แผนยุทธศาสตร์ ธปท.

ตอบโจทย์คนไทย สังคมไทย อย่างไร

 

การดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ ปี 2560 - 2562 ที่ผ่านมา ได้เตรียมความพร้อมและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจการเงินของไทยให้สามารถรับมือกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ในระยะข้างหน้า ธปท. ตระหนักดีว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นและตลาดเงินตลาดทุนโลกจะผันผวนมากขึ้น จึงได้ปรับเปลี่ยนวิธีคิด สำหรับแผนยุทธศาสตร์ ธปท. ฉบับใหม่ (ปี 2563 - 2565) โดยนำความท้าทายใหม่ ๆ ที่จะต้องเผชิญในอนาคตเป็นตัวตั้งและจัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อมุ่งตอบโจทย์ความท้าทายเหล่านั้น

 

BOT พระสยาม MAGAZINE ฉบับนี้ ได้รับเกียรติจาก คุณสุทิวัส หงส์พูนพิพัฒน์ สำนักข่าวไทย อสมท. มาร่วมพูดคุยกับ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. ถึงผลการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ ธปท. ปี 2560 - 2562 และทิศทางของแผนยุทธศาสตร์ ธปท. ฉบับใหม่ ที่จะมุ่งรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศภายใต้ความท้าทายสำคัญ 7 ประการ

 


ก้าวที่ผ่านมาของ ธปท.

 

คุณสุทิวัส : ก่อนจะคุยกันถึงแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี ฉบับใหม่ของ ธปท. ขอให้ท่านผู้ว่าการช่วยเล่าถึงผลการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ ธปท. ปี 2560 - 2562 ที่ผ่านมาครับ

 

ดร.วิรไท : แผนยุทธศาสตร์ฉบับที่ผ่านมายึดงานสำคัญตามพันธกิจหลักของ ธปท. เป็นตัวตั้ง โดยแบ่งได้เป็น 3 เรื่องหลัก เรื่องแรกคือ การรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจในมิติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเสถียรภาพด้านราคา ระบบการเงิน ระบบสถาบันการเงินและระบบการชำระเงิน เรื่องที่สองคือ งานด้านพัฒนา เช่น การพัฒนาระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ การเชื่อมโยงระบบการเงินกับต่างประเทศ การส่งเสริมบริการทางการเงินให้ทั่วถึงและเป็นธรรม รวมไปถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเรื่องที่สามคือ การสร้างความเป็นเลิศในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นด้านการวิจัย การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (data analytics) การยกระดับศักยภาพบุคลากรของ ธปท. และการปรับวิธีการทำงานให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เราจะถามตัวเองเป็นประจำว่า คนไทย เศรษฐกิจไทย สังคมไทย ได้ประโยชน์อะไรจากการทำหน้าที่ตามแผนยุทธศาสตร์ของ ธปท. ถ้ามองย้อนกลับไปในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ผมคิดว่ามีผลงานหลายเรื่องที่เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม

 


“จับควันให้ไว ดับไฟให้ทัน ป้องกันอย่าให้ลาม”

 

ดร.วิรไท : ด้านเสถียรภาพ ผมขอพูดถึง 3 เรื่องสำคัญ เรื่องแรกคือ ธปท. ได้ขับเคลื่อนให้เกิดการดูแล “เสถียรภาพของระบบการเงินโดยรวม (financial stability)” อย่างเป็นระบบ วันนี้เราไม่สามารถมองเฉพาะธนาคารพาณิชย์ที่เรากำกับดูแลเป็นตัวตั้งเท่านั้น เพราะเงินเหมือนน้ำ ย่อมไหลจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง โดยเฉพาะเวลาที่บริการทางการเงินหลากหลายประเภทมีกฎเกณฑ์ต่างกัน ระบบการเงินไทยมีสถาบันการเงินประเภทอื่น ๆ ที่มีบทบาทสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และเชื่อมโยงกันสูงขึ้นมาก ทั้งตลาดทุน ตลาดตราสารหนี้ และสหกรณ์ออมทรัพย์ ธปท. จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนากลไกที่จะวัดอุณหภูมิของระบบการเงินโดยรวม เพื่อให้สามารถ “จับควันให้ไว ดับไฟให้ทัน ป้องกันอย่าให้ลาม” คือเมื่อเริ่มเห็นสัญญาณไม่ค่อยดีที่จะเป็นจุดเปราะบางของระบบการเงินในอนาคต เราต้องจับสัญญาณให้ได้โดยเร็ว ต้องออกมาตรการดับไฟให้ทัน เพื่อป้องกันไม่ให้ลาม ถ้ามองย้อนหลังไปในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เราเกิดเหตุการณ์ผิดนัดชำระหนี้ของตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำ (unrated bond) ซึ่ง ธปท. ได้ทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อย่างใกล้ชิด เพื่อจับสัญญาณต่าง ๆ และวางกลไกไม่ให้การผิดนัดชำระหนี้รุนแรงขึ้นและลามไปสู่ระบบการเงินอื่น

