เราอาจเคยได้ยินเกี่ยวกับ "ภาวะโลกร้อน" มานาน แต่ 4 - 5 ปีที่ผ่านมา เราสัมผัสได้ถึงความรุนแรงของปัญหาที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เพราะไม่เพียงแต่อุณหภูมิที่ร้อนขึ้นเท่านั้น ภาวะโลกร้อนทำให้ธารน้ำแข็งที่ขั้วโลกละลายและทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ เมื่อไม่นานมานี้ ธนาคารโลกออกมาเตือนว่าภายในปี 2573 ร้อยละ 40 ของกรุงเทพมหานครอาจถูกน้ำท่วมจากฝนตกหนักและการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ หลายสิ่งรอบตัวเตือนเราว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ทุกคนในฐานะประชากรโลกต้องให้ความสำคัญและช่วยกันแก้ไข โดยหนึ่งในสิ่งที่ช่วยกันทำได้ คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ของเราในแต่ละวัน เช่น การลดการใช้พลังงานที่ไม่จำเป็น ซึ่งเมื่อรวมกันก็จะขยายเป็นพลังในวงกว้าง BOT พระสยาม MAGAZINE ฉบับนี้ นำเสนอเรื่องราวคนแบงก์ชาติ 3 คน ซึ่งตัดสินใจเลิกใช้รถ และเลือกใช้วิธีอื่นในการเดินทางมาทำงาน ซึ่งนอกจากจะช่วยลดมลพิษที่จะมีต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังได้พบกับประสบการณ์และได้ข้อคิดดี ๆ ระหว่างการเดินทางที่น่าสนใจ ซึ่งอาจจะเป็นแรงบันดาลใจและจุดประกายให้พวกเราหันมาช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น


ความงามระหว่างเส้นทาง

 

สำหรับคนรุ่นใหม่ การบริหารจัดการเรื่องทั่วไปอาจเป็นเรื่องใกล้ตัวที่คุ้นชิน แต่การบริหารจัดการเวลากลับเป็นสิ่งที่ท้าทาย ทว่า หนึ่ง - ศรุต รัตนวิจิตร มองเห็นคุณค่าของเวลาที่เสียไปกับการเดินทางด้วยรถยนต์ และค้นพบว่าการเดินไปทำงานได้ตอบโจทย์เรื่องการควบคุมเวลา ช่วยประหยัดพลังงาน และสร้างความสุขได้

 

"เหตุผลสำคัญที่ทำให้ผมตัดสินใจเริ่มใช้การเดินเท้าเป็นการเดินทางไปกลับระหว่างที่ทำงานกับที่พัก นอกเหนือจากเพื่อเป็นการประหยัดพลังงานแล้ว ยังเป็นการบริหารจัดการ 'เวลา' ให้ตอบโจทย์ กับตัวเรามากที่สุด

 

 

"ในแต่ละวัน ผมสังเกตว่า การเดินทางไป - กลับระหว่าง ธปท. กับที่พักแถวปิ่นเกล้าในชั่วโมงเร่งด่วน ด้วยระยะห่างแค่ 5 กิโลเมตร ถ้าใช้รถยนต์ส่วนตัวหรือโดยสารด้วยรถสาธารณะ กลับใช้เวลาในการเดินทางเฉลี่ยถึง 45 นาที สิ่งนี้เองที่ทำให้เห็นว่า นี่ไม่ใช่เรื่องปกติแล้วเมื่อเทียบระยะทางกับเวลาที่ใช้ในการเดินทางบนท้องถนน ผมจึงเริ่มหาวิธีการเดินทางใหม่ที่จะตอบโจทย์ในการลดเวลาเดินทางลง โดยลองเริ่มเดินจาก ธปท. กลับที่พัก ปรากฏว่า ใช้เวลาแค่ 30 นาที และที่สำคัญคือ ผมสามารถบริหารจัดการเวลาในการเดินทางได้เอง โดยไม่ต้องนั่งเสียเวลาบนท้องถนนไปโดยเปล่าประโยชน์ อย่างน้อย การเดินก็ทำให้ผมได้เวลากลับคืนมา 10 - 15 นาทีในแต่ละวัน และทำให้ผมสามารถนำเวลาที่ได้มาไปใช้ทำสิ่งที่มีคุณค่าให้กับตัวเองและครอบครัวได้ไม่มากก็น้อย นอกจากนี้ ระหว่างทาง ผมได้ค้นพบความงามที่แตกต่างกันในแต่ละวันรอบข้าง ที่หากขับรถมาทำงานคงไม่มีโอกาสสัมผัสและเข้าใจวิถีชีวิตของผู้คน ในชุมชนระหว่างเส้นทางของผมแบบนี้"


จุดเริ่มต้นเล็ก ๆ จากวิกฤติและสิ่งรอบตัว

 

การปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น เป็นคุณลักษณะที่สำคัญในโลกทุกวันนี้ จากจุดเริ่มต้นในวันที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมือง ทำให้ แพน เรืองศรีมั่น ที่ปกติเดินทางด้วยรถยนต์เป็นหลัก ต้องปรับตัวไปตามสถานการณ์ และยังต่อยอดการประหยัดพลังงานไปสู่วิถีชีวิตประจำวัน ในด้านอื่น ๆ อีกด้วย

