​ทิศทางการผลักดันการธนาคารเพื่อความยั่งยืน

 

 

 

 

แนวคิดของการธนาคารเพื่อความยั่งยืนให้ความสำคัญกับบทบาทของสถาบันการเงินในฐานะผู้จัดสรรทุนในระบบเศรษฐกิจในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้ยั่งยืนในระยะยาว โดยสถาบันการเงินต้องดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบทั้งต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) รวมทั้งอยู่ภายใต้หลักธรรมาภิบาลที่ดี (Governance) หรือ ESG มากขึ้น ในปัจจุบันที่ความเสี่ยงและผลกระทบด้าน ESG ทวีความรุนแรงขึ้นมาก ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นและเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศต้องร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหา แม้ว่าภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงความสำคัญของหลักคิดเรื่องการธนาคารเพื่อความยั่งยืนมากขึ้น แต่การขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้เกิดการปฏิบัติจริงอย่างเป็นรูปธรรม ยังต้องการแรงสนับสนุนจากผู้ที่เกี่ยวข้อง

 


ทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

ด้วยผลกระทบจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำในสังคม และปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) จึงเป็นประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เห็นได้จากองค์การสหประชาชาติ (UN) ได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) จำนวน 17 เป้าหมาย ซึ่งครอบคลุมมิติการพัฒนาต่าง ๆ เช่น การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากร การรักษาสิ่งแวดล้อม การขจัดความยากจน และการสร้างความเท่าเทียม เพื่อเป็นทิศทางการพัฒนาประชาคมโลกสำหรับช่วงปี 2558 - 2573

 

หนึ่งในหัวข้อที่ได้รับการผลักดันอย่างมาก คือ การป้องกันปัญหาภาวะโลกร้อน (Global Warming) และการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ (Climate Change) เนื่องจากการเกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติและภัยพิบัติต่าง ๆ มีความแปรปรวนและรุนแรงมากขึ้น สัญญาณอันตรายที่เห็นได้ชัด คือการละลายของน้ำแข็งขั้วโลก ซึ่งส่งผลให้ประเทศที่เป็นหมู่เกาะขนาดเล็ก เช่น ฟิจิ หรือมัลดีฟส์ มีโอกาสจมลงสู่ทะเล นอกจากนี้ ปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นยังทำให้ความเข้มข้นของน้ำทะเลเจือจางลง กระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล และนำไปสู่การลดลงของปริมาณปลา จะเห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นล้วนส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิตและปรากฏการณ์ดังกล่าวมีสาเหตุหลักมาจากการกระทำของมนุษย์ทั้งสิ้น สิ่งที่เราจำเป็นต้องตระหนัก คือผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขได้ โดยทุกภาคส่วนรวมถึงภาคการเงินล้วนมีบทบาทในการช่วยป้องกันปัญหา

 

แนวโน้มปัญหาที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเช่นนี้ ทำให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยร่วมกันลงนามความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือที่เรียกว่าความตกลงปารีส (Paris Agreement) ในปี 2559 เพื่อสานต่อการดำเนินการจากพิธีสารเกียวโตอย่างเร่งด่วน โดยมีสาระสำคัญคือ การควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และรัฐภาคีต้องกำหนดแผนการมีส่วนร่วมของประเทศหรือ Nationally Determined Contribution (NDC) ในการสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าว ซึ่งประเทศไทยได้ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 20 – 25 ภายในปี 2573


การผลักดัน Sustainable Banking สู่ระดับสากล

 

ภาคการธนาคารซึ่งทำหน้าที่จัดสรรทรัพยากรทางการเงินให้กับระบบเศรษฐกิจเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญ
ที่ช่วยสร้างความความยั่งยืนให้กับประเทศในระยะยาว เนื่องจากมีศักยภาพและความพร้อมในการส่งผ่านทั้งเรื่องเงินทุน ความรู้ความเข้าใจทางการเงิน และแนวคิดการดำเนินธุรกิจไปสู่ภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้ นานาประเทศจึงให้ความสำคัญต่อการรวมตัวกันเพื่อผลักดัน Sustainable Banking มาระยะหนึ่งแล้ว โดยในปี 2555 ได้มีการจัดตั้งเครือข่าย Sustainable Banking Network (SBN) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของผู้กำกับดูแลและสมาคมธนาคารในประเทศกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Economies) โดยได้รับการสนับสนุนจาก International Finance Company (IFC) เพื่อส่งเสริมให้ภาคการเงินมีการบริหารความเสี่ยงและมีการให้สินเชื่อโดยคำนึงถึงปัจจัย ESG โดย SBN ได้ออก Global Progress Report ปี 2561 เพื่อประเมินความคืบหน้าของแต่ละประเทศสมาชิกที่ดำเนินการในเรื่องนี้ ซึ่งประเทศไทยยังอยู่ในระยะที่ 1 (Initiating) จากทั้งหมด 5 ระดับ โดยถือเป็นระยะเริ่มต้นที่มีเพียงการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริม Sustainable Banking

