เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทยหลังโควิด 19

: โรคปฏิวัติโลก ยกเครื่องสู่อนาคตวิถีชีวิตใหม่

 

“The pandemic represents a rare but narrow window of opportunity
to reflect, reimagine, and reset our world”

Klaus Schwab Founder and Executive Chairman,
Word Economic Forum (3 June 2020)

 

 

โควิด 19 แพร่ระบาดทั่วโลกมากว่าครึ่งปีมีผู้ติดเชื้อสะสมมากกว่า 8 ล้านคน แต่สถานการณ์ในประเทศแถบอเมริกายังน่าเป็นห่วง แม้จะเริ่มผ่อนคลายลงบ้างจากจำนวนผู้ติดเชื้อในกลุ่มเอเชียที่ชะลอลง และความคืบหน้าล่าสุดของการพัฒนาวัคซีนที่คาดว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยปลดล็อกสถานการณ์ได้ บทความนี้ขอชวนผู้อ่านมองข้ามไปในอนาคตช่วงหลังวิกฤติโควิด 19 ว่าเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย รวมถึงบริบทของสังคมและฐานวิถีชีวิตใหม่ (new normal) จะเปลี่ยนไปอย่างไร เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้


วิกฤติที่ไม่เหมือนวิกฤติครั้งใดในอดีต

 

วิกฤติโควิด 19 ครั้งนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็น “วิกฤติที่ไม่เหมือนวิกฤติใดในอดีต (This time is really different)”1 โดยมีรูปแบบของการเกิดที่ต่างจากวิกฤติอื่นในอดีต เริ่มต้นจากการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัสโควิด 19 กลายเป็นมหาวิกฤติทางสาธารณสุขโลก ภาครัฐในหลายประเทศต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ครั้งใหญ่ (Great Lockdown) เพื่อจำกัดการแพร่ระบาด ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้คนและทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกหยุดชะงักพร้อมกัน (global simultaneous shocks) กิจกรรมการผลิตที่หยุดชะงักพร้อมกับรายได้และกำลังซื้อที่ลดลงรุนแรงทำให้ลุกลามเป็นวิกฤติทางเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งในครั้งนี้มีลักษณะพิเศษคือเป็นวิกฤติคู่ทั้งด้านอุปทานและอุปสงค์พร้อมกัน (twin supply-demand shocks)2

 

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF)3 ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกปี 2563 จะหดตัวที่ร้อยละ 3 โดยจะต่ำสุดในไตรมาสที่ 2 และเลวร้ายที่สุดนับแต่ Great Depression ในคริสต์ทศวรรษ 1930 และถือเป็นครั้งแรกที่ทั้งประเทศเศรษฐกิจหลักและประเทศกำลังพัฒนาเข้าสู่ภาวะถดถอยพร้อมกัน ประเมินมูลค่าความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกในปี 2563 และ 2564 ไว้สูงถึงกว่า 9 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งใหญ่กว่าเศรษฐกิจของญี่ปุ่นและเยอรมนีรวมกัน ขณะที่องค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ประเมินว่าปริมาณการค้าโลกจะหายไปถึง 1 ใน 3 เทียบกับปีก่อน จนถึงปัจจุบันเหล่านักวิชาการยังกังวลว่า หากสถานการณ์ยืดเยื้อทำให้ธุรกิจและครัวเรือนขาดสภาพคล่องรุนแรงจนถึงขั้นเกิดปัญหาผิดนัดชำระหนี้ในวงกว้าง อาจมีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นวิกฤติการเงินร่วมด้วย หรือเป็น “triple economic shock”4 ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์โลก และคงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น

 

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลให้เศรษฐกิจโลกในปีนี้มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย (recession) ทำให้รัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลกต้องเร่งอัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด 19 โดยรายงาน Word Economic Forum5 ชี้ว่า เม็ดเงินที่รัฐบาลแต่ละประเทศใช้ในครั้งนี้มีขนาดใหญ่กว่าในอดีตเป็นประวัติการณ์ โดยกลุ่มเศรษฐกิจหลัก (advanced economies) มีการอัดฉีดเงินถึงร้อยละ 14 - 28 ของ GDP ขณะที่กลุ่มตลาดเกิดใหม่ (emerging economies) อยู่ที่ประมาณร้อยละ 4 ของ GDP ส่วนไทยและออสเตรเลียใกล้เคียงกันที่ร้อยละ 9 - 10 ของ GDP


รูปแบบการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกหลังโควิด 19 : “The 5 Shapes of Economic Recovery”

 

