​เมื่อถึงเวลาที่แบงก์ชาติ ต้องลงพื้นที่อย่างเข้มข้นขึ้น

 

ทำไมธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติต้องลงพื้นที่เข้มข้นขึ้น นั่นก็เพราะว่าโลกเปลี่ยนเร็ว ในฐานะองค์กรที่มีหน้าที่ดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ธปท. จึงต้องเพิ่มวิธีการ "จับชีพจร" เศรษฐกิจ เพื่อให้เข้าใจทั้งเชิงลึกและกว้าง และต้องทำงาน "ศึกษาโครงสร้างเศรษฐกิจ" มากขึ้น

 

ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา การติดตามเศรษฐกิจของ ธปท. สามารถ แบ่งได้ 3 ยุค ได้แก่
 

ยุคที่หนึ่ง ช่วงก่อนวิกฤติปี 2540 เป็นการประเมินภาพเศรษฐกิจ โดยอาศัยข้อมูลตัวเลขเป็นหลัก

 

ยุคที่สอง เมื่อ ธปท. ตระหนักว่าการพึ่งพาแต่ข้อมูลตัวเลขคงไม่เพียงพอแล้วและการลงพื้นที่เพื่อจับชีพจรเศรษฐกิจในระยะสั้นเป็นสิ่งจำเป็น โครงการแลกเปลี่ยนข้อมูลเศรษฐกิจและธุรกิจ (Business Liaison Program: BLP) จึงเกิดขึ้น และดำเนินการอย่างต่อเนื่องมากว่า 10 ปี เพื่อรับฟังเสียงสะท้อนของผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้ประกอบการและหน่วยงานรัฐ จากนั้น ธปท. จะนำข้อมูลที่วิเคราะห์แยกแต่ละภาคส่วนมาประเมินภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจร่วมกับข้อมูลตัวเลขและนำเสนอคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เพื่อประกอบการตัดสินใจในการดำเนินนโยบายการเงินต่อไป

 

 

ยุคที่สาม ในยุคปัจจุบันที่เมกะเทรนด์ อาทิ วิวัฒนาการของเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ขั้วอำนาจเศรษฐกิจ และการเข้าสู่สังคมสูงวัยทำให้รูปแบบของกิจกรรมและโครงสร้างทางเศรษฐกิจเปลี่ยนไป แถมเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ อาทิ เศรษฐกิจแบ่งปันที่พึ่งพาอิเล็กทรอนิกส์ก็มีความสำคัญมากขึ้น เศรษฐกิจไทยจึงเผชิญกับความท้าทายและความผันผวน (VUCA) ในขณะที่เครื่องชี้เศรษฐกิจไม่สามารถสะท้อนสิ่งเหล่านี้ได้ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อไทยขาดแคลนแรงงาน แรงงานต่างชาติจึงมีบทบาทสำคัญ แต่ตัวเลขที่เกี่ยวกับแรงงานต่างชาติที่มีอยู่ไม่ชัดเจน ดังนั้น "การลงพื้นที่แบบ เข้มข้น" จึงเป็นคำตอบ

 

 

หลายคนอาจตั้งคำถามว่า หน้าที่ของ ธปท. คือทำนโยบายการเงิน แล้วทำไมต้องลงพื้นที่ขนาดนี้ คำตอบคือ เพราะปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น อาทิ ปัญหาสังคมสูงวัย หรือการทดแทนแรงงานมนุษย์ด้วยเทคโนโลยี ธปท. จึงจำเป็นต้องลงพื้นที่ให้เข้าใจโลกและปัญหาอย่างแท้จริง เพื่อใช้ในการจับชีพจรและนำมาประกอบการประเมินอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคตเพื่อให้แม่นยำที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นในการตัดสินนโยบายการเงิน และอีกเหตุผลหนึ่งคือ ปัญหาเชิงโครงสร้างเป็นเรื่องที่ผู้กำหนดนโยบายทุกฝ่ายต้องให้ความใส่ใจ หากปล่อยเรื้อรังอาจฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจ และสุดท้ายประสิทธิภาพของนโยบายการเงินจะไม่มีแรงพอที่จะช่วยพยุงปัญหาที่เกิดจากโครงสร้างได้ เพราะนโยบายการเงินมีไว้เพื่อดูแลเศรษฐกิจที่มีปัญหาจากกำลังซื้อมากกว่าเศรษฐกิจที่มีปัญหาจากโครงสร้าง

