ปลดล็อกศักยภาพด้วย “ปัญญา”


 

 

ด้วยความเร็วและแรงของคลื่นความเปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบัน หลายคนเริ่มตระหนกว่าอาจไม่มีวิชาความรู้ใดที่ช่วยให้ตนสามารถฝ่าฟันปัญหาและอุปสรรค รวมถึงตอบโจทย์การดำเนินชีวิตท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงนี้ซึ่งความไม่มั่นใจดังกล่าวนำมาซึ่งความกลัวอนาคตและความสิ้นหวัง เมื่อ "ปัญญา" อาจเป็นทางออกจากวังวน ความรู้สึกนี้ BOT พระสยาม MAGAZINE ได้เชิญ คุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา นักคิดและนักเขียนยุค 4.0 แห่งสำนักพิมพ์ Openbooks และเป็นผู้เขียนหนังสือซีรีส์ "ปัญญา" หนังสือเพื่อสร้างการเติบโตทางความคิด มาร่วมพูดคุยเพื่อจุดแรงบันดาลใจสู่การปลดล็อกศักยภาพในตัวเองในโลกยุคใหม่

 


ความเปลี่ยนแปลงเป็นนิรันดร์

 

คุณภิญโญกล่าวว่า ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติทั้งหมด ไม่เคยมีอะไรที่เสถียรจริง เพียงแต่ที่ผ่านมา ชีวิตคนเรามักจะสั้นเกินกว่าจะเห็นความไม่เสถียรของสิ่งต่าง ๆ ที่มนุษย์เคยยึดถือไว้ แต่ยุค ปัจจุบันที่กำลังเคลื่อนตัวไปในอนาคต โลกถูกบีบอัดจนเราเห็นและรู้สึกได้ว่า ความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เกิดบ่อยครั้งขึ้น เร็วและแรงขึ้น (Disrupt) ชุดความรู้หรือทักษะที่เคยสร้างความสำเร็จยืนยงมาเป็น 100 ปี กลายเป็นความสำเร็จอายุสั้นที่อยู่ได้เพียง 1 ปี หรือบางเรื่องก็มีอายุสั้นไปกว่านั้น คำถามคือ เราจะปรับตัวทันโลกไหม

 

คุณภิญโญแนะนำคุณสมบัติที่จะทำให้ปรับตัวทันโลกว่าเริ่มจาก (1) ต้องรู้จักโลกและยอมรับความเปลี่ยนแปลงของโลก (2) ต้องมีความยืดหยุ่น (Elasticity) พอที่จะเรียนรู้ว่าความจริงโลกเป็นอย่างไร และ (3) ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัว

"ผมมองว่าความยืดหยุ่นคือคุณสมบัติสำคัญของมนุษย์ในยุคต่อไป เพราะเมื่อโลกมันไม่เที่ยง ไม่นิ่ง และเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ถ้าคุณคิดว่ามันเที่ยง แล้วไม่ปรับตัว เพราะคิดว่าจะเป็นอย่างนี้ต่อไป คุณจะไม่รอด ฉะนั้นต้องมีความยืดหยุ่นสูงที่จะมองโลกตามความเป็นจริง และเรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้าหาโลก ไม่ใช่ให้โลกปรับตัวเข้าหาคุณ ถ้าเอาตัวเองเป็นจุดสุดท้ายของกระแสความเปลี่ยนแปลง ในที่สุด โลกจะหมุนจนกระทั่งคุณหายสาบสูญไปในประวัติศาสตร์อันยาวนานของโลก ประเทศไทยก็เช่นกัน ถ้าไม่ยืดหยุ่น ไม่ปรับตัว แล้วคิดว่าเราดีที่สุด เก่งที่สุด คลื่นประวัติศาสตร์ก็จะกวาดเราไป"

 

 


"อัตตาที่คับตัว" อุปสรรคที่ขวางการปรับตัวสู่โลกยุคใหม่

 

ทักษะการเรียนรู้ของคนยุคใหม่ต้องยืดหยุ่น เพื่อเตรียมพร้อมและเพิ่มขีดความสามารถในการเรียนรู้ชุดความรู้และความคิดของโลกใหม่อยู่เสมอ และสิ่งที่ควรให้ความสำคัญมากกว่า "อะไรคือสิ่งที่ต้องเรียนรู้" (What to learn) คือ "จะเรียนรู้ได้อย่างไร" (How to learn)

 

"ที่ผ่านมา เรารู้ What to learn แล้วก็เรียนเรื่องนั้นเรื่องเดียวจนจบปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก แล้วก็ใช้ชุดความรู้นั้นทำงานไปจนเกษียณ แต่วันนี้โลกไม่เอาชุดความรู้แบบนั้นแล้ว ยิ่งเรียนมาเยอะ ต้นทุนยิ่งสูง ยิ่งเปลี่ยนแปลงยาก ฉะนั้นต้องกลับมาสู่ วิธีการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ว่าต้อง 'ทำอย่างไร' เพราะถ้าไม่รู้วิธีการ คุณจะเข้าสู่ความรู้ไม่ได้ ทำให้ปรับตัวไม่ได้ แล้วยึดติดกับพื้นที่เดิมไว้ อย่างเข้มข้น ซึ่งนี่คือปัญหาของคนที่เป็น 'ผู้ใหญ่' ยิ่งมีอาวุโส มีตำแหน่ง มีอำนาจ ก็ยิ่งยึดติดในศักดิ์ศรีและความสำเร็จ การทิ้งอัตตาของตัวเองจึงเป็นเรื่องที่ยากมาก"