วิกฤติครั้งนี้เปรียบเสมือนสงครามที่มนุษย์ต้องต่อสู้กับศัตรูที่มองไม่เห็น และไม่มีชาติใดที่จะหนีจากภาวะการถดถอยทางเศรษฐกิจได้ แต่ขนาดของผลกระทบและทิศทางการฟื้นตัวของแต่ละประเทศต่างกันขึ้นกับ 4 ปัจจัย คือ (1) ระยะเวลาการล็อกดาวน์ ซึ่งขึ้นกับการแพร่ระบาดและความร่วมมือของประชาชน (2) ระดับการพึ่งพาทางเศรษฐกิจ ประเทศที่เชื่อมโยงกับห่วงโซ่การผลิตโลกหรือพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวสูงจะได้รับผลกระทบที่สูงกว่า (3) พื้นฐานโครงสร้างเศรษฐกิจ เศรษฐกิจในหลายประเทศขยายตัวต่ำมานาน บางประเทศได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ขณะที่บางประเทศมีปัญหาหนี้ท่วมทำให้เศรษฐกิจเปรียบเสมือนผู้ป่วยเรื้อรังที่อาจฟื้นตัวได้ช้ากว่า และ (4) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ ซึ่งถือได้ว่าเป็นยาแรงที่มีความจำเป็นเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัว

 

ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกเริ่มผ่อนมาตรการล็อกดาวน์เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะในประเทศที่ควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี อาทิ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไทย แต่หลายฝ่ายยังกังวลถึงการระบาดในระลอกที่สองหรือสาม เพราะโควิด 19 เป็นโรคอุบัติใหม่ที่เรายังไม่มีข้อมูลมากนัก รวมถึงยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ทำให้มีความคิดเห็นหลากหลาย

ต่อรูปแบบการฟื้นตัว สรุปได้เป็น 5 รูปแบบ ดังนี้

 

1. แบบ V-Shape “ลงเร็ว ฟื้นเร็ว” เศรษฐกิจโลกจะลงดิ่งต่ำสุดในไตรมาสที่ 2 ที่มีมาตรการล็อกดาวน์เข้มข้นและเศรษฐกิจจะฟื้นตัวหลังจากนั้น แต่ดูเหมือนการฟื้นตัวในลักษณะนี้มีความเป็นไปได้ยากในสถานการณ์ปัจจุบันที่การแพร่ระบาดได้กระจายไปแล้วทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักและในละตินอเมริกายังมีการแพร่ระบาดอยู่

 

2. แบบ Swoosh, Tick or Italicized V Shape “ไถลลงเร็ว ค่อยๆ ฟื้นตัว” คล้ายกับรูปแบบแรก คาดว่าน่าจะเป็นกรณีพื้นฐาน (base case) โดยเศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบรุนแรงไถลลงลึก อยู่ที่ก้นเหวช่วงสั้น ๆ แล้วค่อย ๆ ฟื้นตัว เหมือนสุภาษิตโบราณที่ว่า “ยิ่งตกลงแรงยิ่งดีดขึ้นสูง” ทยอยฟื้นตัวตามการทยอยผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ แต่การค้าและการเดินทางระหว่างประเทศในช่วงแรกจะยังทำได้จำกัด จะใช้เวลานานแค่ไหนในการฟื้นตัวขึ้นกับความสามารถในการจัดการกับโรคระบาดและความสำเร็จในการผลิตวัคซีน คาดว่ากลับมาอยู่ภาวะก่อนวิกฤติได้ในราวปลายปี 2564

 

3. แบบ U-Shape “หดตัวนาน ฟื้นตัวช้า” คล้ายกับรูปแบบที่สองแต่ต่างกันตรงที่ระยะเวลาของผลกระทบที่อาจนานกว่า ทำให้ใช้เวลาฟื้นตัวนานกว่า เนื่องจากการค้าระหว่างประเทศและภาคการท่องเที่ยวจะยังไม่กลับมาฟื้นตัวได้ภายในปีนี้ และคงใช้เวลาอีกนานเพราะความเชื่อมั่นของทั้งนักลงทุนและผู้บริโภคยังไม่กลับมาโดยง่าย ผู้คนยังลังเลกับกิจกรรมนอกบ้านที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ส่งผลให้เกิดการชะงักงันด้านอุปทานเนื่องจากกำลังซื้อหายไปมาก

 