 

ในขณะเดียวกัน ประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ ก็ได้ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาภาคการเงิน เนื่องด้วยความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมหรือสภาพภูมิอากาศ สามารถส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน ประกอบด้วย (1) ความเสี่ยงจากผลกระทบทางตรงของการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม (Physical Risk) เช่น ผลกระทบโดยตรงต่อภาคธุรกิจ การท่องเที่ยวจากการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ และภัยแล้งที่กระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร และ (2) ความเสี่ยงที่เกิดจากผลกระทบของการออกกฎระเบียบของทางการเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม (Transition Risk) เช่น ผลกระทบต่อธุรกิจพลังงานจากการออกนโยบายลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล จากแนวโน้มดังกล่าว ธนาคารกลางและผู้กำกับดูแลในหลายประเทศจึงได้รวมกลุ่มกันจัดตั้งเครือข่าย Network for Greening the Financial System (NGFS) ในช่วงปลายปี 2560 เพื่อร่วมกันผลักดันให้ระบบการเงินสามารถรับมือกับความเสี่ยงดังกล่าว รวมถึงสนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียวหรือเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Green/Low Carbon Economy) ให้สอดรับกับเป้าหมายของ Paris Agreement โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เห็นถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว จึงได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก NGFS เมื่อต้นปี 2562 เพื่อเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ

 

 

 

นอกจากการดำเนินการในระดับนานาชาติที่ทำให้ทิศทางการพัฒนาในมิติความยั่งยืนมีความสอดคล้องและขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกันแล้ว แต่ละประเทศยังมีการดำเนินการและประยุกต์ใช้เครื่องมือที่แตกต่างกันในการผลักดัน Sustainable Banking ตามบริบทของตนเอง ตัวอย่างประเทศที่เห็นชัด ได้แก่ ประเทศจีน ซึ่งประสบปัญหามลพิษทางอากาศมายาวนานจากการเร่งพัฒนาเศรษฐกิจ และโครงสร้างพื้นฐาน โดยหน่วยงานกำกับดูแลสถาบันการเงินของจีน (China Banking Regulatory Commission: CBRC) ได้ออก Green Credit Guidelines ตั้งแต่ปี 2555 อันถือเป็นกฎเกณฑ์ที่ครอบคลุมในเรื่องการจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ผลิตภัณฑ์สินเชื่อสีเขียว และกระบวนการทำงานที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีการพัฒนาระบบฐานข้อมูล Green Credit Statistics System ในปี 2557 เพื่อให้ธนาคารรายงานข้อมูลเกี่ยวกับการให้สินเชื่อแก่บริษัทที่ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม และการให้สินเชื่อแก่โครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยมลพิษ ปัจจุบันภาครัฐโดยความร่วมมือของ 7 กระทรวงในจีนได้ร่วมกันออก Green Industry Catalogue เพื่อวางแผนพัฒนาและออกนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมสีเขียว

 

 

“แก่นของความยั่งยืนคือการคำนึงถึงธุรกิจ
ในระยะยาว หากสถาบันการเงินสนใจแค่กำไรระยะสั้น
ไม่คำนึงถึงผลกระทบและความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น
ในอนาคตจากกิจกรรมของธุรกิจตน
อาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่จะบั่นทอนความน่าเชื่อถือ
ความไว้วางใจจากสาธารณชน และฐานะทางการเงิน
ของธุรกิจในระยะยาวได้”

 

ร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท.
งาน Bangkok Sustainable Banking Forum 2019

 

 

 

ด้านสหราชอาณาจักร ธนาคารกลางอังกฤษ (Bank of England) มีกลยุทธ์เพื่อรองรับการดำเนินการเรื่อง Climate Change ตั้งแต่ ปี 2560 โดยแบ่งเป็น 2 มิติ คือ (1) Prudential Risk โดยจะเน้นการมีส่วนร่วมของสถาบันการเงินภายใต้การกำกับดูแล (ธนาคารพาณิชย์ และบริษัทประกัน) ให้ตระหนักเรื่องความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลง ของสภาพภูมิอากาศ รวมถึงให้มีการทบทวนผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และ (2) Systemic Risk โดยสนับสนุนให้มีการปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำอย่างราบรื่น เช่น การสนับสนุนคณะทำงาน Task Force on Climate-related Financial Disclosures (TCFD) เพื่อมุ่งเน้นให้มีการเปิดเผยข้อมูลในด้านนี้อย่างมีมาตรฐานและโปร่งใสมากขึ้น

 

 

 