 

คุณภิญโญสรุปว่า อุปสรรคสำคัญที่สุดในการเปลี่ยนแปลงตัวเอง คือ อัตตา พร้อมเล่าเสริมว่า ผู้บริหารที่มีอำนาจมักเป็นอุปสรรคของการเปลี่ยนแปลงในองค์กร เพราะขณะที่บอกให้ทุกคนในองค์กรเปลี่ยน ตนเองกลับไม่ยอมเปลี่ยน เช่นเดียวกับการปกครองระดับประเทศ ถ้าผู้กุมอำนาจส่วนใหญ่ไม่ยอมที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง ประเทศชาติก็ยากที่จะเปลี่ยน

 

อย่างไรก็ดี เขาเชื่อว่า ในทุกสังคมมีทั้งคนที่พร้อมและคนที่ไม่พร้อมจะเปลี่ยน จากประวัติศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในโลกล้วนเริ่มจากคนไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของสังคม สังคมไทยก็เช่นกัน อาจต้องการจำนวนคนที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงในสังคมเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ เพื่อจุดประกายและขับเคลื่อนให้สังคมส่วนใหญ่ค่อย ๆ เปลี่ยนตาม

 

"คำถามของประเทศวันนี้คือ เรามีคนเหล่านี้ในแต่ละภาคส่วน ทั้งภาคการศึกษา ภาคธุรกิจ ภาคการเมือง ภาคการเกษตร ฯลฯ ที่จะส่งต่อวิสัยทัศน์แห่งความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น แล้วส่งพลังสะเทือนให้เห็นว่าสังคมต้องเปลี่ยน เพียงพอหรือไม่ ถ้าเพียงพอ สังคมก็จะเปลี่ยน แต่ถ้ายังไม่มากพอ สังคมจะหยุดนิ่ง ซึ่งสภาพการณ์ในสังคมจะเป็นตัวสะท้อนบอกเองว่ามันมีเพียงพอหรือยัง"


สนทนา-อ่าน-เดินทาง คือกระบวนการสร้าง "ปัญญา"

 

สำหรับคุณภิญโญ "ปัญญา" หาใช่องค์ความรู้หรือชุดความคิดใด ๆ แต่เป็นกระบวนการในการพัฒนาและการสร้างการเติบโตทางความคิดในบุคคล โดยได้แนะนำให้รู้จัก "3 เครื่องมือ" ในการเข้าถึงปัญญาตามแบบฉบับของเขาให้ผู้อ่านลองนำไปปฏิบัติ ประกอบด้วย การสนทนากับปราชญ์หรือผู้มีปัญญาบนโต๊ะอาหาร การอ่านหนังสือ และการเดินทาง ดังมีคำกล่าวของปราชญ์ท่านหนึ่งว่า "การได้นั่งสนทนากับปราชญ์หรือผู้มีปัญญาบนโต๊ะอาหารมีค่ามากกว่าการอ่านหนังสือรวมกัน 10 ปี"

 

"ผมไม่ได้บอกว่าการได้นั่งสนทนากับปราชญ์ หรือการอ่านหนังสือ อะไรมีค่ามากกว่ากัน แค่จะบอกว่านี่คือกระบวนการในการสร้างปัญญา ลองคิดดูว่า ถ้าคุณได้นั่งสนทนากับปราชญ์ที่ชาญฉลาดที่สุดในโลกทุกวัน วันละคน คุณจะฉลาดเพิ่มขึ้นขนาดไหน ถ้าคุณมีความอ่อนน้อมถ่อมตนเพียงพอที่จะเรียนรู้จากเขา แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีโอกาสนี้ ดังนั้น ควรอ่านหนังสือให้เยอะ เพราะว่าปัญญาชนส่วนใหญ่ของโลกเก็บความรู้ไว้ในรูปแบบการเขียนหนังสือ นี่คือทางลัดเข้าสู่ปัญญาได้อีกวิธี แต่ปราชญ์จีนบอกว่า ต่อให้คุยกับปราชญ์ หรืออ่านหนังสือเป็น 10 ปี ก็ยังไม่เท่ากับการเดินทาง เพราะหลายเรื่อง มันต้องอาศัยประสบการณ์ตรง ถ้าไม่ออกไปเห็นโลก ก็ไม่เข้าใจบริบทของโลก ไม่เข้าใจผู้คนและวัฒนธรรมของแต่ละที่ คุณก็ไม่อาจเชื่อมโยงกับชุดความคิดที่มี และจะไม่มีทางเข้าใจภาพทั้งหมด"

