​สฤณี อาชวานันทกุล

ผู้ปลูก "ต้นกล้าแห่งธุรกิจที่ยั่งยืน" ในสังคมไทย


 

 

 

 

​แม้การพัฒนาที่ผ่านมาจะช่วยให้ประชาคมโลกโดยรวมมีฐานะ คุณภาพชีวิต และสุขอนามัยที่ดีขึ้น แต่ถ้าพิจารณาในรายละเอียดก็ยากที่จะปฏิเสธว่าปัญหาหลายเรื่อง อาทิ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาคอร์รัปชัน รวมทั้งความขัดแย้งในหลายภูมิภาคทั่วโลก ถ้าไม่ได้รับการแก้ไข ก็ยากที่สังคมโลกจะก้าวหน้าไปได้อย่างยั่งยืน แนวคิดเรื่อง “ความยั่งยืน” ถูกพูดถึงว่าจะช่วยให้โลกพัฒนาไปได้อย่างมั่นคงขึ้นในระยะยาว ภาครัฐและเอกชนในหลายประเทศตื่นตัวในเรื่องนี้มาหลายปี แต่ในประเทศไทยแนวคิดเรื่องความยั่งยืนเพิ่งได้รับความสนใจไม่นานมานี้ ถ้ามองย้อนกลับไป หนึ่งในกลุ่มผู้ผลักดันและสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย คือ กลุ่มป่าสาละ

 

 

BOT พระสยาม MAGAZINE ได้รับเกียรติจาก คุณสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด และหัวหน้าคณะวิจัยแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) มาเล่าถึงพัฒนาการของแนวคิดเรื่องความยั่งยืน ความท้าทายในการขับเคลื่อนแนวคิดเรื่องนี้ให้เกิดการปฏิบัติจริงในภาคธุรกิจในหลากมิติที่น่าสนใจ


นิยาม “ความยั่งยืน” และความตื่นตัวของโลก

 

“คำว่า 'ความยั่งยืน' ถ้าพูดทั่วไปจะหมายถึงอะไรก็ตามที่อยู่ได้นานที่สุด ถ้าพูดถึงบริษัทยั่งยืน ก็คือบริษัทที่มีกำไรและเติบโตไปได้เรื่อย ๆ มาวันนี้ ความหมายนี้ก็ยังคงอยู่ แต่โลกทุกวันนี้ เรียกร้องให้บริษัทต้องเข้าใจปัจจัยที่ส่งผลต่อความยั่งยืนในทุกระดับให้มากขึ้น”

 

ส่วนนิยามทางการของสหประชาชาติ (United Nations: UN) “การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development)” หมายถึง การพัฒนาที่พยายามสร้างหลักประกันหรือทำให้มั่นใจได้ว่า คนรุ่นหลังจะมีคุณภาพชีวิตไม่ด้อยไปกว่าคนรุ่นปัจจุบัน

 

คุณสฤณีเกริ่นนำว่า หลังจบสงครามโลกครั้งที่ 2 โลกเริ่มเข้าสู่ยุคบริโภคนิยม ธุรกิจเติบโตอย่างมาก ทำให้การใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อเวลาผ่านไป นักวิทยาศาสตร์เริ่มมีหลักฐานชี้ว่า อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นอย่างผิดปกติเกิดจากก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่มาจากตัวการสำคัญ คือ การผลิตและการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล และกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

 

“รายงานของ World Economic Forum เรื่องการประเมินความเสี่ยงต่าง ๆ จากมุมมองของผู้นำธุรกิจระดับโลก พบว่า เดิม CEO ของบริษัทชั้นนำของโลกเคยมองประเด็นการป้องกันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Prevention) เป็นเรื่องสำคัญ แต่รายงานฉบับหลัง ๆ เปลี่ยนมาเป็นการบรรเทาผลกระทบและการปรับตัว ( Mitigation & Adaptation) หมายความว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งใหญ่ของโลกเกิดขึ้นแล้ว ป่วยการที่จะพูดถึงการป้องกัน โจทย์สำคัญ คือ การปรับตัวในโลกที่อยู่ยาก และการหาวิธีบรรเทาวิกฤติโลกร้อนเพื่อยืดเวลาของโลกออกไปให้นานที่สุด