 

ตัวอย่างที่สอง คือ สหกรณ์ออมทรัพย์ที่มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่า ธปท. จะไม่ได้เป็นผู้กำกับดูแล แต่ได้ทำงานร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการยกเครื่องกระบวนการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และวางแนวทางป้องกันไม่ให้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับสหกรณ์ออมทรัพย์ลามไปกระทบระบบการเงินส่วนอื่น ๆ

 

ตัวอย่างที่สาม คือเสถียรภาพระบบการชำระเงิน ซึ่งการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์พัฒนาเร็วมาก และมีความสำคัญกับวิถีชีวิตคนไทยมากขึ้น ธปท. ได้เสนอกฎหมายใหม่ที่รวมศูนย์การกำกับดูแลระบบการชำระเงินเข้าไว้ด้วยกันที่ ธปท. และให้อำนาจ ธปท. กำกับดูแลบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ ๆ ได้อย่างเท่าทันด้วย

 

เวลาที่พูดถึงเรื่องเสถียรภาพ ถ้ายังไม่เกิดปัญหาขึ้น คนทั่วไปจะไม่ตระหนักว่าเรื่องเสถียรภาพนี้มีความสำคัญมาก แต่ในฐานะของ ธปท. ซึ่งมีหน้าที่ดูแลเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ ทำให้เราต้องมองไกล ต้องแน่ใจว่า มีเครื่องมือที่พร้อมจะจับสัญญาณได้ว่า มีจุดเปราะบางที่จะทำให้เกิดปัญหาในอนาคตหรือไม่ และต้องเตรียมพร้อมเครื่องมือและกลไกต่าง ๆ เพื่อจัดการปัญหาได้อย่างเท่าทัน ไม่ให้มีผลกระทบต่อประชาชน ธุรกิจ สถาบันการเงิน และเศรษฐกิจไทยโดยรวม

 

 

 

นอกจากนี้ เราต้องตรวจสอบตัวเองอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีจุดเปราะบาง ในปีที่ผ่านมาเราก็ได้เข้าโครงการประเมินภาคการเงินตามโครงการ Financial Sector Assessment Program (FSAP) ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่า ผลการประเมินกรอบการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ของเราอยู่ในระดับดีมาก

 


ประสานประโยชน์บนเป้าหมายที่ร่วมกัน เคล็ดลับความสำเร็จของงานด้านการพัฒนา

 

ดร.วิรไท : ในส่วนของงานด้านพัฒนา ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดก็คือ การพัฒนาบริการการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญและประเทศไทยอาจเคยเป็น “ผู้ตาม” ประเทศอื่น แต่ในวันนี้ ถือได้ว่าเราเป็นผู้นำในภูมิภาค มีบัญชีที่ผูกกับระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) เกือบ 50 ล้านบัญชี และค่าธรรมเนียมการโอนเงินจากเดิมที่เคยสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของภูมิภาค วันนี้ประชาชนไม่เสียค่าธรรมเนียมเลย ทำให้ไทยกลายเป็นประเทศที่มีค่าธรรมเนียมการโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ต่ำที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง

 

นอกจากนี้ ระบบพร้อมเพย์ยังเป็นฐานสำคัญที่สถาบันการเงินต่อยอดเพื่อสร้างกลไกการให้บริการการชำระเงินที่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการที่หลากหลาย ทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ ธุรกิจ SMEs และประชาชนทั่วไป โดยระบบพร้อมเพย์เป็นแพลตฟอร์มกลางที่เชื่อมโยงผู้ให้บริการชำระเงินที่หลากหลาย ทำให้ระบบการเงินโดยรวมมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

