั้น ในระยะที่ 2 ของการดำเนินการ จึงจำเป็นต้องขยายขอบเขตให้รวมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลของผู้ประกอบการ Non-bank เพื่อสามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างกว้างขวางและเบ็ดเสร็จมากขึ้น

 

ในช่วงที่ผ่านมา ธปท. ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ เพื่อให้บริษัทบริหารสินทรัพย์สามารถให้บริการกับ Non-bank ได้ ซึ่งเมื่อพระราชกำหนดที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2562 ธปท. ชมรมธุรกิจบัตรเครดิตและชมรมสินเชื่อส่วนบุคคล จึงได้เปิด “โครงการคลินิกแก้หนี้ ระยะที่ 2” โดยมี Non-bank 19 แห่ง เข้าร่วมโครงการและเมื่อรวมกับธนาคารพาณิชย์ 16 แห่งจะทำให้ครอบคลุมสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลได้เกือบทั้งระบบ และคาดว่าโครงการจะเป็นกลไกที่ช่วยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างได้อย่างกว้างขวางและครบวงจรมากขึ้น โดยลูกหนี้ Non-bank สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไป


สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่