 

“วันนี้ หลายประเทศทั่วโลกตระหนักแล้วว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) หรือ ‘ภาวะโลกร้อน’ ไม่ใช่แค่ปัญหา แต่เป็นวิกฤติ โดยอีกโจทย์ที่ท้าทาย คือ การที่แต่ละประเทศได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน จะทำอย่างไรให้ทุกประเทศตระหนักถึงความรุนแรงของผลกระทบเท่าเทียมกัน และเนื่องจากแต่ละประเทศมีบริบทที่แตกต่างกัน นอกจากปัญหาร่วมกันด้านสิ่งแวดล้อม แต่ละประเทศยังมีประเด็นปัญหาความยั่งยืนที่แตกต่างกัน”

 

สำหรับประเทศไทย ปัญหาสังคมผู้สูงอายุและปัญหาด้านการศึกษา เป็นประเด็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนของสังคมไทยและเศรษฐกิจไทย รวมถึงธุรกิจไทย

คุณสฤณีย้ำว่า ปัจจุบันปัญหาใหญ่ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงทางธุรกิจ ธุรกิจจึงต้องใส่ใจให้มากขึ้น มิเช่นนั้นความสามารถทางการแข่งขันอาจลดลง เพราะเมื่อถึงเวลาที่สังคมตระหนักเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น ย่อมมีแรงกดดันและเสียงเรียกร้องให้พิจารณาปัจจัยทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นต้นทุนทางธุรกิจอย่างเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น จึงจำเป็นที่ธุรกิจต้องใส่ใจกับผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเชื่อมโยงกับปัจจัยการทำธุรกิจและกระบวนการทำงาน

 

 


“ความเหลื่อมล้ำ” ตัวคูณที่ซ้ำเติมปัญหาความยั่งยืน

 

คุณสฤณีกล่าวว่า โดยธรรมชาติของมนุษย์ ส่วนใหญ่จะตระหนักถึงความสำคัญของความยั่งยืนต่อเมื่อวิกฤติมาถึงตัวแล้ว ซึ่งสำหรับคนไทยระดับความตระหนักถึงปัญหายังถือว่าน้อยมาก ทั้งนี้ ความตระหนักจะสัมพันธ์กับระดับความเหลื่อมล้ำ และหลายปัญหาใหญ่ ๆ มักส่งผลกระทบต่อคนแต่ละกลุ่มไม่เท่ากัน โดยผู้มีรายได้น้อย ผู้ด้อยโอกาสทางสังคม และผู้ที่พึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติเป็นรายได้หลัก เช่น ชาวประมงพื้นบ้าน เกษตรกรรายย่อย ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ มักได้รับผลกระทบที่รุนแรงกว่าคนที่มีฐานะดี

 

“เมื่อผลกระทบของปัญหาความยั่งยืนต่อแต่ละกลุ่มไม่เท่ากัน การแก้ไขปัญหาจึงต้องมองให้เห็นความแตกต่าง แต่ในสังคมที่ความเหลื่อมล้ำสูงมาก คนแต่ละกลุ่มยากที่จะเข้าถึงกัน ทำให้ยากที่จะเข้าใจปัญหาของกันและกัน และเมื่อไม่เข้าใจกันจึงเกิดความไม่ไว้ใจกัน จนอาจลามไปสู่ความขัดแย้ง ทำให้การขับเคลื่อนแนวทางแก้ปัญหาความยั่งยืนยิ่งทำได้ยาก UN จึงยกประเด็นความเหลื่อมล้ำมาเป็น 1 ใน 17 หัวข้อของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) เพราะถ้าแก้ปัญหานี้ไม่ได้ ก็ยากที่ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาอื่น”


