Sustainable Banking

บทบาทของภาคธนาคารในการแก้ปัญหาสังคมและสนับสนุนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน

 

 

​เมื่อพูดถึง “บทบาทของภาคธุรกิจต่อสังคม” เดิมเรามักนึกถึงแนวคิดเรื่อง CSR ซึ่งเป็นภาพของผู้ประกอบการทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ การกุศล หรือการทำความดีเพื่อสังคม ในปัจจุบัน แนวคิดที่สำคัญมากกว่า CSR คือ การนำหลักคิดเรื่องความยั่งยืนมาใช้ในทุกกระบวนการของการทำธุรกิจ โดยธุรกิจจะต้องไม่สร้างปัญหาหรือผลข้างเคียงให้แก่สังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีบทบาทในการยกระดับคุณภาพของสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย ถ้าหากภาคธุรกิจไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ อาจกลายเป็นความเสี่ยงขององค์กรได้ เพราะโลกปัจจุบันมีความตื่นตัวในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น ทำให้ความคาดหวังต่อมาตรฐานในการทำธุรกิจสูงขึ้น รวมทั้งปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อมได้สร้างความเสี่ยงใหม่ ๆ ให้แก่ภาคธุรกิจ ตั้งแต่ความเสี่ยงด้านปฏิบัติการไปจนถึงความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์ ภาคธุรกิจจึงไม่สามารถสนใจแค่การปฏิบัติตามมาตรฐานทางกฎหมายเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงการยอมรับจากสังคม (License to Operate) ที่จะทวีความสำคัญ เปรียบเสมือนใบอนุญาตในการทำธุรกิจยุคใหม่

 

 

BOT พระสยาม MAGAZINE ได้รับเกียรติจาก คุณมนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล บรรณาธิการข่าวเศรษฐกิจ สำนักข่าว The Standard และ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาคุยกันถึงความสำคัญและพัฒนาการของแนวคิดเรื่อง “การธนาคารเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Banking)” ที่สถาบันการเงินในฐานะผู้จัดสรรทุนในระบบเศรษฐกิจ สามารถมีบทบาทในการแก้ปัญหาและการสนับสนุนความยั่งยืนให้เกิดขึ้น


“การธนาคารเพื่อความยั่งยืน” กับการลดความเสี่ยงของการทำธุรกิจ

 

คุณมนต์ชัย : ทุกวันนี้ ภาคธุรกิจพูดถึงการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนมากขึ้น ขณะที่สถาบันการเงินในฐานะผู้จัดสรรทรัพยากรทุนในระบบเศรษฐกิจ หรือจัดสรรทุนให้ธุรกิจไปลงทุน เริ่มพูดถึง “การธนาคารเพื่อความยั่งยืน” ขอให้ท่านผู้ว่าการช่วยอธิบายถึงนิยามและความสำคัญของเรื่องนี้

 

ดร.วิรไท : “ความยั่งยืน” หมายถึง การใช้ชีวิตหรือการทำธุรกิจที่จะไม่เบียดเบียนคนรุ่นต่อไป ไม่ทำให้พวกเขาต้องใช้ชีวิตลำบากขึ้น หรือมีต้นทุนการใช้ชีวิตสูงขึ้น ทุกวันนี้ความยั่งยืนเป็นเรื่องใกล้ตัวมากกว่าที่คิด ปัญหารอบตัวเรา ไม่ว่าปัญหาโลกร้อน สิ่งแวดล้อมถูกทำลาย ความไม่เท่าเทียมในสังคม หนี้ครัวเรือน หรือคอร์รัปชัน ล้วนมีผลต่อความยั่งยืนของระบบเศรษฐกิจและสังคมทั้งสิ้น

 

