ปลุกพลัง ปั้นไอเดีย กับ Power Up BOT


 

การพัฒนาองค์กรให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกที่เป็นไปอย่างรวดเร็วจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนการทำงานและทัศนคติแบบเดิม รวมถึงสร้างวัฒนธรรมนวัตกรรม (innovation culture) ให้เกิดขึ้นภายในองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงได้ริเริ่มโครงการ Power Up BOT เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับพนักงานได้ร่วมเสนอไอเดียเพื่อปรับปรุงและพัฒนาองค์กรไปด้วยกัน BOT พระสยาม MAGAZINE ฉบับนี้ จะมาพูดคุยกับตัวแทนทีมที่เข้าร่วมโครงการเพื่อบอกเล่ามุมมองและความประทับใจต่อโครงการนี้


Learn ConneXt

 

 

 

เกิดจากการรวมตัวของสมาชิกซึ่งมีแนวคิดเดียวกันว่า ธปท. มีบุคลากรที่มีศักยภาพและเชี่ยวชาญในเรื่องต่าง ๆ อยู่มากมาย ที่สามารถแบ่งปันให้เพื่อนพนักงานคนอื่นนำไปพัฒนาต่อยอด แต่ไม่มีพื้นที่กลางให้พวกเขาได้ถ่ายทอดความรู้ ประสบารณ์ รวมทั้งสิ่งที่ถนัดหรือชอบ ทีม Learn ConneXt จึงพยายามเชื่อมโยง “คนที่รู้” และ “คนที่อยากจะรู้” เพื่อสร้าง network effect สนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้ภายใน ธปท. อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยสร้างพื้นที่การเรียนรู้กลางแบบออนไลน์ ซึ่งสามารถเข้าถึงได้ง่าย จากทุกที่ ทุกเวลาและทุกอุปกรณ์ รวมทั้งระบบจะเรียนรู้และสามารถเสนอเนื้อหาให้เหมาะกับแต่ละบุคคลด้วยระบบ machine learning

 

 

ทีมฝากทิ้งท้ายว่า “ถ้าเรามีไอเดียดี ๆ แต่ไม่กล้าเสนอหรือไม่ได้ลงมือทำ สิ่งนั้นจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้แน่นอน หากเราต้องการให้องค์กรเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น หนึ่งพลังเล็ก ๆ ก็มีความหมายที่ยิ่งใหญ่ ขอบคุณโครงการนี้ที่เป็นช่องทางการสื่อสารของพนักงาน ทำให้ได้มีโอกาสเสนอไอเดียโดยตรงไปยังผู้บริหารระดับสูง ทำให้ภาพความคิด กลายเป็นความจริง ใช้ได้จริง และเป็นประโยชน์ต่อพนักงานทุกคน นอกจากนี้ ยังได้รับมิตรภาพดี ๆ จากเพื่อนในทีมและต่างทีมซึ่งแม้จะมาจากต่างฝ่าย แต่ทุกคนมีเป้าหมายเดียวกัน คือ การพัฒนา ธปท. ให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป”

 

 

 


​BOT ตอบให้

 

ไอเดียของทีม BOT ตอบให้ เกิดจากการมองเห็นปัญหาของประชาชนในการค้นหาและตรวจสอบรายชื่อผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจต่างๆภายใต้การกากับดูแลของ ธปท. ซึ่งข้อมูลเหล่านี้กระจายอยู่ตามสายงานที่รับผิดชอบ ทาให้การประสานงาน การตอบคาถาม และการจัดส่งไฟล์ให้เป็นราย ๆ เกิดความล่าช้า จึงเป็นที่มาของไอเดียการปรับระบบการเรียกดูข้อมูลดังกล่าวให้อยู่บนเว็บไซต์ของ ธปท. ซึ่งผู้ขอจะสามารถเรียกดูข้อมูลเองได้ โดยรวมข้อมูลไว้ในที่เดียวเพื่อให้ง่ายต่อการค้นหา รวมถึงสามารถพิมพ์ออกมาเพื่อใช้รับรองเป็นหนังสือทางราชการได้ทันทีถือเป็นการลดการทางานของเจ้าหน้าที่ และเพิ่มความสะดวกให้กับผู้มาติดต่ออีกด้วย

 

สมาชิกทีมได้เล่าความประทับใจว่า “โครงการนี้ทำให้ได้เห็นการร่วมมือของเพื่อนพนักงานจากหลากหลายสายงานและยังสร้างมิตรภาพใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น”พร้อมทิ้งท้ายว่า“ขอขอบคุณโครงการดี ๆ อย่าง Power Up"

 


Mini Automation

 

 

 

 

นำเสนอไอเดียการปรับปรุงการคำนวณเวลาการทำงานของพนักงานสัญญาจ้าง (outsource) ที่มีหลากหลายบริษัท ซึ่งแต่ละบริษัทมีเงื่อนไขสัญญาที่แตกต่างกันออกไป โดยปัจจุบันยังใช้วิธีการเซ็นชื่อเข้า - ออกงานอยู่ ซึ่งใช้เวลานานในกระบวนการคำนวณเวลา การเล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าวจึงเป็นที่มาของโครงการ Mini Automation ที่ได้นำระบบอัตโนมัติมาช่วยในการคำนวณเวลาทำงานเพื่อความรวดเร็ว ถูกต้อง ครบถ้วนของข้อมูลทำให้ระบบงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