"ความเหลื่อมล้ำ” ถือเป็นปัญหาสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในโลก VUCA (Volatility, Uncertainty, Complexity, Ambiguity) เพราะถ้าความเหลื่อมล้ำสูง โอกาสที่จะเกิด “เศรษฐกิจฐานกว้าง (Inclusive Economy)” ก็ลดลง ซึ่งเศรษฐกิจฐานกว้างมีผลกับความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ เพราะหมายถึงความสามารถในการรองรับความเสี่ยงหรือปัญหาที่จะเข้ามากระทบกับระบบเศรษฐกิจ

 

นอกจากนี้ ความเหลื่อมล้ำยิ่งสูง โอกาสเกิดเศรษฐกิจแบบกระจุกตัวยิ่งมาก นำมาซึ่งความเสี่ยงที่จะเกิดการรวบอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง ส่งผลต่อแนวโน้มความสำเร็จในการแก้ปัญหาความยั่งยืนลดลง

 

 

 

         คุณสฤณีพูดถึงปัญหาว่า “การผลักดันการแก้ปัญหาความยั่งยืน ไม่มีทางทำได้โดยที่ไม่มีใครเสียประโยชน์ เป็นเรื่องของการประนีประนอม การมองเห็นจุดร่วม และการมีฉันทามติร่วม แต่ในสังคมที่ความเหลื่อมล้ำสูง ผู้มีอำนาจมักไม่อยากขับเคลื่อนแนวทางแก้ปัญหาที่พวกเขาอาจเสียประโยชน์ ดังนั้น แนวโน้มการเกิดฉันทามติก็น้อยลง ลำพังแค่ความเห็นพ้องตรงกันว่ามีปัญหาแล้ว การมองให้เห็นว่าทางเลือกในการแก้ปัญหาว่ามีอะไรบ้างก็ยิ่งยาก ฉะนั้น ไม่ต้องพูดถึงข้อตกลงในการแก้ปัญหา”  

 

         คุณสฤณีสรุปว่า ความเหลื่อมล้ำเป็น “ตัวคูณ” ที่ซ้ำเติมให้การแก้ไขปัญหาความยั่งยืนต่าง ๆ ทำได้ยากยิ่งขึ้น เพราะทำให้ “สำนึกร่วม” มีไม่มากพอจะเรียกร้องหรือขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น ความเหลื่อมล้ำจึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องให้ความสำคัญถ้าอยากจะแก้ปัญหาความยั่งยืน

 

แนวทางปลูก “ธุรกิจที่ยั่งยืน”

 

         “มีธุรกิจไทยที่สนใจเรื่องความยั่งยืน บ่อเกิดอาจมาจากความอยากทำ CSR หรืออยากมีภาพลักษณ์ที่ดี ซึ่งไม่เป็นไร เพียงแต่ต้องปลูกฝังแนวคิดความยั่งยืนเข้าไปในขั้นตอนการดำเนินธุรกิจและกระบวนการผลิตให้มาก เพื่อนำไปสู่ผลผลิตที่ยั่งยืนขึ้น แต่ปัญหาที่เป็นอุปสรรคสำหรับบริษัทไทย คือไม่มีการเชื่อมโยงความยั่งยืนเข้ากับกระบวนการดำเนินธุรกิจอย่างจริงจัง และไม่ได้เชื่อมโยงธุรกิจกับผลกระทบหรือปัญหาต่าง ๆ มากเท่าที่ควร”

 

