แนวนโยบายการให้สินเชื่อรายย่อยอย่างเหมาะสม

เพื่อเสริมสร้างฐานะทางการเงินของครัวเรือนไทย

ให้เข้มแข็ง

 

 

 

 

“ปัญหาครัวเรือนไทยติดกับดักหนี้ (Debt Trap) และมีหนี้สินล้นพ้นตัว (Over-indebtedness)” ถือเป็นหนึ่งในปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญของประเทศที่จำเป็นต้องแก้ไข เนื่องจากภาคครัวเรือนเป็นหน่วยเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งหากปัญหารุนแรงขึ้นย่อมทำให้ฐานะทางการเงินของครัวเรือนเปราะบางและกระทบต่อเศรษฐกิจสังคมของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ

 

 

การก่อหนี้เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ แต่ภาระหนี้ส่วนใหญ่ควรเป็นหนี้ที่ก่อขึ้นเพื่อช่วยให้คุณภาพชีวิตในระยะยาวของผู้กู้ดีขึ้นหรือช่วยเพิ่มรายได้ของผู้กู้ อาทิ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพ อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาครัวเรือนไทยก่อหนี้เพิ่มขึ้นมากและไม่มีแนวโน้มลดลง จนทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศอยู่ในระดับสูง อีกทั้งภาระหนี้ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภค ซึ่งหมายความว่าภาคครัวเรือนต้องนำรายได้จำนวนมากไปผ่อนชำระหนี้ที่ไม่ได้ช่วยให้คุณภาพชีวิตในระยะยาว หรือรายได้ของผู้กู้ดีขึ้น รวมถึงทำให้มีเงินเหลือเพื่อยังชีพลดลง และส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้กู้ นอกจากปัญหาหนี้ครัวเรือนในภาพใหญ่แล้ว งานวิจัยของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์1 สะท้อนสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยและ 3 สัญญาณสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาหนี้สินเกินตัวเริ่มบั่นทอนและเพิ่มความเสี่ยงแก่ฐานะทางการเงินของภาคครัวเรือน สัญญาณแรก คือ เป็นหนี้เร็วขึ้น โดยเริ่มก่อหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย อีกทั้ง 1 ใน 5 ของผู้กู้ในช่วงอายุ 29 ปีกลายเป็นหนี้เสีย สัญญาณที่สอง คือ เป็นหนี้เยอะขึ้น ปริมาณหนี้สินต่อหัวสูงขึ้นกว่าในอดีต และผู้กู้โดยเฉลี่ยมีภาระหนี้รวมทุกประเภทสินเชื่อ เพิ่มขึ้นจาก 377,109 บาท เป็น 552,499 บาทในช่วงเวลา 10 ปี และ สัญญาณที่สาม คือ เป็นหนี้นานขึ้น ภาระหนี้ไม่ได้ลดลงแม้ผู้กู้จะย่างเข้าสู่วัยเกษียณ นอกจากนี้ ยังพบว่า 4 ใน 5 ของการขยายตัวของหนี้ครัวเรือนไทยมาจากผู้กู้รายเดิม

 

1/โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ และคณะ, “เข้าใจพลวัตหนี้ครัวเรือนไทยผ่าน Big Data ของเครดิตบูโร”, วารสาร aBRIDGEd ฉบับที่ 9 ปี 2562 และ “มุมมองใหม่หนี้ครัวเรือนไทยผ่าน Big Data ของเครดิตบูโร”, วารสาร aBRIDGEd ฉบับที่ 10 ปี 2560, สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

 

 

การเกิดปัญหาหนี้สินเกินตัว

 

ปัญหาหนี้สินเกินตัวเกิดจากทั้ง (1) ภาคครัวเรือน ที่มีความต้องการหรือความจำเป็นในการซื้อสินค้าและบริการ โดยส่วนหนึ่งอาจขาดทักษะความรู้ทางการเงิน ไม่ได้วางแผนทางการเงินเพื่อรองรับความจำเป็นและความไม่แน่นอนในอนาคต ประกอบกับกระแสบริโภคนิยมที่ต้องการใช้จ่ายเพื่อความมีหน้ามีตาหรือยกระดับสถานะทางสังคม สิ่งเหล่านี้ล้วนกระตุ้นให้ผู้บริโภคจับจ่ายใช้สอยเกินตัวและก่อหนี้เกินความจำเป็น และ (2) ภาคสถาบันการเงิน ที่นำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อไม่สอดคล้องกับความต้องการหรือความจำเป็น รวมถึงหย่อนมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อลงจากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ทำให้ภาคครัวเรือนอาจได้รับสินเชื่อเกินจำเป็นจนกลายเป็นปัญหาหนี้สินเกินตัว นอกจากนี้การพิจารณาสินเชื่อจากความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Risk) เป็นสำคัญ โดยไม่ได้คำนึงถึงความเสี่ยงที่ผู้กู้อาจมีเงินไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ (Affordability Risk) เท่าที่ควร ทำให้ครัวเรือนตกอยู่ในภาวะที่เงินคงเหลือหลังหักภาระผ่อนชำระหนี้ทั้งหมด (Residual Income) ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ โดยเฉพาะครัวเรือนกลุ่มรายได้น้อยที่มีภาระผ่อนชำระสูงจากหนี้หลายประเภท


