Libra กับอนาคตการเป็นสกุลเงินดิจิทัลระดับโลก ?


 

เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2562 Facebook ได้ประกาศสร้างสกุลเงินดิจิทัลใหม่ที่มีชื่อว่า "ลิบร้า (Libra)" โดยตั้งเป้าจะเป็นสกุลเงินที่ใช้ร่วมกันทั่วโลก (Global Currency) และคาดว่าจะเริ่มใช้จริงในปี 2563 เพียงชั่วข้ามคืน Libra กลายเป็นข่าวฮือฮาในวงการการเงินโลก ด้วยปัจจุบันมีผู้ใช้งาน Facebook ทั่วโลกมากกว่า 2 พันล้านบัญชี และในประเทศไทย มีผู้ใช้งาน Facebook กว่า 51 ล้านบัญชี ซึ่งสูงเป็นอันดับที่ 8 ของโลก การเกิดขึ้นของ Libra อาจมีนัยเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การเงินของโลก ทำให้สถาบันการเงิน หน่วยงานกำกับดูแล และธนาคารกลางทุกประเทศต้องเตรียมรับมือและบริหารจัดการความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น สำหรับหลายคนที่ยังสงสัยว่า Libra คืออะไร แตกต่างจากเงินดิจิทัลสกุลอื่น ๆ อย่างไร The Knowledge ฉบับนี้จะมาอธิบายให้ฟัง

 

ความเป็น "เงิน" ของ Libra

 

Libra เป็นคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) เช่นเดียวกับบิทคอยน์ (Bitcoin) และอีเธอร์เรียม (Etherium) ซึ่งอาศัยเทคโนโลยี Distributed Ledger Technology (DLT) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า บล็อกเชน (Blockchain) แต่จุดที่ทำให้ Libra โดดเด่นและแตกต่างจากคริปโตเคอร์เรนซีอื่น คือ การถูกออกแบบให้มีมูลค่าไม่ผันผวน ซึ่งต่างจากคริปโตเคอร์เรนซีอื่นที่มูลค่าผันผวนสูงและมักถูกใช้เก็งกำไรในกลุ่มนักลงทุน Libra ใช้หลักการเดียวกับการบริหารสกุลเงินของประเทศต่าง ๆ ที่มีทุนสำรองหนุนหลังการออกใช้ กล่าวคือ ทุกเหรียญ Libra ที่ออกใช้จะมีสินทรัพย์หนุนหลังเต็มมูลค่า และสินทรัพย์เหล่านั้นจะถูกกระจายการลงทุนตามสัดส่วนตะกร้าเงินสกุลหลัก (Basket of Currency) ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องและความผันผวนต่ำ ได้แก่ ตราสารหนี้รัฐบาลระยะสั้น อย่างไรก็ดี ปัจจุบันยังไม่มีการประกาศรายละเอียดเพิ่มเติมในเรื่องนี้


การกำกับดูแลโดย Libra Association

 

 

 

ถึงแม้ Facebook จะมีบทบาทหลักในการสร้าง Libra ในช่วงเริ่มแรกแต่ Libra จะถูกบริหารและกำกับดูแลโดยหน่วยงานอิสระที่มีชื่อว่า Libra Association ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ที่เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทำหน้าที่บริหารทุนสำรองที่ใช้หนุนหลัง Libra Association ประกอบด้วยสมาชิกผู้ก่อตั้ง (Founding Member) 28 องค์กรพันธมิตร จากหลากหลายภาคธุรกิจการเงินและเทคโนโลยี อาทิ Visa, Mastercard, PayPal รวมไปถึงเจ้าของบริการด้าน Lifestyle อาทิ Spotify, Uber, eBay, Booking โดยสมาชิกจะได้รับผลตอบแทนจากการบริหารกองทุนสำรองของ Libra ในรูปแบบของการปันผล ทั้งนี้ คาดว่า Libra Association จะมีสมาชิกเพิ่มเป็น 100 รายในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ซึ่งหากในอนาคตมีการจับมือกับพันธมิตรรายใหญ่ ๆ ที่ให้บริการทางการเงินแก่ผู้คนจำนวนมากเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก็สะท้อนให้เห็นว่าเหรียญ Libra จะเข้ามาเป็นสกุลเงินที่ใช้ได้ในชีวิตประจำวันได้ไม่ยาก

 