         คุณสฤณียกตัวอย่างบริษัทพลังงานที่เริ่มจากการทำความเข้าใจว่า บริษัทมีส่วนทำให้เกิดภาวะโลกร้อนมากแค่ไหน และเกิดขึ้นในกระบวนการใด ตลอดจนหาแนวทางปรับปรุงไปสู่กระบวนการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจได้ด้วย แต่ถ้าบริษัทนิ่งดูดาย ในที่สุดแล้ว บริษัทมีความเสี่ยงที่จะถูกกดดันให้ต้องปรับตัวจากกลุ่มผู้บริโภค กลุ่มองค์กรอิสระ กฎหมาย และคู่ค้าโดยเฉพาะในต่างประเทศ

 

“การผลักดันการแก้ปัญหาความยั่งยืน
ไม่มีทางทำได้โดยที่ไม่มีใครเสียประโยชน์
จำเป็นต้องมีการประนีประนอม
การมองเห็นจุดร่วม และการมีฉันทามติร่วม
แต่ในสังคมที่ความเหลื่อมล้ำสูง
แนวโน้มการเกิดฉันทามติจึงน้อยลง”

 

         “ถ้ารอไปถึงจุดนั้น ก็จะเสียเปรียบบริษัทที่ปรับตัวก่อน เพราะทุกวันนี้ ปัญหาเกี่ยวกับความยั่งยืนแทบทั้งหมดสามารถมองในมุมความเสี่ยงต่อธุรกิจได้เกือบทั้งหมด อยู่ที่ว่าบริษัทมองเห็นหรือยัง และมองไกลพอไหม”

         อีกปัญหาของสังคมไทยที่ส่งผลต่อการบ่มเพาะ “ธุรกิจที่ยั่งยืน” ได้แก่ การไม่มีข้อตกลงร่วมกันในสังคมว่า อะไรคือปัญหาใหญ่หรือปัญหาเร่งด่วนในเรื่องความยั่งยืนของสังคมไทย รวมถึงไม่มีการตกลงร่วมกันว่าภาครัฐและภาคเอกชนควรและไม่ควรต้องทำอะไร เพื่อนำไปสู่กฎหมายและแนวทางปฏิบัติในมาตรฐานเดียวกัน อีกทั้งยังเป็นการสะท้อนให้สังคมตระหนักถึงปัญหาความยั่งยืนในประเด็นนั้น ๆ

 

         เธอยกตัวอย่าง ความพยายามของสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม (Environmental Protection Agency: EPA) แห่งสหรัฐอเมริกา ในการบัญญัติให้ก๊าซ CO2 เป็นมลพิษ ซึ่งจะทำให้บริษัทในสหรัฐอเมริกาและคู่ค้าต้องระวังมากขึ้นในการดำเนินธุรกิจเพื่อไม่ให้ปล่อยก๊าซชนิดนี้เข้าสู่ชั้นบรรยากาศ ขณะเดียวกันยังทำให้คนสหรัฐฯ และทั่วโลกตระหนักถึงความรุนแรงของภาวะโลกร้อนในปัจจุบันได้อีกด้วย

 

         “สำหรับเมืองไทย เรายังไปไม่ถึงไหนเลย ปัจจุบันนี้เรายังไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่า อะไรเป็นปัญหาความยั่งยืนที่เร่งด่วนและเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องรีบหาแนวทางจัดการและรับมือ”

จงเชื่อว่าทุกคนช่วยโลกฝ่าวิกฤติ “โลกร้อน” ได้

 

         “Climate Change เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องช่วยกันป้องกันเสียแต่วันนี้ จะทำตัวชิลแบบเดิมไม่ได้ ความชิลของคนไทยจัดอยู่ในระดับเหนือจริงมาก คือ เราพร้อมปรับการใช้ชีวิตให้เข้ากับสถานการณ์ที่แย่ลงได้อย่างรวดเร็ว และมองปัญหาใหญ่เป็นเรื่องขบขันได้ ความชิลนี้ถือเป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหา เพราะมันทำให้เรายินยอมอยู่กับปัญหาแทนที่จะลุกขึ้นมาแก้ไข ฉะนั้น ปัญหาคือจะเปลี่ยนความชิลเป็น 'สำนึกร่วม' ได้อย่างไร หรือต้อง 'วาดภาพนรก' ให้เห็นอย่างชัดเจน”

