กลุ่ม BIG Trees

กับภารกิจปกป้องลมหายใจของเมือง

 

ในขณะที่คนเมืองอาจรู้สึกคุ้นเคยกับการใช้ชีวิตท่ามกลางป่าคอนกรีตที่ร้อนระอุและเต็มไปด้วยมลพิษ จนต้องหนีไปสูดอากาศเย็นฉ่ำในห้องแอร์ จะดีแค่ไหนถ้าเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานครจะมีต้นไม้ใหญ่ที่ช่วยให้ร่มเงา คลายร้อน และบรรเทาปัญหาฝุ่น PM 2.5 ไปได้บ้าง แม้ทุกคนจะทราบประโยชน์ของต้นไม้กันเป็นอย่างดี แต่ต้นไม้ใหญ่ในเมืองกลับถูกโค่นลงเรื่อย ๆ หรือบางครั้งก็อาจได้รับการดูแลผิดวิธีจนอ่อนแอและล้มตายในที่สุด BOT พระสยาม MAGAZINE ได้รับเกียรติจากคุณปุ้ม - อรยา สูตะบุตร แห่ง BIG Trees กลุ่มอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ในเมือง มาร่วมพูดคุยถึงภารกิจในการปกป้องลมหายใจของเมืองให้อยู่รอดและเติบโต


You Are What You Breathe

 

ต้นไม้เป็นลมหายใจของเรา ถ้าไม่มีต้นไม้ เราก็ไม่มีอากาศที่ดีหายใจคุณปุ้มบอกถึง ความสำคัญของต้นไม้เราอยากสื่อสารให้คนเห็นประโยชน์ของต้นไม้และเข้าใจวิธีการดูแลต้นไม้เปรียบเสมือนคนสำคัญต่อสังคมหรือประเทศ เราน่าจะดูแลให้เขาอยู่ด้วยสุขภาพที่ดี

 

คุณปุ้มมองว่า ทุกคนมีส่วนร่วมรับผิดชอบในความเป็นอยู่ของเมืองร่วมกัน ไม่ใช่โยนภาระ ทุกอย่างให้ภาครัฐ แม้ภารกิจแรกของกลุ่ม BIG Trees จะไม่ประสบความสำเร็จ ต้นจามจุรีอายุกว่า 40 - 50 ปีในซอยสุขุมวิท 35 ถูกโค่นลงและกลายเป็นพื้นที่ศูนย์การค้าแห่งใหม่ แต่นั่นกลายเป็น จุดเริ่มต้นการรวมตัวของคนห่วงเมืองที่ร่วมกันขับเคลื่อนกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมและเป็นกระบอกเสียงให้ต้นไม้ใหญ่ในกรุงเทพฯ โดยวิธีหนึ่งที่ใช้ได้ผลดีคือ การสร้างพลังผ่านโซเชียลมีเดียจนคนตื่นตัว ต่อด้วยการรณรงค์ผ่านแคมเปญต่าง ๆ เช่น ประกวดถ่ายรูปต้นไม้ใหญ่ จัดกิจกรรมปั่นจักรยานไปเยี่ยมคุณปู่คุณย่าต้นไม้ที่อยู่ในกรุงเทพฯ เพื่อกระตุ้นให้คนตระหนักถึงคุณค่า และเป็นหูเป็นตาให้กับต้นไม้ ไม่ให้ถูกทำลายโดย ขาดความเข้าใจ


เร่งสร้างหมอต้นไม้

 

ต้นไม้ต้องการคนที่มีความรู้และทักษะเข้าไปดูแลจัดการ ไม่ใช่แค่บอกว่าต้นไม้ดีและสวยเป็นอย่างไร แต่ถ้าไม่เข้าใจและตอบไม่ได้ว่าวิธีดูแลเป็นอย่างไรก็ดูแลต้นไม้ไม่ได้

 

กลุ่ม BIG Trees จึงระดมสมองร่วมกับอาจารย์ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และสมาคมภูมิสถาปนิกแห่งประเทศไทยผลักดันให้เกิดอาชีพรุกขกรหรือผู้เชี่ยวชาญการดูแลตัดแต่งต้นไม้ใหญ่ คุณสมบัติพิเศษคือสามารถปีนต้นไม้ที่สูงถึง 40 - 50 เมตร และมีความชำนาญในการดูแลต้นไม้ใหญ่ คุณปุ้มเล่าว่ารุกขกร หรือหมอต้นไม้ จะมีวิธีจัดการเพื่อให้ต้นไม้ปลอดภัย ซึ่งพอต้นไม้ปลอดภัยและมีอายุยืนยาว ก็จะกลับมาดูแลลมหายใจให้เราอีกทีหนึ่ง

 


รุกขกร วิสาหกิจเพื่อสังคม

 