ธปท. กับ “แนวนโยบายการให้สินเชื่อรายย่อยอย่างเหมาะสมเพื่อดูแลปัญหาหนี้เกินตัวของภาคครัวเรือน”

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตระหนักถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศ จึงได้ดำเนินการป้องกันปัญหาที่จะเกิดจากภาคสถาบันการเงินผ่าน “แนวนโยบายการให้สินเชื่อรายย่อยอย่างเหมาะสม เพื่อดูแลปัญหาหนี้เกินตัวของภาคครัวเรือน” ซึ่งเชิญชวนให้ผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินนำหลักการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending) ที่ให้ความสำคัญกับการพิจารณาสินเชื่อรายย่อยจากมุมมองผู้กู้เพิ่มเติมจากการพิจารณาเพียงความเสี่ยงด้านเครดิตของตน ซึ่งจะช่วยให้ภาคครัวเรือนเข้าถึงสินเชื่อที่สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ โดยไม่กระตุ้นการก่อหนี้เกินจำเป็น การดำเนินการดังกล่าวสามารถผนวกได้ในทุกกระบวนการทำงาน ตั้งแต่การปลูกฝังหลักการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบในระดับคณะกรรมการ ผู้บริหารระดับสูง ไปจนถึงผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการให้สินเชื่อรายย่อย (End-to-end Process) การพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสมกับความจำเป็นที่แท้จริงของลูกค้า การเสนอขายผลิตภัณฑ์ การพิจารณาอนุมัติสินเชื่อและการกำหนดเงื่อนไขในสัญญาอย่างเป็นธรรม ดังนี้

 

 

1. การปลูกฝังและส่งผ่านวัฒนธรรมองค์กร คณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูงของผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินควรกำหนดนโยบายและความคาดหวังที่ชัดเจน (Tone from the Top) เพื่อผลักดันการปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการให้สินเชื่อรายย่อย ตระหนักถึงหลักการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ รวมถึงนโยบายการจ่ายผลตอบแทนที่สะท้อนถึงความคาดหวังดังกล่าว จากเดิมที่ค่าตอบแทนพนักงานอาจให้น้ำหนักกับเป้าการเติบโตของสินเชื่อมากเกินไป จนเป็นการสร้างแรงจูงใจให้พนักงานกระตุ้นยอดสินเชื่อโดยการเสนอขายผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมาะสมกับความต้องการ และความสามารถทางการเงินของลูกค้า

 

2. การพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินควรพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้เหมาะสมกับความต้องการ ความจำเป็น และความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่มีสถานะทางการเงินที่เปราะบางและสุ่มเสี่ยงที่จะมีปัญหาหนี้เกินตัว อาทิ การออกแบบผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่ควรให้ความสำคัญกับความสามารถการชำระหนี้ในปัจจุบันมากกว่าอนาคต เนื่องจากรายได้อาจเพิ่มขึ้นไม่ทันภาระหนี้ เช่น การผ่อนค่างวดแบบขั้นบันได (Step-up) หรือผ่อนงวดสุดท้าย เป็นเงินก้อนใหญ่ (Balloon Payment) ที่ภาระผ่อนชำระจะน้อยในช่วงแรกและเพิ่มสูงขึ้นในช่วงหลัง ซึ่งผู้กู้อาจไม่สามารถชำระหนี้ในช่วงท้ายสัญญาได้

 

3. การเสนอขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินควรให้ข้อมูลและรายละเอียดผลิตภัณฑ์ทางการเงินแก่ลูกค้าอย่างครบถ้วน ชัดเจน และสามารถเข้าใจได้ง่าย โดยไม่กระตุ้นหรือไม่ชักจูงให้ลูกค้าก่อหนี้เกินจำเป็น รวมถึงไม่เสนอขายผลิตภัณฑ์พ่วงที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการ ความจำเป็น และความสามารถทางการเงินของลูกค้า เช่น การเสนอบัตรกดเงินสดเพิ่มเติมจากผลิตภัณฑ์บัตรเครดิตแก่ลูกค้าที่ไม่มีความประสงค์จะใช้ การชักจูงให้ลูกค้าเปลี่ยนวงเงินบัตรเครดิตที่ยังไม่ได้ใช้เป็นวงเงินสินเชื่อส่วนบุคคล การส่งเสริมให้ลูกค้าเบิกเงินก้อนแรกหลังจากได้รับ อนุมัติวงเงินสินเชื่อส่วนบุคคลทันที ทั้งนี้ ในกรณีที่ลูกค้าไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ ผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินควรอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจถึงความเสี่ยงทางการเงินที่อาจเพิ่มขึ้นจากการก่อหนี้เพิ่มเติม

 

4. การพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ ผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินควรประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าอย่างถี่ถ้วน โดยพิจารณาให้ครอบคลุมภาระหนี้ทั้งหมด เทียบกับรายได้อันเป็นแหล่งที่มาในการชำระหนี้ของลูกค้าซึ่งควรเป็นรายได้ที่มีความสม่ำเสมอ สามารถพิสูจน์หรือประมาณการได้อย่างน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ ยังควรพิจารณาว่าลูกค้าจะมีเงินเหลือสุทธิหลังหักภาระผ่อนชำระหนี้ทั้งหมด (Residual Income) เพียงพอต่อการดำรงชีพหรือไม่ โดยนำอัตราส่วนภาระหนี้ทั้งหมดต่อรายได้ของลูกค้า (Debt Service Ratio: DSR) มาใช้เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญประกอบการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงในการก่อหนี้เกินตัว จากเดิมที่การให้สินเชื่อบางประเภทพิจารณาจากมูลค่าหลักประกันเป็นสำคัญ หรือการให้สินเชื่อที่ระยะเวลาการผ่อนชำระเกินอายุเกษียณของลูกค้า

 

5. การกำหนดเงื่อนไขในสัญญา ผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินไม่ควรกำหนดเงื่อนไขในสัญญาที่ไม่เป็นธรรมต่อลูกค้า อันจะทำให้ลูกค้าเสียประโยชน์และเป็นหนี้มากขึ้นหรือนานขึ้นโดยไม่จำเป็น เช่น การเพิ่มวงเงินบัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคลให้แก่ลูกค้าโดยที่ลูกค้าไม่ได้ร้องขอหรือการเรียกค่าปรับในอัตราที่สูงมากหรือเพิ่มเงื่อนไขให้ยุ่งยากจนเกินสมควร ทำให้เป็นอุปสรรคในการชำระคืนหนี้ก่อนครบกำหนด


ธปท. กับภาคครัวเรือน

 

สำหรับภาคครัวเรือน ธปท. มุ่งเน้นการเสริมสร้างความรู้และวินัยทางการเงินอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายหลักคือเยาวชนกลุ่มอาชีวศึกษาและผู้ที่อยู่ในวัยทำงานซึ่งเป็นกำลังแรงงานหลักของประเทศ เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาหนี้สินของภาคครัวเรือน รวมถึงเตรียมความพร้อมทางการเงินรองรับการดำเนินชีวิตหลังเกษียณอายุ รวมทั้งสนับสนุนโครงการคลินิกแก้หนี้ ผ่านความร่วมมือกับสถาบันการเงิน ผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินที่มิใช่สถาบัน การเงิน (Non-bank) และบริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่มีหนี้สินกับสถาบันการเงินมากกว่าหนึ่งแห่งให้มีโอกาสปลดหนี้และกลับมามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

 

เมื่อสถาบันการเงินร่วมมือร่วมใจกันนำหลักการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบมาปรับใช้ในการให้สินเชื่อรายย่อยตลอดทั้งกระบวนการ จะช่วยให้สินเชื่อปล่อยใหม่โดยรวมมีคุณภาพดียิ่งขึ้น สถาบันการเงินมีความเสี่ยงด้านเครดิตลดลง และระบบสถาบันการเงินมีเสถียรภาพในระยะยาว ขณะที่ครัวเรือนได้รับสินเชื่อที่สอดคล้องกับความสามารถในการผ่อนชำระและคำนึงถึงผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากการก่อหนี้เกินจำเป็น ครัวเรือนไม่สุ่มเสี่ยงที่จะติดกับดักหนี้ มีเงินคงเหลือหลังชำระหนี้เพียงพอต่อการดำรงชีพ และมีฐานะการเงินเข้มแข็งขึ้น อันจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันของภาคครัวเรือน ในการรองรับความไม่แน่นอนในอนาคต ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจการเงินของไทยมีเสถียรภาพและเติบโตได้อย่างยั่งยืน

>>

>>