​Regulatory Guillotine ปฏิรูปกฎหมาย

เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ


 

 

อุปสรรคสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งของการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย คือ การมีกฎหมายจำนวนมากเกินจำเป็น ซึ่งเกิดจากการออกกฎหมายสะสมมาเป็นเวลานาน โดยไม่มีการทบทวนเพื่อยกเลิกกฎหมายที่หมดความจำเป็น ซ้ำซ้อน หรือล้าสมัย ปัจจุบันประเทศไทยมีพระราชบัญญัติเกือบ 1,400 ฉบับ และมีกฎหมายลำดับรองอีกกว่า 100,000 ฉบับ นอกจากนี้ ระเบียบ กฎเกณฑ์ และแนวปฏิบัติภาครัฐส่วนมากมีลักษณะไม่ยืดหยุ่น ก่อให้เกิดภาระต่อภาครัฐในการบังคับใช้และสร้างภาระต่อผู้ประกอบการและประชาชนในการปฏิบัติตาม ดังนั้น การทบทวนและปรับปรุงกฎ ระเบียบต่าง ๆ จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและเร่งด่วน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เท่าทันนวัตกรรมใหม่ ๆ และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของโลก

 

ในปี 2559 รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน ซึ่งมี ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน และคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจของประชาชน ซึ่งมี ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นประธาน เพื่อปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ ลดกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรค และพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตตามนโยบาย THAILAND 4.0 โดยมีภารกิจที่สำคัญ คือ โครงการปรับปรุงกฎหมายเพื่อปรับอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลก (Ease of Doing Business: EODB) ซึ่งทำให้ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลกปี 2560 ที่ดีขึ้นเป็นลำดับที่ 26 จาก 190 ประเทศทั่วโลก และโครงการทบทวนการอนุญาตของทางราชการภายใต้ชื่อ “Thailand’s Simple and Smart License” ด้วยวิธีการ Regulatory Guillotine ซึ่งวิธีการนี้ได้รับการยอมรับและประสบความสำเร็จ มาแล้วหลายประเทศ เป็นการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน โดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) สนับสนุนบุคลากรและงบประมาณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) รับผิดชอบบริหารโครงการ โดยมี Mr. Scott Jacobs ซึ่งมี ประสบการณ์ทำ Regulatory Guillotine ให้กับรัฐบาลต่างประเทศ เช่น เกาหลีใต้ เวียดนาม โครเอเชีย เม็กซิโก และการปฏิรูปกฎเกณฑ์ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน (Foreign Exchange Regulation Reform) ให้กับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาเป็นที่ปรึกษาโครงการ


Regulatory Guillotine

 

Regulatory Guillotine (RG) เป็นการทบทวนกฎหมายที่บังคับใช้ อยู่ในปัจจุบัน เพื่อลด ละ เลิกกฎหมายที่ไม่มีความจำเป็น ล้าสมัย ไม่สะดวก สร้างภาระต่อการปฏิบัติ โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน และการใช้หลักเกณฑ์ในการทบทวนที่เป็นระบบ ซึ่งจะทบทวนใน 2 มิติ คือ ด้านนิติศาสตร์ เป็นการทบทวนความจำเป็นทางกฎหมาย และด้านเศรษฐศาสตร์ เป็นการทบทวนความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์และธุรกิจ ตัวอย่างเช่น กฎหมายมีฐานอำนาจรองรับหรือไม่ ขัดทับซ้อนกับกฎหมายอื่นหรือไม่ มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนหรือไม่ สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมปัจจุบันหรือไม่ โดยในส่วนของความคุ้มค่าจะมีการประเมินผลกระทบด้านต้นทุน (Cost Assessment) เช่น ค่าธรรมเนียม ค่าเดินทาง ค่าเอกสาร ค่าเสียโอกาสต่าง ๆ ในการปฏิบัติตามกฎหมาย สำหรับการเสนอปรับปรุงอยู่ภายใต้หลักการ 5Cs ดังนี้ (1) Cut คือ การยกเลิก (2) Change คือ การปรับปรุง (3) Combine คือ การควบรวมกรณีที่ทับซ้อน (4) Continue คือ การคงไว้เช่นเดิม และ (5) Create คือ การสร้างกฎหมายใหม่กรณีจำเป็น

 