หลังจากสร้างรุกขกรชาวไทยกว่า 100 ราย กลุ่ม BIG Trees ขยายผลเป็นการจัดตั้งเป็นธุรกิจอย่างจริงจังภายใต้ชื่อรุกขกร วิสาหกิจเพื่อสังคมมีรายได้หลักจากการรับจ้างตัดแต่งต้นไม้ใหญ่ อีกส่วนมาจากการสนับสนุนจากองค์กรต่าง ๆ ซึ่งรายได้ส่วนหลังจะน้อยลงเรื่อย ๆ หลังจากนี้หากใครต้องการสนับสนุนก็สามารถทำได้ โดยจะอยู่ในรูปแบบผู้ร่วมลงทุนหรือผู้ถือหุ้น ซึ่งรายได้บางส่วนจะกลับไปดูแลต้นไม้และพื้นที่สีเขียวเพื่อสาธารณประโยชน์

 

เราพยายามยกระดับมาตรฐานของบริษัทรุกขกรให้ทัดเทียมมาตรฐานต่างประเทศ และหวังว่าบริษัทรับตัดแต่งต้นไม้อื่น ๆ จะมาช่วยกันยกระดับการทำงานกับต้นไม้ในเมืองไทย

 

กลุ่ม BIG Trees ยังได้ร่วมกับเครือข่ายรุกขกรในเมืองไทยและเครือข่ายต้นไม้ในเมืองจัดตั้งเป็นสมาคมวิชาชีพในชื่อสมาคมรุกขกรรมไทยและเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสมาคมรุกขกรรมนานาชาติที่สหรัฐอเมริกา การเชื่อมต่อกับต่างประเทศทำให้ได้เห็นการทำงานของมืออาชีพที่ทำงานด้านนี้มายาวนานกว่าและเห็นแนวทางการทำงานที่ให้ความสำคัญกับทักษะส่วนตัวและการใช้อุปกรณ์พื้นฐานที่สุด เน้นประสบการณ์ การฝึกฝนตัวเอง และความปลอดภัย

 

 

เราอยากให้คนเข้าใจและยอมรับอาชีพรุกขกรไปพร้อม ๆ กับการเข้าใจคุณค่าของต้นไม้ ซึ่งโจทย์หนึ่งที่ยากสำหรับเมืองไทยคือ คนจะรู้สึกว่าการดูแลต้นไม้มีราคาถูก แค่ต้นละ 500 - 1,000 บาทก็ทำได้ แต่ถ้าได้เห็นผลงานของรุกขกรจะเห็นความแตกต่างระหว่างคนที่มีและไม่มีทักษะ เราอยากให้คนตระหนักว่าอาชีพรุกขกรจำเป็นต่อความอยู่รอดของต้นไม้ใหญ่


ทุกคนมีส่วนรับผิดชอบและช่วยเหลือต้นไม้ได้

 

ตลอด 10 ปี ที่ผ่านมากลุ่มBIG Trees พยายามทำให้คนตระหนักถึงความจำเป็นของการมีต้นไม้ใหญ่ในเมืองและสร้างผู้เชี่ยวชาญการดูแลต้นไม้มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งคุณปุ้มมองว่าบทบาทที่สำคัญของประชาชนทั่วไปคือ การเป็นหูเป็นตาให้กับย่านที่ตัวเองอยู่อาศัย โดยเริ่มจากดูแลต้นไม้ที่บ้านแล้วค่อย ๆ ขยับมาเป็นสายตรวจต้นไม้ หรือสุดท้ายหากใครมีใจรักก็อาจจะเข้ามาทำอาชีพรุกขกรก็ได้เช่นกัน

 

เราพยายามเสนอเรื่องสิ่งแวดล้อมในลักษณะที่ใครสะดวกจะเข้ามาร่วมแบบไหนก็ได้ อยากให้เป็นเรื่องที่ไม่หนักหน่วงเกินไป และมีข้อมูลความรู้ง่าย ๆ ไปใช้กับต้นไม้ใกล้ตัว อย่างต้นไม้ในบ้าน หน้าบ้าน และที่ป้ายรถเมล์ ช่วยกันดูแลต้นไม้ในเมืองคนละไม้ละมือ เมื่อพบปัญหาก็สามารถแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มาจัดการหรือ แจ้งมาทางเพจ BIG Trees ก็ได้ ซึ่งถือเป็นด้านดีของโซเชียลมีเดีย ที่ทำให้การแอบทำสิ่งไม่ดีหลุดรอดจากสายตาประชาชนยากขึ้นเรื่อย ๆ และทำให้ประชาชนรู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจพอที่จะหยุดสิ่งที่ไม่ดีหรือสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ โดยที่ผ่านมามีการเปิดรับที่ดีขึ้นและส่วนงานที่รับผิดชอบก็ปรับเปลี่ยนการทำงานมากขึ้นเช่นกัน

 

ตอนนี้ไม่ได้มีแค่กลุ่ม BIG Trees เท่านั้นที่ทำงานเกี่ยวกับ สิ่งแวดล้อม แต่ยังมีองค์กรอื่น ๆ กว่า 70 องค์กรเข้าร่วมในเครือข่ายต้นไม้ในเมืองและกำลังจะยกระดับเป็นสมาคมในอนาคตอันใกล้ ในเครือข่ายจะประกอบด้วยองค์กรที่หลากหลายมากขึ้น มีความร่วมมือกับกลุ่มคนและชุมชนที่ไม่ใช่แค่ในกรุงเทพฯ แต่จะครอบคลุมทั่วประเทศอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อปกป้องลมหายใจของคนไทย