มองสั้น มองยาว มองลึก มองกว้าง

 

ธปท. เน้นการลงพื้นที่เชิงรุกแบบ 360 องศา เพื่อพูดคุยให้ได้คำตอบในแต่ละแบบ คือ

 

1. มองสั้น ตอบโจทย์การจับชีพจรเศรษฐกิจและประเด็นพิเศษ เช่น ภัยแล้งและน้ำท่วม เพื่อการกำหนดนโยบายการเงิน

 

2. มองยาว ตอบโจทย์การแก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อยกระดับการเติบโตของเศรษฐกิจและรายได้ประชาชนทั้งในและนอกภาคเกษตร เช่น การเยี่ยมชมโรงงานที่มีการใช้ระบบอัตโนมัติ (Automation) ซึ่งอาจส่งผลต่อการจ้างงานของบริษัทในอนาคต

 

 

3. มองลึก ดึงข้อมูลเชิงลึก (Insight) ที่ไม่มีตัวเลขอธิบาย เช่น มีคนพูดถึงทุนจีนในไทยกันมาก แต่ไม่มีตัวเลขที่บอกได้ว่า ทุนจีนที่ทำธุรกิจหลากหลายส่งผลกับเศรษฐกิจไทยอย่างไร และ

 

4. มองกว้าง มองว่าทุกภาคส่วนเชื่อมโยงกัน ไม่มองภาพเศรษฐกิจแยกเป็นแต่ละภาคส่วน และไม่เน้นการออกพบเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่และหน่วยงานรัฐ แต่เน้นทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจจริง ๆ อย่างสตาร์ทอัป แม่ค้าในตลาดนัด โรงรับจำนำและเกษตรกร ซึ่งที่ ผ่านมา ธปท. มีการลงพื้นที่เพื่อศึกษาแนวคิดการปรับตัวของเกษตรกรจากโครงการปิดทองหลังพระและการลงพื้นที่ที่จังหวัดสมุทรสาครเพื่อพูดคุยกับแรงงานต่างชาติ

 


จัดทัพรวมพลัง เป้าหมายชัดเจน

 

ธปท. มีการปรับโครงสร้างองค์กรและจัดตั้ง "ฝ่ายนโยบาย โครงสร้างเศรษฐกิจ" โดยรวมส่วนเศรษฐกิจภูมิภาคทั้ง 3 ภูมิภาคได้แก่ ส่วนเศรษฐกิจภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้เข้ากับส่วนกลางเพื่อขับเคลื่อนงานด้านโครงสร้างเศรษฐกิจร่วมกับหน่วยงานในภูมิภาค และเพื่อให้การลงพื้นที่มีความเชื่อมโยงกับเป้าหมายได้ง่ายและตอบโจทย์การทำงานได้อย่างตรงจุดขึ้น รวมถึงมีการปรับวัฒนธรรมการทำงาน โดยผู้บริหารระดับสูงจะร่วมกันพูดคุยกับเศรษฐกรให้เข้าใจเป้าหมายงานและลักษณะงานที่ชัดเจนไปพร้อมกัน เพื่อให้การทำงานมีความคล่องตัว และลดเวลาการทำงาน ซึ่งท้ายที่สุดก็จะสามารถจัดการกับงานที่ทั้งยากและเยอะได้

 


ประสานทุกภาคส่วนเพื่อร่วมขับเคลื่อน

 

เมื่อมองไปข้างหน้า ข้อมูลข่าวสารจะยิ่งเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น การลงพื้นที่ไปพูดคุยและสร้างเครือข่ายจะยิ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อการประเมินภาพเศรษฐกิจและการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง ดังนั้น สิ่งที่ต้องจะผลักดันต่อไป คือ ประสานงานแบบเชิงรุก (Proactive) กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจากส่วนกลางไปยังตัวแทนและสาขาในภูมิภาค อาทิ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ สำนักงานคลังจังหวัด และสำนักงานเกษตรจังหวัด รวมทั้งสมาคมการค้า อุตสาหกรรม และบริการ ในด้านการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การยกระดับศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพื่อให้การใช้ประโยชน์ของข้อมูล เกิดประโยชน์สูงสุดและเกิดการขับเคลื่อนการปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจไทยอย่างจริงจัง ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจการเงินของประเทศ

 

 

1Volatility, Uncertainty, Complexity และ Ambiguity คือมีความผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อนและคลุมเครือ