 

คุณสุทิวัส : สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นในฐานะประชาชน คือ ปัจจุบันมีการใช้ระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่สะดวกขึ้น ใช้ระบบพร้อมเพย์ QR code และ mobile banking เรามีการถอดบทเรียนหรือไม่ว่า อะไรทำให้ใช้เวลาเพียงแค่ 3 ปี แล้วสามารถมาเป็นแถวหน้าของภูมิภาคได้

 

ดร.วิรไท : ธปท. ไม่สามารถทำงานได้โดยลำพัง เราเป็นผู้วางนโยบาย เป็นผู้กำกับดูแล การทำงานพัฒนาที่สำคัญ เราต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นและมีเป้าหมายใหญ่ร่วมกัน ต้องเข้าใจวิธีการทำงานของหน่วยงานอื่น แล้วจัดโครงสร้างแรงจูงใจให้ถูกต้อง เพื่อให้หน่วยงานที่มาทำงานร่วมกันสามารถประสานประโยชน์ได้ จึงจะขับเคลื่อนงานไปในทิศทางเดียวกันได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืน

 

นอกจากเรื่องระบบการชำระเงินแล้ว ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ธปท. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอีกหลายเรื่องและเห็นผลเป็นรูปธรรม เช่น

 

(1) การเชื่อมโยงทางการเงินกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค เรากำลังส่งเสริมการเชื่อมโยงระบบการชำระเงิน เพื่อให้การโอนเงินข้ามประเทศสะดวกยิ่งขึ้น เงินถึงปลายทางได้เร็ว และมีค่าธรรมเนียมที่เหมาะสม นอกจากนั้น เราส่งเสริมการใช้เงินบาทหรือเงินสกุลท้องถิ่นในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ ซึ่งช่วยลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการ อันจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย

 

(2) การให้บริการทางการเงินอย่างเป็นธรรมแก่ประชาชน (market conduct) เมื่อช่วง 3 - 4 ปีที่แล้ว เรามักได้ยินว่าไม่ค่อยมีใครอยากเข้าสาขาธนาคารพาณิชย์เพราะกลัวถูกขายประกันหรือประชาชนถูกบังคับขายพ่วงบริการทางการเงิน ธปท. เห็นปัญหาของประชาชน จึงยกเครื่องกฎเกณฑ์การกำกับดูแลด้านการให้บริการอย่างเป็นธรรม รวมทั้งกลไกรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนที่มีปัญหาจากการใช้บริการทางการเงิน นอกจากนี้เราได้สร้างระบบเปิดเผยข้อมูลผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของสถาบันการเงินให้โปร่งใสชัดเจนมากขึ้น เช่น ข้อมูลอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประเภทต่าง ๆ ของสถาบันการเงิน วิธีคิดค่าธรรมเนียมและอัตราดอกเบี้ย รูปแบบสัญญาที่เป็นธรรม และ

 

(3) ความปลอดภัยด้านไซเบอร์ (cybersecurity) ในภาคการเงิน ธปท. ได้ทำงานร่วมกับทั้งหน่วยงานผู้กำกับดูแลที่เกี่ยวข้องและสถาบันการเงินเพื่อยกระดับการป้องกันภัยไซเบอร์ และการตอบสนองเวลาที่เกิดภัยไซเบอร์กับสถาบันการเงิน

 

เรื่องทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างของงานด้านพัฒนาในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ยังมีอีกหลายเรื่องที่ไม่ได้พูดถึง เช่น การส่งเสริมความรู้ทางการเงิน (financial literacy) ให้กับประชาชน นักเรียนและนักศึกษา การพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ของ ธปท. ให้เป็นจุดเรียนรู้ด้านการเงินของภาคประชาชน การจัดทำคลินิกแก้หนี้เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว

 


ยกระดับความสามารถขององค์กร ด้วยข้อมูล งานวิจัยและการพัฒนาศักยภาพของพนักงาน

 

