โลกเปลี่ยน ธปท. พร้อมปรับ
กับ 3 ผู้บริหาร Mid-Career
เมื่อโลกวันนี้เปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นและมีลักษณะ VUCA มากขึ้น ทุกองค์กรจึงต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับโลกใบใหม่ที่เต็มไปด้วยโอกาสและความท้าทายมากมายรอบด้าน หนึ่งในกลยุทธ์เพื่อบรรลุเป้าหมายขององค์กรท่ามกลางบริบทเช่นนี้ คือ การเตรียมพร้อมบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ และเท่าทันการเปลี่ยนแปลง สำหรับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นอกจากจะเน้นการพัฒนาและปลดล็อกศักยภาพของพนักงานแล้ว ยังมีการสรรหาบุคลากรที่มีประสบการณ์จากภายนอก โดยเฉพาะในระดับผู้บริหารระดับกลางและสูง (Mid-career) เข้ามาช่วยเสริมทัพและผลักดันงานตามพันธกิจของ ธปท. ที่ท้าทายมากขึ้นทุกขณะ
BOT พระสยาม MAGAZINE ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้บริหารกลุ่ม Mid-career ได้แก่ ศ. ดร.วันประชา เชาวลิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส กลุ่มงานดาต้าอนาไลติกส์ ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ และคุณภิญโญ ตรีเพชราภรณ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายกำกับและตรวจสอบความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ทั้ง 3 ท่าน มาแบ่งปันมุมมองในการทำงาน รวมถึงภารกิจ และความท้าทายในงานเพื่อขับเคลื่อน ธปท. ไปข้างหน้า
ศ. ดร.วันประชา เชาวลิตวงศ์
ศาสตร์และศิลป์ในงานดาต้าอนาไลติกส์
การจัดการและใช้ประโยชน์จากปริมาณข้อมูลที่มีจำนวนมหาศาล เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยทั้งศาสตร์ทางเทคนิคและศิลป์ในการเข้าใจข้อมูลและการนำไปใช้ประโยชน์ในทางธุรกิจ ดร.วันประชาได้นำประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านดาต้าอนาไลติกส์จากต่างประเทศ และมุมมองในการตั้งโจทย์วิเคราะห์ที่แตกต่าง มาช่วยผลักดันงานด้านการวิเคราะห์ข้อมูลของ ธปท. ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
"วันนี้เราอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน เทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้เราเก็บ และคำนวณใช้ข้อมูลได้ง่ายและเร็วขึ้นมาก ซึ่งความท้าทายในงานด้านดาต้าอนาไลติกส์ของ ธปท. อยู่ที่ปริมาณข้อมูลจากหลายฝ่ายที่มีมหาศาล และมีมาตรฐานในการจัดเก็บที่แตกต่างกัน เราจะทำอย่างไรให้สามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาจัดเรียงและคำนวณใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด กลุ่มงานดาต้าอนาไลติกส์เป็นเสมือนศูนย์ กลางในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกให้กับทุกส่วนงานของแบงก์ชาติ ซึ่งเป้าหมายในการทำงาน นอกจากจะพยายามส่งเสริมการนำใช้ข้อมูลแล้ว เรายังมีการแบ่งปันเครื่องมือที่ใช้ให้กับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งภายในและภายนอก ธปท. ด้วย เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการเก็บ คำนวณ และแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน"
