อาคารอนุรักษ์พลังงาน เป็นแนวทางหนึ่งที่องค์กรจะช่วยขับเคลื่อนการดูแลสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปอย่างยั่งยืน และเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพนักงานให้ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี มีจิตสำนึกในความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นองค์กรหนึ่งที่เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ และได้นำระบบจัดการอาคารพลังงานมาใช้เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ และคำนึงถึงความประหยัด ควบคู่ไปกับการสร้างจิตสำนึกในการประหยัดพลังงานให้กับพนักงานอย่างต่อเนื่อง


อาคาร 1 ธปท. สถาปัตยกรรมสีเขียว

 

บ้านเลขที่ 273 ถนนสามเสน กรุงเทพมหานคร เป็นที่ตั้งของ ธปท. สำนักงานใหญ่ ซึ่งประกอบด้วยอาคารหลายหลังบนพื้นที่กว่า 33 ไร่ หนึ่งในนั้นมีอาคาร 1 ซึ่งเป็นสำนักงานหลักด้านนโยบายเศรษฐกิจการเงินที่ ธปท. ให้ความสำคัญทั้งด้านโครงสร้างและการออกแบบอาคารที่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า การก่อสร้างอาคาร 1 เมื่อปี 2545 ธปท. พบกับโจทย์ท้าทาย 2 ข้อ คือ (1) ผังที่ดินที่มีรูปร่างทอดยาวขนานไปตามทิศตะวันตกและทิศตะวันออกทำให้อาคารรับความร้อนจากแสงแดดเต็มที่ทั้งเช้าและบ่าย และ (2) การก่อสร้างอาคารใหม่ให้ผสานเข้ากับอาคารโบราณสถานทั้งสองตำหนักในพื้นที่ คือ ตำหนักวังบางขุนพรหมและตำหนักวังเทวะเวสม์ รวมทั้งคงพื้นที่สีเขียวของ ต้นไม้ใหญ่ที่มีอยู่เดิมให้มากที่สุดเพื่อช่วยกรองแสงแดดและทัศนียภาพที่สวยงามของมุมมองจากแม่น้ำ

 

อย่างไรก็ดี สถาปนิกสามารถตีโจทย์ แก้ปัญหา และออกแบบกรอบของอาคาร ธปท. ที่สามารถลดความร้อนเข้าสู่อาคารได้จริง จึงได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมสีเขียวดีเด่นจากคณะกรรมการโครงการ ASA GREEN สมาคมสถาปนิกสยามในปี 2552 นอกจากนี้ กรอบอาคารที่เป็นเส้นตรงยังสื่อถึงความสงบ นิ่ง การจัดเส้นระดับและขนาดช่องแสงให้สอดคล้องกับแนวหลังคาและช่องหน้าต่างของตำหนัก วังบางขุนพรหม ทำให้อาคาร 1 เป็นฉากหลังของสถาปัตยกรรมอนุรักษ์ของตำหนักทั้งสองด้วย


ฉนวนธรรมชาติช่วยกันความร้อน

 

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการประหยัดพลังงาน ธปท. จึงตีโจทย์การออกแบบอาคาร 1 ให้ลดความร้อนเข้าสู่อาคารมากที่สุด และเลือกระบบให้สอดคล้องกับการใช้งานและมีประสิทธิภาพสูง โดยเลือกใช้วิธีการสร้างกรอบอาคารที่มีลักษณะเป็นผนังซ้อน (Double Wall) ทำให้มีช่องว่างของอากาศเป็นฉนวนธรรมชาติอย่างดี ช่วยลดความร้อนเข้าตัวอาคาร รวมถึงการเลือกใช้กระจก 2 ชั้น (Low-E) ที่ มีก๊าซเฉื่อยอยู่ระหว่างแผ่นกระจกทั้งสอง โดยกระจกดังกล่าวเป็นฉนวนกันความร้อนในตัว (Insulating Glass) ทำให้ช่วยกรองความร้อนได้มาก และยังได้ประโยชน์จากแสงธรรมชาติสำหรับพื้นที่สำนักงาน

 

องค์ประกอบผนังซ้อนที่กล่าวถึงนั้น ประกอบด้วยผนังกรอบภายนอกอาคาร 1 ซึ่งเป็นผนังหล่อสำเร็จที่มีส่วนผสมของใยแก้ว หรือผนัง GRC (Glass Reinforced Concrete) ที่มีความคงทน ไม่แตกร้าวง่าย ทาสีเหลืองอ่อนให้เข้ากับตำหนักโบราณ ติดตั้งบนโครงเหล็ก โดยมีความสูงไม่เกินจากความสูงของวังบางขุนพรหมตามแนวคิดของการเป็นฉากหลัง และผนังชั้นในเป็นผนังยิปซัมบอร์ด ที่เบา กันน้ำ และทนไฟ การประกอบผนัง GRC กับผนังยิปซัมนี้ ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างผนังอากาศส่วนนี้เป็นเสมือนฉนวนกันความร้อนธรรมชาติที่ลดความร้อนที่มากระทบผนังอาคารภายนอกเข้าตัวอาคาร

 

การจัดช่องเปิดรับแสงสว่างจากธรรมชาติ

 

พื้นที่ภายในอาคาร 1 แบ่งเป็น 5 ส่วนเพื่อให้สอดคล้องกับการใช้งาน โดยพื้นที่ส่วนกลางอาคารเปิดโล่งตั้งแต่หลังคาจรดพื้น (Atrium) เพื่อเปิดช่องแสงธรรมชาติจากชั้นบนสุดของอาคาร (ชั้น 5) แต่เลือกวิธีเปิดช่องรับแสงจากหน้าต่างด้านข้างที่ติดกับหลังคาให้ส่องสะท้อนกับแผ่นฝ้าเพดานโลหะสีขาว ทำให้ภายในตัวอาคารได้รับแสงสะท้อน นำความสว่างแต่ไม่รับความร้อนเข้ามา ในส่วนพื้นที่ชั้น 4 และ 5 ของอาคาร เลือกใช้กรอบผนังช่องแสงเป็นกระจก 2 ชั้น ที่นอกจากจะสะท้อนให้ช่วงบนของตัวอาคารกลืนไปกับท้องฟ้าแล้วยังเป็นภาพพื้นหลังให้กับทั้งสองตำหนักอีกด้วย

 

 

การประหยัดพลังงานภายในอาคารจะมุ่งเน้นไปที่ระบบปรับอากาศ เพราะมีสัดส่วนการใช้พลังงานคิดเป็นร้อยละ 60 ของระบบพลังงานที่ใช้ภายในอาคารทั้งหมด การเลือกใช้และการจัดวางระบบปรับอากาศให้เหมาะสมกับขนาดพื้นที่เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ช่วยประหยัดพลังงาน ผู้ออกแบบจึงวางแผนเลือกใช้ความเย็นที่เหลือจากระบบปรับอากาศในแต่ละโซนของพื้นที่ทำงานมากระจายใช้บริเวณ Atrium เพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง อาคารหลังนี้จึงได้ ผ่านการรับรองทางกฎหมายในการใช้พลังงานที่เหมาะสม

 

 

การอนุรักษ์พลังงานเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกัน เช่นเดียวกับ ธปท. ที่จะมุ่งมั่นปฏิบัติตามนโยบายอนุรักษ์พลังงาน เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ และเป็นไปอย่างยั่งยืนต่อไป