ดร.วิรไท : การสร้างความเป็นเลิศในองค์กร มีความสำคัญมากเช่นกัน เพราะการมีธนาคารกลางที่เข้มแข็งและเท่าทันการเปลี่ยนแปลงจะเป็นประโยชน์สำหรับประเทศและประชาชนในระยะยาว ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เราปรับเปลี่ยนหลายเรื่องมาก อาทิ การสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ผลงานวิชาการของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้รับการยอมรับในระดับสากล การพัฒนาศักยภาพในการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (data analytics) รวมทั้ง ธปท. ได้รับรางวัล Digital Organization of the Year ด้วย

 

 

นอกจากนี้ ธปท. ได้ปรับกระบวนการทำงานและสรรหาบุคลากรที่มีความสามารถสูงจากภายนอกมาร่วมงาน สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะทำให้ ธปท. เป็นองค์กรที่ฉับไวและคล่องตัวมากขึ้น และพนักงานต้องเท่าทันกับความเปลี่ยนแปลง

 


แผนยุทธศาสตร์ฉบับใหม่กับความท้าทายสำคัญใน 3 ปีข้างหน้า

 

คุณสุทิวัส : ประชาชน สถาบันการเงิน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่าง ๆ ได้เห็นผลการดำเนินงานของ ธปท. ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาอย่างเป็นรูปธรรมกันแล้ว สำหรับแผนยุทธศาสตร์ ธปท. ปี 2563 - 2565 ธปท. มีหลักคิดอย่างไร เพราะบริบทต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปมาก

 

ดร.วิรไท : โลกเปลี่ยนแปลงเร็วมากและจะเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น รวมทั้งกำลังเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่คาดเดาได้ยากขึ้นด้วย บางเรื่องเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีใครคุ้นเคยมาก่อน เป็นเรื่องใหม่สำหรับทุกคน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและภาวะโลกร้อน ซึ่งจะกระทบกับทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ในการมองไปข้างหน้า ต้องแน่ใจว่า ธปท. ต้องเท่าทัน หรือในบางครั้งอาจต้องนำหน้าการเปลี่ยนแปลง เราต้องมีความเข้าใจเชิงลึกจึงจะสามารถกำหนดนโยบายเพื่อให้ภาคส่วนต่าง ๆ ของระบบเศรษฐกิจการเงินไทยเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกัน เราจึงเปลี่ยนวิธีคิดตั้งแต่ตอนเริ่มทำแผนยุทธศาสตร์ใหม่ โดยเอาความท้าทายสำคัญในอนาคตเป็นตัวตั้ง แทนที่จะจัดทำแผนยุทธศาสตร์ตามงานแต่ละด้านของ ธปท. เพราะถ้าดูความท้าทายข้างหน้าแล้ว หลายเรื่องเชื่อมโยงกันสูงมากและมีหลายมิติที่ต้องพิจารณา ทุกฝ่ายและทุกสายงานต้องช่วยกันคิดว่าจะร่วมกันตอบโจทย์ความท้าทายต่าง ๆ ในมิติใดบ้าง บทบาทของแต่ละคนจะเชื่อมโยงกันอย่างไร แทนที่แต่ละคนแต่ละฝ่ายจะเอาหน้างานของตัวเองเป็นตัวตั้ง

 


ความท้าทายของโลกการเงินดิจิทัล

 

คุณสุทิวัส : แผนยุทธศาสตร์ฉบับใหม่นี้ จะมีความท้าทายอะไรบ้างที่ ธปท. ต้องเตรียมรับมือครับ

 