ในอดีต เมื่อพูดถึงความยั่งยืนในภาคธุรกิจ คนไทยมักมองว่าเป็นเรื่องการทำกิจกรรมการกุศล หรือการทำดีเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR) ในขณะที่การทำธุรกิจอาจยังสร้างปัญหาและผลข้างเคียง ในหลายประเทศพัฒนาการความคิดในเรื่องนี้ไกลกว่าเรามาก เขามองว่าความยั่งยืนเป็นสิ่งจำเป็นในการทำธุรกิจ ต้องคำนึงถึงในทุกกระบวนการทำงานขององค์กร ที่สำคัญคือต้องครอบคลุมทั้งมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ ถ้าธุรกิจไม่คำนึงถึงความยั่งยืน (Sustainability) แล้ว ก็จะเป็นความเสี่ยงในการทำธุรกิจได้ ธุรกิจใดที่ทำเรื่องนี้ได้ก่อนจะกลายเป็นผู้กำหนดมาตรฐานสังคม ในขณะที่ธุรกิจที่เริ่มต้นช้าจะมีต้นทุนเพิ่มสูงมากในการวิ่งไล่ตาม ตกเป็นฝ่ายตั้งรับ และเป็นความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์ในอนาคต

 

ในภาคการเงินการธนาคารก็เช่นกัน หากสถาบันการเงินไม่คำนึงถึงความยั่งยืน จะนำมาซึ่งความเสี่ยงหลายเรื่องที่ต้องเผชิญในอนาคต ความเสี่ยงแรก คือ ความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Risk) ที่เกิดจากลูกหนี้ที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ตรงนี้อาจไม่ได้เกิดจากความผิดพลาดในการประเมินข้อมูลทางการเงินของธนาคาร แต่เกิดจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่กลับมากระทบกับการดำเนินธุรกิจของลูกหนี้ เช่น ปัญหาโลกร้อน ภัยแล้ง หรือการระบาดของศัตรูพืชและโรคพืชใหม่ ๆ ที่ทำให้สินค้าเกษตรบางอย่างเสียหายรุนแรง หรือกรณีที่เราเห็นภาพปลาวาฬมีพลาสติกอยู่ในท้อง ทำให้เกิดกระแสการลดใช้ถุงพลาสติกในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โรงงานถุงพลาสติกที่เคยถูกมองว่ามีแนวโน้มเติบโตสูง วันนี้เริ่มได้รับผลกระทบจากปริมาณการใช้พลาสติกที่ลดลง เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่าเรื่องต่าง ๆ รอบตัวเรามีความเชื่อมโยงกันทั้งสิ้น

 

ปัญหาคอร์รัปชัน ถือเป็นอีกโจทย์สำคัญด้านความยั่งยืน เพราะสุดท้าย เงินจากคอร์รัปชันจะกลับเข้าไปในระบบสถาบันการเงิน ดังนั้นสถาบันการเงินต้องมีแนวปฏิบัติที่มั่นใจได้ว่าจะไม่สนับสนุนกิจกรรมที่เอื้อต่อคอร์รัปชัน ซึ่งไม่เพียงทำให้คอร์รัปชันเกิดได้ยากขึ้น แต่ยังลดความเสี่ยงของสถาบันการเงินเองด้วย ถ้าสถาบันการเงินใดเข้าไปเกี่ยวกับเรื่องคอร์รัปชัน แม้ว่าจะไม่ได้ตั้งใจ จะมีความผิดทางกฎหมายและกระทบกับชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของสถาบันการเงินได้มาก

 

ความเสี่ยงที่สอง คือ ความเสี่ยงด้านชื่อเสียง (Reputation Risk) เป็นเรื่องสำคัญของสถาบันการเงิน เพราะเป็นธุรกิจที่ต้องอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจ (Trust) จากประชาชน ถ้าพฤติกรรมของสถาบันการเงินสร้างความแคลงใจให้กับประชาชน ย่อมกระทบความยั่งยืนในการทำธุรกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว


กรอบ ESG กับพัฒนาการในตลาดเงินและตลาดทุนไทย

 

คุณมนต์ชัย : จากที่ท่านผู้ว่าการเล่า ทำให้เข้าใจว่า “ความยั่งยืน” เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วนในสังคมรวมทั้งสถาบันการเงินด้วย จึงนำมาสู่คำถามว่าหลักคิดเรื่อง “ESG” เกี่ยวข้องอย่างไรกับความยั่งยืน

 

