ค่าเงินบาทและปัญหาเชิงโครงสร้าง

เงินบาทก็เหมือนสินค้าอย่างหนึ่งที่ “ราคา” สามารถปรับขึ้นลงได้ตามความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เมื่อมีคนต้องการเงินบาทเพิ่มขึ้น ราคาของเงินบาท หรือ “ค่าเงิน” ก็จะสูงขึ้นหรือที่เรียกว่า “เงินบาทแข็งค่า” ในทางกลับกัน ถ้ามีความต้องการเงินบาทน้อยลง ราคาของเงินบาทก็จะปรับลดลง หรือที่เรียกว่า “เงินบาทอ่อนค่า” จะเห็นได้ว่า “ค่าเงิน” ที่แท้จริงจะสะท้อนความต้องการของเงินสกุลนั้น ๆ และสามารถเปลี่ยนไปตามกลไกตลาด อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของราคาเงินบาท หรือ “ค่าเงิน” ในบางช่วงเวลาอาจส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจได้ จึงเป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะเข้ามา “ดูแลค่าเงิน” ไม่ให้มีความผันผวนจนเป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจและการเติบโตของภาคเศรษฐกิจไทย


แนวทางการดูแลค่าเงินของ ธปท.

 

ในช่วงที่ตลาดมีความสมดุล คือ คนซื้อกับคนขายมีจำนวนพอ ๆ กัน ค่าเงินก็จะอาจไม่เคลื่อนไหวมากนัก แต่หากเป็นช่วงเวลาที่ความต้องการเงินบาทเพิ่มสูงขึ้นมาก เงินบาทก็จะปรับแข็งค่าขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ซึ่ง ธปท. อาจเข้าดูแลค่าเงินเพื่อชะลอการแข็งค่าด้วยการเข้าซื้อเงินดอลลาร์และขายเงินบาทในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน โดยเงินดอลลาร์ที่ซื้อเข้ามานั้น จะอยู่ในรูปของ “เงินสำรองระหว่างประเทศ” ซึ่งในกรณีนี้ก็จะส่งผลให้ปริมาณเงินสำรองฯ ปรับสูงขึ้น

 

หากเป็นช่วงเวลาที่ความต้องการเงินบาทลดลงอย่างมาก จนเงินบาทอ่อนค่าไปอย่างรวดเร็ว ธปท. อาจเข้าดูแลค่าเงินเพื่อชะลอการอ่อนค่าด้วยการซื้อเงินบาทและขายเงินดอลลาร์ที่อยู่ในเงินสำรองฯ ซึ่งกรณีนี้ก็ส่งผลให้ปริมาณเงินสำรองฯ ลดลง ดังนั้นการเข้าดูแลค่าเงินบาทของ ธปท. จึงสะท้อนได้จากการเปลี่ยนแปลงของปริมาณเงินสำรองฯ

 

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ปริมาณเงินสำรองฯ ได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องกว่า 8 หมื่นล้านดอลลาร์ สรอ. สะท้อนว่า ธปท. มีความกังวลต่อการแข็งค่าของเงินบาทและมีการดูแลค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างใกล้ชิด ซึ่งนอกจากการดูแลผ่านการเข้าซื้อขายเงินบาทโดยตรงแล้วธปท. มีการใช้มาตรการอื่น ๆ เพื่อช่วยลดแรงกดดันบาทแข็งด้วย เช่น มาตรการเฝ้าระวังเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น เพื่อป้องปรามการเก็งกำไร การเพิ่มเพดานรายได้จากการส่งออกที่ไม่ต้องนำกลับเข้าประเทศ การให้ซื้อขายทองคำในประเทศเป็นเงินตราต่างประเทศได้เพื่อลดแรงกดดันการแข็งค่าของเงินบาท การผ่อนคลายเกณฑ์การโอนเงินออกและการลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศ เพื่อเอื้อให้เกิดการไหลออกของเงินทุนและเพิ่มความสมดุลของเงินทุนเคลื่อนย้าย


ปัญหาค่าเงินบาท ต้องร่วมกันแก้ไขให้ตรงจุด

 

ปัญหาค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาเป็นสิ่งที่ ธปท. และ ภาครัฐยังคงมีความกังวลต่อสถานการณ์ และหารือร่วมกันอย่างต่อเนื่องถึงแนวทางในการช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท ซึ่งปัญหาค่าเงินบาทนั้น เป็นเพียงแค่อาการที่สะท้อนมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศไทย การแทรกแซงค่าเงิน รวมถึงนโยบายด้านอื่น ๆ ที่หวังผลระยะสั้น แม้เป็นสิ่งที่จำเป็นในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน แต่เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ในเรื่องนี้ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. เคยเปรียบไว้ว่า

 

เมกะเทรนด์กับปัญหาเชิงโครงสร้าง

 

เมกะเทรนด์ใหม่ ๆ ของโลกทำให้ไทยต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงและปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญหลายประการ ได้แก่

 

1. การเข้าสู่สังคมสูงวัย

 

 

ในขณะที่โลกจะกลายเป็นสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ในอีก 35 ปีข้างหน้า ไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอีกไม่เกิน 5 ปี แปลว่าแก่เร็วกว่าเพื่อน รวมทั้งมีแนวโน้มที่จะแก่ก่อนรวย

 

 

 

 

2. การพัฒนาทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว

 

 

อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) โดรน (drone) บล็อกเชน (Blockchain) โลกเสมือนจริง (virtual reality) และการพิมพ์สามมิติ (3D printing) ความสามารถของภาคการผลิตไทยปัจจุบันอาจยังไม่ได้มีการนำเครื่องจักรและเทคโนโลยีทันสมัยเหล่านี้มาใช้เท่าที่ควร ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมีแรงงานด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ไม่มากพอ

 

 

3. กฎระเบียบที่ล้าสมัย

 

หลายปีที่ผ่านมา ภาครัฐได้พยายามลดและปรับปรุงกฎระเบียบ โดยรับฟังความเห็นรอบด้าน เพื่อให้เอื้อต่อการดำเนินกิจกรรมของธุรกิจและประชาชนมากขึ้น

ลองนึกภาพตามว่า ถ้าประเทศของเราขาดแคลนแรงงานเพราะมีแต่ผู้สูงวัย ต้องการผลิตสินค้าไฮเทคที่คนทั่วโลกต้องการก็อาจสู้คู่แข่งไม่ได้เพราะไม่มีความเชี่ยวชาญเรื่องเทคโนโลยีใหม่ ๆ นักลงทุนก็ไม่เข้ามาลงทุน การนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศก็จะน้อย เงินจึงไม่ค่อยไหลออกนอกประเทศ (ดุลบัญชีเดินสะพัดไทยเกินดุลมาก) และส่งผลให้เงินบาทแข็งค่า ปัญหาเรื่องค่าเงินบาทจึงเป็นเหมือนอาการที่ปลายเหตุ สิ่งที่สำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันแก้ไขอย่างเร่งด่วนก็คือ ปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งส่งผลกระทบถึงเศรษฐกิจไทย