​แผนยุทธศาสตร์ ธปท. พ.ศ. 2563 - 2565

ธนาคารกลางท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง

 

มองไปข้างหน้า สภาพแวดล้อมแบบ VUCA จะยิ่งส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศทั้งในเชิงบวกและเชิงลบเพิ่มขึ้นกว่าที่ผ่านมา ซึ่งอาจเรียกสภาพแวดล้อมดังกล่าวว่า VUCA+ จากปัจจัยเชิงภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้า ภาวะโลกร้อน การเข้าสู่สังคมสูงวัย ปัญหาหนี้ครัวเรือน รวมถึงปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม ในขณะที่พัฒนาการทางเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดดก่อให้เกิดบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ ๆ รวมถึงมีความเชื่อมโยงของบริการทางการเงินระหว่างประเทศมากขึ้น ข้อมูลจะทวีความสำคัญมากขึ้นจนเป็นรากฐานสำคัญของระบบเศรษฐกิจดิจิทัล และอำนาจของปัจเจกบุคคลจะเพิ่มขึ้น (democratization) จากความสามารถในการแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระผ่านสื่อสังคมออนไลน์

 

ธปท. ตระหนักดีว่า ภายใต้สภาพแวดล้อมแบบ VUCA+ นี้ ระบบเศรษฐกิจการเงินไทยจะต้องปรับให้เท่าทันกับความท้าทายต่าง ๆ และสภาพแวดล้อมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น การเข้าใจผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง การสนับสนุนและสร้างกลไกส่งเสริมให้แต่ละภาคส่วนสามารถปรับตัวได้ดี และการผลักดันให้เกิดการทำงานร่วมกันจะทำให้ระบบเศรษฐกิจการเงินมีความทนทานและสามารถรับมือความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม แผนยุทธศาสตร์ ธปท. พ.ศ. 2563 - 2565 จึงจัดทำขึ้นภายใต้ชื่อ “ธนาคารกลางท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง (central bank in a transformative world)”

 

ตีโจทย์และรับมือกับความท้าทายในโลก VUCA+

 

แม้ภาพรวมผลการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ฉบับเดิม (พ.ศ. 2560 - 2562) ที่ผ่านมา ธปท. ได้วางรากฐานทางเศรษฐกิจการเงินในหลาย ๆ ด้าน แต่เพื่อรับมือสภาพแวดล้อมแบบ VUCA+ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์โดยแยกตามบทบาทหน้าที่ (function-based) ของแต่ละฝ่ายงานเหมือนในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อาจไม่สามารถรับมือได้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและมีความไม่แน่นอนสูง ดังนั้น การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ 3 ปีฉบับใหม่ จึงเริ่มจากการตีโจทย์ความท้าทายสำคัญ ๆ (theme-based) เป็นหลัก เพื่อให้ทุกฝ่ายงานทั้งภายในและภายนอก ธปท. ตระหนักและมองเห็นความท้าทายที่เป็นเป้าหมายสำคัญที่ต้องรับมือร่วมกันอย่างชัดเจน เพื่อให้สามารถบริหารจัดการความท้าทายดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศ

 

ความท้าทายอย่างน้อย 7 เรื่องสำคัญที่ ธปท. ต้องเตรียมพร้อมรับมือ หรือผลักดันการทำงานของ ธปท. ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ได้แก่

 

1. ระบบการเงินเข้าสู่โลกการเงินดิจิทัลอย่างรวดเร็ว

พัฒนาการทางเทคโนโลยีเร่งให้เกิดบริการทางการเงินดิจิทัล (digital finance) ซึ่งส่งผลให้บริการทางการเงินทำได้สะดวก รวดเร็ว มีต้นทุนที่ลดลงมาก รวมทั้งเกิดบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ เช่น การใช้ digital platform หรือการใช้เทคโนโลยี Distributed Ledger Technology (DLT) มาสนับสนุนการให้บริการทางการเงิน และการใช้คริปโทเคอร์เรนซี (cryptocurrency) และสินทรัพย์ดิจิทัล (digital asset) ที่อาจทำให้รูปแบบของสื่อกลางในการชำระเงินและการลงทุนทางการเงินเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต

 

ในขณะเดียวกัน ยังมีผู้ให้บริการทางการเงินประเภทใหม่ นอกเหนือจากธนาคารพาณิชย์ เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ส่งผลให้เส้นแบ่งระหว่างสถาบันการเงินและผู้ให้บริการประเภทอื่น ๆ จางลง เกิดรูปแบบธุรกิจใหม่ที่จะแข่งขันและสร้างความร่วมมือไปพร้อมกัน นอกจากนี้ ข้อมูลรายธุรกรรมจะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาและต่อยอดบริการทางการเงินในโลกดิจิทัล ซึ่งจะช่วยให้ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าแต่ละรายได้ดีขึ้น

 

ดังนั้น ระบบการเงินของประเทศจึงต้องมีระบบนิเวศที่เอื้อให้ทุกภาคส่วนสามารถปรับตัวเข้าสู่โลกการเงินดิจิทัลได้อย่างเท่าทัน รวดเร็ว มีการแข่งขันที่เหมาะสมของผู้เล่นที่หลากหลาย และใช้ประโยชน์จากบริการทางการเงินดิจิทัลได้อย่างเต็มที่ อาทิ การผลักดัน smart banking ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการและมีต้นทุนต่ำ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและมาตรฐานกลางโดยใช้เครือข่ายร่วมกันและพัฒนาต่อยยอดจากเครือข่ายดังกล่าว การสร้างระบบนิเวศข้อมูล ตลอดจนการส่งเสริมการชำระเงินดิจิทัลให้เป็นทางเลือกหลักในการชำระเงินของทุกภาคส่วน

 

2. กรอบและกลไกการกำกับดูแลเสถียรภาพระบบการเงินต้องเท่าทันกับความเสี่ยงและสภาพแวดล้อมใหม่

 

สภาพแวดล้อมทางการเงินที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะจากโลกการเงินดิจิทัล ทำให้เกิดรูปแบบธุรกิจใหม่และผู้ให้บริการทางการเงินหลากหลายประเภท อาทิ บริษัทเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) และบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ (BigTech) ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงรูปแบบใหม่ ๆ ที่เชื่อมโยงกันมากขึ้น ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ จนอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงิน

 

 

ในขณะเดียวกัน ความไม่เท่าเทียมกันของกฎเกณฑ์การกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงินหลากหลายประเภท โดยเฉพาะสถาบันการเงินกับผู้ให้บริการทางการเงินที่อยู่นอกระบบธนาคารพาณิชย์ (shadow banking) อาจทำให้เกิดการได้เปรียบ - เสียเปรียบในการแข่งขันจากช่องโหว่ของกฎเกณฑ์ ซึ่งการกำกับดูแลในหลาย ๆ ด้านยังไม่สอดคล้องกับความเสี่ยงที่มีและอาจเป็นจุดเปราะบางในระบบการเงิน

 

ดังนั้น กฎเกณฑ์การกำกับดูแลเสถียรภาพระบบการเงินในอนาคตจึงต้องเท่าทันกับความเสี่ยงรูปแบบใหม่ๆ และขณะเดียวกันก็ต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนานวัตกรรมด้วย อาทิ การนำหลักการ Regulatory Impact Assessment (RIA) มาใช้ในการประเมินผลกระทบก่อนออกหลักเกณฑ์การกำกับดูแล การยกระดับการกำกับดูแล วัฒนธรรมองค์กรในการบริหารความเสี่ยง (risk culture) ของสถาบันการเงิน การพัฒนา Supervisory Technology (SupTech) การผลักดันกรอบการกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (non-bank) การประเมินความเสี่ยงเสถียรภาพระบบการเงินแบบมองไปข้างหน้า (forward-looking) และการสร้างกลไกความร่วมมือในการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน

 

 

3. นโยบายการเงินและนโยบายการคลังต้องคำนึงถึงขีดจำกัดโดยเฉพาะจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง

 

 

นโยบายการเงินต้องคำนึงถึงขีดจำกัดมากขึ้น ทั้งจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำเข้าใกล้ระดับศูนย์ (zero lower bound) และอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำมานาน ในขณะที่โครงสร้างเศรษฐกิจการเงินที่เปลี่ยนไปและการเข้าสู่โลกการเงินดิจิทัล อาจส่งผลให้กลไกการส่งผ่านนโยบายการเงินเปลี่ยนไปจากเดิม และอาจส่งผลให้ประสิทธิผลของนโยบายลดลง ในขณะเดียวกัน ภาระการคลังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากรายจ่ายสวัสดิการสังคมเพื่อรองรับสังคมผู้สูงวัยรวมถึงรายจ่ายลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นอกจากนี้ ปัญหาเชิงโครงสร้างอื่น ๆ ของเศรษฐกิจไทย เช่น การลงทุนภาคเอกชนและผลิตภาพการผลิตที่อยู่ในระดับต่ำจะเป็นข้อจำกัดของการดำเนินนโยบายต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

 

ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการทบทวนและพัฒนากรอบนโยบายการเงินปัจจุบัน พัฒนาเครื่องมือใหม่ และผสมผสานการใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย เพื่อเพิ่มประสิทธิผลของการดำเนินนโยบาย รวมถึงผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนการปรับโครงสร้างระบบศรษฐกิจไทยอย่างจริงจัง

 

 

4. อัตราแลกเปลี่ยนจะผันผวนสูง และการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนของภาคเอกชนจะมีความสำคัญมากขึ้น

 

 

สถานการณ์เศรษฐกิจการเงินโลกที่มีความไม่แน่นอนสูงจะส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายผันผวนมากขึ้นในระยะต่อไป การบริหารจัดการความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ ธปท. เคยมีบทบาทหลักจะมีข้อจำกัดเพิ่มขึ้นจากงบดุลของ ธปท. ที่ต้องรับความเสี่ยงมากขึ้น


ในขณะที่การเข้าสู่โลกการเงินดิจิทัลอาจส่งผลให้ประสิทธิผลของเกณฑ์การควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินลดลง

ดังนั้น ระบบนิเวศของการแลกเปลี่ยนเงินต้องเอื้อให้ภาคเอกชนมีกลไกในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อรองรับความผันผวนที่สูง ในขณะเดียวกัน ธปท. จะต้องปรับบทบาทในการดูแลตลาดเงินตราต่างประเทศ และการบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศให้มีประสิทธิภาพ เท่าทันสภาพแวดล้อมทางการเงินที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงสร้างกลไกความร่วมมือกับธนาคารกลางต่างประเทศในการลดความเปราะบางของระบบเศรษฐกิจไทยต่อความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้าย

 

5. ภัยคุกคามทางไซเบอร์และความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีจะเป็นความเสี่ยงหลักของระบบการเงิน

 

ในขณะที่ระบบการเงินไทยสามารถใช้ประโยชน์จากพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล แต่โอกาสดังกล่าวมาพร้อมกับความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีและภัยคุกคามทางไซเบอร์ในรูปแบบที่หลากหลาย คาดเดาได้ยาก และจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เช่น การรั่วไหลของข้อมูล การหยุดชะงักในการให้บริการ รวมถึงอาจส่งผลกระทบในวงกว้างจากการใช้เทคโนโลยีหรือโครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน และ
จากการกระจุกตัวของการใช้บริการจากผู้ให้บริการเทคโนโลยีรายใดรายหนึ่ง

 

 

ภาคการเงินจึงต้องเร่งยกระดับความทนทานของโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของภาคการเงิน เตรียมความพร้อมรองรับความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีและภัยคุกคามทางไซเบอร์ในรูปแบบต่าง ๆ ยกระดับการกำกับดูแล ธรรมาภิบาลข้อมูล รวมถึงสร้างกลไกความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลภัยไซเบอร์ทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค

 

6. การดำเนินงานโดยคำนึงถึงความยั่งยืน (sustainability) ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล จะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

 

แนวคิดเรื่องการดำเนินธุรกิจและการเงินเพื่อความยั่งยืนมีความสำคัญมากขึ้นจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล อาทิ ภาวะโลกร้อนที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อบางภาคธุรกิจและคุณภาพสินเชื่อในระยะยาว ปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง และการขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้บริการทางการเงินทำให้ประชาชนบางกลุ่มไม่สามารถใช้ประโยชน์จากระบบการเงินได้อย่างเต็มที่ รวมถึงการขาดความรู้ในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งอาจทำให้เกิดความเปราะบางในภาคการเงินและสังคมในระยะยาว รวมถึงปัญหาด้านธรรมาภิบาลของการดำเนินงานที่คำนึงถึงผลประโยชน์ระยะสั้นเป็นหลัก อาจนำมาซึ่งผลกระทบต่อชื่อเสียงและความอยู่รอดของธุรกิจในระยะยาว

 

 

ดังนั้น ทุกภาคส่วนรวมถึง ธปท. เองจึงต้องคำนึงถึงความเสี่ยงระยะยาวจากปัญหาดังกล่าวข้างต้น โดยผนวกแนวคิดด้าน ESG 2 และการเงินเพื่อความยั่งยืนให้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร เร่งแก้ปัญหาหนี้และลดความเปราะบางของภาคครัวเรือน ตลอดจนส่งเสริมการให้บริการทางการเงินอย่างเป็นธรรม การให้ความรู้ทางการเงินและให้ประชาชนสามารถใช้บริการทางการเงินดิจิทัลได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย

 

7. การรักษาความเป็นอิสระและความน่าเชื่อถือของธนาคารกลางต้องเผชิญกับความท้าทายที่หลากหลายขึ้น

 

การดำเนินนโยบายของธนาคารกลางหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะส่งผลทั้งเชิงบวกและลบต่อผู้เกี่ยวข้องกลุ่มต่าง ๆ แตกต่างกัน และอาจนำไปสู่การถูกตั้งข้อสงสัยถึงประสิทธิผลและความชอบธรรมในการทำหน้าที่เชิงนโยบายต่างๆ ในขณะเดียวกัน ความคาดหวังของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ต่อบทบาทของธนาคารกลางเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน พฤติกรรมการรับรู้ข่าวสารของผู้คนในสังคมก็ให้ความสำคัญกับความเร็วของข้อมูลข่าวสารและเนื้อหาที่เข้าใจง่าย ในขณะที่เหตุและผลของการทำนโยบายของธนาคารกลางเป็นเรื่องที่ซับซ้อน ยากต่อการอธิบายให้สังคมเข้าใจ จึงทำให้มีโอกาสที่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินงานจะถูกบิดเบือน และส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของธนาคารกลาง

 

ดังนั้น ธปท. จะต้องปรับการสื่อสารเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องกลุ่มต่าง ๆ เข้าใจหลักการ บทบาทและเหตุผล การดำเนินนโยบายของ ธปท. และเชื่อมั่นว่า ธปท. ดำเนินนโยบายโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ รวมถึงเปิดโอกาสที่จะรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องกลุ่มต่าง ๆ มากขึ้น


ปรับรากฐานสำคัญ เตรียมความพร้อมขององค์กรรับมือความท้าทายทั้ง 7 ด้าน

 

ความเข้มแข็งและศักยภาพขององค์กรเป็นรากฐานสำคัญของความสำเร็จในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และภารกิจหลักใน 3 ปี ข้างหน้า ดังนั้น ธปท. จึงให้ความสำคัญกับการวางรากฐานสำคัญขององค์กรให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างชัดเจนใน 3 ด้าน คือ

 

 

1. ปลดล็อกและเสริมสร้างศักยภาพของพนักงานให้เป็นพลังขององค์กร

 

 

โดยเตรียมความพร้อมของบุคลากรให้มีองค์ความรู้ใหม่ที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงและประสบการณ์ที่หลากหลายรอบด้าน พร้อมตอบโจทย์สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจการเงินที่ซับซ้อนและเชื่อมโยงมากขึ้น โดยเปิดโอกาสให้พนักงานมีอิสระในการเลือกเส้นทางการพัฒนาตนเองมากขึ้น (voice and choice) และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาตนเองตลอดเวลา เพื่อใช้ศักยภาพได้อย่างเต็มที่

 

 

2. ปรับวัฒนธรรมองค์กรและกระบวนการทำงานสู่องค์กรที่มีความคล่องตัวสูง

 

 

โดยเร่งปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมภายในองค์กร ทั้งวัฒนธรรมองค์กร วิธีและกระบวนการทำงาน บรรยากาศการทำงาน การจัดโครงสร้างองค์กร ตลอดจนทัศนคติของพนักงาน เพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่มีความคล่องตัวสูง ส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรแบบล่างขึ้นบน (bottom-up) ลด-ละ-เลิก งานหรือกระบวนการที่ไม่จำเป็น รวมถึงปรับกรอบการบริหารความเสี่ยงองค์กรให้ยืดหยุ่น เท่าทันความเสี่ยงรูปแบบใหม่ ๆ

 

3. ใช้เทคโนโลยีและข้อมูลเป็นเครื่องมือหลักในทุกกระบวนการทำงาน

 

 

เพื่อให้ระบบงานและกระบวนการทำงานของ ธปท. ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจและผู้เกี่ยวข้องได้ดีและทันการณ์ยิ่งขึ้น เพิ่มผลิตภาพและการใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นสนับสนุนรูปแบบการทำงานภายในให้คล่องตัวมากขึ้น นอกจากนี้ จะใช้ประโยชน์จากข้อมูลอย่างเต็มที่ในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเพื่อช่วยให้การตัดสินใจและการดำเนินนโยบายมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

แผนยุทธศาสตร์ฉบับใหม่นี้ จะเป็นแนวทางในการดำเนินงานของ ธปท. เพื่อสนับสนุนให้ระบบเศรษฐกิจการเงินไทยสามารถพัฒนาให้เท่าทันกับความท้าทายต่าง ๆ และสภาพแวดล้อมที่กำลังเปลี่ยนแปลง โดย ธปท. คาดหวังว่าจะสามารถสร้างกลไกส่งเสริมให้แต่ละภาคส่วนสามารถปรับตัวได้ดี และผลักดันให้เกิดการทำงานร่วมกัน เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจการเงินมีความทนทานสามารถรับมือความเสี่ยง (resilience) และส่งเสริมให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้เต็มศักยภาพ รวมทั้งกระจายประโยชน์ได้อย่างทั่วถึงในระยะยาว