ดร.วิรไท : ESG เป็นกรอบที่ภาคธุรกิจใช้พิจารณาเวลาพูดถึงการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วยเสาหลัก 3 ด้าน ได้แก่ E - Environment การทำธุรกิจต้องไม่สร้างผลข้างเคียงต่อสิ่งแวดล้อม S - Society ต้องไม่สร้างปัญหาซ้ำเติมให้กับสังคม และ G - Governance ต้องไม่ทำให้ปัญหาด้านธรรมาภิบาล ทั้งในส่วนของธุรกิจ อุตสาหกรรม และสังคมแย่ลง

 

ในภาคตลาดทุน พัฒนาการเรื่องกรอบ ESG หรือแนวคิดเรื่องความยั่งยืนมีมานานแล้ว กองทุนจำนวนมากลงทุนได้เฉพาะธุรกิจที่สามารถปฏิบัติตามกรอบ ESG ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เงินลงทุนส่วนนี้เพิ่มสูงขึ้นมาก กองทุนเหล่านี้กดดันให้ธุรกิจระดับโลกหลายแห่งดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนมากขึ้น เพราะไม่เช่นนั้นกองทุนเหล่านี้ก็เข้าไปลงทุนไม่ได้ ตลาดทุนไทยมีพัฒนาการค่อนข้างดี ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีมาตรการส่งเสริมบริษัทจดทะเบียนฯ ให้แสดงแนวนโยบายและหลักปฏิบัติตามกรอบ ESG อย่างเข้มข้น ส่งผลให้บริษัทไทยที่รับการจัดอยู่ในดัชนี DJSI (Dow Jones Sustainability Indices) มีจำนวนสูงเป็นอันดับต้น ๆ เมื่อเทียบกับประเทศเกิดใหม่ (Emerging Market) ด้วยกัน

อีกด้านหนึ่งของตลาดทุน คือ ตลาดตราสารหนี้ เราเริ่มได้ยินเรื่อง “ตราสารหนี้สีเขียว” (Green Bond) ซึ่งเป็นแนวคิดในการออกตราสารหนี้หรือพันธบัตรเพื่อระดมทุนสำหรับโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เรื่องนี้ประเทศไทยถือว่าเพิ่งเริ่มต้นและมีโอกาสอีกมาก

 

สำหรับภาคสถาบันการเงินไทย เรายังตามหลังหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศในยุโรปที่พัฒนาแล้ว หรือประเทศในเอเชียด้วยกัน ตัวอย่างที่ได้ยินบ่อย คือ รัฐบาลจีนได้ใช้ธนาคารพาณิชย์เป็นกลไกสำคัญที่ช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งปัญหาควันพิษและน้ำเสีย ส่งเสริมการปล่อยสินเชื่อที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม มีหลักเกณฑ์และมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อ และการคำนวณความเสี่ยงที่พัฒนาไปไกล ถึงขนาดคำนวณได้ว่าการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าที่ปฏิบัติดีต่อสิ่งแวดล้อมมีมาตรฐานสูง จะมีความเสี่ยงน้อยลงแค่ไหน ซึ่งจะทำเช่นนั้นได้ ต้องมีการเก็บข้อมูลอย่างละเอียดและต่อเนื่องหลายปี จนนำมาสู่การพัฒนากฎเกณฑ์การกำกับดูแลและการคำนวณระดับเงินกองทุนที่เหมาะสมได้ สิ่งที่หน่วยงานกำกับดูแลของจีนทำในช่วง 7 - 8 ปีที่ผ่านมาส่งผลให้วันนี้คุณภาพสิ่งแวดล้อมในหลายเมืองของจีนดีขึ้นมาก

 

ในสิงคโปร์ แนวคิด ESG เกิดขึ้นประมาณ 5 ปีที่แล้ว จากปัญหาหมอกควันปกคลุมประเทศ ที่เกิดจากการเผาป่าในอินโดนีเซียเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจขนาดใหญ่ จนนำไปสู่การทำงานร่วมกันของธนาคารกลางสิงคโปร์และธนาคารพาณิชย์ในสิงคโปร์ ในฐานะผู้ปล่อยสินเชื่อให้ธุรกิจดังกล่าวในอินโดนีเซีย จนออกมาเป็นกฎเกณฑ์ “การปล่อยสินเชื่อแบบรับผิดรับชอบ (Responsible Lending)” เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

 