ดร.วันประชาได้เล่าถึงความตั้งใจอีกว่า "ข้อมูลต่าง ๆ ของ ธปท. จะต้องใช้งานได้จริง ไม่ซับซ้อน และพร้อมใช้ในการสร้างมูลค่า นึกภาพเหมือนในซุปเปอร์มาร์เก็ต แทนที่เราจะรอให้ลูกค้ามาถามหาของที่ต้องการแล้วจึงหยิบให้ เราควรนำของเหล่านั้นจัดเรียงไว้บนชั้นให้เขาได้เห็นและเลือกใช้มากกว่า ซึ่งความตั้งใจนี้ ไม่เพียงสนับสนุนความร่วมมือกับภายใน ธปท. เท่านั้น แต่รวมถึงองค์กรภายนอก และส่งต่อประโยชน์ไปถึงประชาชนทั่วไป"
เมื่อถามถึงคุณสมบัติของคนที่จะเข้ามาทำงานในด้านนี้และแนวทางการพัฒนา ดร.วันประชากล่าวว่า นอกจากความสามารถเชิงเทคนิคแล้ว ต้องมีความคิดเชิงวิเคราะห์ระบบ มีความช่างสงสัย ชอบตั้งคำถาม เพื่อให้คิดได้รอบหลายมิติ และได้ผลลัพธ์ที่หลากหลาย แต่หัวใจที่สำคัญที่สุดของคนที่ทำงานกับชุดข้อมูลที่เข้ามาอย่างไม่มีวันจบเช่นนี้ คือ การคิดอย่างเป็นระบบในทุกขั้นตอน ซึ่งการพัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพ แน่นอนว่าต้องพัฒนาทั้งในเชิงเทคนิคการใช้ข้อมูล รวมถึงพัฒนาความเข้าใจในธุรกิจของฝ่ายงานต่าง ๆ ต้องคุยกับฝ่ายงานที่เกี่ยวข้องมากขึ้น
ดร.วันประชาได้ทิ้งท้ายถึงมุมมองต่อการตั้งรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ว่า "เราไม่จำเป็นต้องก้าวนำเทคโนโลยีตลอดเวลา แต่ควรรู้จักและเข้าใจตัวเองก่อนว่า ข้อจำกัด (ของการทำงาน) คืออะไร เป้าหมาย ทำเพื่ออะไร เราจึงจะสามารถเลือกใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ได้อย่าง มีประสิทธิภาพ"
ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์
กับภารกิจการผลักดัน PIER สู่เวทีต่างประเทศ
จากบทบาทที่ปรึกษาสู่ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ (Puey Ungphakorn Institute for Economic Research: PIER) ดร.กฤษฎ์เลิศมีความคุ้นเคยกับ PIER เป็นอย่างดี เพราะได้ร่วมงานกับสถาบันมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ซึ่งทำให้เขาเข้าใจ จุดแข็งและภารกิจของสถาบันอย่างชัดเจน
"การได้ร่วมงานกับ PIER ผมมีความโชคดีอยู่หลายเรื่อง หนึ่งคือ การที่ผมได้มีโอกาสเป็นที่ปรึกษาและเคยร่วมงานกับผู้อำนวยการท่านก่อน (ดร.ปิติ ดิษยทัต) ซึ่งท่านวางรากฐานสถาบันไว้อย่างดี สองคือ เราได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากกรรมการสถาบัน ผู้บริหารระดับสูงของ ธปท. และเพื่อนร่วมงานในสายงานอื่นๆ ใน ธปท. และสามคือ การมีนักวิจัยที่มีคุณภาพในระดับแนวหน้า ของประเทศร่วมทีม
"ผลงานวิจัยของ PIER ที่ผ่านมาสามารถพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เรามีนักวิจัยที่อยู่ในระดับแนวหน้าของประเทศ ในฐานะนักวิจัยที่เข้ามารับบทผู้บริหารยอมรับว่า การดูแลบุคลากรที่เก่งระดับนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะไม่เพียงแต่นักวิจัยคุณภาพสูงในปัจจุบันจะหาตัวได้ยากแล้ว เรายังต้องคิดต่อว่าจะรักษาและพัฒนาต่อยอดนักวิจัยของเราให้เติบโตต่อไปข้างหน้าได้อย่างไร ซึ่งเป้าหมายต่อจากนี้ นอกจากจะสนับสนุนการทำวิจัยร่วมกับส่วนงานอื่น ๆ ใน ธปท. แล้ว ยังส่งเสริมให้นักวิจัยมีโอกาสไปแสดงผลงานในเวทีระดับโลกมากขึ้นด้วย"