ดร.วิรไท : ใน 3 ปีข้างหน้านี้ เราคิดว่ามีความท้าทายอย่างน้อย 7 เรื่องสำคัญ ความท้าทายประการแรก คือ ระบบการเงินเข้าสู่โลกการเงินดิจิทัลอย่างรวดเร็ว เรื่องนี้จะเป็นประโยชน์มากสำหรับทุกคน ธปท. จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางต่าง ๆ และโครงสร้างพื้นฐานสำหรับระบบการเงินดิจิทัล เช่น การพัฒนาระบบพิสูจน์ตัวตนดิจิทัลในการทำธุรกรรมทางการเงิน เพราะถ้ายังต้องใช้บัตรประชาชน ก็ไม่มีทางเป็นโลกดิจิทัลได้ และเนื่องจากข้อมูลจะเป็นเรื่องสำคัญมากในโลกการเงินดิจิทัล เราต้องพัฒนามาตรฐานกลางของข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบเดียวกัน เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงกันระหว่างสถาบันการเงินได้ ในโลกดิจิทัลที่มีข้อมูลหลากหลายมากขึ้นเทคโนโลยีจะช่วยวิเคราะห์ความเสี่ยงและพฤติกรรมของคนได้ดีขึ้น มีกลไกติดตามลูกหนี้ได้ดีขึ้นซึ่งจะช่วยให้เกิดบริการทางการเงินใหม่ ๆ โดยเฉพาะสำหรับประชาชนฐานรากที่แต่เดิมถูกมองว่ามีความเสี่ยงสูงและบริหารความเสี่ยงได้ยาก ระบบการเงินดิจิทัลจะช่วยลดหนี้นอกระบบได้

 

 

ในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าโครงสร้างพื้นฐานของระบบการชำระเงินมีพัฒนาการที่ดี อย่างเช่นระบบพร้อมเพย์ที่ประชาชนใช้กันมาก แต่ภาคธุรกิจยังไม่ได้ใช้มากเท่าที่ควร เพราะยังไม่สอดคล้องกับวิถีการทำธุรกิจที่เป็นระบบดั้งเดิม ดังนั้น การส่งเสริมให้เกิดระบบการเงินดิจิทัล จึงไม่ใช่แค่เรื่องเทคโนโลยี แต่ต้องศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมของผู้ใช้ด้วย จึงจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

 

เมื่อเราเข้าสู่โลกการเงินดิจิทัล ความท้าทายประการที่สองของ ธปท. คือ กรอบและกลไกการกำกับดูแลเสถียรภาพระบบการเงินต้องเท่าทันกับความเสี่ยงและสภาพแวดล้อมใหม่ด้วย วิธีการติดตามตรวจสอบและนโยบายกำกับความเสี่ยงสถาบันการเงิน รวมถึงบุคลากรที่เป็นผู้ตรวจสอบก็ต้องปรับให้เท่าทันกับโลกการเงินดิจิทัล เพื่อรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน ในขณะเดียวกันก็ต้องลดกฎเกณฑ์ที่มาจากโลกเก่า ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินสมัยใหม่ด้วย

 


ความท้าทายด้านนโยบายการเงิน การคลัง และอัตราแลกเปลี่ยน

 

ดร.วิรไท : ความท้าทายประการที่สาม คือ นโยบายการเงินและนโยบายการคลังต้องคำนึงถึงขีดจำกัดโดยเฉพาะจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง ถ้ามองไประยะยาวในอนาคต การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงแรง ๆ เหมือนเมื่อปี 2551 - 2552 นั้นไม่สามารถทำได้ เพราะอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยวันนี้อยู่ในระดับต่ำ (ร้อยละ 1.25) ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายทั่วโลก ในส่วนของนโยบายการคลังที่มีส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา แม้วันนี้ ไทยจะมีหนี้สาธารณะต่อ GDP ไม่สูงมาก แต่เมื่อประเมินภาระทางการคลังในอนาคต จะเห็นว่ามีข้อจำกัดมากขึ้น เพราะภาระทางการคลังจะเพิ่มขึ้นอีกมากจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย โจทย์สำคัญคือ เราจะมีเครื่องมือใหม่ ๆ อะไรบ้างที่จะใช้ดูแลเศรษฐกิจได้ โดยเฉพาะถ้าเกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจหดตัวแรง

 

นอกจากนี้ ปัญหาหลายอย่างที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญและเกิดข้อจำกัดทางด้านนโยบายนั้นมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมานาน ไม่ว่าจะเป็นหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ผลิตภาพจากภาคการผลิตและการลงทุนของภาคเอกชนที่อยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น การจะทำให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพในระยะยาวและมีความสมดุลมากขึ้น เราต้องให้ความสำคัญกับนโยบายปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น เพราะนโยบายการเงินหรือสถาบันการเงินจะไม่แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างได้ และถ้าปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไขแล้ว จะกลายเป็นข้อจำกัดของนโยบายการเงินและนโยบายการคลังเพิ่มขึ้นไปอีก

 

ความท้าทายประการที่สี่ คือ อัตราแลกเปลี่ยนจะผันผวนสูง และการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนของภาคเอกชนจะมีความสำคัญมากขึ้น เพราะวันนี้ระบบการเงินโลกมีสภาพคล่องส่วนเกินอยู่สูงมาก และระดับหนี้ทั่วโลกก็สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ในระยะข้างหน้า เศรษฐกิจโลกต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสงครามการค้า ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลาง หรือการประท้วงที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จะทำให้อัตราแลกเปลี่ยนมีแนวโน้มผันผวนสูง โจทย์สำคัญ คือ เราจะสร้างกลไกและระบบนิเวศที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ดีขึ้นได้อย่างไร เพราะที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยใช้เครื่องมือบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนน้อยกว่าหลายประเทศ

 


ความท้าทายที่เป็นเรื่องเชิงโครงสร้าง

 

คุณสุทิวัส : ความท้าทายทางด้านเทคโนโลยีและการสื่อสาร รวมไปถึงบทบาทของธนาคารกลางแต่ละประเทศ ก็เป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงด้วยใช่ไหมครับ

 

 

ดร.วิรไท : ใช่ครับ ความท้าทายประการที่ห้า คือ ภัยคุกคามทางไซเบอร์และความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีจะเป็นความเสี่ยงหลักของระบบการเงิน เป็นความท้าทายที่จะเพิ่มมากขึ้นและมาหลากหลายรูปแบบขึ้น ตั้งแต่การหลอกลวงเอาพาสเวิร์ดหรือ one-time password (OTP) ไปจนถึงการเจาะระบบฝังมัลแวร์ ซึ่งเรื่องนี้จำเป็นต้องสร้างมาตรฐานสูงให้กับสถาบันการเงินและสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนผู้ใช้บริการทางการเงินอย่างจริงจังด้วย

 

ความท้าทายประการที่หก คือ การดำเนินงานโดยคำนึงถึงความยั่งยืน (sustainability) ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล จะเป็นเรื่องสำคัญมาก สังคมไทยยังให้น้ำหนักกับเรื่องนี้ค่อนข้างน้อย ธปท. จะผลักดันให้ภาคการเงินต้องคำนึงถึงความเสี่ยงที่จะมาจากเรื่องเหล่านี้มากขึ้นและสถาบันการเงินจะต้องคำนึงถึงผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากทุกมิติหลักของการดำเนินธุรกิจด้วย ธปท. ก็ต้องปรับรูปแบบการดำเนินการให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น รวมทั้งเร่งเดินหน้างานที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน และการสร้างความรู้ความเข้าใจทางการเงินกับประชาชนด้วย

 

ประการสุดท้าย คือ การรักษาความเป็นอิสระและความน่าเชื่อถือของธนาคารกลางจะต้องเผชิญกับความท้าทายที่หลากหลายขึ้น โดยเฉพาะการสื่อสารของธนาคารกลางในโลก social media จะต้องทำให้ประชาชนเข้าใจเหตุผลของการตัดสินใจเชิงนโยบาย สามารถชั่งน้ำหนักปัจจัยต่าง ๆ ได้และเห็นทิศทางเศรษฐกิจในอนาคต การสื่อสารในอนาคตจะทำได้ยากขึ้นมากเพราะคนจะให้ความสนใจแต่เพียงหัวข้อข่าว ธุรกิจจึงถูกกระทบรุนแรงจากการนำเสนอข่าวสารผ่านโลกดิจิทัล และสังคมมีแนวโน้มที่จะสนใจเรื่องระยะสั้นมากกว่าเรื่องระยะยาว ในขณะที่งานของธนาคารกลางต้องมองระยะยาวเป็นหลัก

 

ทั้งหมดนี้เป็นความท้าทาย 7 เรื่องสำคัญที่อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ ธปท. ปี 2563 - 2565 แต่ละเรื่องมีความซับซ้อน มีหลากหลายมิติ ฉะนั้น การทำงานร่วมกันภายในองค์กร รวมถึงการทำงานร่วมกับหน่วยงานภายนอกอย่างใกล้ชิด จะเป็นกุญแจสำคัญเพื่อการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจการเงินของไทยให้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงและสามารถทนทานต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่มากระทบได้หลากหลายรูปแบบ