เรื่องเหล่านี้เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงบทบาทของสถาบันการเงินในการมีส่วนช่วยในเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ประเทศไทยอาจเริ่มต้นช้า เพราะก่อนหน้านี้เราอาจไม่รู้สึกว่ามีปัญหาสิ่งแวดล้อมรุนแรงเหมือนหลายประเทศ แต่วันนี้ปัญหาชัดเจนขึ้น เช่น ปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 เมื่อก่อนคนกรุงเทพฯ มองว่าเป็นปัญหาของภาคเหนือ แต่ปัจจุบันกรุงเทพฯ เจอปัญหาเช่นกัน ปัญหาฝุ่นควันจึงถือเป็นปัญหาของคนทั้งประเทศ

 


Sustainable Banking ไม่ใช่ Option แต่เป็น Obligation

 

คุณมนต์ชัย : สิ่งที่ท่านผู้ว่าการพูดสะท้อนว่า “การธนาคารเพื่อความยั่งยืน” ไม่ใช่ “ทางเลือก” หรือ Option แต่เป็นสิ่งที่ภาคการเงินไทยต้องให้ความสำคัญและช่วยผลักดันให้เกิดขึ้น

 

ดร.วิรไท : ใช่ครับ เป็นที่น่ายินดีที่ภาคการเงินไทยตื่นตัวในเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น ปีที่แล้ว ธปท. จัดงาน “Sustainable Banking Forum” เป็นครั้งแรก เพื่อสร้างความตระหนักรู้และนำเสนอ Best Practice ที่มีการปฏิบัติกันในโลก โดยมีคณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงินไทยมาร่วมงานจำนวนมาก ปีนี้ ธปท. จะจัดงานนี้อีกเป็นครั้งที่ 2 ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา สถาบันการเงินไทยตื่นตัวในเรื่องความยั่งยืนเพิ่มขึ้นมาก หลายแห่งจัดตั้งทีมงานเพื่อรับผิดชอบเรื่อง “การธนาคารเพื่อความยั่งยืน” ขึ้นโดยเฉพาะ นอกจากนี้ สมาคมธนาคารไทยได้ทำงานร่วมกันเพื่อออกแนวปฏิบัติเรื่อง “การให้สินเชื่อรายย่อยอย่างเหมาะสม เพื่อดูแลปัญหาหนี้เกินตัวของภาคครัวเรือน” ซึ่งสาระสำคัญพูดถึงหลักการที่ว่าการดำเนินการของสถาบันการเงินในระยะต่อไป จะคำนึงถึงประเด็นที่กว้างกว่าการพิจารณาแค่กำไรในระยะสั้นเท่านั้น

 

ขณะที่ ธปท. ได้ตั้งหน่วยงานภายในขึ้นมารับผิดชอบเรื่อง “การธนาคารเพื่อความยั่งยืน” โดยเฉพาะ รวมทั้งเข้าร่วมในเครือข่าย Network for Greening the Financial System (NGFS) ซึ่งเป็นเครือข่ายความร่วมมือของธนาคารกลางทั่วโลกเพื่อปรับเปลี่ยนสู่ระบบการเงินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม เครือข่ายนี้เกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีที่แล้ว และ ธปท. เป็นหนึ่งในธนาคารกลางแห่งแรก ๆ ของภูมิภาคที่เข้าร่วม ปัจจุบันมีธนาคารกลางทั่วโลกกว่า 40 แห่งเป็นสมาชิก


Sustainable Banking in Action: การขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นจริง

 

คุณมนต์ชัย : การขับเคลื่อนความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในภาคการเงินจะมีถนนสองเส้นที่ต้องทำคู่กันไป ถนนเส้นแรก คือการสนับสนุนให้สถาบันการเงินตระหนักถึงความสำคัญ ถนนเส้นที่สอง คือการกำกับดูแล แล้วถนนเส้นไหนจะเกิดขึ้นก่อน และหลังจากนี้จะมีการออกกฎที่เป็นรูปธรรมสำหรับดูแลเรื่องนี้หรือไม่

 

