“Work from Home”

ที่ทำงานที่ไม่ใช่ที่ทำงาน

"There are decades where nothing happens, and there are weeks where decades happen." เป็นประโยคที่ Vladimir Lenin ใช้กล่าวถึงการปฏิวัติรัสเซียเมื่อกว่าทศวรรษก่อน แต่ดูเหมือนว่าจะใช้อธิบายการเปลี่ยนแปลงของโลกตั้งแต่เกิดโควิด 19 ได้ดี และทำให้เรารู้จักกับคำว่า "work from home"

 

กว่า 13 ปีของการเป็นสาวออฟฟิศ ถ้าเปรียบกับการขับรถ ก็คงเหมือนการใช้เกียร์ออโต้ หรือเปิดโหมด autopilot เป็นส่วนใหญ่ ตั้งแต่การขับรถไปทำงาน เริ่มต้นวันด้วยการซื้อกาแฟ การประชุม หรือจะเป็นความตื่นเต้นกับการได้ออกไปกินข้าวกลางวันที่ร้านใหม่ ๆ และการเลือกขนมมาฉลองวันเกิดของเพื่อนร่วมงาน

 

มันเหมือนอยู่ดี ๆ เราต้องมาหัดใช้เกียร์กระปุก บังคับทุกอย่างเองใหม่ ไม่ว่าจะเคยหรือไม่เคยมาก่อนก็ตาม

 

สองเดือนกว่ากับการ work from home ฉันรู้สึกเหมือนมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในหลายมิติเหลือเกิน ราวกับได้ขมวดสิ่งที่ต้องทำและเรื่องราวต่าง ๆ ในหลายทศวรรษมาอยู่ในหลักเดือน พอจะเล่าให้คนอื่นฟัง มันก็เลยดูยุ่งเหยิงและสับสนแบบนี้...

 

ถ้าช่วงสัปดาห์แรก ๆ เป็นการเรียนรู้เพื่อปรับตัวให้สามารถทำงานจากสถานที่ที่ไม่ใช่ที่ทำงานได้ สัปดาห์ถัด ๆ มาก็คงเป็นบททดสอบที่ท้าทายมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่าเรายังมีความสุขดีรึเปล่า เพราะสถานการณ์ได้บังคับให้เราต้องใช้เวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้น และทำความคุ้นชินกับ "สังคม" ที่ไม่ได้อยู่ใกล้แค่เอื้อมอีกต่อไป

 

สำหรับฉันและอีกหลายคน ที่บ้านถือเป็นพื้นที่ปลอดภัยทางกาย ตอนนี้คงต้องกลับมาถามตัวเองว่า จะทำให้มันเป็นพื้นที่ปลอดภัยทางใจของเราได้อย่างไร?

 

ก่อนอื่นเลย น่าจะต้อง "ยอมรับ" กับตัวเองให้ได้ก่อนว่าความรู้สึกเชิงลบที่เกิดขึ้นนั้นมันเป็น "เรื่องปกติ" ในช่วงรอยต่อของ old normal กับ new normal การยอมรับเท่ากับเป็นการอนุญาตให้เราเห็นใจตัวเอง ไม่หงุดหงิดกับตัวเองเพิ่มเติมเข้าไปอีกท่ามกลางสถานการณ์ที่น่าอึดอัดเช่นนี้ เมื่อยอมรับความรู้สึกนั้น และมีเมตตาให้กับตัวเอง เราก็จะอยู่ในโหมดที่ไม่เครียดและไม่กดดัน ซึ่งทำให้เราเริ่มมีพลัง และค่อย ๆ หาทางออกให้กับตัวเองได้

 

จาก ยอมรับ สู่ redefine และ recreate

 

หลังจากที่ยอมรับความรู้สึกไม่ปกติเหล่านั้นได้แล้ว อยากให้ลองทบทวนดูว่าเราเคยวางนิยามของความสุขไว้ที่ไหน เราอาจเคยฝากความสุขไว้กับสิ่งภายนอกจนเคยชินหรือเปล่า ทั้งเพื่อนที่พร้อมจะเม้ามอยกับเราตรงหน้า รสชาติของชาไข่มุกที่ช่วยกันเลือกมาสังสรรค์ยามบ่าย หรือแม้กระทั่งวิวสะพานพระราม 8 ในยามเย็นที่โรแมนติกดีเหลือเกิน

 

จะว่าไปแล้วการ work from home ก็เหมือนเป็น "wake-up call" ที่ทำให้เราได้ทบทวนและค่อย ๆ ลดการยึดติดกับสิ่งภายนอกที่ก็เห็นชัดแล้วว่ามีความไม่แน่นอนและพร้อมจะเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ในช่วงนี้น่าจะเป็นโอกาสที่ดี ที่เราจะใช้เวลาทำกิจกรรมกับตัวเองมากขึ้น ลองอะไรใหม่ ๆ ที่จดไว้นานแล้วแต่ไม่ได้เริ่มทำสักที เช่น นั่งสมาธิ เรียนคอร์สออนไลน์ อ่านหนังสือที่ซื้อจากงานสัปดาห์หนังสือทุกปีแต่ไม่เคยอ่าน

 

ทั้งหมดนี้เป็นการ "ปรับมุมมอง" และ "นิยามความสุข" ของเราให้เรียบง่ายและยืดหยุ่นตามสถานการณ์มากขึ้น

 

ส่วนเรื่องการทำงานนั้น ก็ต้องยอมรับว่ามีหลาย ๆ อย่างขาดหายไป โดยเฉพาะการถ่ายทอดความรู้ระหว่างกันแบบสบาย ๆ (ที่สายนโยบายการเงินจะมีการจัดกิจกรรมเล่าสู่กันฟังระหว่างกินข้าวกลางวัน) บทสนทนาถามไถ่เรื่องราวชีวิต หรือแม้กระทั่งการเม้ามอยต่าง ๆ ที่ดูเหมือนจะเป็นสิ่งไร้สาระ แต่จริง ๆ แล้วเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เราทำงานได้อย่างไม่เครียดและกระตุ้นให้เกิดไอเดียใหม่ ๆ ได้อย่างดี

 

ในช่วงนี้ เราจึงต้อง "recreate" หรือจำลองวิถีการทำงานขึ้นมาใหม่ เพื่อรักษา synergy เหล่านั้น เช่น อาจเปิดกล้องวิดีโอ นั่งกินข้าวกับเพื่อน หรือหลังประชุมออนไลน์ ก็ใช้เวลาเม้ามอยบ้าง รีวิวร้านอาหารใหม่ ๆ หรือจะสั่งชาไข่มุกไปเซอร์ไพรส์ลูกน้องที่บ้านบ้าง ก็ดูจะเป็นไอเดียที่ดีงามไม่น้อย

 

สุดท้ายนี้ แม้มนุษย์เราจะชอบความแน่นอน (need for certainty) มากแค่ไหน บางทีก็ต้องการความไม่แน่นอนหรือความตื่นเต้น (need for uncertainty) ด้วย แม้การ work from home อาจทำให้อะไร ๆ มันดูแน่นิ่งและแน่นอน (ยกเว้นตอนงานเข้าแบบไม่ทันตั้งตัว)

 

แต่หากเราลองสร้างสีสันให้กับมัน ก็เชื่อว่าทุกคนจะสามารถสนุกไปกับมันได้ และกลับไปทำงานที่ออฟฟิศก็สนุกเช่นกัน