ขั้นตอนการดำเนินการของโครงการ มีดังนี้ (1) ทบทวนกฎระเบียบและแนวปฏิบัติ รวบรวมประเด็นปัญหาและอุปสรรค รวมถึงศึกษาแนวทางการปฏิบัติที่ใช้ในต่างประเทศ (2) หารือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อเข้าใจกฎระเบียบ ประเด็นปัญหาและผลกระทบ รวมถึงรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม (3) นำข้อมูลทั้งหมดมาประมวลผล ขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านนิติศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ วิเคราะห์และจัดทำข้อเสนอตามหลักการ 5Cs (4) ประชุมรับฟังความคิดเห็นเพื่อนำเสนอผลการทบทวนและนำข้อคิดเห็นมาปรับปรุงให้มีความถูกต้องสมบูรณ์มากที่สุด

 

โครงการทบทวนการอนุญาตของทางราชการ

 

 

โครงการทบทวนการอนุญาตของทางราชการ ได้เริ่มดำเนินการเดือนตุลาคม 2561 แล้วเสร็จเดือนพฤษภาคม 2562 โดยความหมายของการอนุญาต ครอบคลุมถึงการออกใบรับรอง การจดทะเบียน การขึ้นทะเบียน การรับแจ้ง การอนุมัติ และการให้ประทานบัตร/ อาชญาบัตร และเป็นการทบทวนกฎหมายทุกลำดับศักดิ์ที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตจำนวนประมาณ 170 เรื่อง รวมแล้วมากกว่า 1,000 กระบวนงาน เนื่องจากการขออนุญาตหนึ่งเรื่องอาจเกี่ยวข้องกับหลายกระบวนงาน และจากจำนวนดังกล่าวได้มีข้อเสนอให้ยกเลิกหรือปรับปรุงประมาณ 700 กระบวนงาน ซึ่งหากได้รับการปรับแก้ตามข้อเสนอแล้วจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายของภาคประชาชนและภาคธุรกิจรวมกันขั้นต่ำได้ประมาณ 75,000 ล้านบาทต่อปี

 

 

ในการทบทวนพบว่า ปัญหาหลักของกระบวนงานที่เกี่ยวกับการอนุญาต ได้แก่ การขออนุญาตยุ่งยาก สร้างภาระ มีความซ้ำซ้อนกันหลายหน่วยงาน การขออนุญาตล้าสมัย ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน และการพิจารณาการขออนุญาตขึ้นกับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ ซึ่งอาจขาดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน ทำให้มีความไม่แน่นอนสูง โดยคณะทำงานได้จัดทำข้อเสนอผลการศึกษา แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ (1) กลุ่มการส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ได้แก่ การอำนวยความสะดวกในการจ้างงานคนต่างด้าวและการส่งเสริม การลงทุนจากต่างประเทศ การส่งเสริมนวัตกรรม การอำนวยความสะดวกในการส่งออกนำเข้าสินค้า การอนุญาตที่ล้าสมัยและการส่งเสริม SME (2) กลุ่มการลดปัญหาและอุปสรรคในการประกอบธุรกิจเป้าหมาย ได้แก่ การท่องเที่ยว การค้าปลีก การศึกษาเอกชน การแพทย์ และอสังหาริมทรัพย์ (3) กลุ่มการส่งเสริมการประกอบอาชีพของผู้ด้อยโอกาส ครอบคลุมทั้งผู้พิการ ผู้สูงวัย ผู้ที่เคยต้องคดี และผู้ที่มีรายได้น้อย

 

 


ตัวอย่างผลการทบทวน

 