ดร.วิรไท : การธนาคารเพื่อความยั่งยืนเป็นเรื่องระยะยาว จึงไม่ได้หวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงภายใน 3 เดือน หรือ 6 เดือน เพราะปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมมักมีประเด็นใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา สิ่งที่สำคัญคือ สถาบันการเงินต้อง “มองไกล” และ “มองกว้าง” อีกเรื่องสำคัญที่ต้องส่งเสริมให้สถาบันการเงินตระหนักและปฏิบัติ คือ การนำต้นทุนที่เกิดขึ้นต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินธุรกิจ เข้าไปคำนวณเป็นต้นทุนการประกอบธุรกิจของสถาบันการเงิน (Internalize the Externalities) จะทำให้การตัดสินใจของสถาบันการเงินไม่มองเพียงผลประโยชน์เฉพาะธุรกิจในระยะสั้น แต่ได้นำผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมมาเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจทางธุรกิจด้วย ธนาคารพาณิชย์ชั้นนำในต่างประเทศที่ปล่อยสินเชื่อให้โครงการขนาดใหญ่ต้องจ้างวิศวกรสิ่งแวดล้อมมาประเมินผลกระทบจากโครงการของลูกหนี้ มองไปไกลในอนาคต และมองกว้างถึงผลกระทบด้านต่าง ๆ เพราะท้ายที่สุด ถ้าเกิดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมแล้ว โครงการนั้นก็อาจไปต่อไม่ได้ กลายเป็นความเสี่ยงด้านสินเชื่อของธนาคาร และเป็นหนี้เสียในที่สุด

 

 

 

นอกจากนี้ อีกเครื่องมือที่หน่วยงานกำกับดูแลนิยมใช้กันคือ “Stress Test” หรือการทดสอบความแข็งแกร่งของสถาบันการเงินภายใต้สถานการณ์ต่าง ๆ เช่น ถ้าเกิดสงครามการค้า หรือเศรษฐกิจหดตัวรุนแรง จะกระทบกับลูกหนี้และหนี้เสีย (NPL) ของธนาคารอย่างไร เงินกองทุนและการกันสำรองจะมีเพียงพอหรือไม่ เพื่อประเมินว่าสถาบันการเงินมี “กันชน” เพียงพอรองรับเหตุการณ์ดังกล่าวหรือไม่ ตอนนี้ธนาคารกลางอังกฤษเริ่มใช้ Stress Test เป็นกลไกหนึ่งในการกำกับการปล่อยสินเชื่อให้ธุรกิจที่อาจสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สถาบันการเงินที่จะปล่อยสินเชื่อต้องตระหนักถึงความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้นจากโครงการที่อาจถูกต่อต้านจนทำต่อไม่ได้ ทำให้สถาบันการเงินต้องเตรียมเงินกองทุนไว้สำรองเพิ่ม หรือต้องคิดอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น เป็นการนำต้นทุนที่เกิดขึ้นจากผลข้างเคียงต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมเข้าไปคิดเป็นต้นทุนด้วย ถ้าสถาบันการเงินทุกแห่งทำแบบนี้ ย่อมสร้างแรงจูงใจให้คนทำธุรกิจแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

 

 

ในระยะต่อไป กฎเกณฑ์กำกับดูแลสถาบันการเงินลักษณะนี้จะถูกพัฒนาออกมามากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้การทำธุรกิจของสถาบันการเงินสร้างผลข้างเคียงต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และแม้แต่คอร์รัปชันเพิ่มขึ้น พร้อมกับลดความเสี่ยงของสถาบันการเงินลงด้วย ถ้าสถาบันการเงินซึ่งเป็นผู้จัดสรรทุนให้กับธุรกิจไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ ย่อมไม่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน ซึ่งคือหัวใจสำคัญที่สุดของธุรกิจการเงินการธนาคาร


 

สุดท้ายนี้ ถ้าเราไม่ Take Action ไม่ร่วมกันคำนึงถึงความยั่งยืนในการทำธุรกิจและวิถีชีวิตของเราแต่ละคนตั้งแต่วันนี้ ในที่สุดโลกใบนี้จะไม่เพียงเป็นโลกที่อยู่ยากสำหรับคนรุ่นต่อไปเท่านั้น แม้แต่คนรุ่นเราเองก็อยู่ยากมากขึ้นจากผลกระทบของหลาย ๆ ปัญหาที่เราสร้างขึ้นเอง