ดร.กฤษฎ์เลิศกล่าวว่า มุมมองในงานวิจัยที่แตกต่างและเครือข่าย นักวิจัยในระดับนานาชาติที่สั่งสมมาจะช่วยขับเคลื่อนภารกิจของ PIER ในระยะข้างหน้า ซึ่งประกอบด้วย 2 เรื่องสำคัญ ได้แก่ การผลักดันงานวิจัยร่วมกับสายงานอื่นใน ธปท. มากขึ้น (Internal Collaboration) เพื่อนำไปประกอบการพิจารณานโยบายต่าง ๆ ของ ธปท. ได้อย่างตรงจุด และการส่งเสริมความร่วมมือกับองค์กรภายนอก โดยเฉพาะในเวทีต่างประเทศมากขึ้น (External Collaboration) เพื่อพัฒนาทั้งมุมมองของงานวิจัยและศักยภาพของนักวิชาการ
ในช่วงท้าย ดร.กฤษฎ์เลิศได้ย้ำถึงหัวใจสำคัญด้านวิชาการที่ PIER ว่า "การเป็นนักวิชาการที่ดีต้องมี 'ความซื่อสัตย์ทางวิชาการ' เป็นมาตรฐาน คือต้องพยายามผลิตงานที่มีคุณภาพ เพราะผลงานวิจัยของเรา นอกจากจะทำไปเพื่อตอบข้อสงสัยของผู้วิจัยแล้ว ยังมุ่งนำไปใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการออกนโยบายและกฎเกณฑ์สำคัญของ ธปท. และหน่วยงานอื่น ซึ่งกระทบกับคนจำนวนมากด้วย"
คุณภิญโญ ตรีเพชราภรณ์
ความท้าทายของการบริหารความเสี่ยงด้าน IT
เทคโนโลยีก็เหมือนดาบสองคมที่ด้านหนึ่งทำให้เกิดนวัตกรรม แต่อีกด้านหนึ่งคือโอกาสของความเสี่ยงและภัยคุกคามแบบใหม่ ๆ ซึ่งกลายมาเป็นความเสี่ยงหลักของภาคการเงิน ในฐานะผู้กำกับดูแลความมั่นคงของระบบการเงินการธนาคารของประเทศ ธปท. จึงต้องเตรียมพร้อมรองรับความเสี่ยงเหล่านี้ ในขณะที่ต้องรักษาสมดุลให้ภาคธุรกิจเติบโตได้อย่างราบรื่น คุณภิญโญได้เข้ามาร่วมงาน กับ ธปท. ที่ฝ่ายกำกับและตรวจสอบความเสี่ยงด้าน IT พร้อมมุมมองที่มาจากภาคธุรกิจเพื่อรักษาความสมดุลที่ว่านี้
"ถ้าพูดถึงความเสี่ยงด้าน IT ภาคเอกชนมักมุ่งเน้นไปที่การปกป้องสินทรัพย์และป้องกันการขโมยข้อมูลหรือความลับทางธุรกิจขององค์กรเป็นหลัก ขณะที่ ธปท. เป็นการทำงานเชิงนโยบาย การออกกฎเกณฑ์และแนวปฏิบัติด้าน IT และความเสี่ยงด้านไซเบอร์ เพื่อดูแลภาพรวมของภาคการเงินทั้งระบบให้เข้มแข็ง สามารถรองรับภัยคุกคามต่าง ๆ และลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้
"ความท้าทายของงานนี้ คือทำอย่างไรให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเท่าทันกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นไปพร้อมกัน กรอบและเกณฑ์แบบไหนที่จะสามารถรักษาสมดุลระหว่างเป้าหมายธุรกิจของสถาบันการเงิน และการบริหารความเสี่ยงที่เพียงพอ ด้วยเหตุนี้ ธปท. จึงต้องคุยกับหลายส่วนมากขึ้น ทั้งภายในและภายนอกองค์กร เพื่อออกเกณฑ์การกำกับดูแลที่เหมาะสม รวมถึงมีการทบทวนและปรับปรุงเกณฑ์ให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ"
นอกจากจะดูแลเรื่องการจัดทำเกณฑ์ นโยบาย และการพัฒนาเครื่องมือในการกำกับดูแลแล้ว คุณภิญโญยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาทีมงานผู้ตรวจสอบรุ่นใหม่ให้สามารถแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่ โดยมีระบบช่วยเรียนรู้ของผู้ตรวจสอบ (Cyber X Lab) และเน้นการเปิดโอกาสให้ทีมงานริเริ่มโครงการและนำเสนอเกณฑ์ใหม่ ๆ ได้
"คนที่จะทำงานด้านนี้ แน่นอนว่าต้องมีความรู้เชิงเทคนิคด้าน IT และความเข้าใจเรื่องมาตรฐานและกระบวนการในการกำกับ ตรวจสอบสถาบันการเงิน นอกจากนี้ ควรเป็นคนช่างสังเกต ช่างสงสัย เพื่อชี้ให้เห็นบางประเด็นการตรวจสอบที่สำคัญ แต่คุณสมบัติที่ผมมองว่าสำคัญที่สุด คือ การมีเป้าหมายและ Passion ในงานที่ทำ เพราะจะทำให้เราไม่หยุดที่จะพัฒนาตัวเองเพื่อไปสู่เป้าหมายที่ตัวเองตั้งใจไว้" คุณภิญโญกล่าวทิ้งท้าย