4. แบบ W-Shape “ฟื้นเร็ว ดิ่งลงรอบสอง” จากความไม่แน่นอนของการระบาดระลอกสองหรือสามที่อาจทำให้ภาครัฐต้องกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์ ตัวแปรสำคัญที่ทำให้เห็นการฟื้นตัวรูปแบบนี้คือ การผ่อนคลายมาตรการที่เร็วเกินไป ในขณะที่ระบบป้องกันทางสาธารณสุขและประชาชนยังไม่พร้อมปรับเปลี่ยนเข้าสู่วิถีชีวิตใหม่

 

5. แบบ L-Shape “หดตัวยาวนาน ไร้สัญญาณการฟื้นตัว” เป็นกรณีเลวร้ายสุด ซึ่งจะเกิดขึ้นในกรณีที่ไม่สามารถควบคุมการระบาดของโรคได้ ประสบการณ์ในอดีตชี้ว่า วิกฤติการเงินในช่วงก่อนปี 2551 - 2552 ต้องใช้เวลาเฉลี่ย 4 ปี กว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวกลับมาอยู่ในระดับเดิม ขณะที่ Great Depression ใช้เวลานานกว่าที่ 10 ปี


เศรษฐกิจและสังคมไทย : ผลกระทบและการปรับตัวสู่ New Normal

 

คำถามที่ได้รับความสนใจจากสาธารณชนในช่วงนี้คือ หลังวิกฤติโควิด 19 เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวแบบไหน? แม้คำตอบจะยังมีความไม่แน่นอนสูง แต่เราอาจประเมินได้ว่า การฟื้นตัวจะขึ้นกับความสามารถในการปรับตัวของประชาชน ธุรกิจ และภาครัฐ ให้เข้ากับฐานวิถีชีวิตใหม่และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจโลกที่กล่าวไปแล้วก่อนหน้าเป็นสำคัญ ถ้าเราปรับตัวเข้ากับโครงสร้างใหม่ได้เร็ว เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะฟื้นตัวแบบ “เครื่องหมายถูก”8 คือ เศรษฐกิจไถลลงเร็ว แล้วค่อย ๆ ฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อการฟื้นตัว คือ การควบคุมการแพร่ระบาด การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การปรับตัวของธุรกิจและแรงงาน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจบาซูก้าการคลังของภาครัฐ

 

ในมิติด้านเศรษฐกิจมหภาค มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มข้นส่งผลข้างเคียงต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างมาก ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2563 จะหดตัวที่ร้อยละ 5.3 โดยยังมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยจะหดตัวมากกว่านี้ เพราะหากพิจารณาปัจจัยกำหนดทิศทางการฟื้นตัวตามที่กล่าวไว้ก่อนหน้า พบว่า (1) ไทยถือเป็นประเทศที่มีระดับการพึ่งพาเศรษฐกิจต่างประเทศสูง มูลค่าความเสียหายในครั้งนี้จึงสูง โดยข้อมูลล่าสุด ณ เมษายน 2563 พบว่า ภาคส่งออกซึ่งมีขนาดใหญ่คิดเป็นร้อยละ 60 ของ GDP หดตัวสูงร้อยละ 16 ขณะที่ภาคท่องเที่ยวซึ่งมีขนาดร้อยละ 17 ของ GDP หดตัวร้อยละ 100 นอกจากนี้ (2) ปัจจัยพื้นฐานทางโครงสร้างเศรษฐกิจไทยก่อนเกิดวิกฤติโควิด 19 ก็มีความเปราะบางอยู่แล้ว ทั้งจากการลงทุนในประเทศที่อยู่ในระดับต่ำยาวนาน ธุรกิจ SMEs และแรงงานส่วนใหญ่ไม่สามารถแข่งขันได้ และมีปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง ซึ่งถือเป็นข้อจำกัดสำคัญของการฟื้นตัวในระยะต่อไป

 

ในมิติด้านการควบคุมการระบาด ประเทศไทยได้รับคำชื่นชมจากทั้งองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) และนานาประเทศว่า เป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศเดียวที่ถูกจัดให้อยู่ใน 10 อันดับประเทศที่สามารถคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 ได้ดี รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขจัดการกับการแพร่ระบาดอย่างดี มีปัจจัยสนับสนุนคือความร่วมมือของประชาชน และระบบเครือข่ายการดูแลสุขภาพระดับชุมชนผ่านกลไกอาสาสมัครสาธารณสุขกว่า 1 ล้านคนทั่วประเทศ9

 