 

"การเดินทางจากที่พักมาที่ทำงานจะต้องใช้เส้นทางการเดินทางผ่านสะพานพระรามแปดเป็นหลัก โดยจุดเริ่มต้นมาจากครั้งหนึ่งที่สะพานพระรามแปดถูกปิด เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมือง ทำให้ต้องเดินข้ามสะพานพระรามแปด ไป - กลับที่พักกับ ธปท. เมื่อระยะเวลาผ่านไปจึงได้หาเครื่องทุ่นแรงจากการเดินจึงได้ปรับเปลี่ยนเป็นการใช้จักรยาน เนื่องจากต้องการลดมลพิษทางถนน และที่สำคัญคือ ลดความยุ่งยากในการหาที่จอดรถในที่ทำงานและที่พัก ทำให้สามารถประหยัดรายจ่ายค่าน้ำมัน"

 

นอกเหนือจากการประหยัดพลังงานด้วยการใช้จักรยานมาทำงานแล้ว ปัจจุบันคุณแพนยังได้นำแก้วน้ำ กล่องใส่อาหารมาใช้ เพื่อลดขยะและพลาสติก

 

"เรารักโลกและเชื่อว่าทุกคนเองก็รัก และเป็นห่วงโลกใบนี้เช่นกัน แต่ก็เข้าใจว่าการจะให้ทุกคนปั่นจักรยานแบบเรา หรือไม่ใช้ถุงพลาสติกเลยคงเป็นไปไม่ได้ แต่เพียงแค่เริ่มจากหันมองสิ่งเล็ก ๆ รอบตัวแล้วเริ่มต้นลงมือทำในแบบที่เราทำได้ หากเราช่วยกันก็จะกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่และจะเป็นวิธีที่จะต่ออายุให้กับโลกใบนี้ได้อย่างยั่งยืน"


สุขภาพ ครอบครัว และเพื่อน

 

บางครั้งแรงบันดาลใจของเราอาจมาจากคนรอบข้างที่ผลักดันให้เราทำอะไรดี ๆ ก็เป็นได้ สำหรับ ตุ่น - เกียรติศักดิ์ แหล่งหล้า การได้เป็นส่วนหนึ่งของชมรมจักรยานของสายออกบัตรธนาคาร เป็นจุดเปลี่ยนให้หันมาใส่ใจสุขภาพเพื่อได้ดูแลคนรอบข้าง ทุกวันนี้ จึงได้ขี่จักรยานไป - กลับบ้าน (พุทธมณฑลสาย 5) และสายออกบัตรธนาคาร (พุทธมณฑลสาย 7) เฉลี่ยระยะทางเกือบ 40 กิโลเมตรอย่างต่อเนื่องในทุกวันทำงาน

 

"การที่คนเราจะทำอะไรอย่างมุ่งมั่นและตั้งใจย่อมต้องมีแรงจูงใจ หรือแรงบันดาลใจในการทำสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้น ผมเป็นคนหนึ่งที่ได้แรงบันดาลใจในการปั่นจักรยานจากเพื่อน ๆ ในชมรมจักรยาน ธปท. และชมรมจักรยานสายออกบัตรธนาคาร วัตถุประสงค์หลักในการปั่นจักรยานของผมคือ เพื่อเป็นการออกกำลังกายให้สุขภาพแข็งแรงห่างไกลโรค ถึงแม้ว่าผมจะปั่นจักรยานมาเข้าปีที่ 5 แล้ว ผมก็ยังตั้งเป้าหมายที่อยากปั่นจักรยานไปตลอดชีวิต เพื่อรับผิดชอบสุขภาพและชีวิตของตัวเองไม่ให้เป็นภาระคนอื่น สำหรับผมแล้วเหตุผลหลัก ๆ ที่ผลักดันให้ผมมุ่งมั่นที่จะปั่นจักรยานมาทำงานต่อไปเรื่อย ๆ คือ

 

1. สุขภาพ : คนเราต้องการมีสุขภาพที่แข็งแรงไปตลอดชีวิต มีแรงทำงานหาเงิน ไม่ต้องเข้าโรงพยาบาล คงเป็นเหตุผลมากพอที่เราจะลุกขึ้นมาออกกำลังกาย นั่นแสดงให้เห็นว่า 'เรารักตัวเอง'

 

2. ครอบครัว : การที่เรามีสุขภาพแข็งแรงก็จะสามารถดูแลครอบครัวของเราได้เป็นอย่างดี และยังเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเพื่อนรอบข้างเรา และยังสามารถชักชวนพวกเขาให้มาออกกำลังกายได้อีกด้วย

 

3. เพื่อน : ผมเชื่อว่านักปั่นจักรยานหลายคนได้พบเพื่อนใหม่ ได้สังคมใหม่ ได้เพื่อนร่วมทางที่รู้ใจ"

 

ถึงแม้จะเป็นพฤติกรรมรักษ์โลกเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่แต่ละคนทำแต่การปรับเปลี่ยนเล็ก ๆ นี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะจุดประกายให้คนรอบข้างหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อม

 

>> ดาวน์โหลด PDF Version

>> อ่าน e-Magazine