 

         ปัญหาต่อมาเป็นเรื่องทัศนคติที่มักคิดว่า มนุษย์ตัวเล็ก ๆ จะแก้ปัญหาใหญ่ระดับโลกได้อย่างไร คุณสฤณีจึงยกตัวอย่าง เกรต้า ธุนเบิร์ก (Greta Thunberg) เด็กสาวชาวสวีเดนวัย 15  ปี ที่เลือก “โดดเรียนเพื่อโลก” ไปนั่งหน้าอาคารรัฐสภาสวีเดนตามเวลาเรียนทุกวัน นานถึง 3 สัปดาห์ เพื่อเรียกร้องรัฐบาลให้ลดการปล่อยก๊าซ CO2 และประกาศให้ Climate Change เป็น “วิกฤติ” ที่ต้องเร่งจัดการแก้ไข ซึ่งในที่สุดการเรียกร้องก็สำเร็จ อีกทั้งยังได้รับความสนใจจนเป็นประเด็นสำคัญในเวทีการประชุมระดับโลก และสร้างแรงบันดาลใจให้วัยรุ่นและผู้ใหญ่จากทั่วโลกตื่นตัวกับปัญหานี้อย่างจริงจัง

 

         ไม่เพียงโดดเรียน Greta ยังเลิกกินเนื้อสัตว์ด้วยเหตุผลว่าการทำปศุสัตว์ก่อให้เกิดก๊าซ CO2 มากกว่าการกินพืชหลายเท่า เธอเลิกนั่งเครื่องบินเพราะเครื่องบินสร้างมลพิษทำลายชั้นบรรยากาศมากกว่ารถยนต์หลายเท่า ความมุ่งมั่นที่จะลดวิกฤติโลกร้อน ทำให้เธอได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี ค.ศ. 2019

         “ถ้า 1 - 2 อาทิตย์แรก ผู้ใหญ่ยังไม่สนใจ แล้วน้องคิดว่า ช่างเถอะแล้วเลิกเลย การตื่นตัวอย่างมโหฬาร และการประกาศให้ Climate Change เป็นวิกฤติก็คงไม่เกิด บ่อยครั้งที่เหตุของความไม่สำเร็จ คือ เลิกล้มความตั้งใจไปก่อนที่ความสำเร็จจะเข้ามา สิ่งที่ยากคือเราไม่รู้ว่าความสำเร็จจะมาเมื่อไร เหมือนกับที่เราไม่รู้หรอกว่าความเปลี่ยนแปลงจะเกิดเมื่อไร ในฐานะนักวิจัยเรื่องความยั่งยืน มักมีคนถามว่า คิดว่างานวิจัยจะสร้างผลกระทบได้อย่างไร จะเปลี่ยนนโยบายรัฐได้จริงหรือ จริง ๆ ก็ไม่ได้คิดขนาดนั้น คิดแค่ว่างานวิจัยก็เหมือน 'จิ๊กซอว์' เรามั่นใจว่า มันเป็นส่วนหนึ่งของทางออก เพียงแต่ยังไม่รู้แน่ชัดว่าชิ้นนี้จะอยู่ตรงไหนในภาพใหญ่ และไม่รู้ว่าภาพใหญ่เป็นอะไร จนกว่าจะต่อเสร็จ”

 

         คุณสฤณีย้ำว่า ถ้าทุกคนเริ่มที่ตัวเอง ปรับพฤติกรรมที่พอทำได้ เช่น ใช้ถุงผ้า ลดการใช้พลาสติก ลดการใช้พลังงาน จัดการขยะของตนด้วย “3R” (Reduce, Reuse and Recycle) ไม่เพียงเป็นประโยชน์ต่อโลก ยังเป็นการสร้างความตระหนักและส่งต่อทัศนคติที่ถูกต้องให้คนรอบข้างด้วย และหากใช้ Social Media เป็นกระบอกเสียงในการรณรงค์ ก็ยิ่งทำให้ความตระหนักแพร่ไปในวงกว้างขึ้น ซึ่งความร่วมใจของทุกคนย่อมขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ให้กับโลกได้