ในมิติด้านแรงงาน การปิดสถานประกอบการทำให้แรงงานบางส่วนถูกเลิกจ้าง โดยแรงงานในเมืองใหญ่ที่ทำงานในภาคบริการ โรงแรม และภัตตาคาร ปรับตัวโดยตัดสินใจกลับภูมิลำเนา ประกอบด้วยกลุ่มที่จำเป็นต้องกลับเพราะถูกเลิกจ้าง กลุ่มที่กลับดีกว่าไม่กลับเพราะสถานประกอบการปิดชั่วคราว และกลุ่มที่กลับเพื่อไปตั้งหลักหรือทำงานจากบ้านในต่างจังหวัด10 ขณะที่แรงงานกลุ่มตอนต้น (อายุ 15 - 29 ปี) อาจได้รับผลกระทบในระยะยาว เพราะหากเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวจะทำให้กลุ่มนี้หางานได้ยากขึ้น อย่างไรก็ดี ภาครัฐได้เข้ามาเยียวยาอย่างเร่งด่วนโดยแรงงานในระบบได้รับเงินชดเชยตามเกณฑ์ประกันสังคม ณ เมษายน 2563 มีสถานประกอบการขอรับสิทธิหยุดชั่วคราว 9 หมื่นราย และมีผู้ขอรับสิทธิว่างงาน 4.6 แสนราย รวมทั้งมีการจ่ายเงินเยียวยาตามมาตรา 39 และ 40 แก่ลูกจ้างชั่วคราวและอาชีพอิสระรายละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ขณะที่ภาครัฐมีเงินเยียวยาภายใต้ “โครงการเราไม่ทิ้งกัน” สำหรับแรงงานนอกระบบ ซึ่งมีผู้ผ่านเกณฑ์ 22.3 ล้านราย (ณ วันที่ 2 เมษายน 2563) สะท้อนถึงความเดือดร้อนของประชาชนทุกภาคส่วนเป็นวงกว้าง

 

ในระยะข้างหน้า คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลบวกจากมาตรเยียวยาผลกระทบและการฟื้นฟูเศรษฐกิจการเงินของภาครัฐ ซึ่งล่าสุดรัฐบาลได้ทุ่มเงินผ่านกฎหมายฉุกเฉิน (พระราชกำหนด) สำหรับวิกฤติในครั้งนี้เป็นวงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10 ของ GDP และที่สำคัญการร่วมมือ“อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ของประชาชนที่ยอมเจ็บเพื่อให้จบเร็ว การรักษาสุขอนามัยเพื่อป้องกันการระบาดรอบสอง และความยืดหยุ่นในการปรับตัวของประชาชน ธุรกิจและภาครัฐให้เข้ากับกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายใต้ฐานวิถีชีวิตใหม่ ก็จะช่วยให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวเร็วขึ้น และช่วยลดภาระรายจ่ายของประเทศได้อีกทางด้วย


การปรับตัวภายใต้ฐานวิถีชีวิตใหม่ : พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส “Time for a Great Reset”

 

เมื่อเร็ว ๆ นี้ WHO ให้ความเห็นว่า โควิด 19 อาจกลายเป็นโรคประจำถิ่น (endemic) ที่จะอยู่กับเราไปตลอดเช่นเดียวกับไข้เลือดออก และประชาคมโลกต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับโรคนี้ โดยรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวันบางอย่างจะเปลี่ยนไป เพราะมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) ทำให้เกิดฐานวิถีชีวิตใหม่ อาทิ การสาธารณสุขจะเป็นวาระสำคัญของโลก โดยเฉพาะความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการแพทย์ การจัดระเบียบโลกใหม่ที่จะมีการพึ่งพาภายในภูมิภาคมากขึ้น (regionalization) และบทบาทของเศรษฐกิจดิจิทัลที่จะมาเร็วขึ้นพร้อมกับวิถีชีวิตที่ยืดหยุ่นมากขึ้น

 

วิกฤติครั้งนี้ให้บทเรียนสำคัญกับเราว่า การใช้มาตรการล็อกดาวน์มีต้นทุนที่สูงเพื่อแลกกับชีวิตและสุขภาพของประชาชน และได้เรียนรู้ว่าปัญหาเรื่องสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ ไม่ใช่เป็นเรื่องแยกส่วนกัน รวมทั้งเราได้เห็นทรัพยากรสำคัญของชาติคือ พลังความร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งจากทุกภาคส่วน ในระยะข้างหน้า เราควรใช้พลังนี้ต่อยอดต่อไปเพื่อพลิกวิกฤตินี้ให้เป็นโอกาสในการยกเครื่องเศรษฐกิจขนานใหญ่ (Great Reset) โดยผสมผสานกับแนวคิดข้อเสนอของ Klaus Schwab ผู้ก่อตั้ง World Economic Forum11 ดังนี้

 