ทีมได้กล่าวว่า “การเข้าร่วมโครงการนี้ ทำให้ได้ใช้เวลาว่างจากการทำงานให้เกิดประโยชน์ เพราะสามารถคิดกระบวนการทำงานที่ลดขั้นตอนลง ช่วยทำให้งานเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน พนักงานท่านอื่นสามารถนำไปต่อยอดงานที่ทำได้อีกด้วย” โดยฝากทิ้งท้ายไว้ว่า อยากสนับสนุนให้มีโครงการดี ๆ อย่าง Power up BOT นี้ต่อไปอีกเรื่อย ๆ

 


Money Changer ด้วย Google Maps

 

 

ในการออกตรวจสถานประกอบการของบุคคลรับอนุญาตให้แลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (Money Changer: MC) มักพบปัญหาในการวางแผนการเดินทาง ซึ่งเกิดจากความไม่ชำนาญพื้นที่ประกอบกับตำแหน่งบนแผนที่ของ MC ไม่ชัดเจน ทำให้การปฏิบัติงานไม่ได้รับความสะดวก การจัดทำพิกัดที่ตั้ง MC ด้วย Google Maps ในรูปแบบแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า “MCGO” จึงถูกพัฒนาขึ้นเพื่อรวบรวมตำแหน่งที่ตั้งของ MC ทั้งประเทศ ให้สามารถดูภาพรวมการกระจุกตัวของ MC ในแต่ละพื้นที่ โดยแยกเป็นรายภาคและรายจังหวัดได้ ทั้งยังมีระบบนำทางและการแสดงตำแหน่งปัจจุบันที่ทำให้รู้ตำแหน่งของ MC ในบริเวณใกล้เคียงเพื่อเพิ่มความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่ในการวางแผนออกตรวจแต่ละครั้ง

 

ทีมได้ฝากไว้ว่า “โครงการนี้ถือเป็นก้าวเล็ก ๆ ของพวกเราใน ธปท. เพราะเชื่อว่าคน ธปท. เป็นบุคลากรที่มีศักยภาพ ยังมีหลายท่านที่มีแนวคิดและพร้อมพัฒนาให้เราเป็นองค์กรชั้นนำในการจัดทำต้นแบบของสตาร์ทอัป และมีอีกหลายโครงการยังไม่ได้นำเสนอในครั้งนี้ หากเป็นไปได้อยากให้มีการจัดโครงการแบบนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ ให้ ธปท.”

 

 


Procurement One Stop Service

 

          เกิดจากประสบการณ์ในการทำงานจัดซื้อจัดจ้างของสมาชิกในทีมที่พบว่ามีขั้นตอนและงานเอกสารที่ต้องทำจำนวนมาก ไม่รู้ว่าต้องเริ่มต้นอย่างไร และไม่สามารถประเมินระยะเวลาดำเนินงานได้ ขณะเดียวกันก็ทำให้เจ้าหน้าที่ของฝ่ายงานที่ดูแลการจัดซื้อจัดจ้างต้องคอยตอบคำถามเดิม ๆ บ่อยครั้งทีมจึงเสนอให้ปรับปรุงระบบจัดซื้อจัดจ้างในปัจจุบัน โดยให้แยกส่วนข้อมูลตามกลุ่มผู้ใช้เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าถึงเพิ่มการติดตามสถานะงานและลดการใช้กระดาษให้มาอยู่ในระบบเพื่อช่วยกรองความผิดพลาด ซึ่งในเบื้องต้นได้พัฒนาระบบตรวจสอบหรือ Procurement Coaching ที่ช่วยให้ทราบขั้นตอนและวิธีการได้จริง รวมถึงวางแผนการทำงานได้แม่นยำยิ่งขึ้น

 

          ทีมได้เล่าถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากโครงการว่า “ทุกคนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ หากมีความตั้งใจและลงมือทำจริง แม้ว่าจะไม่ใช่งานถนัดและต้องอาศัยความร่วมมือจากบุคคลจำนวนมาก แต่เมื่อมีเป้าหมายชัดเจน สื่อสารให้คนอื่นเห็นในจุดหมายเดียวกัน รวมถึงมีการทำงานเป็นทีมที่ดี งานก็จะสำเร็จได้เช่นกัน”

 

          ตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา ทุกทีมที่เข้าร่วมโครงการPower UP BOT ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การจะขับเคลื่อนองค์กรให้เดินหน้าไปได้นั้นจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกคนทุกฝ่ายงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งโครงการนี้ได้จุดประกายให้เกิดการปรับความคิด มองปัญหาให้เป็นโอกาสและความท้าทาย อันจะเป็นการบ่มเพาะวัฒนธรรมองค์กรที่ดี ให้พร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างยั่งยืน