Sustainable Shopping

ความสุขที่ Never Ending ของสายชอป


หลายคนที่ชื่นชอบการชอปปิงน่าจะเคยประสบเหตุการณ์คล้าย ๆ กับสายชอป 2 คนนี้

 

นุ่นเดินห้างและส่งข้อความ CF NO CC ได้แค่ไม่กี่วันหลังเงินเดือนออก แล้วเงินก็หมดจึงต้องพึ่งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตั้งแต่วันที่ 10

 

โยโย่ต้องรีบเอาเงินที่เพิ่งได้มาไปจ่ายหนี้บัตรเครดิตที่ก่อไว้ตั้งแต่เดือนที่แล้วเพราะต้องมนตร์ 9/9 หรือ 10/10 ที่จัดทุกเดือน แต่ก็ชอปได้ทุกครั้งไม่เคยเบื่อและไม่เคยจำความเจ็บปวดใจที่ขัดสนช่วงกลางเดือนได้เลย

 

ที่แย่ไปกว่านั้น บางคนตกอยู่ในวังวนการชอปปิงทั้งแบบของนุ่นและโยโย่ผสมกัน จนกระทั่งต้องยืมเงินเพื่อน หัวหน้า หรือจ่ายบัตรขั้นต่ำเพื่อเอาตัวรอดจากการเป็นหนี้เสีย แต่หลายรายก็ไม่รอด หรือไปไกลจนถูกฟ้องศาล อายัดเงินเดือน เพียงเพราะทุ่มเทให้กิจกรรมอันเป็นที่รักโดยไม่รู้วิธีที่จะไม่สร้างความเดือดร้อนให้ตัวเองในภายหลัง

 

เมื่อเจาะดูข้อมูลพฤติกรรมการชอปเฉพาะช่องทางออนไลน์ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวไทยในปี 2561 โดย www.Picodi.com แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ พบว่าคนไทยชอปออนไลน์เก่งเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากเปรูและไนจีเรีย โดยผู้หญิงนิยมการชอปปิงออนไลน์มากกว่าผู้ชาย (คิดเป็นร้อยละ 59 และร้อยละ 41) และเมื่อพิจารณาจากช่วงวัย กลุ่มคนรุ่นใหม่หรือวัยเริ่มทำงานช่วงอายุระหว่าง 25 - 34 ปี เป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ที่สุดของพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ (คิดเป็นร้อยละ 51) เพราะช่วงวัยนี้ ถือเป็นช่วงวัยของการเก็บเกี่ยว กล่าวคือเป็นวัยที่มีรายได้เป็นของตนเอง และก็มีอิสระในการจับจ่ายใช้สอย จึงจำเป็นต้องอาศัยการบริหารจัดการเงินอย่างมีวินัยเพื่ออนาคตหรือเป้าหมายที่แต่ละคนวาดฝันไว้

และหากต้องตอบคำถามที่ว่า "ชอปอย่างไรให้เงินไม่หมด" หลายคนคงจะตอบไม่ได้ว่าต้องทำอย่างไร หรืออาจจะคิดว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่ชอปแล้วจะมีเงินเหลือ ลองให้จินตนาการกันเล่น ๆ ว่าวันนี้จะไปชอปปิง แน่นอนว่าคงจะมีของหลากหลายรายการที่เคยเล็งไว้ผุดขึ้นมาในหัวมากมาย ไม่รวมของที่ไม่ได้ตั้งใจซื้อตั้งแต่แรกในทำนอง Impulse Spending ที่มีเงินเท่าไหร่ก็คงจะหมดเท่านั้น เพราะความต้องการของคนเรามักไม่มีที่สิ้นสุด

 

Financial Wisdom จึงขอนำเสนอวิธีการชอปปิงที่จะทำให้นักชอป อย่างเราได้สนุกกับการชอปปิงกันไปแบบยาว ๆ (ซึ่งหากจะหยิบคำว่า Sustainable มาใช้กับ Shopping ตามกระแสสมัยนี้ก็คงพอได้) ดังนี้

 

คิดให้ดีก่อนชอป หลาย ๆ คนพ่ายแพ้ให้แก่ป้าย Sale มานักต่อนัก ลองตั้งสติคิดสักนิดว่า ของชิ้นนั้นจำเป็นจริง ๆ หรืออยากซื้อเพราะอยากได้ หรือเสียดายกันแน่ ถ้าเคยซื้อของมาแล้ว รู้สึกผิดภายหลัง หรือซื้อมาแล้วไม่รู้จะเอาไปทำอะไร นั่นแหละเป็น สัญญาณว่าเราไม่ได้ตั้งสติและคิดให้ดีก่อนซื้อ ถ้ารู้ดังนี้แล้ว จะเริ่มต้นปรับปรัชญาการชอปปิงของตัวเองใหม่ตั้งแต่วันนี้ก็ยังไม่สาย จากซื้อทันทีเป็นคิดทบทวนก่อนจ่ายทุกครั้ง

 

มีจุดยืน ไม่ตามกระแส หากเราซื้อทุกอย่างตามแฟชั่นหรือตามกระแสสังคม คงต้องหันมาดูเงินในกระเป๋าเราด้วยว่าผลิตทันแฟชั่นเหล่านั้นหรือเปล่า พอเลิกฮิตแล้วจะหยิบเอามาใช้งานก็เอาท์เสียแล้ว ถ้าเรามีจุดยืนและไม่ตามกระแสก็จะช่วยประหยัดเงิน ไปได้เยอะเลย

 

ตั้งงบประมาณ สำหรับการชอปปิงแค่พอหายอยากหรือคลายเครียดในแต่ละเดือน เช่น ร้อยละ 5 หรือร้อยละ 10 ของเงินเดือน โดยอาจใช้แอปพลิเคชันช่วยบันทึกค่าใช้จ่ายไปด้วย จะได้เช็กว่าเราหมดเงินไปกับค่าชอปปิงเกินงบที่ตั้งไว้หรือยัง ซึ่งหลายแอปพลิเคชันยังสามารถช่วยบันทึกค่าใช้จ่ายหมวดหมู่อื่น ๆ ได้อีก เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง หรือค่าท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยให้เราเห็นภาพรวมว่า รายได้ของเราเพียงพอต่อรายจ่ายทั้งหมดหรือไม่

 

สำรวจของที่มีอยู่ ลองหาเวลาจัดบ้านหรือสำรวจตู้เสื้อผ้า เดือนละ 1 ครั้ง อาจจะเจอของใช้หรือเสื้อผ้าที่เคยซื้อไว้แต่ลืมเอามาใช้ก็ได้ แถมยังเป็นโอกาสให้เราได้รู้ว่าอะไรที่มีอยู่แล้ว จะได้ไม่ซื้อซ้ำเพราะบ่อยครั้งที่เรามักจะเผลอซื้อของลักษณะคล้ายแบบเดิมที่เรามีอยู่ เช่น กางเกง รองเท้า หรือกระเป๋าที่มีโทนสีหรือรูปทรงแบบเดิม ๆ

 

ประวิงเวลาก่อนควักเงินออกจากกระเป๋า สมมติว่าเราอยากได้รองเท้าคู่ใหม่ แทนที่จะซื้อทันที ลองปล่อยให้เวลาผ่านไปสักวันสองวัน แล้วถามตัวเองดูว่ายังอยากได้อยู่หรือเปล่า ถ้าใช่ คิดแล้วว่าจะไม่มีปัญหาเงินไม่พอใช้ก็กลับไปซื้อ แต่ถ้าเกิดเปลี่ยนใจ ไม่อยากได้ขนาดนั้น ก็เก็บเงินไว้ชอปของที่อยากได้ที่จะเจออีก แน่นอนในอนาคตดีกว่า เชื่อว่าหลาย ๆ คน ถ้าได้ลองใช้วิธีนี้ ต้องมีเปลี่ยนใจไม่ชอปกันบ้างแน่นอน

 

ปรับวิธีการจ่ายค่าบัตรเครดิต ใครที่มีปัญหาการเงินพังเพราะบัตรเครดิต ขอให้อดทนปรับพฤติกรรมการจ่ายเงินค่าบัตรอย่างน้อยสัก 1 เดือน พอรูดปุ๊บควรโอนเข้าบัญชีที่เปิดไว้จ่ายค่าบัตรเครดิตโดยเฉพาะ แล้วแข็งใจหรือทำลืม ๆ ไปอย่าตบะแตกถอนออกมาใช้ ผู้ที่เคยใช้วิธีนี้กล่าวว่า "การที่เราเห็นเงินสดหรือเงินในบัญชีเงินเดือนของเราพร่องลงไปจริง ๆ ไม่ได้ถูกลวงตาเพราะค่าใช้จ่ายไปอยู่ที่บัตรเพื่อรอเราเอาเงินเดือนเดือนหน้าไปจ่าย ทำให้เราคิดก่อนใช้มากขึ้นเยอะ ที่สำคัญ เดือนหน้าเราจะมีเงินเหลือในบัญชี เพื่อใช้จ่ายสิ่งที่จำเป็นหรือเก็บออมลงทุนมากกว่าที่ผ่านมา ความพังทางการเงินน้อยลง ชีวิตก็เริ่มไปในทางที่มันควรจะเป็น เท่านี้ก็ Happy มากกว่าเดือนก่อน ๆ แล้ว"

 

[1] ขอขอบคุณข้อมูลจากบทความในหนังสือพิมพ์ BLT (www.bltbangkok.com) หัวข้อ เผย! คนไทยชอปออนไลน์สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2562