การอำนวยความสะดวกในการจ้างงานคนต่างด้าวและการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ เช่น การรายงานตัวของคนต่างด้าวกรณีอยู่ในประเทศไทยเกิน 90 วัน และการรายงานการเปลี่ยนสถานที่พักของคนต่างด้าวโดยเจ้าของบ้านและคนต่างด้าวภายใน 24 ชั่วโมง ปัญหานี้เกิดจากปัจจุบันแรงงานต่างด้าวต้องเดินทางไปรายงานตัวด้วยตัวเองหรือแม้แต่มอบหมายให้ผู้อื่นไปทำแทนจะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นจากกระบวนงานนี้สูงมาก ซึ่งแรงงานเหล่านี้ได้รับอนุญาตให้ทำงานในประเทศไทยเกินกว่า 90 วัน มีแหล่งที่อยู่และสถานที่ทำงานชัดเจน การยกเลิกจะช่วยลดภาระให้กับแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เป็นชาวต่างชาติ CEO บริษัท และเจ้าของบ้านที่ให้แรงงานต่างด้าวพักอาศัยหรือทำงานบ้าน ซึ่งถ้าปรับปรุงระบบการรายงานผ่านออนไลน์ให้สามารถใช้ได้จริง หรือยกเลิกการรายงานดังกล่าว จะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายของภาคประชาชนและภาคธุรกิจได้โดยรวมไม่น้อยกว่า 1,800 ล้านบาทต่อปี การพิจารณาออกใบอนุญาตทำงานให้คนต่างด้าว โดยมีเงื่อนไขสัดส่วนการจ้างแรงงานต่างด้าว 1 คน ต้องจ้างแรงงานไทย 4 คน และเงื่อนไขทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ล้านบาทต่อการจ้างแรงงานต่างด้าว 1 คน จากการที่ปัจจุบันมีบริษัทสตาร์ทอัป บริษัท SME เกิดขึ้นในตลาดเป็นจำนวนมาก ไม่จำเป็นต้องใช้พนักงานในการตั้งบริษัทหลายคน หรือกรณีที่ต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาร่วมเป็นที่ปรึกษาหรือลงทุน ซึ่งสัดส่วนจำนวนแรงงานอาจไม่ตรงตามเงื่อนไข หรือทุนจดทะเบียนอาจไม่ถึงเกณฑ์ โดยถ้าปรับปรุงเงื่อนไขดังกล่าว ให้สอดคล้องกับการประกอบธุรกิจ จะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายของภาคธุรกิจได้ประมาณ 7,000 ล้านบาทต่อปี

 

การส่งเสริมนวัตกรรม เช่น การขออนุญาตนำเข้าเครื่องพิมพ์ 3 มิติ เนื่องจากในทางปฏิบัติพบว่า เครื่องพิมพ์ 3 มิติไม่สามารถนำมาผลิตอาวุธปืน หรืออาวุธสงครามที่มีประสิทธิภาพได้ ทำให้ไม่มีความเสี่ยงด้านความมั่นคงตามเหตุผลที่อ้าง ในทางตรงกันข้าม มีการใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติอย่างแพร่หลายในการทำวิจัยและพัฒนาการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ หรือเครื่องมือทางการแพทย์

 

การอนุญาตที่ล้าสมัย เช่น การแจ้งการจำหน่าย จ่าย โอน เครื่องจักรผลิตผลิตภัณฑ์ซีดี จากการรวบรวมหลักฐานข้อมูลประกอบ การประเมินพบว่าสถิติปริมาณการผลิตซีดีในแต่ละปีลดลงอย่างต่อเนื่องจนเกือบเป็นศูนย์ และวัตถุประสงค์มีไว้เพื่อเก็บข้อมูลเท่านั้น แสดงให้เห็นว่าควรปรับให้เป็นการแจ้งโดยไม่ต้องรอการอนุญาต แบบแจ้งการเปลี่ยนแปลงการใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินที่เคยได้รับอนุมัติ เดิมเครื่องบันทึกการเก็บเงินมีเพื่อเก็บข้อมูลรายได้ไว้คำนวณภาษี จึงจำเป็นต้องรู้ข้อมูลการใช้และที่ตั้งของเครื่อง แต่ปัจจุบันการชำระเงิน สามารถใช้โทรศัพท์มือถือ โอนผ่านระบบพร้อมเพย์ หรือสแกนผ่าน QR Code ได้โดยสะดวก ดังนั้นข้อกำหนดเรื่องการแจ้งเปลี่ยนที่ตั้งนี้ จึงควรมีการปรับให้เหมาะสมกับยุคสมัย

 

สำหรับงานสำคัญหลังส่งมอบผลการศึกษา คือ การขับเคลื่อน เพื่อนำข้อเสนอไปดำเนินการให้เกิดผลจริง ทั้งในส่วนของการปรับแก้กฎหมายและการประสานงานภาครัฐให้ปรับกระบวนงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น กล่าวคือ ถ้ากฎหมายใดไม่จำเป็นก็จะถูกยกเลิก ส่วนกฎหมายใดที่จำเป็นแต่สร้างภาระต่อประชาชน หรือเป็นอุปสรรค กับการประกอบธุรกิจก็จะถูกปรับให้ยุ่งยากน้อยลง อาจลดเอกสาร ลดระยะเวลา มุ่งเน้นการอำนวยความสะดวก ซึ่งภาครัฐเองจะประหยัดงบประมาณจากการดำเนินการที่ไม่จำเป็น ซ้ำซ้อน หรือ ล้าสมัยเช่นกัน ทั้งนี้ สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมของโครงการทบทวนการอนุญาตของทางราชการ “Thailand’s Simple and Smart License” ได้ที่เว็บไซต์