 

คุณภิญโญย้ำว่า การสนทนากับผู้คน การอ่านหนังสือ และการเดินทาง ล้วนเป็นกลไกสำคัญในกระบวนการสั่งสมทางปัญญา เพียงแค่หมั่นทำ 3 กิจกรรมนี้ เขาเชื่อว่าทุกคนจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงและกระบวนการสร้างปัญญาใหม่ในตัวเอง ซึ่งต้นทุนของสิ่งเหล่านี้ ไม่ได้แพงเลยสำหรับโลกสมัยใหม่ที่มีเทคโนโลยีมาช่วยอำนวยสะดวก และช่วยลดต้นทุนได้อย่างมาก

 

"หนังสือถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่ถูกที่สุด แต่คนไทยหลายคนยังบ่นว่าแพง แต่ซื้อกาแฟแก้วละร้อยกว่าบาทได้ การตัดสินใจเรื่องการจัดสรรทรัพยากร คือ เวลา พลังงาน และเงิน ถือเป็นกลยุทธ์ในการสร้างปัญญา เพราะการสร้างปัญญาคือการรู้ว่าจะใช้ทรัพยากรที่มีไปกับอะไร ถ้าคุณใช้ไปกับกาแฟ คุณได้คาเฟอีน ถ้าใช้ไปกับการอ่านหนังสือ ก็ได้ความรู้ แต่ถ้าใช้กับทั้งกาแฟและหนังสือ แล้วนั่งสนทนากัน ก็จะได้ปัญญา"

 

 


มนุษย์กับ AI จะอยู่ร่วมกันอย่างไร

 

คุณภิญโญเชื่อว่า มนุษย์กับปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) อยู่ร่วมกันได้โดยเกื้อหนุนกันเป็นวัฏจักร โดยต้องเรียนรู้และปรับตัวที่จะอยู่ร่วมกัน

 

"เรากลัวว่า AI จะมาทำอะไรหลายอย่างแทนเรา แล้วเราจะอยู่กันอย่างไร ความหมายของการเป็นมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 และช่วงเวลาหลังจากนี้คืออะไร เพราะ AI จะเข้ามาทำสิ่งที่ไม่ได้เป็นหน้าที่แท้จริงของมนุษย์ คำถามคือ เรารู้หรือไม่ว่าหน้าที่ที่แท้จริงของมนุษย์คืออะไร AI ค้นหาคำ สถานที่ ภาพ ค้นหาอะไรได้มากมาย แต่แสวงหาความเป็นมนุษย์ที่แท้จริง (Soul Searching) ไม่ได้ มนุษย์มีหน้าที่ต้องหาให้เจอเองว่า มนุษย์คืออะไร นี่คือสาระที่แท้จริงของชีวิต แล้วมนุษย์จะได้คำตอบว่า เราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร

 

"AI ไม่ใช่ภัยคุกคาม อย่างตอนที่จะมีรถไฟใช้ คนก็กลัว แต่ในที่สุดก็สามารถปรับตัวและเรียนรู้ได้ว่า รถไฟนำความเปลี่ยนแปลงที่ดีมาให้ แล้วค่อย ๆ พัฒนาสร้างชานชาลา และกลายเป็นความสะดวกสบายอย่างทุกวันนี้ เช่นเดียวกับ AI เราต้องเรียนรู้และปรับตัว แล้วจะอยู่กับมันได้ในที่สุด"

คุณภิญโญกล่าวว่า มนุษย์จะเอาชนะปัญญาประดิษฐ์ได้ด้วย "ปัญญาสถิต" (Built-in Intelligence: BI) ในตัว ซึ่งสั่งสมได้ด้วยการหมั่นฝึกสมาธิภาวนาเพื่อศึกษาจิต หรือก็คือปัญญาที่อยู่ในตัว และนี่จะเป็นปัญญาใหม่สำหรับโลกยุคอนาคตที่แท้จริง พร้อมกับย้ำด้วยว่ากระบวนการสร้างปัญญาไม่มีบทสรุป ไม่มีจุดสิ้นสุด เพราะในอนาคต มนุษย์จำเป็นต้องเข้าใจตน เข้าใจโลก เรียนรู้ทักษะใหม่ ยกระดับปัญญา และยกระดับจิตวิญญาณของตนเองไปตลอดชีวิต

 

 

 

สุดท้ายนี้ นักเขียนชื่อดังได้ให้มุมมองว่า ไม่มีใครสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นได้ เพราะแรงบันดาลใจคือ แรงที่บันดาลมาจากใจของคน ๆ นั้น ต่อให้ไปถามคนทั้งโลก หรือวิ่งหาแรงบันดาลใจทั่วจักรวาล แต่ถ้าไม่กลับมาที่ "ใจ" หรือหาใจของตัวเองไม่เจอ คุณก็หลงทางและไม่มีทางที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเองได้ การรู้ความหมายของชีวิตและรู้ว่าจะสร้างความหมายอะไรให้กับโลกใบนี้ เป็นการสร้างแรงบันดาลใจที่ดีที่สุด