1. การช่วยเหลือลดผลกระทบในระยะสั้น ควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาว ภาครัฐควรใช้เงินงบประมาณขนาดใหญ่นี้เยียวยาผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนให้กระจายไปให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งนำเงินทุ่มลงทุนเพื่อให้เกิดคลื่นการลงทุนระลอกใหม่ของประเทศเพื่อแก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจไปพร้อมกัน เช่น การลงทุนด้านสาธารณสุข การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและอาชีพโดยชุมชน การพัฒนาโครงการภายใต้แผนบริหารจัดการน้ำ 20 ปี (ปี 2561–2580) ให้เกิดขึ้นจริงเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมที่มักสร้างความเสียหายแก่เกษตรกร การพัฒนาเมืองสีเขียว การสร้างระบบนิเวศ การพัฒนาทักษะแรงงานและสร้างอาชีพ โดยเฉพาะแก่แรงงานที่ย้ายกลับท้องถิ่นและแรงงานที่ตกงานในเมืองใหญ่ ช่วยให้เกิดการจ้างงานและสามารถชดเชยผลกระทบจากวิกฤติได้อีกทางหนึ่ง

 

2. การปฏิรูประบบสถาบันเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยการสร้างระบบตลาดแข่งขันที่เปิดกว้างและเป็นธรรม การแข่งขันเสรีที่สร้างแรงจูงใจให้แรงงานพัฒนาตนเอง และสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการลงทุนและพัฒนานวัตกรรมเพื่อให้แข่งได้ในตลาดโลก การปฏิรูปนโยบายสาธารณะที่มีเป้าหมายสูงสุดเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ อาทิ การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี พร้อมทั้งทบทวนการลดหย่อนที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้มีรายได้สูง หรือวิสาหกิจที่มีศักยภาพในการแข่งขัน และการปฏิรูประบบสวัสดิการสังคมให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ หรือแรงงานที่ทำงานรูปแบบใหม่ ๆ และการขยายอายุแรงงานในระบบ

 

3. การติดอาวุธเครื่องมือด้านเทคโนโลยีสนับสนุน Thailand 4.0 เพื่อยกระดับการเติบโตและก้าวให้ทันโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็ว ทั้งด้านการสาธารณสุข เช่น การแพทย์ทางไกล การศึกษา เช่น การเรียนการสอนออนไลน์ การขนส่ง เช่น บริการดิลิเวอรี และการทำงานจากที่บ้าน เพื่อใช้วิกฤตินี้ให้เป็นโอกาสเพื่อก้าวกระโดดความรู้และทักษะทางเทคโนโลยีแก่ประชาชนทั่วไป และเพื่อพัฒนาประเทศไปสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลให้ได้

 

4. การสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเร่งพัฒนาทักษะ นอกเหนือจากประชาชนต้องช่วยกันรักษาสุขอนามัยเพื่อป้องกันการระบาดรอบสอง และยืดหยุ่นในการปรับตัวให้เข้ากับกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายใต้ฐานวิถีชีวิตใหม่โดยเร็วแล้ว ภาคประชาชนต้องเร่งพัฒนาศักยภาพตนเองให้เป็น “แรงงานแห่งอนาคตในศตวรรษที่ 21” ในยุคที่คนต้องทำงานร่วมกับเครื่องจักรและเทคโนโลยีมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แรงงานจึงต้องมีความยืดหยุ่นพร้อมเรียนรู้ตลอดเวลา (lifelong learning) โดยเฉพาะในสาขาที่จำเป็นต่ออาชีพในอนาคต เช่น ความรู้ด้านเทคโนโลยี ความรู้ด้านการตลาดโดยเฉพาะออนไลน์ ภาษาต่างประเทศ รวมถึงทักษะการเป็นผู้ประกอบการ (entrepreneurship) เพื่อเพิ่มโอกาสในการจ้างงานและเพิ่มรายได้

 

ผู้เขียนขอจบบทความนี้ด้วยวลีที่รู้จักกันดีของ Dr. Viktor Frankl นักประสาทวิทยาและจิตแพทย์ที่มีชื่อเสียงชาวออสเตรียผู้รอดชีวิตจากความโหดร้ายของค่ายกักกันที่ว่า “When we are no longer able to change a situation, we are challenged to change ourselves.” เมื่อเราไม่สามารถเปลี่ยนสถานการณ์ได้ นั่นหมายถึงเวลาที่เราต้องเปลี่ยนตัวเอง” ซึ่งคงจะใช้ได้ดีในสถานการณ์เวลานี้

 

 

----------------------------------------------

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย