​แบงก์ชาติกับปฏิบัติการแก้หนี้ เพื่อลดภาระให้คนไทย



ในภาวะที่ปัญหาหนี้ของครัวเรือนไทยยังรุนแรงและเศรษฐกิจไทยปีนี้ต้องเผชิญกับอุปสรรคหลายด้าน ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชนลดลง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ จึงให้ความสำคัญอย่างมากกับการช่วยเหลือประชาชนแก้ไขปัญหาหนี้สิน โดยเรื่องนี้ถือเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญลำดับต้น ๆ ในปี 2563 นี้ ซึ่งครอบคลุมหลายมิติ


SME debt restructuring เน้นการปรับหนี้เชิงป้องกัน

ตั้งแต่ต้นปี 2563 เราอาจได้ยินข่าวมาตรการสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ให้ผู้ประกอบการ SME โดยแบงก์ชาติได้ปรับปรุงและผ่อนปรนกฎเกณฑ์ในหลายเรื่อง เพื่อสร้างแรงจูงใจให้สถาบันการเงินให้ความสำคัญและเร่งปรับโครงสร้างหนี้ รวมทั้งให้เงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเติมแก่ลูกค้า SME

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. ได้กล่าวว่า ในอดีตเมื่อพูดถึงการแก้ไขปัญหาหนี้จะเน้นที่ "การแก้หนี้เสีย" หรือ "หนี้ที่เป็น NPL"แล้วแตใ่นรอบนี้จะเน้น "มาตรการเชิงป้องกัน" (preemptive debt restructuring) เพื่อป้องกันไม่ให้หนี้คุณภาพดีไหลลงเป็นหนี้เสีย หรือเกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง เพราะหากปล่อยไว้ เมื่อเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวปกติ ธุรกิจหรือลูกจ้างเหล่านี้อาจไม่สามารถกลับมาฟื้นตัวได้ นอกจากนี้ แบงก์ชาติได้ขอให้สถาบันการเงินตั้งทีมพิเศษขึ้นมาเพื่อเกาะติดสถานการณ์ และเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้อย่างทันท่วงทีด้วย


ปรับโมเดลของ บสย. ให้เอื้อต่อการแก้หนี้ ไม่ต้องฟ้องก่อนเคลม

งานอีกเรื่องที่สำคัญ คือ การปรับรูปแบบการดำเนินการของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ซึ่งเดิมอาจถูกเน้นในฐานะเป็นกลไกค้ำประกันที่จะช่วยให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ SME มากขึ้น โดยอาจไม่ได้ให้ความสำคัญกับขั้นตอนหลังจากนั้นเท่าที่ควร เช่น ในขั้นตอนเบิกเคลม เดิมสถาบันการเงินต้องฟ้องลูกหนี้ก่อน บสย. ถึงจะพิจารณาจ่ายเงินชดเชยได้ แต่ตามโมเดลการทำงานใหม่ ได้ปรับให้สามารถใช้หนังสือ notice แทนเพื่อลดผลกระทบจากการที่ลูกค้าถูกดำเนินคดีโดยไม่จำเป็น นอกจากนี้ บสย. ได้ออกผลิตภัณฑ์ใหม่สำหรับค้ำประกันสินเชื่อ working capital เพื่อสนับสนุนให้สถาบันการเงินให้เงินทุนหมุนเวียนแก่ลูกหนี้เพิ่มเติม


ปรับวิธีการคิดดอกเบี้ยปรับผิดนัดชำระให้เป็นธรรมขึ้น

นอกจากนี้ แบงก์ชาติได้สั่งการให้สถาบันการเงินปรับปรุงการคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมใน 3 เรื่องสำคัญ เพื่อเป็นการลดภาระของประชาชนและปรับปรุงให้เป็นธรรมมากขึ้น โดยเรื่องที่สำคัญมากและเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาหนี้ คือ การปรับปรุงวิธีการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งแต่เดิมจะคำนวณจากฐานของ "เงินต้นคงเหลือทั้งหมด" ให้คิดบนฐานของ "เงินต้นในงวดที่ผิดนัดจริง"

ตัวอย่าง นาย ก. กู้เงิน 5 ล้านบาทมาสร้างบ้าน ทำสัญญาผ่อน 240 งวด 20 ปี งวดละ 42,000 บาท ผ่อนจ่ายมาได้ 2 ปี หรือ 24 งวด งวดที่ 25 ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาทำให้นาย ก. ชำระหนี้ได้เพียง 30,000 บาท จึงเกิดการผิดนัดชำระหนี้

ตามแนวทางเดิม การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จะคำนวณบนฐานของ "เงินต้นคงเหลือทั้งหมด" คือ ตั้งแต่งวดที่ 25 ถึง งวดที่ 240 รวมประมาณ 4.77 ล้านบาท สมมติอัตราดอกเบี้ยปรับอยู่ที่ร้อยละ 8 กรณีนี้ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จะอยู่ที่ 31,364 บาท

ตามแนวทางใหม่ การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ จะคำนวณบนฐานของ "เงินต้นในงวดที่ผิดนัดจริง" เท่านั้น ซึ่งก็คือ "เงินต้นของงวดที่ 25" ซึ่งเท่ากับ 10,000 บาท เพราะตามข้อเท็จจริง นาย ก. ยังไม่ได้ผิดนัดชำระตามสัญญางวดที่ 26 ถึงงวดที่ 240 ซึ่งเป็นงวดการผ่อนตามสัญญาในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง สมมติอัตราดอกเบี้ยปรับอยู่ที่ร้อยละ 8 กรณีนี้ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จะอยู่ที่ 65.75 บาท โดยสรุป การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระตามแบบเดิมส่งผลให้จำนวนเงินที่ต้องจ่ายสูงมาก และอาจทำให้ลูกหนี้สุจริตที่อาจจะเจอปัญหาสะดุดชั่วคราว ไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ครบเต็มจำนวน ดังเช่น นาย ก. ตามตัวอย่าง ที่ผิดนัดชำระในงวดต่อมาอีกเพราะดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายมีจำนวนสูงมาก เกินกว่าความสามารถที่จะจ่ายได้ (affordability risk) และในที่สุดก็จะผิดนัดชำระในงวดต่อ ๆ ไปอีก ดังนั้น การปรับปรุงครั้งนี้จะช่วยลดโอกาสของประชาชนสุจริตที่อาจจะพลาดการจ่าย หรือจ่ายไม่ได้ด้วยมีเหตุจำเป็นจริง ๆ ให้มีโอกาสกลับมาจ่ายหนี้คืนได้


คลินิกแก้หนี้ 2 เฟสแรก ช่วยคนไทยแก้หนี้บัตรกว่า 1.3 หมื่นใบ

ปัญหาหนี้บัตร เป็นหนึ่งในปัญหาหนี้สินที่แบงก์ชาติให้ความสำคัญมาระยะหนึ่ง เพราะหนี้บัตรเป็นความจริงของชีวิตที่คนไทยจำนวนมากกำลังเผชิญอยู่ และเป็นหนี้ที่ระยะเวลาผ่อนสั้น ดอกเบี้ยแพง ที่ผ่านมาแบงก์ชาติ ด้วยความร่วมมือของสถาบันการเงินสมาชิกขับเคลื่อนงานเรื่องนี้ผ่านโครงการคลินิกแก้หนี้ นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2560 โครงการคลินิกแก้หนี้ระยะที่ 1 - 2 สามารถช่วยคนไทยแก้ปัญหาหนี้บัตรไปแล้วกว่า 3 พันราย ครอบคลุมบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสดกว่า 13,000 ใบ

คุณบิ๊นท์ - สิรีธร ลีห์อร่ามวัฒน์ นางสาวไทยประจำปี 2562 สาวงามที่อาสาเข้ามาช่วยงานของโครงการฯ ในด้านประชาสัมพันธ์เล่าถึงประสบการณ์จริงว่า เธอมีเพื่อนที่มีหนี้บัตร เงินเดือนของเพื่อนส่วนใหญ่หมดไปกับการผ่อนหนี้บัตรก้อนโต ขณะที่การซื้ออาหารเพื่อดำรงชีพต้องอาศัยเงินค่าจ้างล่วงเวลา…คลินิกแก้หนี้จึงเป็นยุทธศาสตร์การลดหนี้เสีย ที่ทำให้คนคนหนึ่งได้ใช้ชีวิตต่อไป


คลินิกแก้หนี้เฟส 3 เดินหน้าเปิดรับทุกกลุ่ม

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 คลินิกแก้หนี้ได้เดินหน้าเข้าสู่โครงการในระยะที่ 3 โดยได้ปรับกฎเกณฑ์ให้สามารถช่วยแก้ปัญหาหนี้บัตรให้ประชาชนได้กว้างขึ้น ครอบคลุมหนี้บัตรแทบทุกกรณีทั้งคดีแดง และหนี้บัตรเสียที่มีเจ้าหนี้รายเดียว รวมทั้งปรับคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการว่าต้องเป็น NPL ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2563 ซึ่งจะครอบคลุมลูกค้าจำนวนมากขึ้น รวมไปถึงรายที่เพิ่งกลายเป็นหนี้เสีย โครงการฯ จะมีการปรับปรุงขั้นตอนการทำงานให้รวดเร็วขึ้น ทำงานเชิงรุกด้วยการเปิดจุดให้บริการในวันหยุดเสาร์ - อาทิตย์ ตลอดจนจะลงพื้นที่พบลูกค้าตามสถานประกอบการทั่วประเทศมากขึ้น อีกทั้งจะประสานความร่วมมือกับศาลและกรมบังคับคดีเพื่อหาข้อสรุปในขั้นตอนไกล่เกลี่ย ซึ่งจะช่วยเพิ่มการเข้าถึงประชาชนผู้เดือดร้อนอีกทางหนึ่ง


ความพิเศษ 2 เรื่องของคลินิกแก้หนี้ เอื้อให้การแก้หนี้บัตรเกิดขึ้นได้

หนึ่ง โครงการฯ เป็น "เครือข่ายช่วยเหลือประชาชนแก้หนี้บัตร"ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ มีสมาชิกรวม 35 แห่ง โดยธนาคารออมสินเป็นสมาชิกรายล่าสุด มีบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท หรือ SAM ทำหน้าที่เป็นคนกลางประสานงานระหว่างลูกหนี้ – เจ้าหนี้ทุกรายช่วยรวมยอดหนี้ให้เป็นก้อนเดียว โดยที่เจ้าหนี้บัตรเดิมทุกรายจะหยุดทวงหนี้ และเมื่อเข้าโครงการฯ ลูกหนี้จะได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างหนี้ด้วย การให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (one-stop service) เช่นนี้ ทำให้การแก้ปัญหาหนี้บัตรที่อาจมีเจ้าหนี้หลายรายซึ่งปกติทำสำเร็จยากเกิดขึ้นได้นั่นเอง

สอง ลูกหนี้จะได้รับเงื่อนไขปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่ผ่อนปรนและปฏิบัติได้จริง คือ การผ่อนชำระเฉพาะเงินต้น ที่ให้ระยะเวลาผ่อนชำระนานสูงสุดถึง 10 ปี เทียบกับกรณีเจรจากับเจ้าหนี้เดิมอาจถูกเรียกให้จ่ายคืนภายในระยะเวลาสั้น ๆ เช่น 6 เดือน การให้ระยะเวลาผ่อนชำระนานเพียงพอนี้ หมายความว่า ยอดเงินที่ต้องผ่อนชำระต่อเดือนจะไม่สูงเกินไป เช่น ถ้ามีหนี้ 50,000 บาท ยอดผ่อนต่อเดือนจะอยู่ที่ประมาณ 600 บาท หรือถ้ามีหนี้ 100,000 บาท ยอดผ่อนต่อเดือนจะอยู่ที่ประมาณ 1,200 บาทเท่านั้น นอกจากนี้ เมื่อลูกหนี้ผ่อนชำระเสร็จสิ้นตามสัญญา โครงการฯ จะยกดอกเบี้ยค้างชำระเดิมให้ทั้งหมดอีกด้วย


โครงการรีไฟแนนซ์หนี้บัตรดี สำหรับผู้มีวินัยและประวัติดี

ในการแถลงข่าวการเข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้ ธนาคารออมสินได้เปิดตัว "โครงการรีไฟแนนซ์หนี้บัตรดี" เพื่อลดภาระดอกเบี้ยให้แก่ประชาชนที่มีวินัยและมีประวัติการผ่อนชำระดี จากเดิมที่อาจจะต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 18 หรือ 28 แต่เมื่อโอนย้ายหนี้มาอยู่ที่ธนาคารออมสินแล้ว จะจ่ายดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 8.5 - 10.5 ตามความเสี่ยง นอกจากนี้ โครงการยังสนับสนุนให้ลูกค้านำเงินที่ประหยัดได้ในแต่ละเดือนจากการรีไฟแนนซ์ไปเก็บออม เช่น ซื้อสลากออมสิน ดังนั้นนอกจากโครงการรีไฟแนนซ์หนี้บัตรดีจะช่วยลดภาระประชาชนแล้ว ยังส่งเสริมการออมเพื่ออนาคตด้วย

ด้วยในปัจจุบันการคิดอัตราดอกเบี้ยสำหรับบัตรเครดิต ยังไม่สามารถแบ่งกลุ่มลูกหนี้ตามคุณภาพและความเสี่ยงที่ต่างกันได้ แบงก์ชาติจึงพยายามผลักดันให้ตลาดรีไฟแนนซ์หนี้บัตรเกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้ลูกหนี้ที่มีวินัยและมีประวัติการผ่อนชำระดีมีต้นทุนการใช้บัตรที่ถูกลง เป็นรางวัลสมกับที่พึงจะได้รับ รวมทั้งการที่ลูกหนี้ดีมีทางเลือกที่ดียิ่งขึ้น จะช่วยป้องกันและลดปัญหาที่เกิดจากลูกหนี้ดีไม่มีทางเลือกจึงจงใจผิดนัดชำระหนี้หรือปัญหาทางศีลธรรม (moral hazard) ด้วย


อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1 ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์

เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเงินของไทย โดยให้เหตุผลในการแถลงข่าวว่า "อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงจะสนับสนุนสภาพคล่องและการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ" ซึ่งแบงก์ชาติถือเป็นธนาคารกลางแรกที่ลดดอกเบี้ยลงหลังการเกิดสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 "แม้สถานการณ์ ณ ตอนนั้นยังไม่ใช่จุดพีคแต่เราต้องรีบตั้งรับ เพราะหากช้าเกินไป การแก้ไขจะทำได้ยากในอนาคต" ผู้ว่าการ ธปท. กล่าว

มาตรการและโครงการต่างๆ ข้างต้น เป็นความพยายามของแบงก์ชาติที่จะช่วยแก้ปัญหาหนี้สินและลดภาระให้คนไทย



Share Share