สำหรับภูมิภาคอาเซียน สมาคมธนาคารในประเทศสิงคโปร์ได้ร่วมกันกำหนดแนวทางการเงินที่ยั่งยืน (Guidelines on Responsible Financing) ตั้งแต่ปี 2559 และปรับปรุงฉบับใหม่ในปี 2561 โดยเน้นการเปิดเผยความมุ่งมั่นของผู้บริหารระดับสูงในการให้สินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ และได้ประกาศมาตรการเฉพาะสำหรับรองรับความเสี่ยงจากหมอกควัน (Haze Diagnostics Kit) เพื่อเป็นแนวทางสำหรับธนาคารใช้ประกอบการประเมินลูกหนี้ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับปาล์ม น้ำมันและเยื่อกระดาษ ในขณะเดียวกันธนาคารกลางสิงคโปร์ได้ออกมาตรการ Sustainable Bond Grant Scheme เพื่อสร้างแรงจูงใจในการออกตราสารหนี้เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) เพื่อ การพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิต (Social Bond) และโครงการเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) โดยสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการตรวจสอบหรือจัดอันดับของตราสารหนี้เหล่านี้โดยบุคคลภายนอก

 


ธปท. กับการผลักดัน Sustainable Banking ในไทย

 

ธปท. เป็นเจ้าภาพการจัดงาน Bangkok Sustainable Banking Forum เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2561 นับเป็นก้าวแรกในการสร้างความตระหนักรู้ให้สถาบันการเงินไทยเห็นความสำคัญและเพื่อสร้างองค์ความรู้ในเรื่อง Sustainable Banking อย่างไรก็ตาม ระบบการเงินไทยยังคงเผชิญกับความเสี่ยงจากปัจจัย ESG หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงในด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ ทั้งการเกิดอุทกภัย ภัยแล้ง ตลอดจนมลพิษจากฝุ่น PM 2.5 และการทิ้งขยะพลาสติกลงในทะเล ปัญหาหนี้ครัวเรือนในสังคมไทย นอกจากนี้ การไม่ปฏิบัติตามหลักจรรยาบรรณ และการฉ้อโกง หรือคอร์รัปชันที่ยังคงปรากฏให้เห็น ก็นับเป็นความเสี่ยงในด้านธรรมาภิบาลที่ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือและชื่อเสียงขององค์กร ดังนั้น สมาชิกสมาคมธนาคารไทยจึงได้จัดทำบันทึกข้อตกลงด้านการธนาคารเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Banking Guidelines) ในเรื่องการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Lending) และลงนามร่วมกันในงาน Bangkok Sustainable Banking Forum 2019 เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา เพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติสำหรับการให้สินเชื่อให้มีความรับผิดชอบต่อปัจจัย ESG ซึ่งถือเป็นนิมิตหมายอันดีของระบบสถาบันการเงินไทยที่ได้ยกระดับพัฒนาการ จากการมีเพียงความตระหนักรู้ไปสู่การปฏิบัติจริงให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

 

สำหรับการดำเนินงานด้านนโยบาย ธปท. ได้ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ (เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย และสมาคมธนาคารไทย) ในการออกมาตรการสนับสนุน Sustainable Banking โดยเฉพาะในด้านสังคมและธรรมาภิบาล ได้แก่ (1) การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล และจัดตั้งโครงการคลินิกแก้หนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ของลูกหนี้ที่มีเจ้าหนี้หลายรายอย่างครบวงจรและเป็นมาตรฐานเดียวกัน รวมทั้งให้ความรู้และเสริมสร้างวินัยทางการเงินที่ดีให้กับลูกหนี้ ตลอดจนออกมาตรการ Macroprudential เพื่อดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน เช่น การกำหนดอัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ (Loan-to- Value: LTV) และแนวนโยบายการให้สินเชื่อรายย่อยอย่างเหมาะสม เพื่อดูแลปัญหาหนี้เกินตัวของภาคครัวเรือน (2) การส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน โดยผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์ออกผลิตภัณฑ์บัญชีเงินฝากขั้นพื้นฐาน (Basic Banking Account) และสนับสนุนการใช้บริการทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลในเรื่องการบริหารจัดการด้านการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองและสามารถเลือกใช้บริการได้ตรงตามความต้องการ และ (3) การยกระดับหลักเกณฑ์ธรรมาภิบาลสำหรับผู้บริหารของสถาบันการเงิน และผลักดันสมาคมธนาคารไทยในการจัดทำกรอบจรรยาบรรณการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ และส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในภาคการเงินเพื่อลดปัญหาการทุจริต

 

 

ในระยะต่อไป ธปท. จะมุ่งเน้นการร่วมมือกับทุกภาคส่วนมากขึ้น โดยอยู่ระหว่างการพัฒนาแผนการดำเนินงานด้าน Sustainable Banking ที่มีกรอบการพัฒนาในแต่ละด้านอย่างครอบคลุมและชัดเจน เพื่อเร่งการพัฒนาที่ยั่งยืนของระบบสถาบันการเงินไทยให้พร้อมรับมือกับปัญหาได้อย่างทันท่วงที แม้ว่าปลายทางการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับประเทศไทยยังต้องใช้เวลา เมื่อเทียบกับภัยอันตรายต่าง ๆ ที่ไล่ตามหลังมาอย่างรวดเร็ว ทุกคนต้องร่วมแรงร่วมใจกันผลักดันไปสู่เป้าหมายแห่งความยั่งยืน ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้