 

“ฉันทะ” ในงานที่ทำ เคล็ดลับความสำเร็จฉบับ “สฤณี”

 

         คุณสฤณีเล่าว่า ก่อนหน้านี้ เธอใช้ชีวิตเป็นฟรีแลนซ์ทำงานเขียนหนังสือ แปลหนังสือ และงานวิจัย โดยเริ่มต้นจากงานวิจัยเกี่ยวกับธรรมาภิบาลในตลาดทุน จากนั้นขอบเขตความสนใจได้ขยายพรมแดนไปสู่เรื่องความยั่งยืน ระหว่างค้นหาข้อมูลประกอบการเขียนหนังสือเกี่ยวกับความยั่งยืน เธอพบว่าข้อมูลเรื่องนี้ในเมืองไทยมีน้อยมาก เพราะไม่ค่อยมีคนทำวิจัยด้านนี้ เธอจึงร่วมกับเพื่อนรุ่นน้องก่อตั้ง บริษัท ป่าสาละ จำกัด ขึ้นในปี 2556 

 

         “ตอนนั้น ไม่ได้คิดว่าต้องการสร้างประโยชน์เพื่อสังคม หรือจุดประกายความเปลี่ยนแปลง เพียงแค่ชอบทำวิจัย ชอบกระบวนการวิจัย และชอบเรื่องความยั่งยืน โจทย์งานวิจัยของเราจึงชัดเจนว่าเชื่อมโยงกับปัญหาความยั่งยืนในสังคมไทยที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมต่าง ๆ เรารู้สึกว่ามันมีความต้องการ เพราะการหาความเชื่อมโยงจากปัญหาความยั่งยืนไปยังอุตสาหกรรมและลึกไปถึงบริษัท เป็นเรื่องซับซ้อนและไม่ได้เห็นได้ง่าย ๆ”

 

         สำหรับความตั้งใจของป่าสาละ ไม่ใช่การเป็น “Think Tank”  แต่เป็นการทำงานวิจัยเพื่อค้นหาคำตอบว่าเกิดอะไรขึ้นในประเด็นนั้น เพื่อเป็น “จิ๊กซอว์” ให้คนอื่นนำไปใช้ต่อยอดหรือตอบโจทย์ของตัวเองได้ และด้วยความตั้งใจเช่นนี้ ทำให้หนึ่งในเงื่อนไขสำคัญในการรับทำงานวิจัยให้กับเอกชน คือ ผลงานวิจัยต้องสามารถเผยแพร่สู่สาธารณะได้ ยกเว้นในส่วนข้อมูลที่เป็นความลับของเอกชนนั้น ๆ

 

         จากวันนั้นมาถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 6 ปีที่ป่าสาละโลดแล่นอยู่ “แถวหน้า” ในแวดวงการทำงานวิจัยเรื่องความยั่งยืน และ “ธุรกิจที่ยั่งยืน” ของประเทศไทย โดยเคล็ดลับความสำเร็จ เธอบอกว่ามาจากการตั้ง “ฉันทะ” หรือความพอใจในงานที่ทำเป็นพื้นฐานและเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจ เมื่อมีฉันทะ ทำให้อยากทำงานไปเรื่อย ๆ ถ้าเจออุปสรรคก็อยากฝ่าฟันไปต่อให้ได้ แต่ถ้าขาดฉันทะในการทำงาน เมื่อเกิดอุปสรรค ก็ง่ายที่จะรู้สึกท้อแท้และล้มเลิกไปในที่สุด