เข้าถึงง่าย และรวดเร็ว

ความน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของ Libra คือการเป็นระบบโครงสร้างทางการเงินที่คนทั่วโลกสามารถเข้าถึงได้ โดยเฉพาะคนที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินจากระบบสถาบันการเงิน ในปัจจุบัน เนื่องจากค่าธรรมเนียมที่สูงและอุปสรรคต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้ เชื่อว่าการนำเอาเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้กับธุรกรรมของ Libra จะส่งผลให้ค่าธรรมเนียมลดลงมาก และสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว โดยทาง Libra กำหนดไว้เบื้องต้นที่ 1,000 ธุรกรรมต่อ 1 วินาที ซึ่งถือว่ารวดเร็วมากเมื่อเทียบกับ Bitcoin ที่ใช้เวลาถึง 7 วินาทีต่อ 1 ธุรกรรม เนื่องจากต้องได้รับการอนุมัติและจดบันทึกธุรกรรมจากผู้เล่นทุกราย

 

นอกจากนี้ ธุรกรรมต่าง ๆ ของ Libra จะทำผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล (e-Wallet) ที่ชื่อว่า "Calibra" โดยช่วงเริ่มต้นจะเปิดให้ใช้งานผ่านแอปพลิเคชันอย่าง Facebook Messenger และ WhatsApp ในเรื่องนี้ Facebook ได้จัดตั้งบริษัท Calibra แยกออกมาชัดเจน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้งานว่า ข้อมูลของผู้ใช้ Facebook จะไม่เข้ามาปะปนกับข้อมูลการเงินของ Calibra

 

เมื่อมองจากมุมของผู้บริโภค Libra จึงมีแนวโน้มที่จะได้รับการตอบรับอย่างรวดเร็ว เพราะการใช้งานที่ง่าย ผ่านแอปพลิเคชันที่เราคุ้นเคย ค่าธรรมเนียมต่ำ และใช้ได้ทั่วโลก


ก้าวที่สะดุดของ Libra

 

ถึงแม้ Libra จะมีเจตนาอันดีที่พยายามเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงินให้กับคนทั้งโลก อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของหน่วยงานความมั่นคงของชาติและหน่วยงานกำกับดูแล Libra ยังมีอีกหลายมิติที่ต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน โดยเมื่อไม่นานมานี้ สภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกาได้ส่งหนังสือถึง Facebook เพื่อขอให้หยุดพัฒนา Libra และ Calibra ชั่วคราว จนกว่าหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องจะตรวจสอบผลกระทบและความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นต่อระบบการเงินโลก โดยให้เหตุผลว่าเอกสาร Whitepaper ของ Libra ยังขาดรายละเอียดที่สำคัญอีกมากที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในการกำกับดูแล บวกกับปัญหาความน่าเชื่อถือของ Facebook ในช่วงที่ผ่านมาเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยและการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล อีกทั้ง Calibra อาจกลายเป็นพื้นที่สำหรับการฟอกเงินและการทำผิดกฎหมายอื่น ๆ ได้

 

ในส่วนของธนาคารกลางประเทศต่างๆ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เอง อยู่ระหว่างศึกษาและหารือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และธนาคารกลางอื่น ๆ อย่างใกล้ชิด รวมถึงจะมีการหารือกับ Facebook เพื่อดูความชัดเจนของกลไก รวมถึงแนวทางการกำกับดูแลของประเทศต่าง ๆ ด้วย

 

การประกาศใช้ Libra ในครั้งนี้ นับเป็นก้าวที่ทะเยอทะยานและท้าทายที่สุดของ Facebook แต่ท้ายที่สุดแล้ว แม้อาจจะมีประโยชน์เกิดขึ้นมากมายเพียงใด แต่หากเรากระโจนเข้ารับสกุลเงินใหม่นี้มาใช้ โดยขาดการศึกษาตรวจสอบ และการออกกฎเกณฑ์การกำกับดูแลที่ชัดเจนและรอบคอบแล้ว ก็อาจกลายเป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการเงินในระดับโลก นี่จึงถือเป็นความท้าทายของหน่วยงานกำกับดูแลและธนาคารกลางทั่วโลก ที่จะต้องเร่งศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ และปรับตัวให้ก้าวทันพัฒนาการทางการเงินใหม่ ๆ อย่าง Libra ที่จะเข้าพลิกโฉมโลกการเงินในอนาคต